Skip to main content
sharethis

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องรัฐบาล-แกนนำนปช.ยุติการใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งให้รัฐบาลเร่งสอบสวนและเอาผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษตามสัญญาที่ประกาศไว้ แม้จะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัดต่อพันธะสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งยุติการปิดกั้นสื่อและการแสดงความคิดเห็น

นิวยอร์ก, 12 เม.ย.53 องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประเทศไทย: ยุติความรุนแรงทางการเมือง และนำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลควรสอบสวน และดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดจากทุกฝ่าย” โดยระบุว่า รัฐบาลไทยควรรักษาคำสัญญาที่จะตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว, มีประสิทธิภาพ และเป็นกลางในการตรวจสอบความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของทุกฝ่ายระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในทันที และขอให้รัฐบาลนำตัวผู้กระทำความผิดจากทุกฝ่ายมาลงโทษตามกฏหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรที่จะยุติการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเว็บไซต์อีกด้วย
 
แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ความพยายามของรัฐบาลที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หนุนหลัง ได้ขยายตัวกลายเป็นการต่อสู้บนท้องถนนของกรุงเทพฯ รายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินเอราวัณระบุว่า มีพลเรือน 15 คน และทหาร 5 คนเสียชีวิต เนื่องจากถูกยิง, ถูกระเบิด หรือถูกทุบตีระหว่างที่เกิดการปะทะกัน นอกจากนี้ ยังมีพลเรือน 569 คน, ทหาร 265 คน และตำรวจ 8 คน ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา, ถูกทุบตี, ถูกแทง, ถูกยิง และถูกสะเก็ดระเบิด
 
แบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวว่า "เมื่อวันที่ 10 เมษายน ประเทศไทยเผชิญกับความรุนแรงการเมืองที่นองเลือดที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ"
 
"รัฐบาล และแกนนำของผู้ประท้วงจำเป็นจะต้องให้สัญญาต่อสาธารณะว่า จะยุติการใช้ความรุนแรง และรับรองว่า ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกนำตัวมาสอบสวน และดำเนินคดีอย่างเหมาะสม"
 
แถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามจำกัดกิจกรรมของ นปช.ด้วยการบังคับใช้พระราช บัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ. ความมั่นคง) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ ชุมนุมประท้วงเคลื่อนขบวน ยึดสถานที่ต่างๆ และปิดกั้นการจราจรในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆ ของการชุมนุมประท้วง ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคมนั้น กลุ่มผู้ประท้วงที่มีเสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ได้ขัดขืนอำนาจของ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้วยการเคลื่อนขบวนอย่างสันติไปรอบกรุงเทพฯ รวมทั้งยังได้ปิดกั้นการจราจรที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า และแยกราชประสงค์เพื่อตั้งเวทีสำหรับการชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อ
 
การปะทะกัน การประท้วงของ นปช. กลายเป็นความรุนแรง เมื่อวันที่ 7 เมษายน หลังจากที่อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และแกนนำคนอื่นๆ ของ นปช.นำกลุ่มผู้ประท้วงจากเวทีสะพาน ผ่านฟ้าไปปิดล้อมรัฐสภา ขณะที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กำลังประชุมกันอยู่ ตำรวจปราบจลาจลถูกกดดันให้ถอยร่นไป ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้รถบรรทุกดันฝ่าประตูรั้ว และบุกเข้าไปในรัฐสภาแล้ว อริสมันต์ได้นำกลุ่มผู้ประท้วงตามหาตัวรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเขากล่าวหาว่า เป็นผู้สั่งให้ตำรวจปราบจลาจลขว้างแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วง ส่วนการุณ โหสกุล สส. พรรคเพื่อไทยที่สนับสนุน ทักษิณ ก็ได้เรียกให้กลุ่มผู้ประท้วงควบคุมตัวสารวัตรทหารที่ทำหน้าที่
 
คุ้มครองความปลอดภัยของรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ โดยกลุ่มผู้ประท้วงรุมทำร้ายและแย่งอาวุธ (ปืนพกสั้น และปืนเอ็ม 16) ของสารวัตรทหารคนดังกล่าว ระหว่างที่เกิดความชุลมุนขึ้นนั้น รัฐมนตรี และ สส. ได้ทยอยกันหลบหนีออกจากรัฐ สภาด้วยการปีนบันไดข้ามรั้ว ซึ่งถึงแม้ สส. บางคน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะชักปืนออกมาระหว่างที่กำลังหลบหนี แต่พวกเขาก็ไม่ได้ยิงปืนออกไปแต่อย่างใด ภายหลังจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการที่ผู้ประท้วงบุกเข้าไปใน รัฐสภาแล้ว ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
 
การปะทะกันอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งนำโดยจตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ไสเกื้อ, อริสมันต์, การุณ และแกนนำของ นปช. คนอื่นๆ ได้เคลื่อนขบวนไปสถานีดาวเทียมไทยคมที่จังหวัดปทุมธานี
เพื่อที่จะเชื่อมต่อการส่งสัญญาณของสถานีโทรทัศน์พีทีวี ซึ่งถูกปิดกั้นไปภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทหารที่รักษาการณ์อยู่ที่สถานนีดาวเทียมไทยคมใช้โล่ และกระบอง, รถฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาเพื่อจะหยุดยั้งกลุ่มผู้ประท้วง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับถูกปิดล้อมกดดันโดยกลุ่มผู้ประท้วงที่มีจำนวนมากกว่า จนในที่สุดทหารต้องถอนกำลังออกไป เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้มีผู้ชุมนุมประท้วงได้รับบาดเจ็บ 16 คน และทหารได้รับบาดเจ็บ 5 คน การยึดครองสถานีดาวเทียมไทยคมยุติลงเมื่อ นปช. บรรลุข้อตกลงกับตำรวจ, ทหาร และผู้บริหารของไทยคมว่า จะมีการเชื่อมต่อสัญญาณแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีทีวีอีกครั้ง (อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์พีทีวียังคงถูกปิดกั้นอยู่บางส่วน)
 
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์มีคำสั่งให้ทหาร และตำรวจยับยั้งไม่ตอบโต้ต่อการยั่วยุโดยกลุ่มผู้ประท้วงในช่วง แรกๆ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน และเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อวันที่ 9 เมษายนนั้นดูเหมือนจะเกิดจากการวางแผนให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตอบโต้ด้วยความรุนแรง
 
อย่างไร ก็ตาม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ส่งผลทำให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีสุ เทพเป็นผู้อำนวยการตัดสินใจที่จะเพิ่มระดับของการใช้กำลังในการดำเนินความพยายามเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงของ นปช.
 
ทหารมากกว่า 1,000 คนถูกระดมกำลังมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 10 เมษายน การต่อสู้บนท้องถนนเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13 นาฬิกา เมื่อขวัญชัย ไพรพนา ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. นำกลุ่มผู้ประท้วงจากเวทีที่สะพานผ่านฟ้าไปเผชิญหน้ากับทหารที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก
เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าไปในที่ตั้งของทหารพวกเขาถูกสกัดกั้นด้วยรถฉีดน้ำ ทางฝ่ายกลุ่มผู้ประท้วงตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหิน และท่อนไม้ใส่ทหาร หลังจากนั้น ทหารได้ออกมาจากที่ตั้ง และใช้โล่ และกระบอง, แก๊สน้ำตา
และกระสุนยางเพื่อสลายการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม ภาพวิดีโอและภาพถ่ายของสื่อมวลชนชี้ให้เห็นว่า ทหารบางคนยิงปืนเอ็ม 16 และปืนทีเออาร์ 21 ที่บรรจุกระสุนจริงขึ้นฟ้าตลอดช่วงบ่ายวันนั้น ซึ่งองค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชได้เห็นภาพถ่ายที่แสดงว่าแมกกาซีนของปืนดังกล่าวใช้กระสุนจริง ชนิดบอล เอ็ม 855 ขนาด 5.56 มม. ที่มีปลายสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีการโยนกระป๋องแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ของทหารใส่กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ
 
การขยายตัวของความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน สถานการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายนมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงค่ำ
โดยกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกัน และตอบโต้ทหารด้วยท่อนเหล็กและไม้ไผ่เหลาปลายแหลม ผู้ประท้วงบางคนขว้างระเบิดเพลิงและระเบิดแสวงเครื่องเข้าใส่ทหาร ส่วนในอีกด้านหนึ่งก็มีหลักฐานภาพวิดีโอ และภาพถ่ายของสื่อมวลชนที่แสดงว่า ทหารบางคนยิงปืนเอ็ม 16 และปืนทีเออาร์ 21 ด้วยกระสุนจริงเป็นวิถีตรงเข้าใส่ผู้ประท้วง
 
มือปืนในกลุ่มผู้ประท้วงใช้ปืนเอ็ม 16 และปืนเอเค 47 ยิงเข้าใส่ทหารที่บริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน นอกจากนี้
ยังมีการยิงระเบิดเอ็ม 79 และขว้างระเบิดมือเอ็ม 67 เข้าใส่ทหารด้วย ภาพวิดีโอแสดงว่า มือปืนเหล่านี้มีทักษะ และการประสานงานระหว่างปฏิบัติการในระดับสูง โดยการโจมตีส่วนหนึ่งนั้นดูเหมือนจะมีเป้าหมายที่จะสังหาร หรือทำให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาบาดเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
 
พยานที่อยู่ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายนเล่าให้องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชฟังว่าผู้ประท้วงบางคนได้ขัดขวางไม่ให้รถพยาบาลนำทหารที่ได้รับบาดเจ็บออกจากจุดปะทะและยังได้ลากตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บออกมารุมทำร้ายด้วย
 
ความสูญเสียที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อทั้ง 2 ฝ่ายทำให้รัฐบาลประกาศเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ของวันที่ 10 เมษายนว่า จะยุติการสลายการชุมนุมประท้วง อนึ่ง นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว นปช. ยังอ้างว่า
มีผู้ประท้วงจำนวนมากที่สูญหายไปภายหลังจากที่เกิดการปะทะกัน เมื่อวันที่10 เมษายน
 
ณัฐวุฒิ ซึ่งเป็นแกนนำของ นปช. ประกาศบนเวทีปราศรัยหลายครั้ง ในลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้ประท้วงบุกเข้าไปฉกชิงสินค้าและทำลายห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ถ้าหากมีการสลายการชุมนุมประท้วง ดังนั้น
ถึงแม้จะมีแรงกดดันให้สลายการชุมนุมประท้วง แต่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ก็สั่งการให้ยกเลิกปฏิบัติการที่แยกราชประสงค์
เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความเสียหาย รวมทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
 
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชขอแสดงความยินดีต่อการที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ประกาศว่า จะให้มีการสอบสวนอย่างรวดเร็ว, มีประสิทธิภาพ และเป็นกลางเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการกระทำของทุกฝ่าย
 
แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "คำประกาศของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ว่าจะสอบสวนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นสิ่งที่ดี
แต่เขาจะต้องแสดงให้เห็นเจตนารมณ์และความสามารถที่จะทำตามคำสัญญาดังกล่าว" "ในขณะเดียวกัน แกนนำของ นปช. และผู้ประท้วงที่มีส่วน เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมก็จะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แกนนำของ นปช. จะต้องเข้าใจว่า ทันทีที่มีการใช้ความรุนแรง พวกเขาก็จะไม่สามารถอ้างได้อีกต่อไปว่า นปช.
เป็นขบวนการสันติวิธี"
 
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชเน้นว่า การสอบสวนดังกล่าวจำเป็นจะต้องระบุว่า ใครเป็นผู้สั่งการให้ทหารยิงกระสุนจริง
และการยิงปืนด้วยกระสุนจริงเกิดขึ้นภายในสถานการณ์แบบใด ทั้งนี้ ในการคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะนั้น
เจ้าหน้าที่มีพันธะที่จะต้องใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมกันกับระดับของภัย คุกคาม หรือวัตถุประสงค์ที่มีความชอบธรรม นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายนว่า ทหารได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงใน 2 กรณี คือ การยิงปืนขึ้นฟ้า และการยิงปืนเพื่อป้องกันตัวขณะที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลัง และอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย (United Nations Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) กำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะหันไปใช้กำลังและอาวุธปืน ทั้งนี้ เมื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และอาวุธปืนไม่ได้แล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องมีความยับยั้งชั่งใจ และกระทำการไปอย่างได้สัดส่วนเหมาะสมต่อความร้ายแรงของการละเมิดกฏหมายที่เกิดขึ้น
 
อนึ่ง การใช้กำลังในระดับที่ทำให้เสียชีวิตจะสามารถใช้ได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการปกป้องรักษาชีวิตเท่านั้น นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการรายงาน และตรวจสอบการใช้กำลังและอาวุธปืนที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเสียชีวิต และบาดเจ็บอย่างร้ายแรง
 
ในประเด็นข้างต้น องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชมีความกังวลเกี่ยวกับบทบัญญัติที่ให้ภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวางของพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ซี่งรัฐบาลทักษิณริเริ่มนำมาใช้ โดยมาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กำหนดว่า ผู้ที่ใช้อำนาจฉุกเฉินนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, อาญา และวินัย ถ้าหากได้ดำเนินการไปโดยสุจริต และเหมาะสมต่อสถานการณ์ บทบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินการทุกอย่างของเจ้าหน้าที่รวมทั้งการดำเนินการที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตด้วย ดังนั้น มาตรา 17 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จึงขัดต่อพันธะของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น และจะต้องนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น
 
แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "ถึงแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่การต่อสู้กันบนท้องถนนยุติลง แต่ความรุนแรงทางการเมืองอาจเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกขณะ"
 
"ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง ก่อนที่ความรุนแรงจะประทุขึ้นมาอีกโดยประเด็นสำคัญที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกในการป้องกันความ
รุนแรงครั้งใหม่ก็คือการนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกฝ่ายมาลงโทษตามกฏหมาย"
 
การโจมตีสื่อมวลชน และการปิดกั้นสื่อมวลชน องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชมีความกังวล เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและขอประณามการที่รัฐบาลไทยปิดกั้นสื่อมวลชน
 
ฮิโร มูราโมโต ช่างภาพโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างที่เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วง และทหารเมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้ที่ทำให้เขาเสียชีวิต
 
แกนนำบางคนของ นปช. และผู้ประท้วงแสดงความก้าวร้าวต่อผู้สื่อข่าวชาวไทยที่วิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมประท้วง หรือเปิดโปงการใช้ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 เมษายน มีการกดดันให้ผู้สื่อข่าวต้องถอนตัวออกจากบริเวณสะพานผ่านฟ้า และในวันเดียวกันนั้น รถถ่ายทอดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีและสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยถูกผู้ประท้วง นปช. ล้อมไว้ที่บริเวณสถานี ดาวเทียมไทยคมที่จังหวัดปทุมธานี นอกจากนี้ นปช.
ยังมักจะเคลื่อนขบวนไปประท้วงที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทั้งที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งยังมีการโจมตีสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ด้วยระเบิดเอ็ม 79 และระเบิดมือเอ็ม 67 และการโจมตีสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ที่กรุงเทพฯ ด้วยระเบิดมือเอ็ม 67
 
องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ชระบุว่า รัฐบาลได้บั่นทอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างมาก
เมื่อรองนายกรัฐมนตรีสุเทพใช้อำนาจฉุกเฉินสั่งปิดเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมทั้งยังมีการปิดกั้นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตด้วย โดยมีการกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อมูลเท็จ และยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ อนึ่ง เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่ถูกปิด รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และการส่งสัญญาณโทรทัศน์ และวิทยุทางอินเตอร์เน็ตที่ถูกปิดนั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ นปช. องค์การฮิวแมนไรท์วอท์ช เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้อำนาจฉุกเฉินปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงออกในทันที รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลหันมาใช้กฏหมายอาญาที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศในการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงแทนการใช้อำนาจฉุกเฉิน
 
แบรด อาดัมส์กล่าวว่า "รัฐบาลบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างว่า ตนเองเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เนื่องจากมีการปิดกั้นความคิดเห็นทางการเมืองอย่างกว้างขวาง"
 
"ผู้สื่อข่าว และเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมือง"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net