Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำว่า ‘ไพร่’ และ ‘สงครามชนชั้น’ ไม่ใช่เพียงวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้การเมืองในการต่อสู้ของเสื้อแดง แต่เป็นภาพสะท้อนความขัดแย้งจริงในทางวัฒนธรรม-การเมือง ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตามการพยายามอธิบายว่านี่เป็น “จิตสำนึกทางชนชั้น” (class conciousness) ด้วยกรอบแบบมาร์กซิสม์คลาสสิค[1] อาจถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกประเด็นนัก ในขณะเดียวกัน การพยายามอธิบายว่าประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่มี ‘ชนชั้น’ อยู่จริง ถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องการหลอกตัวเอง ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจอย่างผิวเผินต่อโครงสร้างสังคมไทย

หากว่า ‘ไพร่’ หมายถึงขบวนการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดง ที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน  พ.ศ. 2549 แล้ว[2] การให้คำจำกัดความในแนวระนาบ คือ ให้ ‘ไพร่’ หมายถึง ‘ชนชั้นล่าง’ เท่านั้น จะทำให้เรามองภาพของขบวนการเสื้อแดงอย่าง‘ขาดตอน’ และยึดติดกับความหมายทางเศรษฐศาสตร์ของคำว่า “ชนชั้น” แต่เพียงอย่างเดียว เพราะว่า ‘ไพร่’ ในปัจจุบัน มีความหมายในแนวตั้ง ที่รวมเอาชนชั้นทางเศรษฐกิจที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพราะพื้นที่ของความขัดแย้ง ไม่ได้เกิดจากการกดขี่ในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่ของวัฒนธรรมและการเมือง ระหว่างชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมืองใหม่ และชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมืองเก่า

เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับ ‘สงครามชนชั้น’ ครั้งนี้ มันอาจจะทำให้เราต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ และหันมามองให้เห็นลักษณะโครงสร้างของชนชั้นในสังคมไทย ใหม่อีกครั้ง

ความตื่นตัวทางการเมืองโดยเฉพาะของคนในชนบท เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ ภายหลังการเข้ามาของทักษิณ ชินวัตร และนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่มุ่งเน้นการกระจายแหล่งทุนสู่ชุมชน การเข้าถึงแหล่งทุนโดยง่ายเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างในชนบทสามารถปรับสถานะทางเศรษฐกิจ สร้างและปรับปรุงอาชีพที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้โครงการสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลไทยรักไทย ยังเปิดโอกาสให้คนในชนบทสามารถเข้าถึงการเมืองส่วนกลางได้มากขึ้น เห็นได้ชัดว่ารูปแบบการเมืองไทยเปลี่ยนไป จากความเข้มแข็งในฐานเสียงของนักการเมืองรายบุคคล กลายมาเป็นความเข้มแข็งของฐานเสียงที่เกิดขึ้นจากผลของนโยบาย ดังนั้น เราจะพบได้ว่าฐานเสียงมีส่วนในการกำหนดนโยบายของพรรคมาก และด้วยเหตุเดียวกันนี้ การหาเสียงก่อนเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2549  จึงมีความหลากหลายของนโยบายในแต่ละพรรคมากกว่าที่เคยเป็นมา

เมื่อคนในชนบทอย่างที่เคยเข้าใจกันว่าโง่ จน เจ็บ และไม่รู้เท่าทันการเมือง ได้มีการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการตื่นตัวทางการเมืองอย่างกว้างขวาง คำอธิบายว่าขบวนการของมวลชนเสื้อแดงเป็นเรื่องของชนชั้นล่าง จึงไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะมันประกอบด้วยคนส่วนใหญ่ในชนบทที่ตื่นตัวทางการเมือง และกำลังจะเปลี่ยน “ชนชั้นทางเศรษฐกิจ” ของตน อย่างไรก็ตาม คนจำนวนมากยังคงเป็นชนชัั้นล่างที่ตื่นตัวทางการเมืองระดับหนึ่ง เนื่องจากปริมาณที่มากโดยสัดส่วนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังกอปรไปด้วยแนวร่วมที่มาจากชนชั้นกลาง และนายทุน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ก็คือตัวทักษิณ ชินวัตรเอง

แน่นอนว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้ บอกได้ว่า เราไม่อาจผูกขาดการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดง เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางชนชั้น (class struggle) และจิตสำนึกทางชนชั้น (class conciousness) ในวิธีคิดแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว  และอะไร? คือวิธีการมองแบบใหม่ เพื่อการทำความเข้าใจปัญหาการเมืองของไทยสมัยใหม่ และขบวนการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้ ยังคงต้องย้ำว่า ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชนชั้น(class conflict) แต่การอธิบายโครงสร้างของสังคมไทย ด้วยการมองข้ามลักษณะเฉพาะของชนชั้นต่างๆ ทำให้เราไม่อาจเข้าใจ หรืออธิบายความขัดแย้งนี้ได้จริงๆ ว่าอะไรคือเหตุผลให้ขบวนการต่อสู้ของมวลชนเสื้อแดงประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายของชนชั้นทางเศรษฐกิจ ภายใต้วาทกรรมคำว่า “ไพร่” ได้

โครงสร้างสังคมไทยสมัยใหม่[4] มีลักษณะเฉพาะ ประกอบไปด้วยชนชั้นที่มีพื้นที่หรือมณฑลที่แตกต่างกันสองส่วน  แต่ยังคงมีบางด้านที่คาบเกี่ยวกัน คือ

1.)   ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ชนชั้นล่าง, ชนชั้นกลางในชนบท-ชนชั้นกลางในเมือง และ ชนชั้นสูง

2.)   ชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมือง ประกอบด้วย ชนชั้นวัฒนธรรม-การเมืองเก่า และ ชนชั้นวัฒนธรรม-การเมืองใหม่

เหตุจำเป็น ที่เราต้องแบ่งชนชั้นออกเป็นสองส่วนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเกินเลย หากแต่ถ้าเราพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าความสัมพันธ์ทางปัจจัยการผลิต (ชนชั้นทางเศรษฐกิจ) กับสถานะทางสังคมในด้านวัฒนธรรม-การเมือง (ชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมือง) นั้นถูกแยกออกจากกันอย่างมาก การที่เรามีสถานะทางเศรษฐกิจสูง ไม่ได้หมายความว่าบทบาทในทางวัฒนธรรม-การเมืองจะสูงไปด้วย หากแต่ว่าเราจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนหรือเลื่อนชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมืองโดยการร่วมเป็นเครือข่ายของชนชั้นวัฒนธรรม-การเมืองเก่าแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นเส้นแบ่งอย่างชัดเจนของชนชั้นทางเศรษฐกิจ และชนชั้นทางวัฒนธรรม-การเมือง ก็คือ ลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายที่มีหลายมาตรฐาน ซึ่งขบวนการของมวลชนเสื้อแดงได้ผลิตวาทกรรม“2 มาตรฐาน”ออกมา แน่นอนว่าในบางกรณี เราไม่อาจกล่าวถึงคนบางกลุ่มในทางเสียหายได้เลยด้วยซ้ำ และคนที่อยู่ภายในเครือข่ายนี้ ล้วนถูกคุ้มกันให้อยู่เหนือกฎหมายในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น เช่น กรณีการครอบครองเขายายเที่ยงของสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ลองจินตนาการถึงนักการเมืองที่ีมีอิทธิพลคนหนึ่ง ที่กระทำในลักษณะเดียวกัน  อย่างมากก็ถูกคุ้มครองด้วยอิทธิพลนอกฎหมาย แต่สำหรับกรณีสุรยุทธ์ไม่ใช่ คุณสามารถใช้กลไกของกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างดี  ถึงที่สุดแล้ว นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาการเมืองตลอด 60 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในพื้นที่ทางวัฒนธรรม-การเมือง ไม่ใช่ผลของการกดขี่ทางเศรษฐกิจ         

ลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากอิทธิพลของชนชั้นนำทางวัฒนธรรม-การเมืองเก่า คือ สถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทเข้มแข็งอย่างมากในการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบันตลอดมา ตั้งแต่หลังการรัฐประหารของผิน ชุณหะวัณ ในปี พ.ศ. 2490 เพื่อกำจัดอำนาจของคณะราษฎรฝ่ายปรีดี พนมยงค์ และหลังการรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 เพื่อกำจัดอำนาจของคณะราษฎรฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม และถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจคณะราษฎรตั้งแต่นั้น ลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ คือการที่สถาบันกษัตริย์เอง ก็มีความเป็นชนชั้นใน 2 พื้นที่ด้วยกัน คือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากฐานของธุรกิจในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรม-การเมือง ที่มีเครือข่ายกษัตริย์(network monarchy)[3] เป็นผู้ขยายพื้นที่ออกไปอย่างกว้างขวาง จนปัจจุบันสถานะของสถาบันกษัตริย์ของสังคมไทยจึงอยู่ในฐานะที่“เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”  และมากไปกว่านั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันทรงมีสถานะไม่ได้แตกต่างไปจากเทพเจ้าที่มีลมหายใจ แม้ว่าบทบาททั้งหมดจะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง[4] แต่กลับมีพลังทางการเมืองอย่างสูง

ชนชั้น “ไพร่” และ “สงครามชนชั้น” จึงมีอยู่จริง หากแต่ไพร่ ไม่ได้หมายถึงชนชั้นทางเศรษฐกิจที่มีฐานะยากจน การศึกษาต่ำ มีความตื่นตัวทางการเมืองน้อย ยอมให้ชนชั้นศักดินา หรือชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีดผลผลิต แต่กลับเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งและการกดขี่ที่มีอยู่จริงในชนชั้นวัฒนธรรม-การเมืองใหม่ ซึ่งอยู่นอกเหนือเครือข่ายกษัตริย์ ชนชั้นไพร่จึงเป็นความหมายแนวตั้ง คือมีความหลากหลายของชนชั้นทางเศรษฐกิจ ที่ได้เผชิญหน้ากับการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม-การเมืองของไทยที่ยังคงล้าหลังกว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เหตุผลพื้นฐานของมวลชนอาจจะเป็นเพียงแค่ว่าเหตุใดรัฐบาลที่ตนเลือกตั้ง จึงไม่ได้บริหารประเทศ กลับกลายเป็นรัฐบาลที่มาจากการแบลคเมล์ของการรัฐประหาร และเครือข่ายกษัตริย์ แต่นี่ก็เป็นเหตุผลพื้นฐานที่มีเบื้องหลังสำคัญ คือแสดงให้เห็นการถูกแย่งชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม-การเมืองไป

สำหรับรัฐบาลนี้ คำประกาศของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการ “ขอคืนพื้นที่” จากผู้ชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 จนนำไปสู่การปะทะอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิต เป็นเพียงการขอคืนพื้นที่บนท้องถนน แต่หากความขัดแย้งหลายมาตรฐานยังคงดำรงอยู่ต่อไปเมื่อใด โดยไม่ได้รับการเยียวยา อาจจะถึงเวลาที่ “ชนชั้นไพร่” ขอคืนพื้นที่ทางวัฒนธรรม-การเมือง ซึ่งถูกแย่งชิงไปตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในที่สุด

สิ่งสำคัญกว่าอื่นใดในขบวนการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ถ้าหาก“ชนชั้นไพร่” ยังคงมี “สำนึกไพร่” อยู่ในวังวนของการเมืองแบบเทพประทาน ก็ถือเป็นการถอยร่นพื้นที่ซึ่งสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าหากเมื่อใด “ชนชั้นไพร่” ไม่มี “สำนึกไพร่” ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เมื่อนั้น ไพร่คงได้เป็นประชาชนสักที

 

.............................................................

[1] พบได้ เช่น ในบทความของเก่งกิจ เรื่อง "การต่อสู้ครั้งนี้คือสงครามทางชนชั้นที่ประนีประนอม ไม่ได้"และจากการที่ผู้เขียนสังเกตการณ์ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องชนชั้น ของนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐบาลหลายคน นอกจากนี้ยังรวมถึงนักวิชาการ หรือนักกิจกรรมบางคนในปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพล-วิธีคิดมาจาก พคท.

[2] แม้ว่าวาทกรรมนี้ จะเพิ่งถูกสร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์เมษาเลือดก็ตาม แต่ผู้คนภายในขบวนการไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากการขยายความหลากหลายของมวลชนเพียงเล็กน้อย ดังนั้นการให้ความหมายเช่นนี้ จึงถือว่ามีความสืบเนื่องมาจากการก่อตัวก่อนหน้านั้น

[3] โดยปกติ ประวัติศาสตร์สังคมไทยสมัยใหม่ จะเริ่มนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หากแต่ในบทความนี้ เราจะกล่าวถึงตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง-สถานะของชนชั้นนำคือสถาบันกษัตริย์เป็นสำคัญ ซึ่งเริ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงราว พ.ศ. 2500 หลังการสลายโดยสิ้นเชิงของอำนาจคณะราษฎรและเป็นยุคของการฟื้นฟูอำนาจสถาบันกษัตริย์ และทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นนิติบุคคล ภายใต้การควบคุมของสถาบัน เหตุผลนี้นำไปสู่การทำให้สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยสมัยใหม่ มีโครงสร้างหลักสองส่วน คือโครงสร้างส่วนวัฒนธรรม-การเมืองที่มีอิทธิพลของสถานะทางสังคมของชนชั้นอื่นๆ และโครงสร้างส่วนเศรษฐกิจที่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีการผูกขาดธุรกิจจำนวนมาก

[4] เครือข่ายกษัตริย์(network monarchy) เป็นข้อเสนอของดังแคน แม็คคาร์โก ที่พูดถึงเครือข่ายแนวหน้า และเครือข่ายทางการเมืองที่มีบทบาทสนับสนุนอำนาจของกษัตริย์ เกี่ยวพันกับการแทรกแซงการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์

[5] ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง เป็นชื่อหนังสือรวมบทความทางวิชาการของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งพยายามอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะ กรณีสวรรคต, ความขัดแย้งของคณะราษฎรกับฝ่ายนิยมเจ้า, ขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net