Skip to main content
sharethis

ศอ.รส. แจง 6 ประเด็นศาลเปิดไฟเขียวจัดการ นปช.ชุมนุมผิดกฎหมาย หมดสิทธิอุทธรณ์ เหตุแกนนำคัดค้านชั้นศาลแล้ว เตรียมใช้อำนาจตามกฎหมายจับกุมซึ่งหน้าพรุ่งนี้(6เม.ย.) ชี้ผู้ร่วมน้อยลงหวั่นติดคุกหลังเข้าใจ คำสั่งศอรส. ด้านดีเอสไอ แถลงย้ำศาลชี้ นปช.ชุมนุมผิดกฎหมาย

5 เม.ย.53   เมื่อเวลา 20.50 น. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ร่วมกันแถลงภายหลังกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง นำคำพิพากษาศาลแพ่งให้อำนาจรัฐบาลสลายการชุมนุมได้ตามพ.ร.บ.มั่นคง แต่กลับไปบิดเบือนบนเวทีปราศรัย สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้ชุมนุม

พ.อ.สรรเสริญ แถลงว่า ที่ประชุมวันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีการรายงานว่าการชุมนุมพื้นที่แยกราชประสงค์มีจำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลงกว่าเมื่อวันที่ 4 เม.ย. โดยลดเหลือ 16,500 คน -17,500 คน สาเหตุยอดผู้ชุมนุมลดลง ส่วนหนึ่งใกล้เทศกาลสงกรานต์ และคำพูดแกนนำยั่วยุส่อความรุนแรง เมื่อพิจารณาจากการที่ศอ.รส.แจกเอกสารข้อห้ามการชุมนุม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเข้าใจสถานการณ์และสภาพโดยรวม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินทางกลับบ้าน ทั้งนี้ ศอ.รส.เน้นย้ำ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย อดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุของแกนนำ

ด้าน รมต.ประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า จากคำพิพากษาศาลแพ่งยกคำร้องสำนักนายกฯที่เป็นผู้ร้อง อาจเกิดข้อความสื่อสารในกลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความสับสน และมีคำถามโดยทั่วไปยกคำร้องมีผลอย่างไร โดยผู้ชุมนุมนำไปบิดเบือนว่าการยกคำร้องแล้ว ทำให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจบิดเบือนได้

“วันนี้อัยการสูงสุดได้ชี้แจงใน ศอรส.ให้ทราบว่า 1.กรณีศาลได้พิเคราะห์มิใช่แต่คำร้องสำนักนายกฯ เท่านั้นแต่มีคำร้องผู้คัดค้านด้วยคือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นคำวินิจฉัยที่มีคำโต้แย้งแล้วจากแกนนำผู้ชุมนุม อัยการชี้ให้เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยมีคำโต้แย้งแล้ว และ 2.ศาลได้วินิจฉัยได้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ว่า ความหมายการไต่สวนของศาลกลั่นกรองแล้วสรุปว่าการกระทำของบุคคลทั้ง 5 คน ผู้ร่วมชุมนุม กีดขวางเส้นทางคมนาคม ยานพาหนะ ส่งผลกระทบธุรกิจสำคัญ ส่งผลต่อความเสียหายต่อการประกอบอาชีพ จำกัดสิทธิเสรีภาพ การเดินทางทางสร้างความเดือดร้อน กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” นายสาทิตย์ กล่าว

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา 34 และ 63 อันเป็นกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แปลว่า การชุมนุมนี้ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามบทบัญบัติรัฐธรรมนูญผิดกฎหมาย พร้อมกันนี้ 4.ศาลวินิจัฉัยต่อว่า กอ.รมน.มีอำนาจทั้งหลายทั้งปวงเพื่อป้องกันแก้ไขฟื้นฟู เหตุที่เป็นภัย และอาจเป็นภัยต่อกลุ่มบุคคล หมายความว่า ต่อไปนี้ กอ.รมน. มีอำนาจทั้งหลายทั้งปวงป้องกันควบคุมแก้ไขให้สถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติ

รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า 5.ศาลวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อมีข้อกำหนด และประกาศแล้ว ข้อกำหนดและประกาศ จึงมีสภาพบังคับ ย่อมมีผลบังคับใช้ทันที และข้อต่อไป กอ.รมน.ย่อมมีอำนาจทั้งหลายทั้งปวงตามเห็นสมควรและความจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศ มีอำนาจป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับบั้ แก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์

“6 ข้อนี้ ยืนยันถึงสภาพการชุมนุม และอำนาจของกอ.รมน.ที่จะดำเนินการต่อจากนี้ โดยการดำเนินการต่อไป มีความเห็นอัยการสูงสุดคือ เมื่อการชุมนุม เป็นการชุมนุมผิดกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มคอรงตามรัฐธรรมนูญ กอรมน.มีอำนาจดำเนินการ ไม่ว่าผู้จัดให้ชุมนุม หรือผู้ชุมนุมยังอยู่ในที่ชุมนุม เป็นความผิดซึ่งหน้าสามารถดำเนินการได้ อยู่ที่อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้ สภาพที่ทำให้เกิดสภาพบังคับใช้ตามกฎหมาย จะดำเนินกาต่อไปโดยคำนึงถึงความเหมาะะสมและตามหลักสากลทั่วไป ส่วนผู้ชุมนุมที่มีความผิดตามหลักฐานชัดเจน หากออกจากที่ชุมนุมไป แต่ปรากฎหลักฐานอยู่ในที่ชุมนุม รับทราบแล้วว่าผิดกฎหมาย พนักงานสามารถออกหมายเรียกหรือออกหมายจับตามความผิดได้ ทั้งนี้ ศอ.รส.จะประเมินเหตุการณ์จะดำเนินการต่อไป” รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าว

นายสาทิตย์ กล่าวว่า เป้ามหมายการบังคับมใช้กฎหมายเป็นขั้นตอน เช่นเดียวกับวันพรุ่งนี้ที่ นปช.จะเคลื่อนขบวนไปตามเส้นทาง 11 เส้น ซึ่งศอ.รส.มีอำนาจสกัดกั้น ระงับยับยั้ง ไม่ให้กระทำผิดเพราะกระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งศอ.รส.ประชุมและซักซ้อม เพื่อไม่ให้นปช.กระทำผิดกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรหมายถึงว่าจะจับแกนนำในวันพรุ่งนี้ใช่หรือไม่ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ถ้าสามารถที่จะจับกุมซึ่งหน้าได้แล้วไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอาจจะด้วยผู้ชุมนุมน้อยลง เจ้าหน้าที่จำนวนมากพอที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ก็จะดำเนินการ แต่ถ้าหากสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะหรือมีเหตุที่จะลุกลามบานก็อาจะต้องออกหมายเรียกหรือขอศาลออกหมายจับในโอกาสต่อไป เมื่อมีพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะเดินสายไปตามเส้นทางต่างๆ นั้น นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในเมื่อเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมายและมีการประกาศในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายนั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็จะมีอำนาจในการสกัดกั้นตามหลักสากล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตั้งใจที่จะไม่ให้มีการเผชิญหน้าหรือขัดแย้ง แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการระงับยับยั้ง เพราะอย่างที่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามยั่วยุเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ใช้กำลังก่อนเพื่อที่จะสร้างเงือ่นไขในการชุมนุมที่รุนแรงต่อไป


ดีเอสไอแถลงย้ำศาลชี้นปช.แดงป่วนเมืองผิดกม.
ต่อมาเวลา 21.30 น.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และโฆษกระทรวงยุติธรรม เปิดแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ว่า คำสั่งศาลแพ่ง นั้นมีข้อชี้แจง 7 ประเด็น 1.คำร้องของสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ไม่ใช่ร้องฝ่ายเดียว แต่มีผู้คัดค้านด้วยคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) การมีผู้ร้องและผู้รับคัดค้าน ถือว่าเป็นการพิจารณาไม่ใช่ฝ่ายเดียว แต่เป็นคู่ความสองฝ่าย

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ประเด็น 2.ศาลแพ่งสั่งคำร้องครั้งนี้โดย พิเคราะห์จากพนักงานอัยการ พิเคราะห์จากคำคัดค้านแกนนำนปช. 2 คน และพิเคราะห์จากหลักฐานที่ได้ไต่สวนตลอดทั้งวัน พิเคราะห์ทั้งหมดแล้ว รับฟังได้ว่า การวินิจฉัยศาลไม่ใช่พิเคราะห์จากคำร้องผู้ร้องสำนักนายกฯฝ่ายเดียว แต่พิเคราะห์จากหลายฝ่าย และสืบพยานหลักฐานต่างๆด้วย

นายธาริต กล่าวว่า ข้อสังเกตประการที่ 3.ศาลพิเคราะห์ว่า จากข้อเท็จจริงจากการนำสืบทั้งหมด ศาลรับฟังได้ว่า เป็นการรับฟังจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่รับฟังข้อกฎหมายเท่านั้น ประการถัดมา ศาลพิเคราะห์ส่วนสำคัญอย่างยิ่ง การชุมนุมนปช. หรือเสื้อแดงขณะนี้ โดยเฉพาะปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ เส้นทางกทม. พิเคราะห์เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประการถัดไป ศาลพิเคราะห์ว่า กอ.รมน.จึงมีอำนาจทั้งหลายทั้งปวง เพื่อป้องกันควบคุมแก้ไข ฟื้นฟู จากเหตุการณ์ไม่สงบสุขนี้ได้ เป็นการยืนยันอำนาจหน้าที่กอ.รมน.ที่ดำเนินการขณะนิ้ ว่าสามราถควบคุมแก้ไขและฟื้นฟูสถานการณ์ได้

นายธาริต แถลงว่า ประการถัดไป ข้อกำหนดและประกาศต่างๆที่ กอ.รมน.ประกาศใช้ มีสภาพบังคับอยู่ในตัว และประกาศแล้วย่อมมีผลทันที รองรับว่าบรรดาข้อกำหนด ประกาศ ที่วันก่อนห้ามชุมนุมสาธารณะ แยกราชประสงค์ และห้ามไปชุมนุม 11 เส้นทาง ศาลวินิจฉัยข้อกำหนด ประกาศต่างๆ มีสภาพบังคับ เมื่อประกาศใช้ย่อมีผลบังคับใช้

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศาลพิเคาราะห์ว่าผู้ฝ่าฝืน ข้อกำหนดประกาศ มีโทษตามมาตรา 24 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ศาลรองรับการบบังคับโทษนี้เช่นเดียวกัน และประการสุดท้าย จากที่ศาลพิเคราะห์มาตามลำดับ ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ร้องเองหรือกอ.รมน. สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ไม่ต้องขอสิทธิทางศาล สามารถดำเนินการทั้งปวง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่จำเป็นต้อมมาขอสิทธิทางศาล จึงมีการยกคำร้อง

“การทื่ศาลยกคำต้อง ไม่ได้หมายถึง การชุมนุมเสื้อแดงกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ตรงกันข้ามศาลพิเคราะห์ชัดเจน การดำเนิการของนปช.เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย และมีโทษทางอาญา นอกจากนั้น กอ.รมน.สามารถแก้ไขสถานการณ์ทั้งหายทั้งปวงด้วย” นายธาริต กล่าว

 

ที่มา: เว็บไซต์คม ชัด ลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net