เมษาเลือด (ภาคสอง): คนเสื้อแดงกับต้นไม้ “สันติวิธี”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“แม้จะมีผู้ชุมนุมเพียงหนึ่งคนหรือแสนคนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออก ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟังครับ”

“สำนึกของนักการเมืองจะต้องสูงกว่าคนธรรมดาครับ"

“เวลาบ้านอื่นเมืองอื่น เขามีปัญหา อย่าว่าแต่เป็นปัญหาใหญ่เช่น การคอรัปชั่น แม้แต่แค่ผู้คนออกมาชุมนุมเพียงเพราะไม่พอใจนโยบายบางอย่างของรัฐบาล รัฐบาลของเขาจะยุบสภาหรือลาออกไปแล้วครับ"

 

คำกล่าวทั้งหมดข้างต้นคือ คำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในการอภิปรายในรัฐสภาอันทรงเกียรติที่มีต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นซึ่งกำลังเผชิญกับการต่อต้านโดยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงแม้ว่า เหตุการณ์ความสูญเสียที่ผ่านมา จะมีผู้เห็นว่าคงไม่อาจที่จะตำหนิว่าเป็นความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียวเพราะเห็นว่าทางแกนนำผู้ชุมนุมก็ควรมีส่วนรับผิดชอบที่นำมวลชนเข้าเผชิญหน้ากับฝ่ายทหารทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าฝ่ายทหารได้นำอาวุธสงครามเข้าปราบปราม อย่างไรก็ตาม หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังจำได้ถึงสิ่งที่ตนเองพูดไว้ดังกล่าวข้างต้น และยึดมั่นว่านั่นคือคุณค่าที่ตนยึดถืออย่างแท้จริงแล้ว คงไม่ต้องเกิดการสูญเสียชีวิตไปหลายสิบศพทั้งผู้ชุมนุมและทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ และไม่ต้องมีผู้บาดเจ็บอีกนับพัน เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะได้กลายเป็นรอยด่างอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างบาดแผลและความขัดแย้งที่ฝังลึกในคนไทยอีกต่อไปจนน่าเป็นห่วง ดังนั้น ต่อไปขอให้นักการเมืองทั้งหลายเลิกอวดอ้างว่าตนเองมีสำนึกรับผิดชอบสูงกว่าคนธรรมดาโดยทั่วไป

การตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งนี้นอกจากฝ่ายคนเสื้อแดงเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากไม่คุ้มค่าอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นการตัดสินใจที่โฉดเขลาเบาปัญญา ไร้วุฒิภาวะ และไร้ศีลธรรมเป็นอย่างยิ่งโดยไม่สมค่ากับการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนอีกฟากหนึ่ง เห็นว่ายุทธการ “การขอคืนพื้นที่” นั้นเป็นความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีแล้วที่ต้องรักษากฎหมายอย่างเคร่งครัดเพราะคนเสื้อแดงได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงเทพฯ อย่างแสนสาหัส คนกลุ่มนี้ยังถึงกับเรียกร้องต่อไปให้รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อจัดการอย่างเด็ดขาดกับคนเสื้อแดงเพื่อให้ออกไปจากพื้นที่ชุมนุมและเลิกสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมือง

ปรากฏการณ์หลังเหตุการณ์เมษาเลือดภาคสอง ถึงแม้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ปรากฏท่าทีใดๆ ที่จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดดังกล่าว มิหนำซ้ำยังกลับพยายามใช้สื่อสารมวลชนของรัฐในการบิดเบือนโยนแพะให้ไอ้โม่งผู้ก่อการร้าย โดยปฏิเสธว่าทหารไม่ได้ใช้อาวุธสงครามในการเข่นฆ่าประชาชน และระหว่างปฏิบัติการหากมีการยิงปืนก็เป็นเพียงการยิงปืนขึ้นฟ้า จนคนเสื้อแดงถามกลับว่าฟ้าของนายอภิสิทธิ์อยู่แค่ระดับหน้าผากและร่างกายของผู้คนใช่หรือไม่ เพราะผลการชันสูตรศพโดยนายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้ผลปรากฏชัดเจนว่าสาเหตุการตายของคนเสื้อแดงหลายคนเกิดจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง หรืออาวุธสงคราม

สังคมไทยควรจะได้รับการฟื้นฟูและอยู่กันต่อไปอย่างไร ในท่ามกลางสภาวะอันน่าสะพรึงกลัวเช่นนี้ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งยังตั้งหน้าตั้งตาเพื่อ ”ขอพื้นที่คืน” และเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายโดยตั้งธงว่าถึงแม้ว่าจะเกิดการสูญเสียบ้างก็ต้องยอม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ประกาศที่จะสู้โดยไม่ยอมแพ้กลับไป และพร้อมที่จะยอมตายไม่ว่าจะอีกกี่พันกี่หมื่นคนก็ตาม 

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกภาคส่วน และผู้คนทุกคนในสังคมไทยจะต้องเข้ามารับผิดชอบต่ออนาคตของบ้านเมืองร่วมกัน แทนที่จะลดทอนวิกฤตความความแย้งดังกล่าวเหลือเพียงแค่กลุ่มคนเพียงสองขั้ว อำมาตย์-ไพร่ เหลือง-แดง หรือ อภิสิทธิ์-ทักษิณ เพราะไม่ว่าผลของความขัดแย้งจะออกมาเช่นไรย่อมส่งผลกระทบต่อทุกผู้คนในสังคมไทยโดยส่วนรวม

ฝ่ายรัฐบาล นายอภิสิทธิ์จะต้องรีบฟื้นฟูความจำของตนเองที่เคยกล่าวไว้ในรัฐสภา และต้องรีบทบทวนท่าทีอันแข็งกร้าวในการที่จะยกระดับการจัดการคนเสื้อแดงถึงขั้นประกาศเป็นกฎอัยการศึกเพราะจะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงและสูญเสีย และประการสำคัญ จะต้องรีบยุติการใช้สื่อของรัฐในการบิดเบือนความจริง และสร้างความเกลียดกลัวคนเสื้อแดง (Redophobia) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างวาทกรรม “ผู้ก่อการร้าย” เพื่อโยนบาปให้คนเสื้อแดงสำหรับสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามต่อไปนั้น การกระทำดังกล่าวรังแต่จะสร้างความแตกร้าว โกรธแค้นให้มากยิ่งขึ้นในสังคม (แต่ไม่ได้แปลว่าให้เลิกล้มการเอาผิดกับผู้แฝงตัวมาปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในกลุ่มคนเสื้อแดง) และรัฐบาลจะต้องยุติการใช้ปฏิบัติการทางทหารที่ใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม

ฝ่ายคนเสื้อแดง จะต้องยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้อย่างสันติวิธีที่ตนประกาศไว้ตลอดมา ชีวิตพี่น้องคนเสื้อแดงที่สูญเสียไปหลายสิบคนมากเกินพอแล้ว และจะต้องไม่ยอมให้มวลชนที่เหลือต้องเอาชีวิตเข้าแลกอีกเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีจิตใจการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่โดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึงกับความตายก็ตาม การต่อสู้ของไพร่อย่างพวกท่านจะไม่มีวันจบลงง่ายๆ ในครั้งนี้ ไม่ว่าอภิสิทธิ์จะยุบสภา-ลาออกไป หรือไม่ก็ตาม การถนอมชีวิตของคนเสื้อแดงเพื่อกลับมาต่อสู้อย่างอาจหาญต่างหากจึงจะนำมาซึ่งชัยชนะในระยะยาวและจะยึดกุมหัวใจของผู้คนอีกมากในสังคมไทย           

ขอเรียกร้องให้สื่อต่างๆ ได้ทบทวนตรวจสอบถึงบทบาทความเป็นมืออาชีพของตนเองในการนำเสนอข่าวสาร การบิดเบือนความจริงของสื่อได้พิสูจน์แล้วจากประสบการณ์ในหลายประเทศว่าได้นำมาซึ่งความรุนแรงและการเข่นฆ่าของผู้คนด้วยกันเองในสังคม อันเป็นภาพที่ไม่มีใครในสังคมไทยอยากจะให้เกิดขึ้น การสร้างความเกลียดกลัวชาวมุสลิม (Islamophobia) ที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ด้วยการสร้างภาพว่ามุสลิมเป็นพวกป่าเถื่อน นิยมความรุนแรง และไร้อารยะ แม้ว่าจะได้ผลในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้น กลับทำให้ผู้คนเห็นใจและเข้าใจชาวมุสลิมมากยิ่งๆ ขึ้นจนทำให้ศาสนาอิสลามได้เติบโตมีผู้เข้ารับอิสลามมากขึ้นอย่างรวดเร็วในตะวันตกขณะนี้ ดังนั้น คนเสื้อแดงจึงต้องยืนหยัดในสันติวิธีอย่างแท้จริงเพื่อให้สังคมได้เห็นว่าพวกท่านไม่ได้เป็นไปตามภาพลวงตามที่สื่อขีดเขียน ขบวนการคนเสื้อแดงจึงจะยิ่งแข็งแกร่งและเติบโต

ในฐานะนักวิชาการที่เริ่มรู้สึกว่า ตัวเองเป็นกลุ่มคนที่ไร้น้ำยาที่สุดในการช่วยชี้ทางออกและช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคม เราต่างแสดงจุดยืนบนพื้นฐานของความคิดและอุดมการณ์ของตนเองโดยไม่ค่อยได้เรียนรู้ถกเถียงร่วมกันอย่างจริงจัง การล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่พอแล้วกระมัง คงต้องช่วยกันคิดหาทางว่าจะทำอะไรให้สังคมไปได้มากกว่านี้ในระยะยาวต่อไป

ในฐานะเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในสันติวิธีว่าจะเป็นทางออกให้สังคม ได้เห็นแล้วว่า แม้จะมีเหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้น แต่การต่อสู้ในครั้งนี้ของคนเสื้อแดงนับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 พวกเขายังคงยืนหยัดการต่อสู้ด้วยมวลชนมือเปล่า การไม่ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน การคืนอาวุธที่ยึดได้จากฝ่ายทหาร การตั้งแถวปรบมือและเช็ดใบหน้าให้ทหารตำรวจที่ตนต่อสู้ด้วยหลังจากเข้ายึดเพื่อเชื่อมสัญญาณไทยคม (แทนที่จะตามล่าทำร้ายด้วยความแค้นจนเกิดการบาดเจ็บมากกว่านี้) ฯลฯ ภาพเหล่านี้จึงมีส่วนทำให้ผู้คนเป็นจำนวนมากเริ่มยอมรับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะพวกเขาจะยังอาจใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ เช่น การโจมตีเรื่องส่วนตัว และการปลุกเร้าด้วยคำพูดหยาบคายของนักพูดบางคน การยึดพื้นที่ย่านธุรกิจที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องเดือดร้อน แต่ก็เชื่อมั่นว่า ผู้คนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดในสังคมไทยจะได้ช่วยกันเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนเสื้อแดง และได้ทบทวนและพัฒนาต้น “สันติวิธี” ให้เติบโตกล้าแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไปในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท