Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เจรจารอบแรกได้เห็นเหตุผลของข้อเสนอให้ยุบสภาของคนเสื้อแดง และข้อโต้แย้งของฝ่ายรัฐบาล เจรจารอบสองได้ “ประเด็น” ในการเจรจาว่า จะทำอะไร ภายใต้เงื่อนเวลาเท่าใดก่อนยุบสภา

ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญโดยผ่านกระบวนการประชามติใน 6 ประเด็น ที่ศึกษากันมาแล้ว และร่วมกันสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเลือกตั้งอย่างเสรีและสงบสันติ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 9 เดือน

แม้การเจรจารอบสองจะยังตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ทำให้สังคมเห็นประเด็นชัดขึ้น และเป็นเรื่องที่น่าจะต่อรองกันได้ในเรื่องของเงื่อนเวลาในการยุบสภา หากคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายมุ่งไปสู่ “ชัยชนะของประเทศไทย” ตามที่บอกสังคมในช่วงเริ่มเจรจารอบแรก

แต่การเจรจารอบที่สอง มีข้อที่น่าสังเกต คือ

ประการแรก แกนนำของคนเสื้อแดงแสดงให้เห็นถึงความ “ไม่เป็นอิสระ” เท่าที่ควร นั่นคือการติดอยู่กับข้อเสนอของฝ่ายตนที่ต้องการให้ยุบสภาภายใน 15 วัน โดย “ไม่ยอมยืดหยุ่น” ความไม่เป็นอิสระดังกล่าวอาจตีความได้ว่า เพราะได้สัญญากับมวลชนไว้แล้ว หรือรับคำสั่งจากคุณทักษิณมาว่าให้เจรจาภายใต้เงื่อนไขนี้เท่านั้น จึงทำให้แกนนำฝ่ายเสื้อแดงไม่ต่อรองในประเด็นที่ต้องทำ และเงื่อนเวลา (เช่น 3 เดือน 6 เดือน) อย่างเป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควรจะเป็น

ประการที่สอง การที่คุณจตุพรยก “เรื่องเก่า” ขึ้นมากล่าวหาคุณอภิสิทธิ์ และหมอเหวงยกภาพทหารที่อยู่ในท่าพร้อมยิงอาวุธปืน เพื่อให้คุณอภิสิทธิ์ยืนยันว่าได้สั่งฆ่าประชาชนหรือไม่? อาจถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องของการเล่นเกมป่วนการเจรจา หรือไม่ก็ต้องการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับมวลชนของฝ่ายตนที่เฝ้าดูอยู่ มากกว่าที่จะต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้สังคมคล้อยตาม เพราะด้วยการกล่าวหาเช่นนั้น (ประกอบกับการที่คุณอภิสิทธิ์ฉลาดโต้ตอบ) ย่อมไม่อาจโน้มน้าวให้คนที่ไม่ใช่สีแดงเห็นคล้อยตามได้

ยกเว้นคนสีเดียวกันที่ว่าอะไรก็ว่าตามกันอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่านี่เป็นการเจรจาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ คู่เจรจาแต่ละฝ่ายจำเป็นต้องเสนอทางออกที่มีเหตุผลและเป็นไปได้ให้สาธารณะคล้อยตามอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาของพันธมิตรฯคือ ในช่วงที่แกนนำปลุกกระแสมวลชนได้สำเร็จ พวกเขาสนใจเพียงเอกภาพทางความเชื่อและอารมณ์ของมวลชน ไม่ยอมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากความเห็นต่าง ไม่แคร์พลังเงียบในสังคม สนใจเพียงการสร้างเอกภาพทางความเชื่อเพื่อสร้างมวลชนที่มีพลังมุ่งไปสู่ชัยชนะทางการเมือง ผลที่สุดจึงนำไปสู่การใช้พลังมวลชนอย่างสุดโต่งโดยการยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ทำให้พันธมิตรเสื่อมความน่าเชื่อถือในสายตาของสังคมลงเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

เวลานี้แกนนำคนเสื้อแดงกำลังเจริญรอยตามแกนนำพันธมิตรหรือไม่? ถ้าเงื่อนไข 15 วันต้องยุบสภาจะนำไปสู่การแตกหักที่สุ่มเสี่ยงต่อการนองเลือด มันอาจไม่ได้จบลงที่ “อภิสิทธิ์เป็นทรราช” อย่างที่คิด แต่มันอาจทำลายโอกาสที่จะสร้างชนะอย่างถาวรของคนเสื้อแดงอย่างน่าเสียดายอย่างที่สุดก็เป็นได้

กล่าวคือ ถ้ายืนยันว่าความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 4 ปีมานี้ แกนของความขัดแย้งคือ “ความขัดแย้งทางความคิด” เกี่ยวกับความหมายของประชาธิปไตยที่ฝ่ายหนึ่งต้องการประชาธิปไตยภายใต้กำกับของอำมาตย์ หรือประชาธิปไตยภายใต้ “รัฐอำมาตย์”

แต่อีกฝ่ายต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือต้องการ “รัฐประชาธิปไตย” แบบสากล (อย่างที่หมอเหวงพูดไว้ในการเจรจาครั้งแรก และในการปราศรัยบนเวทีของมวลชนเสื้อแดง)

ความขัดแย้งทางความคิดดังกล่าว ต้องเอาชนะกันที่การขยายฐานความคิดสู่สาธารณะ ฝ่ายไหนสามารถขยายฐานความคิดให้สาธารณะยอมรับได้มากกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะ เรื่องเช่นนี้จำเป็นต้องใช้เวลา

การเร่งรัดให้ “ยุบสภาภายใน 15 วันเท่านั้น” ไม่ได้แสดงชัดเจนว่าต้องการชัยชนะทางความคิด แต่ชัดเจนว่าต้องการชัยชนะทางการเมือง (และเป็นชัยชนะทางการเมืองที่มีเงื่อนไขของ “ทักษิณ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างยากที่จะปฏิเสธได้)

ถ้าต้องการชนะชนะทางความคิดที่ “ก้าวพ้น” เงื่อนไขของ “ทักษิณ” จริง (และแน่นอนว่าชัยชนะทางความคิดจะมีความหมายจะต้องแสดงออกมาเป็นชัยชนะทางการเมืองด้วย) ทำไมแกนนำคนเสื้อแดงจึงไม่ต่อรองเงื่อนเวลาในการยุบสภา เช่น จาก 9 เดือน ลดลงมาเป็น 6 เดือน ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ได้กติกาการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับ แล้วจึงเลือกตั้งใหม่ในบรรยากาศที่แฟร์กับทุกฝ่าย และแฟร์กับประชาชนทั้งประเทศ

ในระยะรอการยุบสภาคนเสื้อแดงก็เร่งขยายฐานความคิดของฝ่ายตนในเรื่อง “แนวทาง” หรือ “แนวนโยบาย” ที่เป็น “รูปธรรม” ในการแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น” หรือความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆทางเศรษฐกิจ สังคม การบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ให้คนในสังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัดตระหนักรู้ และมีความเห็นคล้อยตามมากขึ้นในแนวทางการเปลี่ยนแปลงสังคมจากความเป็น “รัฐอำมาตยาธิปไตย” สู่ความเป็น “รัฐประชาธิปไตย” ตามความคิดของคนเสื้อแดง

ฉะนั้น การเร่งรัดเพื่อให้ได้ “ชัยชนะทางการเมือง” ภายใต้เงื่อนไขยุบสภาภายใน 15 วัน อาจยังไม่ใช่คำตอบของชัยชนะทางความคิด ชัยชนะที่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้ต้องเป็นชัยชนะทางความคิด หากต่อรองเงื่อนเวลาการยุบสภาให้เหลือ 6 เดือน เงื่อนเวลาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

แต่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเสื้อแดงด้วยในการขยายฐานความคิด จิตสำนึกทางชนชั้นให้กลายเป็น “วาระ” แห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง ตามที่ประกาศต่อประชาชนที่มาร่วมชุมนุม!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net