Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ยังจะไม่มีใครชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในวันนี้ แต่ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” จะมีคุณค่าต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ไม่มีใครจะชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเวลานี้ ถ้าเสื้อแดงยังสู้แบบนี้ต่อไป สู้ท่ามกลางการประโคมของสื่อรัฐ สื่อสีตรงข้าม และสื่อกระแสหลักว่า แกนนำเสื้อแดงกำลังนำชาวบ้านต่างจังหวัดเข้าสู่สถานการณ์สุ่มเสี่ยง และกำลังจับ “คนกรุงเทพฯ” เป็นตัวประกัน

คนเสื้อแดงอาจไม่เพียงแพ้ฝ่ายรัฐบาลและแนวร่วม แต่อาจแพ้ “คนกรุงเทพฯ” เมื่อนั้นความพ่ายแพ้ก็จะถูกขยายผลโดยสื่อฝ่ายตรงข้าม สื่อของรัฐ และสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง การเลือกตั้งครั้งหน้าที่คนเสื้อแดงมั่นใจนักหนาว่าฝ่ายตนจะชนะ ก็อาจจะยังชนะ แต่ “เสียง” ที่บ่งชี้ว่าชนะนั้นอาจมีจำนวนน้อยลง

อย่าลืมว่า “ม็อบ” ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน แต่ “สื่อ” คือชีวิตประจำวัน หากไม่ยอมรับความจริงเช่นนี้คงไม่มีการสร้าง “สื่อเสื้อแดง” ขึ้นมา

และอย่าเดินหน้าบนสมมติฐานที่ตายตัวว่า คนสีไหนก็เสพสื่อของสีนั้นเท่านั้นและยังมีความเชื่ออยู่แบบเดิมไม่ยอมเปลี่ยน คนไม่เอาสีไหนเลยก็จะคงเป็นเช่นนั้นอยู่ต่อไป แล้วได้แต่ก่นด่าสื่อหรือฝ่ายที่เห็นต่างที่เสนอข่าว/แสดงความเห็นที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง/ความเชื่อของฝ่ายตน

ทำไมต้องแตกหักเวลานี้? คนเสื้อแดงอาจมีคำตอบที่สมเหตุสมผลในกลุ่มตัวเอง แต่คำตอบที่สมเหตุสมผลนั้น ทำให้คนที่ยังไม่เลือกข้าง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่เดือดร้อนกับการชุมนุมมองเห็น “ความสมเหตุสมผล” ด้วยหรือไม่?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลที่ให้แก้รัฐธรรมนูญ สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เอื้อต่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและสงบสันติ ภายใต้เงื่อนเวลา 9 เดือน แล้วยุบสภา (แถมเงื่อนเวลายังเปิดให้ต่อรองกันได้) ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอที่จริงใจหรือไม่ แต่มันฟังดูดีสำหรับชนชั้นกลางในเมืองที่มีการศึกษา กุมอำนาจสื่อ  อำนาจทางความคิด อำนาจเศรษฐกิจ หรือรวมๆแล้วคือ “กุมอำนาจฉันทามติทางการเมือง” (หรือพูดให้เบาลงมาหน่อยคือ มีพลังฉันทามติทางการเมืองเหนือกว่าคนต่างจังหวัด คนชนบท ตลอดมา)

พูดตรงๆคือ สำหรับจริตของคนชั้นกลางในเมืองแล้ว ข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาลมันเป็นข้อเสนอที่ฟังดูดีกว่า “ต้องยุบสภาภายใน 15 วันเท่านั้น” (ว่ะ)

คนเสื้อแดงน่าจะมี “วุฒิภาวะ” มากกว่า ควรนำการกดดันรัฐบาลด้วยด้วยวิธีที่ผิดกฎหมายของพันธมิตรฯ มาเป็นบทเรียน หยุดการยกระดับการกดดันที่จะเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลสลายการชุมนุม เพราะเมื่อรัฐบาลสลายการชุมนุมและเกิดความรุนแรง คำตอบอาจไม่ใช่เสื้อแดงต้องชนะเสมอไป

เมื่อคำตอบหลังเกิดความรุนแรง (ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ “แกนนำ” คาดการณ์ได้อยู่แล้วแน่ๆ) อาจไม่ใช่ชัยชนะของคนเสื้อแดง มันจึงไม่คุ้มเลยที่ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องมาบาดเจ็บล้มตาย!

ชัยชนะที่ถาวรคือการเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคม การชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนี้ทำได้อย่างดียิ่งแล้วในการชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ทำให้คนในสังคม (ทุกสีและไม่มีสี) มองเห็นร่วมกันว่า สังคมไทยจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้แล้ว ถ้าไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ อย่างจริงจัง และแก้ในเชิงระบบหรือเชิงโครงสร้าง

การชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ให้คน (โดยเฉพาะคนชนบทจำนวนมาก) มีความเห็นร่วม (แม้อาจคิดต่างในรายละเอียด และแนวทางแก้ไข) เป็นคุณูปการสำคัญยิ่งของคนเสื้อแดงในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง แต่คุณูปการนี้อาจถูกบิดเบือนหรือถูกทำลายคุณค่าลง หากการเดินหน้าต่อไปของคนเสื้อแดงนำไปสู่ความรุนแรง

คนเสื้อแดงสามารถต่อยอดคุณูปการที่ตัวเองสร้างไว้นี้เพื่อดึงฉันทามติจากประชาชนให้มากขึ้นได้ หากคนเสื้อแดงคิดว่าแนวร่วมจากคนจำนวนมากในสังคมที่ไม่ใช่สีแดงเป็นเรื่องสำคัญในทางการเมือง และชัยชนะของคนเสื้อแดงจะนำไปสู่การลดปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมได้จริง

วันนี้ประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” เข้ามาสู่พื้นที่สื่อกระแสหลักมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีความถี่ในการวิเคราะห์และถกเถียงกันจน “ตกผลึก” คนเสื้อแดงควรขยายผลต่อจนเกิดการ “ตกผลึก” ทางความคิดในสังคมวงกว้าง อย่าเอาแต่ก่นด่าสื่อรัฐและสื่อกระแสหลักอย่างที่พันธมิตรฯ เคยทำ อย่าเลียนแบบการใช้มวลชนในทางละเมิดกฎหมายอย่างที่พันธมิตรฯเคยทำ (และที่คนเสื้อแดงก็เคยทำ)

พูดก็พูดเถอะ หากคนเสื้อแดงเลิกเอาแต่ก่นด่าความลำเอียงของสื่อต่างๆ หันมายื่นเงื่อนไขต่อรัฐบาลว่า ขอสัดส่วนเวลาออกอากาศในช่อง “หอยม่วง” ให้เท่าเทียมกับเวลาออกอากาศของฟากเสื้อเหลือง ควบคู่กับการเจรจาต่อรองเรื่องเงื่อนเวลาในการยุบสภา (ให้เหลือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน) ผมว่าคนเสื้อแดงจะมีโอกาสชนะใจคนส่วนใหญ่ในสังคมมากกว่า (แม้ว่าจะชนะรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม)

เพราะนั่นเท่ากับเป็นการ “ทิ่มแทง” การแทรกแซงสื่อของรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างตรงเป้า เท่ากับเป็นการยื่นเงื่อนไขเรื่องการสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เอื้อต่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและสงบสันติ ที่สื่อของรัฐจะต้องสร้าง “สมดุลของเวทีแสดงความเห็นทางการเมือง” ให้ได้ก่อน

และเท่ากับคนเสื้อแดงจะมีพื้นที่สื่อที่เป็นฟรีทีวีในการขยายประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” และแนวทางแก้ไขอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ (มากกว่าที่เสนอบนเวทีชุมนุม) อันจะนำไปสู่การ “ตกผลึก” ทางความคิดในสังคมวงกว้างมากขึ้นต่อไป

และโดยวิธีนี้ (อีกวิธีหนึ่ง) คุณูปการของคนเสื้อแดง ในการชูประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ก็อาจมีคุณค่าต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net