Skip to main content
sharethis

 

8 เม.ย.53 จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทออนไลน์ชี้แจงถึงกรณีการปิดเว็บไซต์ประชาไทว่า ในช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 9.00 น.ไม่สามารถเข้า http:// prachatai.com ซึ่งเป็นส่วนของเว็บข่าวและบทความได้ จึงได้ทำการตรวจสอบกับบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ data center ที่ประชาไทได้ใช้บริการฝากวางเซิร์ฟเวอร์ไว้ ทางไอเน็ตยืนยันว่ามีคำสั่งให้ ปิดเว็บดังกล่าว เป็นผลให้ไม่สามารถเข้าถึงเว็บได้ และเป็นการบล็อกในระดับเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่สามารถใช้ proxy ในการเข้าถึงด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า คำสั่งดังกล่าวลงนามโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ เรียบร้อย (ศอ.รส.)

จีรนุช กล่าวว่า ในบรรยากาศขัดแย้งทางการเมือง เว็บไซต์ประชาไทก็ไม่เคยถูกปิดกั้นแม้กระทั่งในช่วงรัฐประหาร นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการปิดกั้นอย่างเป็นทางการ โดยที่ผ่านมาประชาไทไม่ได้ย้ายเซิร์ฟ เวอร์ไปไว้ต่างประเทศ เพราะเชื่อมั่นว่าสังคมไทยนั้น เคารพในเสรีภาพของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบเหตุผลในการปิดเว็บ ไซต์ และได้ส่งจดหมายไปสอบถามเหตุผล ที่กระทรวงไอซีที รัฐมนตรีสำนักนายก และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว รวมทั้งจะดำเนินการผ่านช่องทาง ของศาลปกครองด้วย เพราะถือว่าเป็นการปิดกั้นอย่างไม่ชอบธรรมที่สุด

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทกล่าว ด้วยว่า ขณะนี้กำลังย้ายข้อมูลไปไว้ยัง เซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ จะสามารถเปิดให้เข้าถึงเว็บได้อีกครั้งผ่านทาง http://prachatai.net ระหว่างนี้ผู้สนใจสามารถติดตาม ข้อมูลข่าวสารได้ใน http://facebook.com/prachatai ในส่วนของเว็บบอร์ด (http://prachataiwebboard.com) ยังใช้การได้ตามปกติ

“สถานการณ์ตอนนี้ดูสับสนและเริ่ม มีการปิดกั้นข่าวสารอย่าง ชัดเจน แต่ยิ่งปิดกั้นก็จะยิ่งสร้างความ ตื่นตระหนก และจะสร้างความวุ่นวายในทางข่าวสาร ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น เราเห็นว่าข่าวสารควรมีสมดุล ผู้อ่านควรได้รับการรับรู้ข้อมูล อย่างรอบด้าน” จีรนุช กล่าว

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะกรรมการนโยบายทีวีไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจถึงเหตุผลในการปิดเว็บไซต์ ประชาไท เนื่องจากเป็นเว็บไซต์ที่ทุกคน สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อ โดยตนและเพื่อนได้ริเริ่มก่อตั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยุคนั้นมีปัญหาความรุนแรง ใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่ถูกเปิดเผย หลังจากนั้นในปี 2549 ประชาไทก็เป็นพื้นที่สำหรับผู้ต่อต้านการรัฐประหาร หากดูเนื้อหาของเว็บไซต์ในขณะ ที่ถูกปิดนี้ก็พบว่าไม่มีเนื้อหา ใดที่จะผิดกฎหมาย หรือน่าเป็นห่วง

“ในระยะหลังแม้ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง กับประชาไท รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับประชาไทในหลายเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่เหตุที่ใครจะมาปิดกั้น ได้ พื้นที่นี้อาจมีความเห็นที่รัฐบาล หรือคนบางส่วนไม่ชอบ แต่ยังอยู่ในกรอบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราต้องปกป้องสิทธิของสื่อที่ประชาชน จะใช้เป็นพื้นที่แสด งความคิดเห็นแม้จะเป็นอย่างไร ก็ตาม ตราบเท่าที่ไม่ได้เป็นการยุยง ให้คนฆ่ากัน หรือก่อความรุนแรง การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยก็ได้รับรองสิทธิ ในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่ออยู่แล้ว” จอนกล่าวและมองว่าประชาไทไม่ใช่เวทีของ นปช. แม้จะมีผู้นิยมฝ่ายเสื้อแดงเขียน บทความมาร่วมเยอะแต่ที่ผ่าน มาก็ถือมีความหลากหลายของ ข่าวสารข้อมูลพอสมควร และเป็นเวทีให้คนทุกฝ่าย บทความที่เชียร์พันธมิตรฯ หรือวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายแดงก็มี

จอนกล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งการในเรื่องนี้ และข้อมูลที่นำเสนอต่อศาลเป็นอย่างไร แต่เรื่องนี้ต้องมีการอุทธรณ์ และควรต้องนำไปสู่ศาลปกครอง เพราะถือเป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของการปิดกั้นสื่ออื่น เช่น สื่อของคนเสื้อแดงโดยตรงในสถาน การณ์เช่นนี้นั้น จอนมองว่า กรอบที่ควรจะมีคือการมีกฎหมายในการควบคุมไม่ให้มีสื่อที่ปลุกปั่นหรือยุยงคนให้ทำผิดกฎหมายหรือใช้ความรุนแรง ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศใช้นั้น คือสิ่งที่พิสูจน์ว่ากฎหมาย ฉุกเฉินต่างๆ ทำให้รัฐสามารถละเมิดสิทธิของประชาชนได้อย่างง่ายดาย อยากปิดปากใครก็ทำได้โดยไม่ต้อง รีรอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net