Skip to main content
sharethis

ความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่นเป็นสิ่งพื้นฐาน และเป็นส่วนสำคัญหลัก ของวิถีชีวิตชุมชนริมนํ้าโขง การพึ่งพาอาหารของคนริมโขง ไม่ใช่เพียงเพื่อการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างรายได้ นำมาสนับสนุนรายจ่ายของครอบครัวในยุคปัจจุบัน อีกทั้งกระจายไปสู่วงจรเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นในระหว่างเดือนกันยายน - ตุลาคม 2552 โดยเลือกศึกษาพื้นที่บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย งานวิจัยเจาะจงศึกษาความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น อันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปได้ของผลกระทบเชิงลบจากเขื่อนปากชมต่อวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อการผลิตไฟฟ้าและความต้องการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก ในแง่นี้เขื่อนขนนาดใหญ่คงไม่อาจคุ้มค่ากับความหลากหลายของระบบนิเวศน์ที่จะถูกทำลายล้างในระยะยาว

นอกจากนี้ ความมุ่งหมายสูงสุดของงานวิจัย คือ การสร้างความตื่นรู้ของประชาชนในเรื่องผลกระทบเชิงลบที่มาจากโครงการเขื่อนขนาดยักษ์ เพื่อส่งข้อความถึงรัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในทุกระดับ ให้ร่วมยุติโครงการที่ทำลายล้างบนแม่นํ้าโขงสายหลัก อีกทั้ง เพื่อยกระดับและเสริมสร้างพลังประชาชนใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมและตัดสินใจ รวมทั้ง การนำข้อมูลจากงานวิจัยไปใช้กระตุ้นสาธารณะให้เกิดความสนใจในแหล่งพลังงานที่เป็นมิตร สันติ และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชน

เขื่อนบนแม่น้าโขงสายหลัก

เขื่อนบนแม่น้าโขงสายหลักคุกคามความมั่นคงทางอาหารท้องถิ่น


อาหารเป็นปัจจัยสําคัญที่ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่รอดของคน ความมั่งคั่งของระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ประชาชนกว่า
60 ล้านชีวิตในภูมิภาคแม่นํ้าโขงเก็บเกี่ยวเพื่อการดำรงวิถีชีวิต ในระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงสามารถประเมินพันธุ์ปลาต่างๆ ได้กว่า 1,500 ชนิด และมีพืชผักเติบโตเองตามธรรมชาติและปลูกกินหลากหลายชนิด แม่นํ้าโขงไหลขึ้นลงตามลักษณะกายภาพธรรมชาติ ซึ่งตามฤดูกาลจะนำพาตะกอนอุดมสมบูรณ์มาทับถมเป็นดินดีเอื้อต่อการเพาะปลูกตามพื้นที่ริมนํ้า และเกาะแก่งดอนทรายในแม่นํ้าโขง นอกจากนี้ อาหารต่างๆ ที่เกิดเติบโตขึ้นภายใต้ระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงยังกลายเป็นรายได้ที่สนับสนุนเศรษฐกิจของครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นภาษีรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศชาติด้วย

ทุกวันนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแม่นํ้าโขงกำลังถูกคุกคามจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า "โครงการพัฒนา" เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนํ้า หรือ มีประโยชน์สารพัดด้าน (เช่น ควบคุมนํ้าท่วม, ปรับปรุงการเดินเรือ, ชลประทานนํ้าเพื่อการเกษตร) เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เขื่อนบนแม่นํ้าโขงแห่งแรกถูกสร้างขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี พ..2539 เมื่อเขื่อนแห่งแรกเปิดดำเนินการแล้ว ต่อมามีเขื่อนอีก 2 แห่งสร้างเสร็จและเริ่มดำเนินการใช้งานแล้ว อีกทั้ง ยังมีโครงการเขื่อนอีกหลายแห่งกำลังดำเนินการก่อสร้าง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแผนการสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งบนแม่นํ้าโขงสายหลักตอนบนอยู่ในประเทศจีน และมีแผนสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลักตอนล่างที่ได้ถูกเสนอไว้โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อดึงพลังงานนํ้ามาจากแม่นํ้าโขงมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

ความคิดเรื่องการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนประเทศที่อยู่ในเขตแม่นํ้าโขงสายหลักตอนล่าง (พม่า, ลาว, ไทย, กัมพูชา, เวียดนาม) เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.. 2493 ต้นความคิดนี้เริ่มมาจากคณะกรรมการแม่นํ้าโขง (the Mekong Committee) ในขณะนั้น ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งเอเชียและเอเชียไกลภายใต้องค์การสหประชาชาติ (Economic Commission for Asia and the Far East) ทำการออกแบบแผนเขื่อนขั้นบันไดขนาดใหญ่แบบ "สารพัดประโยชน์" บนแม่นํ้าโขงสายหลักตอนล่าง แผนดังกล่าวถูกเสนอเข้าในแผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ (the Mekong Committee"s indicative plan) ของคณะกรรมการแม่นํ้าโขงในปี พ.. 2513 โดยมุ่งหมายเพื่อจัดหาไฟฟ้าพลังงานนํ้า เตรียมความพร้อมในการควบคุมนํ้าท่วม และปรับปรุงการเดินเรือ

อย่างไรก็ตาม เขื่อนที่ถูกเสนอสร้างบนสายแม่นํ้าโขงดังกล่าวถูกระงับไว้ เนื่องจากสถานการณ์สงครามเย็นในภูมิภาคอินโดจีน หลังจากสงครามเย็นยุติลง คณะกรรมการแม่นํ้าโขงได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (Mekong River Commission) และได้ฟื้นแผนเก่าในการสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลักขึ้นมาใหม่

แผนในการส่งเสริมเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่นํ้าโขงสายหลักของคณะกรรมการแม่นํ้าโขงได้รับการตอบรับและคล้อยตาม โดยในปี พ.. 2540 เมื่อรัฐบาลของประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ให้เงินทุนสนับสนุนและอนุญาตให้บริษัทจากประเทศจีน ไทย มาเลเซีย รัสเซีย และเวียดนาม ทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการเขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลักตอนล่างอย่างน้อย 11 เขื่อน คือ เขื่อนปากแบง, เขื่อนหลวงพระบาง, เขื่อนไซยะบุรี, เขื่อนปากลาย, เขื่อนสานะคาม, เขื่อนลาซัว และเขื่อนดอนสะโฮง อยู่ในประเทศลาว เขื่อนบ้านกุ่ม และเขื่อนปากชม อยู่ระหว่างเขตชายแดนไทย-ลาว เขื่อนสตรึงเตร็ง และสามบอ ในประเทศกัมพูชา

เขื่อนเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหมู่ประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง เพราะจะแบ่งแม่นํ้าโขงออกเป็นชิ้นส่วนในรูปอ่างเก็บนํ้า 11 แห่ง ซึ่งจะกีดกั้นการไหลอย่างอิสระของแม่นํ้าโขง และกระทบต่อการพึ่งพาอาหารท้องถิ่นในระบบนิเวศน์แม่นํ้าโขงของประชาชน

จากผามองสู่ปากชม : เล่ห์เหลี่ยมวาทกรรมไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ในขณะที่มีแผนมากมายที่จะสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลักตอนล่าง เขื่อนบนสายนํ้าโขงตอนบนในประเทศจีน ได้ปล่อยปัญหาออกมาสู่ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ริมนํ้าโขงแล้ว ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อน เช่น การเกิดนํ้าท่วมอย่างผิดปกติในช่วงหน้าฝนซึ่งไม่เคยมีมาก่อน, การขึ้นลงของระดับนํ้าที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามฤดูกาล, การพลังทลายของตลิ่งริมแม่นํ้าโขง, พันธุ์ปลาและสัตว์นํ้าในแม่นํ้าโขงลดจำนวนลง ชุมชนริมโขงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวนี้ ได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่นํ้าโขงแล้ว เนื่องจากเป็นโครงการพลังงานแบบทำลายล้าง ทั้งยังเป็นการผลิตไฟฟ้าที่แลกกับความเสื่อมสภาพลงของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตประชาชน

เขื่อนปากชมถูกวางแผนที่จะสร้างขึ้นบนแม่นํ้าโขงสายหลัก เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและลาว ซึ่งรื้อฟื้นขึ้นมาจากแผนการสร้างเขื่อนผามอง โดยที่เขื่อนผามองนั้น มีความเป็นมาจากการเสนอให้สร้าง โดยแผนปฏิบัติการและยุทธศาสตร์ ของคณะกรรมการแม่นํ้าโขงเมื่อปี พ.. 2513 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สงครามในภูมิภาคอินโดจีน งบประมาณลงทุนมหาศาลในขณะนั้น และผลกระทบเชิงลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุผลให้โครงการเขื่อนผามองเป็นอันต้องหยุดชะงักไป

ปัจจุบัน โครงการเขื่อนปากชมเข้ามาแทนที่เขื่อนผามองที่กลายเป็นเพียงแผนแต่ไม่ได้สร้างขึ้น โดยกรมพลังงานทดแทนและพัฒนาพลังงานทางเลือก (พพ.), กระทรวงพลังงาน ได้เสนอให้สร้างเขื่อนปากชมบนฐานของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก เนื่องจากภาวะนํ้ามันราคาดีดตัวสูงขึ้น โดยในปี 2551 พพ. ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ และมาโคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษารายงานก่อนรายงานความเหมาะสมว่าด้วยความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดบนแม่นํ้าโขงสายหลัก ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 บริษัทได้ศึกษาจัดทำรายงานก่อนรายงานความเหมาะสม และรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของ "โครงการไฟฟ้าพลังนํ้าฝายขั้นบันไดแม่นํ้าโขง" 2 แห่ง คือ เขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการแนะนำจากบริษัทฯ ว่าเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

รายงานก่อนรายงานความเหมาะสม และรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของโครงการพลังงานไฟฟ้าจากนํ้าบนแม่นํ้าโขงสายหลัก เป็นการตั้งชื่อโครงการโดยใช้คำว่า ฝายพลังงานน้า แทนที่จะใช้คำว่า เขื่อน การเล่นพลิกแพลงกับคำเช่นนี้ เป็นการบิดเบือนความหมายที่แท้จริงของโครงการ ทั้งที่จริงเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่กลับถูกทำให้ดูเหมือนเป็นโครงการขนาดเล็ก นี่คือเล่ห์เหลี่ยม ที่รัฐบาลใช้กำหนดวาทกรรมของคำว่าเขื่อน ซึ่งอีกแง่หนึ่งยังเป็นการปิดบังความจริงจากประชาชน ผู้เขียนเชื่อว่า นี่อาจเป็นวิธีการที่หน่วงเหนี่ยวความตั้งใจ ของประชาชนที่จะร่วมปฏิบัติการคัดค้าน โครงการที่มีผลกระทบเชิงลบให้ล่าช้าออกไป เพราะหากโครงการดำเนินการโ ดยที่ประชาชนไม่รู้ข้อมูลอย่างถ่องแท้ การเปลี่ยนแปลงในภายหลังจะทำได้ยากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ด้วยวิธีการเลือกใช้คำในการตั้งชื่อโครงการ อีกทั้งการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารยังเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย หรือจะด้วยมีการกำหนดให้เกิดเงื่อนไขทางราชการ ที่ทำให้การเข้าถึงเข้ามูลข่าวสารของประชาชน เป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น ก็ย่อมมีส่วนเป็นเหตุทำให้การเข้ามีส่วนร่วม ของประชาชนอย่างเต็มที่ต้องล่าช้าออกไป

ในบริบทของประเทศไทย เขื่อนจำนวนมากได้ถูกสร้างขึ้น โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างสมบูรณ์พร้อมเต็มที่ และขาดการยึดหลักการประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานมีชุมชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเขื่อน เช่น ปากมูน, ราษีไศล, ห้วยระห้า ชุมชนเหล่านี้ได้ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านเขื่อนที่มีผลกระทบในทางลบ ซึ่งการลุกขึ้นมาคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ผลกระทบเขื่อนเหล่านั้น ได้หยิบยกประเด็นเขื่อนให้มาสู่เวทีถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยมากขึ้นว่า แท้จริงนั้นเขื่อนเป็นสิ่งที่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ หรือ ในทางกลับกันเป็นการทำให้ชีวิตคนจำนวนมากและสภาพแวดล้อมเลวร้ายลงกันแน่

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลไทยยังคงไม่วางตาที่จะเสาะหาการสร้างเขื่อนเพิ่มอีก โดยอ้างว่าเขื่อนเป็น "พลังงานทางเลือก" และ "พลังงานสะอาด" ที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ผลักดันเขื่อนปากชมแบบเงียบๆ

จากการศึกษาความเป็นไปได้ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ที่จัดทำโดยบริษัทฯ ได้ระบุในรายงานผลการศึกษาว่า เขื่อนปากชมเป็นโครงการที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาพลังงานนํ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) เป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
2) เป็นการสนับสนุนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3) ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
4) เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้านการเกษตร, การท่องเที่ยว และการประมง

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจอย่างมากคือ โครงการเขื่อนปากชม ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาการ โครงข่ายพลังงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แผนพัฒนาพลังงานดังกล่าว เป็นแผนการเชื่อมโยงพลังงานระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยมีข้อตกลงการค้าพลังงาน เพื่อส่งเสริมโครงการไฟฟ้าพลังงานนํ้าในแม่นํ้าโขงสายหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีองค์กรอื่นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาพลังงานในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงด้วย เช่น ธนาคารโลก, อาเซียน, เจบิค, เอเจนซี่ ฟรานซ์ เด ดีเวลอปเมนท์ และ องค์กรสวีเดนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

โครงการเขื่อนปากชมที่ถูกเสนอสร้างนั้น เขื่อนมีกำลังการผลิต 1,079 เมกกะวัตต์ ใช้งบประมาณลงทุนสร้างโดยประมาณ 69,641 ล้านบาท จุดสร้างเขื่อนครอบคลุมพื้นที่ในเขตประเทศไทยและลาว มีหมู่บ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อน คือ บ้านห้วยขอบ, บ้านคกเว้า ซึ่งอยู่ในเขต ต.หาดคาภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และบ้านห้วยหาง อยู่ในเขตเมืองสิงห์ แขวงเวียงจันทน์

เขื่อนจะมีพื้นที่เก็บกักนํ้าสูงจากระดับนํ้าทะเล 192 เมตร ซึ่งนํ้าจะท่วมพื้นที่โดยรวมทั้งในเขตประเทศไทยและลาวประมาณ 4,127 ไร่ ลักษณะเขื่อนออกแบบให้มี 14 ประตู ขนาด 20x25.5 เมตร มีช่องเดินเรือ 2 ช่อง สามารถรองรับเรือขนาด 200 ตัน หรือขนาด 20x200 เมตร สถานีผลิตไฟฟ้ามีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,079 เมกกะวัตต์ และเขื่อนออกแบบให้มีการสร้างบันไดปลาโจน

ผลกระทบที่เป็นไปได้ของเขื่อนปากชมด้านนํ้าท่วม ได้มีการวางแผนเตรียมรับมือเพื่อลดผลกระทบ ในเรื่องนี้ให้กับชุมชนโดยจะจัดทำโครงการสร้างพนังกั้นนํ้า, ปรับปรุงและยกระดับผิวถนน, สร้างสถานีสูบนํ้า, ส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูง, ส่งเสริมการประมงแบบเพาะเลี้ยง และการท่องเที่ยว รวมทั้ง ส่งเสริมรายได้และช่วยพัฒนาชุมชนจากภาษีเงินได้ที่ชุมชนได้รับจากการขายพลังงานไฟฟ้าของโครงการ และการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

นับตั้งแต่เขื่อนปากชมถูกเสนอสร้าง และรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สถานภาพของโครงการในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอน และระยะกระบวนการของโครงการ อย่างไรก็ตาม เฉพาะในพื้นที่บ้านคกเว้า ผู้เขียนได้สํารวจพบว่ามีการทำเครื่องหมายที่ไม่อาจอธิบายได้ว่าคืออะไรอยู่หลายจุด ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับโครงการลดผลกระทบจากเขื่อนเรื่องนํ้าท่วม

จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน ได้ข้อมูลว่าองค์กรบริหารส่วนตำบล มีแผนจะสร้างพนังกั้นนํ้าตลอดแนวริมแม่นํ้าโขง เพื่อป้องกันตลิ่งพัง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ เช่น ขั้นตอนและระยะกระบวนการของโครงการ, งบประมาณ, แบบแปลนการก่อสร้าง, หน่วยงานและบริษัทที่มีส่วนร่วม ยังไม่มีการเปิดเผยและไม่มีการอธิบายอย่างชัดแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ ในขณะที่ในพื้นบ้านคกเว้านั้น มีพนักงานจากบริษัทรับจ้างขุดเจาะ (ไม่ทราบชื่อบริษัท) ได้เข้ามาสํารวจลักษณะดินบริเวณริมตลิ่งแม่นํ้าโขงแล้ว

ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าเครื่องหมายที่ปรากฏอยู่ในหมู่บ้าน จะเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเชื่อมโยงกับโครงการเขื่อนหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ประชาชนต้องได้รับการบอกแจ้งเพื่อรับรู้ข้อมูลอย่างชัดเจนและครอบคลุมว่าเครื่องหมายเหล่านั้นคืออะไร เพราะสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูล เป็นสิทธิพื้นฐานของกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจร่วมกันอย่างมีความสมบูรณ์พร้อม เพื่อประโยชน์ของสาธารณะในโครงการพัฒนา.

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากงานวิจัยเรื่อง "ความเป็นไปได้ของผลกระทบจากเขื่อนปากชมต่อความมั่นคงทางอาหารของท้องถิ่น" กรณีศึกษา บ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย โดย ทิพย์อักษร มันปาติ โรงเรียนแม่นํ้าโขง, ธันวาคม 2552

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net