Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเวลาผ่านไป สีพรางของกลุ่มต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนนอกเหนือจากฝ่ายรัฐและเสื้อแดง นปช. ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ 

กลุ่มสันติวิธีเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ทั้งรัฐและ นปช.ยุติความรุนแรง โดยแกนนำสำคัญของกลุ่มคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 40 สว.ที่ออกมาแถลงข่าวว่า ในการชุมนุมวันที่ 3 เมษายน กลุ่ม นปช.จะ “สร้างสถานการณ์ก่อความรุนแรงด้วยการยิง ระเบิดใส่ผู้ชุมนุม ให้มีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากนั้นศพและคนบาดเจ็บจะกลายเป็นเครื่องมือ ปลุกให้เกิดความเคียดแค้น นำไปสู่การก่อจลาจล” [1]

เมื่อถูกถามว่าข่าวนี้มาจากไหน เพราะในขณะเดียวกัน หน่วยงานความมั่นคงของรัฐอย่างศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ยังแถลงว่า เหตุชุมนุมครั้งนี้ ไม่น่าจะเกิดความรุนแรง ปรากฏว่ากลุ่ม สว. กลับเดินหนี พวกเขากุข่าวเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นผู้ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมาย แต่กลับกล่าวโทษบุคคลอื่น ด้วยโทษที่มีมูลความผิดถึงขั้นชีวิตทีเดียว (ความมั่นคงต่อรัฐ) โดยไม่คำนึงว่าการกระทำของตนจะยิ่งสร้างความร้าวลึกให้กับสังคมมากเพียงใด

กลุ่มพี่น้องมหิดลก็ออกมากล่าวหาว่า จากการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบ (“ซึ่งได้ตัวอย่างเลือดมามากกว่า 2-3 หลอด หลอดละ 10 ซี.ซี.”) พบว่า นอกจากติดเชื้อแล้ว เลือดที่กลุ่ม นปช.ดำเนินการเททิ้งใน สถานที่ต่างๆ มีส่วนผสมของเลือดหมู และเลือดคนผสมกันด้วย และแสดงให้เห็นว่า “แกนนำไม่มีความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพและความ ปลอดภัยต่อร่างกายของเพื่อนร่วมชาติ” [2] ซึ่งเป็นการจ้วงจาบไม่เพียงต่อกลุ่ม นปช. (หาว่ามีเลือดหมูเลือดวัวมาผสม หาว่ามีเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ) แต่ยังดูถูกผู้มีเชื้อเอชไอวี และบิดเบือนความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นแพทย์และมีหน้าที่คุ้มครองรักษาหลักการทางวิทยาศาสตร์

เกือบสองทศวรรษมาแล้วที่องค์การอนามัยโลกและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐได้รณรงค์เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี มีการออกเอกสารมากมายอย่างเช่น ข้อสงสัย เรื่องโรคเอดส์ [3] เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันไม่ติดง่ายอย่างนั้น และที่สำคัญเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้มีเชื้อได้อย่างปลอดภัย

กลุ่มอาจารย์จุฬาฯ และพันธมิตรเก่าซึ่งเรียกร้องให้ชุมนุมเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แม้จะใช้เทคนิควิธีการพรางกายแตกต่างกัน แต่กลุ่มเหล่านี้ ถามจริง ๆ เถอะ และยอมรับแบบลูกผู้ชาย (หรือลูกผู้หญิงด้วย) ว่า สิ่งที่คุณต่อต้าน เหตุที่คุณรังเกียจการเคลื่อนไหวของ นปช. เป็นเพราะกลัวการกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณใช่หรือไม่

ถ้ายอมรับกันตรง ๆ ว่าใช่ การพูดคุยต่อไปก็ง่ายขึ้น

เพราะชัดเจนว่าคุณไม่ต้องการ “ตัวบุคคล” บางคน พอใจกับการวิจารณ์และทำลายบุคคลบางคน (พอใจกับการที่ศาลเล่นงานเฉพาะทักษิณ โดยปล่อยให้อดีตลิ่วล้อของทักษิณในรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่รอดปลอดภัย ปล่อยให้การคอรัปชั่นของทหารที่ปรากฏชัดทั้งในเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 เรือเหาะ ฯลฯ ลอยนวลผ่านหน้าไปเฉย ๆ) ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าการมุ่งทำลาย “ตัวบุคคล” เช่นนั้น จะเกิดขึ้นจากการสูญเสียของ “ระบบ” มากน้อยเพียงใด

คุณไม่แคร์ว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร (หรืออาจสนับสนุนด้วยซ้ำ) คุณไม่แคร์ว่าจะมีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน (การตัดสินพิจารณาคดีของศาลที่กระทำต่อนักการเมืองบางพรรคบางค่าย หน่วยงานกำกับการเลือกตั้งที่มุ่งกำจัดเฉพาะบางพรรคบางค่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลบางคน ฯลฯ)

คุณไม่แคร์ว่า การเคลื่อนไหวของพวกคุณปูทางให้อำนาจที่ยากต่อการตรวจสอบกลับสู่บัลลังก์ อำนาจที่ประชาชนหลั่งเลือดเสียชีวิตในเหตุการณ์ลุกฮือของมหาชนครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อเรียกร้องให้ทหารกลับกรมกอง และปฏิบัติหน้าที่ของตนในการรักษาอธิปไตยของประเทศ โดยไม่มายุ่งเกี่ยว หรือเกี่ยวให้น้อยสุดกับการเมือง

คุณไม่แคร์ว่า การเคลื่อนไหวของพวกคุณจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม (ในขณะที่ป่าวร้องหาสันติวิธี แต่คนในเครือข่ายเดียวกันกลับกุข่าวว่าฝ่ายหนึ่งจะสร้างเหตุให้เกิดจลาจล) คุณคิดว่านั่นเป็นวิธีแก้ปัญหาความร้าวลึก ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมของคนจำนวนเรือนแสนได้หรือ

คุณอาจปรามาสว่า กลุ่มนปช.ที่ออกมาเคลื่อนเป็นเพียง “ม็อบจัดตั้ง” (โปรดสังเกตว่าคำว่า “ม็อบเติมเงิน” ซึ่งเป็นวาทกรรมของกลุ่มพันธมิตรค่อย ๆ หายไปแล้ว) เป็น “ลิ่วล้อ” ของทักษิณ เป็น “ไพร่” ซึ่งไร้การศึกษา ขาดความเข้าใจต่อประชาธิปไตย

แต่จำนวนคนซึ่งเข้าร่วมกับกลุ่มนปช.มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะที่มาจากต่างจังหวัด แต่รวมถึงคนกรุงเทพฯ ที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ดี หรือคนต่างจังหวัดที่อยู่กรุงเทพฯ ก็ดี ตัวเลขสันติบาลระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในวันที่ 20 มีนาคม มีคนเข้าร่วม 65,000 คน ส่วนวันที่ 27 มีนาคมเกินหนึ่งแสนคน คุณคิดว่านี่ไม่ใช่จำนวนคนมากพอ (critical mass) ซึ่งไม่อาจเพิกเฉยได้หากเรายังเคารพในหลักการตามระบอบประชาธิปไตยหรือ

หรือคุณยังเชื่อว่า พวกเขาถูกจ้างมาทั้งนั้น

กลับมาอยู่ในโลกแห่งความจริงดีกว่า คนจำนวนเรือนแสนจะถูกจ้างมาได้จริงหรือ? ถ้าใช่ ท่อน้ำเลี้ยงคงใหญ่พอดู แล้วทำไมรมต.คลังฯ ซึ่งทำหน้าที่แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และคอยตรวจสอบการเคลื่อนไหวด้านการเงินของครอบครัวชินวัตร กลับไม่สามารถระบุได้ว่า ท่อน้ำเลี้ยงนั้นส่งไปไหนกันแน่ เกี่ยวกับม็อบยังไง นอกจากแถรายวันว่า “"ยังไม่พบว่ามีการนำเงินออกนอกประเทศ ส่วนจะนำมาใช้ในประเทศไทยอย่างไร เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้" (ผู้เขียนเน้นเอง) เพื่อสร้างข่าวทำร้ายฝ่ายนปช. และดิสเครดิตตัวเอง และทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน

รมต.คนนี้และกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ยอมรับเถอะว่าคุณมีสีอะไรกันแน่? คุณกลัวทักษิณใช่หรือไม่?

ถามตัวเองเถอะว่า คุณพอใจกับการต่อสู้กับอำนาจนอกระบบที่มีศัตราวุธเป็นกองหนุน หรือยินดีกับการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยต้องเผชิญหน้ากับอำนาจจากระบอบทุน แต่อย่างน้อยคุณมีกลไกและพื้นที่ที่สามารถแสดงสิทธิเสียงได้มากกว่า

ถามคนอเมริกันเถอะว่า เขาพอใจกับการให้ทหารทำหน้าที่อย่างเป็นมืออาชีพของตน เพื่อรักษาอธิปไตยของประเทศ ในขณะที่ภาคประชาสังคมก็ต้องต่อสู้กับอำนาจของบรรษัทการค้าที่อยู่เบื้องหลังฝ่ายบริหารต่อไป และกลุ่มความเชื่อที่ต่างกันอย่างสุดขั้วทั้งสองกลุ่ม ก็สู้กันไปตามระบบที่มีอยู่

ถามตัวเองเถอะว่า คุ้มแล้วหรือที่จะทำลายคน ๆ หนึ่ง โดยการเสียสละหลักการและระบบที่เป็นอยู่ และไม่คำนึงถึงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะยาว

อยากให้ตอบคำถามเหล่านี้ด้วยมโนธรรมสำนึกของคุณเอง

การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ชอบตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้เขียนคิดว่าควรมีข้อแม้ว่า ประการแรก กลุ่มต่าง ๆ ควรประกาศจุดยืนและวาระของตนอย่างชัดเจน สีพรางต่าง ๆ เลิกเถอะ ประการที่สอง การเคลื่อนไหวควรอยู่บนพื้นฐานสัตยธรรม ไม่ใช่การกุข่าวกล่าวหาลอย ๆ ด้วยเจตนาร้าย

จำได้ไหมว่า ท่านคานธีเรียกการเคลื่อนไหวของท่านว่าเป็นแนว “สัตยาเคราะห์” เพราะท่านเห็นว่าความจริงเท่านั้นที่เป็นพื้นฐานที่ชอบธรรมต่อการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษที่ฉ้อฉลแต่มีอำนาจมากมาย

อาจมีคนแย้งว่าสิ่งที่กลุ่ม นปช.เรียกร้องก็เป็นเรื่องของตัวบุคคลเช่นกัน นั่นคือการเป็นนอมินีและใช้การเมืองในท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ทักษิณและพรรคพวกกลับเข้าเถลิงอำนาจอีกครั้ง

คำตอบมีทั้งใช่และไม่ใช่

ถามว่าเรียกร้องทักษิณกลับมาหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่ามวลชนจำนวนมากที่เคลื่อนไหวอยู่บนถนนราชดำเนินต้องการเช่นนั้นจริ

แต่ถามว่าเขาต้องการเพียงตัวบุคคลกลับคืนมาหรือไม่ ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องคือการนำ “ระบบ” หรือ “กติกา” ที่เขาเห็นว่าเป็นธรรมกลับคืนมาสู่สังคมด้วย อย่างน้อยที่สุดที่พวกเขาเรียกร้องอย่างชัดเจนคือการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 และหรือไม่ก็แก้ไขรธน. 50

ก็อาจมีคนแย้งอีกว่า รธน. 40 ไม่ใช่หรือที่ปูทางให้ทักษิณขึ้นสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ? ก็ต้องย้อนกลับไปถามว่าเป็นความผิดของตัวบุคคลหรือระบบกันแน่ แต่อย่างน้อยในความเห็นของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักวิชาการ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าไม่ฝักใฝ่ทักษิณอย่างแน่นอน และมีความรู้ความสามารถปรากฏเป็นที่ชัดเจนในวงกว้าง ทั้งยังได้ศึกษาข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบในงานวิจัย "เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ: บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540" ก็ยอมรับว่า

“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 พยายามลดทอนทำนบกีดขวางการเข้าสู่ตลาดการเมือง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับลดทอนเสรีภาพในการเข้าสู่และออกจากตลาดการเมือง มิหนำซ้ำยังสร้างอุปสรรคใหม่ในการเข้าสู่ตลาดอีกด้วย” ในขณะเดียว อาจารย์ก็มองว่า “จริงๆ เรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมมีความเห็นตั้งแต่ต้นว่า ประชาชนไม่ควรจะรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาก” และมีข้อเสนอว่า “ดังนั้นในความเห็นส่วนตัวผม ถ้าถามว่ามีเหตุผลที่จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือรื้อโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ ผมคิดว่ามันมีเหตุผล แต่ผมไม่ต้องการให้สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา ผมต้องการให้รื้อโครงสร้างใหม่ [4]

ถึงบรรทัดนี้คงบอกได้ว่า สิ่งที่นปช.เรียกร้องเป็นเรื่องตัวบุคคลก็จริง แต่เขาก็เรียกร้อง “ระบบ” และ “กติกา” ที่เป็นธรรมมากขึ้นด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ในด้านหนึ่งจะทำให้เกิดความร้าวลึก ทำให้เกิดความเสียหายด้านต่าง ๆ ต่อประเทศ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งคือ คนจำนวนมากเกิดความตื่นตัวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เห็นถึงความฉ้อฉลของระบบและนักการเมืองผู้ใช้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่ มีการรวมตัวจัดตั้งอย่างเข้มแข็งเพื่อสถาปนาให้ระบบถ่วงดุล (checks and balance) กลับคืนมาบ้าง

ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าทักษิณหรือนอมินีของเขากลับมาอีกครั้ง เขาคงไม่พยายามกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นเดิม หรือถ้าจะทำก็คงทำไม่ได้ เพราะจะต้องถูกทัดทานตรวจสอบจากกลุ่มทางสังคมต่างๆ มากมาย

ถ้าทุกกลุ่มทุกฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะสถาปนาระบบและหลักการขึ้นมา เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ได้ฝากพระธรรมให้เป็นหลักมั่นของพุทธศาสนิก หลังจากท่านสิ้นไปแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่ากลุ่มต่าง ๆ ย่อมมีพื้นที่ร่วมกันอยู่มาก และเหมือนระบบตลาดทั่วไปที่มีการแข่งขัน เรามาสร้างกติกาที่ช่วยให้ทุกคนทุกฝ่ายแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม จะไม่ดีกว่าหรือ

 

[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270105919&grpid=&catid=01

[2] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1270108667&grpid=00&catid=

[3] http://www.4life-network.com/index.php?mo=3&art=386311

[4] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ มองเศรษฐกิจ-การเมืองไทย4.ผ่าน รธน. 50  ประชาชาติธุรกิจ 3 เมษายน 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3989 (3189)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net