Skip to main content
sharethis

นายกฯ ตรวจความพร้อมก่อนประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้ 4 ข้อสรุปทำปฏิญญาหัวหิน เรื่องน้ำ แบงก์โลกชี้อนาคตเกิดวิกฤตแย่งน้ำแน่ เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำโขงบุกสถานทูตจีน ขู่ฟ้องศาลโลกให้หยุดสร้างเขื่อน-ระเบิดแก่ง ร่วมตั้ง กก.ภาค ปชช. ยัน"ฮุนเซน"มาร่วมเอ็มอาร์ซี หัวหินแน่

3 เม.ย.53   เวลาประมาณ 8.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมครอบครัวเดินทางออกจากบ้านพักในซอยสวัสดี ถนนสุขุมวิท 31 เพื่อปฏิบัติภารกิจที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเดินทางถึง อ.หัวหิน เวลาประมาณ 09.30 น. ทั้งนี้ กำหนดการเดินทางและที่พักของนายกฯ ถูกปกปิดเป็นความลับตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด กระทั่งเวลา 13.45 น. นายอภิสิทธิ์เดินทางไปยังโรงแรมไฮแอท รีเจนซี หัวหิน ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (เอ็มอาร์ซี) ท่ามกลางการอารักขาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้การต้อนรับ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายอภิสิทธิ์ไปถึงได้ร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงทันที ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย (ผอ.ศอ.รปภ.) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.กองทัพไทย พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เข้าร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดการประชุมเอ็มอาร์ซี

หลังการประชุมนายอภิสิทธิ์แถลงว่า รับฟังบรรยายสรุปสาระในการประชุมเอ็มอาร์ซีจากนายสุวิทย์ ซึ่งในวันที่ 4 เมษายนจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรี และวันที่ 5 เมษายนจะเป็นการประชุมระดับผู้นำ แต่ผู้นำประเทศต่างๆ จะทยอยเดินทางมาถึงไทยวันที่ 4 เมษายน ซึ่งตนจะมีการหารือทวิภาคีกับนายกฯลาวและเวียดนามในวันดังกล่าว ส่วนมาตรการในการดูแลการประชุมเอ็มอาร์ซี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังกลุ่มคนเสื้อแดงปิดการจราจรหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ บรรดาผู้นำที่จะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมเอ็มอาร์ซีมีท่าทีอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีปัญหาอะไร เท่าที่ได้รับรายงานพบว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมเอ็มอาร์ซีมากกว่าที่เตรียมไว้ด้วยซ้ำ เมื่อถามว่า สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังยืนยันเข้าร่วมประชุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ใช่ครับ"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายสุวิทย์นำนายอภิสิทธิ์เดินตรวจความพร้อมรอบโรงแรมไฮแอท รีเจนซี หัวหิน ซึ่งในคืนวันที่ 3 เมษายน นายกฯจะพักที่โรงแรมดังกล่าวด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 เมษายน สมเด็จฯฮุน เซน เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษ ATAR72-500 ถึงสนามบินบ่อฝ้าย เวลา 10.15 น. เช่นเดียวกับนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษ ATR72 -500 ลงที่สนามบินบ่อฝ้าย และเวลา 12.20 น. นายเหงียน ตัน ดุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษแอร์บัส 320 ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเดินทางด้วยรถเข้าร่วมประชุม

วันเดียวกัน ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี หัวหิน มีการประชุมวิชาการสัมมนานานาชาติก่อนการประชุมสุเอ็มอาร์ซี เพื่อจัดทำปฏิญญาหัวหิน ภายหลังการประชุมนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวง ทส.แถลงว่า ผลการประชุมระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน ได้ข้อสรุป 4 ข้อ คือ 1.เรื่องการบริหารทรัพยากรน้ำ ที่ทุกประเทศต้องปรับตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการในระดับภูมิภาค ขณะที่ในระดับประเทศต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

"ถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศจะเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการพัฒนาทรัพยากรน้ำจากการมุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก มาเน้นผลประโยชน์ระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน"  ปลัด ทส.กล่าว และว่า 2.เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุมเห็นว่าสภาวการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือน้ำท่วม จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ดังนั้นต้องบูรณาการการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน 3.เรื่องการปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่ประชุมเห็นว่าการจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้นั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.บทบาทเอ็มอาร์ซี การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและอำนาจหน้าที่ของเอ็มอาร์ซี ต่อประเทศต่างๆ ว่าจะมีแนวทางในการบริหารทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างไร ที่ประชุมจะนำข้อสรุปเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่วม และเสนอต่อที่ประชุมกลุ่มผู้นำในวันที่ 4-5 เมษายนต่อไป
 
สำหรับความคิดเห็นต่างๆ ในเวทีสัมมนานั้น นายไซมอน แอนดรูวส์ ผู้จัดการภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ธนาคารโลก กล่าวว่า การขาดแคลนน้ำ กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจไปแล้วไม่ใช่ปัญหาเชิงท้องถิ่นของแต่ละประเทศอีก เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหาร และพลังงาน สถานการณ์วิกฤตน้ำในอนาคตเริ่มส่อเค้ารุนแรง เห็นได้จากประชากรโลก 1 ใน 5 ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำ และน้ำส่วนใหญ่ 90% ใช้ไปกับภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม เหลือเพียง 10% ที่ใช้อุปโภคบริโภค จากการคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว 

"แค่ในศตวรรษที่ 20 ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า ทั้งโลกมีพื้นที่น้ำจืดแค่ 7% ของผืนแผ่นดินโลกเท่านั้น สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ศึกแย่งชิงน้ำปะทุขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยธนาคารโลก พยายามชี้นำ คือ ภายในปี 2015 ต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน ต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 1.8 แสนล้านบาท ก่อนปี 2030 ความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นทันที 40% ขณะที่การจัดการน้ำเสียก็ยังมีปัญหา คือ 90% ของน้ำสกปรกโสโครกยังถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ดังนั้น ระบบการชลประทาน และ กฎหมายบังคับการบำบัดน้ำเสียจึงเป็นสิ่งสำคัญ"  นายไซมอนกล่าว 
 
นายโรเบิร์ต โดเบียจ ที่ปรึกษาอาวุโส ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเอเชีย หรือ เอดีบี เจ้าหนี้ประเทศผู้สร้างเขื่อนทั่วโลก กล่าวว่า ยิ่งแม่น้ำโขงเกิดภาวะแล้งมากเท่าไร ก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศไทย เกษตรกร และชาวประมงที่มีวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำโขงมากขึ้นเท่านั้น
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันเดียวกัน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา นำตัวแทนเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มฮักน้ำของ กลุ่มศึกษาวัฒนธรรมและนิเวศ และชาวบ้านกว่า 200 คน ไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมยื่นหนังสือทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาลจีนต่อผลกระทบลุ่มน้ำโขง โดยมีนายเหยา เหวิน ผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง สถานทูตจีน เป็นผู้แทนรับหนังสือ
 
นายนิวัฒน์เปิดเผยว่า เครือข่ายขอให้รัฐบาลจีนดำเนินการ 4 เรื่อง ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลจีนหยุดสร้างเขื่อนเพิ่มเติมในแม่น้ำโขง 2.ให้หยุดระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง 3.ให้มีการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงภาคประชาชน และ 4.ให้รัฐบาลจีนเป็นหัวขบวนในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง ทั้งนี้ หากรัฐบาลจีนไม่มีการตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งมาจากข้อสรุปของภาคประชาชนของทั้ง 4 ชาติในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ก็จะพิจารณาใช้ช่องทางกฎหมายฟ้องต่อศาลโลก เพื่อให้จีนยอมทำตามข้อเรียกร้องต่อไป
 
"หลังการประชุมสุดยอดผู้นำโขงสิ้นสุดในวันที่ 5 เมษายน เครือข่ายจะให้เวลากับจีนระยะหนึ่ง แต่หากยังไม่มีการตอบสนองคำเรียกร้องจากภาคประชาชนทั้ง 4 ชาติ ก็จะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อฟ้องศาลโลก นอกจากนี้จะทำหนังสือถึงเอ็มอาร์ซี เพื่อให้ทบทวนบทบาทขององค์กรด้วย เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เอ็มอาร์ซีสนับสนุนให้จีนสร้างเขื่อน โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้านในประเทศท้ายน้ำโขงตอนล่าง ทั้งๆ ที่สาเหตุความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนซึ่งเก็บจากสถานีวัดน้ำ 6 แห่งในไทย พบว่าการที่น้ำขึ้นและลงผิดปกติมาจากการสร้างเขื่อน"  นายนิวัฒน์กล่าว
 
 
 
 
ที่มา : เว็บไซต์มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net