Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ เตรียมแถลงข่าวปกป้องชุมชนจากการชุมนุม ที่แท้ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ หนุนพันธมิตรฯ สมัยชุมนุม 193 วันเมื่อปี 51

เว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ เว็บไซต์แนวหน้า และเว็บไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานวันนี้ (24 มี.ค.) ว่านายภุชงค์ กนิษฐชาต ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ โดยอ้างว่าทางเครือข่ายซึ่งเป็นตัวแทนคนกรุงเทพ 1,800 ชุมชนในเมืองหลวง จะมีการแถลงข่าว เรื่อง “ชุมชนเมืองหลวง ลุกขึ้นแสดงตน ปกป้องชุมชน ประกาศขัดแย้งการเมืองอย่าล้ำเส้นละเมิดสิทธิ” ในเวลา 09.30 น. พรุ่งนี้ (25 มี.ค.) ณ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม ถนนพระราม 5 เขตดุสิต เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ เรื่องสิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของผู้ชุมนุม ว่าสามารถชุมนุมได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นทั้งนี้ทางเครือข่ายจะมีการยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ ว่าจะเป็นรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และฟ้องศาลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เพื่อหาทางพิจารณาร่วมกันว่าจะมีการใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองให้ สมดุลได้อย่างไร

“เราอยากลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ของเราบ้าง เพราะที่ผ่านยอมรับว่าคนกรุงเทพฯ ต้องใช้ความอดทนมาระยะหนึ่งแล้ว การชุมนุมยืดเยื้อที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตพวกเรามาก ไม่ว่าจะเป็นการไปทำงาน ไปโรงเรียน ชีวิตติดขัดไปหมด เราเข้าใจปัญหาของประชาชนที่มาเรียกร้อง แต่ก็อยากให้มีการเคารพสิทธิของเราด้วยเช่นกัน” นายภุชงค์ กล่าว

นายภุชงค์ กล่าวต่อว่า ทางเครือข่ายกำลังพิจารณาว่าจะเดินไปพบกลุ่ม นปช.หรือไม่ แต่ในเบื้องต้นทางเครือข่ายมีข้อเสนอ คือ ให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง และเคารพในสิทธิและความปลอดภัยของประชาชน และชุมชนที่กำลังได้รับผลกระทบและขอให้ชุมชนในกรุงเทพฯ ลุกขึ้นปกป้องชุมชนของตนเอง และรัฐบาลต้องจัดระบบความปลอดภัยให้กับชุมชนต่างๆด้วย ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน และความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และจริงจัง เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ที่กลุ่มดังกล่าวจะแถลงวันพรุ่งนี้มีดังนี้

 

000

ด้วยเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพ อันเกิดจากการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคล องค์กรชุมชน และเครือข่ายชุมชนในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เคารพในสิทธิการชุมนุมกันอย่างสันติ ตามระบอบประชาธิปไตย บนพื้นฐานแห่งสิทธิการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและสันติ โดยเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพนั้น ต้องการแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนในการดำรงอยู่อย่าง ปกติสุขในวิถีชีวิตประจำวัน มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตน ของชุมชน ไม่ต้องการตกอยู่ในภาวะถูกลิดรอนสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะ มิอาจใช้ชีวิตโดยปกติสุข และอยู่ในท่ามกลางความเสี่ยงภัยจากความรุนแรงที่อาจจะเกิดจากความขัดแย้งทาง การเมืองที่ใช้กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ และส่งผลถึงความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อบุคคล ชุมชนมาโดยตลอด

ดังนั้น เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพและภาคีความร่วมมือต่างๆจะขอยืนยันต่อการ เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการประชาธิปไตย ขอยื่นแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์ของพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ ต่อพี่น้องประชาชนไทย เพื่อเรียกร้องต่อสังคมไทยโดยรวม

ด้วยเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพมีความเห็นว่าการดำเนินชีวิตของคนส่วน ใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ในแก่นแท้แล้วไม่ได้มีความแตกต่างมากนักกับพี่น้องในต่างจังหวัด ถ้าเราจะมองว่า ปัจจัยหลักในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของพี่น้องชาวชนบท คือ ผืนนา ผืนไร่ที่พี่น้องชาวเกษตรกรใช้ทำมาหากิน แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ปัจจัยหลักในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของคนอย่างพวกเรา คือ การมีพื้นที่ทำมาหากินเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ทำมาค้าขาย หรือมีอาชีพกินเงินเดือนตามบริษัทต่าง ๆ พื้นที่กรุงเทพก็เหมือนพื้นที่นาของพวกเราที่ใช้ทำมาหากินเช่นเดียวกับท่าน หากมีการเรียกร้อง ต่อสู้โดยใช้ผืนนาของท่าน จากกลุ่มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตเลี้ยงปากท้องอย่างปกติได้ เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพจึงต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและสันติ

อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ ก็เข้าใจและยอมรับว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ และเป็นสถานที่ที่ทุกกลุ่มจะเข้ามาเรียกร้องสิทธิและข้อเสนอแนะในการบริหาร นโยบายของประเทศ จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา กรุงเทพ เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และผลประโยชน์ การต่อสู้ที่ผ่านมา มีหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งที่ใช้ความรุนแรง และไม่ใช้ความรุนแรง และมักใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน ยืดเยื้อ แต่การปิดฉากการต่อสู้ในทุกครั้ง จะต้องมีการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและชุมชน สร้างความหวั่นไหวและสะเทือนใจในการดำเนินชีวิตของคนในกรุงเทพอยู่เสมอมา

เหตุการณ์ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า การชุมนุมที่คาดว่าจะเป็นไปด้วยความสงบและสันตินั้น ได้ส่อเค้าของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของผู้อภิปรายบนเวทีบางคน การปฏิบัติการใช้เลือด สิ่งปฏิกูล คุกคามฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนขบวนมวลชน พร้อมรถจำนวนมากไปตามถนนสายหลักของกรุงเทพฯ รวมทั้งการเกิดเหตุร้ายแรงใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กรมทหาร ร.1 รอ. และบ้านบุคคลสำคัญหลายครั้ง การวางระเบิดในสถานที่ใกล้ชุมชนอีกหลายครั้ง จนครั้งหลังสุดเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาได้ใช้ระเบิดอาร์พีจียิงใส่กระทรวง กลาโหม แต่ผิดพลาดจรวดระเบิดในพื้นที่ชุมชนแพร่งภูธรจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บในเขต ชุมชนที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความเสียหาย

การใช้ความรุนแรงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการขยายตัว ของการต่อสู้ที่อันตรายและล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในกรุงเทพ การขยายตัวของความรุนแรงในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและต่อ เนื่อง ยืดเยื้อ การแสดงออกซึ่งความไม่พอใจทางการเมืองการปกครองนั้นควรเคารพและปฏิบัติตาม หลักการการไม่ใช้ความรุนแรง ควรเคารพในสิทธิและความปลอดภัยของประชาชนและชุมชนอย่างมีขอบเขต

เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพ ยืนยันต่อการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการประชาธิปไตย แต่จะไม่ขอตกอยู่ในวังวนของรูปแบบการต่อสู้เพื่อนักการเมืองและกลุ่มที่แสวงประโยชน์โดยใช้กรุงเทพเป็นฐานในการต่อสู้และสร้างความเดือดร้อนต่อบุคคลและชุมชน เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพขอเสนอข้อเรียกร้องบนพื้นฐานสิทธิของการอยู่ ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและสันติ ดังนี้

 

1.ให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรง เคารพและยึดมั่นต่อการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

2.ให้ทุกฝ่ายเคารพในสิทธิและความปลอดภัยของประชาชนและชุมชนที่กำลัง ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองในขณะนี้

3.ให้ชุมชนในกรุงเทพฯลุกขึ้นปกป้องชุมชนของตนเองโดยการจัดทำแผนการจัดการป้องกันความปลอดภัยและทรัพย์สินของชุมชน

4.ให้รัฐบาลจัดระบบความปลอดภัยให้กับชุมชนต่างๆด้วยการมอบหมายหน่วย งานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกับชุมชนในการปกป้องคุ้มครองชุมชนอย่างถึงที่สุด

5.ให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน และความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และจริงจัง

6.ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พิจารณาออกมาตรการป้องกัน คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชน และสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะของผู้ชุมนุมอย่างเหมาะสม

 

การดำเนินการขั้นต่อไป

1) ถ้าแนวโน้มสภาพการยังเป็นมาอย่างที่เป็นอยู่ ชุมชน คนกรุงเทพฯ ยังมีโอกาสได้รับผลจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพขอยืนยันสิทธิของตนเองให้ได้รับความคุ้มครอง ตามรัฐธรรมนูญและครรลองของกฎหมาย โดยจะส่งตัวแทนเข้ายื่นร้องต่อศาลสถิตยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความคุ้มครองในสิทธิของตนที่ไม่ถูกละเมิดสิทธิการใช้ชีวิตตามปกติ

2) เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพ จะแสดงออกถึงความคิดเห็นต่อปัญหาและสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันผ่านการ รณรงค์หลายรูปแบบ เช่น จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นโดยกลุ่มเยาวชน

3) จากเหตุการณ์ที่ปรากฏ และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากการต่อสู้ ทำให้มองเห็น รูปแบบของความวนเวียน ซ้ำซาก และเมื่อหลังผ่าน น้ำตา และชีวิต แห่งการต่อสู้ ผู้เสวยอำนาจและผลประโยชน์ ก็คือ นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง ยังคงอยู่กันอย่างต่อเนื่องตักตวงตลอดเวลา แล้วประชาชน หายไปไหนกัน ยังคงต้องออกมาต่อสู้กันในเรื่องเดิมๆ ไปอย่างไม่รู้จบ นั่น อาจหมายความว่า เรายังมีเป้าหมายแห่งการต่อสู้ที่ผิดเป้าไปแล้ว เราต่อสู้เพื่อใครกันแน่ อย่ามัวพึ่งพิงใครอยู่เลย อย่ายึดติดกับใครอยู่เลย บทเรียนอันยิ่งใหญ่ ที่มีต่อพี่น้องคนไทยนี้ เราจะต้องทบทวนตั้ง คำถามว่า “เกิดอะไรกับ ระบบการเมือง พรรคการเมือง ระบบและการบริหารประเทศไทยของเราที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายกันอยู่เช่นนี้ อย่างไม่รู้จบสิ้น”

การวนเวียนเปลี่ยนมืออำนาจบริหารเพื่อแสวงประโยชน์ ทั้งเชิงนโยบาย และด้วยโครงสร้างการคอรัปชั่น โกงกิน อย่างน่าละอาย เป็นรูปแบบวงจร แห่งความอัปยศอดสู ที่เกิดจากความร่วมมือ ของนักการเมือง ในระบบตัวแทน ระบบราชการ กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มอาวุธ วนเวียนอยู่เช่นนี้ เสมือนโลงศพ กับ หมาเน่า ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้อีกต่อไป

เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพ จึงร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตระหนักถึงการทบทวน เหตุแห่งปัญหาอันใหญ่หลวงของบ้านเมือง จะร่วมดำเนินการ “สะสางบ้าน สะสางเมือง สู่การเมืองของพลเมืองบนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและสันติ”

เครือข่ายทั้งหลายต้องกลับมาค้นหา ความรั่วของระบบการปกครองไทย นับตั้งแต่ ระบบพรรคการเมือง ที่ไม่มีการกำกับยุติคนชั่วที่เข้ามาเสวยสุข ระบบการเลือกตั้งตัวแทนที่ยอมรับผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวโดยไม่นึกถึงผล เสียหายที่ตกอยู่กับส่วนรวม ระบบและกลไกราชการ ที่เปิดช่องการโกงกิน องค์กรกำกับ และกฎหมาย ที่ต้อง ตรวจสอบ กระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน และพลเมือง เพื่อการตื่นรู้ในบทบาทของตนต่อการสร้างบ้านเมือง

เราจะไม่ยอมตกเป็นไพร่ ทาส ที่ปล่อยไม่ไป ที่ไปไม่เป็น อีกต่อไป.

 

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ

 

อนึ่ง เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ จะแถลงข่าวข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2553 ณ ชุมชนวัดประชาระบือธรรม บริเวณวัดประชาระบือธรรม ถนนพระราม 5 เขตดุสิต เวลา 09.30 น.

สำหรับเว็บไซต์ต่างๆ ต่างพาดหัวและมีเนื้อหาในทิศทางว่ามีคนกรุงเทพฯ เตรียมแถลงข่าวปกป้องสิทธิหลังได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยเว็บไซต์แนวหน้าพาดหัวว่า “ตัวแทนคนกรุงฯ1,800ชุมชน ฮึด ลุกแถลงข่าว ปกป้องสิทธิ์คนกรุงฯ พรุ่งนี้” เว็บไซต์คมชัดลึก พาดหัวว่า “ตัวแทนคนกทม.1,800ชุมชนแถลงป้องสิทธิ” เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ พาดหัวว่า ชุมชนคนกรุงลุกฮือป้องสิทธิความปกติสุข ส่วนเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์พาดหัวว่า “เครือข่ายพลเมืองฯ ชี้ "ม็อบแดง" ส่อรุนแรง คุกคามวิถีชีวิตกรุงเทพ”

นอกจากนี้ในรายการข่าวข้นคนข่าว ซึ่งเป็นรายการเล่าข่าวทางช่อง 9 อสมท. ช่วงเวลาราว 22.00 น. นายกนก รัตน์วงศ์สกุล นักเล่าข่าวของรายการได้กล่าวชื่นชมนายภุชงค์ว่า "1,800 ชุมชนน่ะ รวมกันได้เก่งนะ"

 

สอบประวัติเครือข่ายฯ ไม่เคยออกมาไล่พันธมิตรฯ ช่วงชุมนุมกลางกรุง 193 วัน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบประวัตินายภุชงค์ กนิษฐชาต ที่ระบุว่าตนเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ นั้น จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงที่พันธมิตรชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2551 ถึง 3 ธ.ค. 2551 รวมเป็นเวลา 193 วัน โดยมีการยึดทำเนียบในวันที่ 26 ส.ค. 2551 และยึดสนามบินดอนเมืองและยึดสนามบินสุวรรณภูมิได้ในวันที่ 24 พ.ย. 2551 ก่อนที่จะยุติการชุมนุมหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนนั้น ไม่ปรากฏชื่อ “เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ” ที่นำโดยนายภุชงค์ออกมาเคลื่อนไหว

 

ภาพนายภุชงค์ ในไฮไฟท์ของเขาที่สามารถเข้าดูได้แบบสาธารณะ

 

พบเคยสวมบทประชาสังคมอีสานหนุนพันธมิตรฯ ขับไล่สมัคร
แต่พบว่าในข่าวของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 3 มิ.ย. 2551 พาดหัวว่า “เครือข่ายฯ ปชช.อีสานประกาศหนุนพันธมิตรฯ - จวกรัฐบาลบริหาร ปท.3 เดือนล้มเหลว” พบว่าเมื่อ 3 มิ.ย. 2551 หรือเกือบ 2 ปีก่อน นายภุชงค์เคยร่วมกับ “เครือข่ายภาคประชาชนอีสาน” ประชุมที่ศาลาประชาคม จ.ขอนแก่น และแถลงข่าวประณามรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และสนับสนุนการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

โดยในวันดังกล่าวนายภุชงค์ ซึ่งระบุว่ามาจาก “สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อประชาคมที่เข้มแข็ง” กล่าวว่า การออกมาชุมนุมของพันธมิตรฯ รอบ 2 “มีความชอบธรรมเป็นอย่างมาก” ที่ชูประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญต้านระบอบทักษิณ เพราะว่าหากแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาต่างๆ ทันที ขณะที่อดีตกรรมการบริหาร 111 คนของไทยรักไทยก็จะกลับสู่เวทีการเมืองได้เช่นเดิม ดังนั้นจะเห็นว่าตลอด 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้บริหารแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเลย มุ่งแต่จะปลดปล่อย พ.ต.ท.ทักษิณให้หลุดจากกระบวนการยุติธรรม

“พันธมิตรฯ ต่อสู้กับประเด็นปัญหาเหล่านี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมประเทศชาติ หากพันธมิตรพ่ายแพ้ พี่น้องประชาชนก็แพ้ด้วย ดังนั้นต้องให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตร” นายภุชงค์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนแถลงข่าวในนามเครือข่ายภาคประชาชนอีสานกล่าว

โดยในการประชุมของเครือข่ายภาคประชาชนอีสานครั้งนี้ได้ออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนต่อกรณีรัฐบาลที่จะสลายการชุมนุม โดยเห็นว่าผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ การสลายการชุมนุมโดยไม่มีกฎหมายและสภาวการณ์รองรับไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ แถลงการณ์ยังระบุว่าด้วยว่าเครือข่ายภาคประชาชนอีสานสนับสนุนให้ผู้ชุมนุม “ใช้สิทธิปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินตามสมควรแก่เหตุ”

โดยในแถลงการณ์ระบุข้อเรียกร้องว่า 1.เครือข่ายประชาชนภาคอีสานเห็นว่าการที่ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมกับเครือข่าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 69 และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทยตามมาตรา 70 ในการปกครองชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น พระประมุขและพร้อมจะดำเนินการไปด้วยความสงบ อหิงสาและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 623 ที่บัญญัติไว้

2.การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่มีกฎหมายและสภาวการณ์รองรับ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ดังที่เคยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขแดง51/2549 ความตอน 1 ว่า “ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจกีดขวางการชุมนุมตามกฎหมาย แต่ต้องเป็นช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามหรือมีประกาศกฎอัยการศึก แต่หากในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมนั้นบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามหรือ ไม่มีกฎอัยการศึกหรือแม้แต่ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมนั้นบ้านเมืองไม่ได้ อยู่สภาวะดังกล่าว การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่นั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพการ ชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด”

3.ในภาวะที่ไม่มีกฎหมายรองรับในการสลายการชุมนุม เครือข่ายประชาชนภาคอีสานจะไม่ยินยอมให้มีการทำร้ายร่างกายแก่ผู้ชุมนุม ที่ไม่ยินยอมให้เคลื่อนย้ายหรือทำลายทรัพย์สินใดๆ ออกจากสถานที่การชุมนุม และพร้อมสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินตามสมควรแก่เหตุ

4.หากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เครือข่ายภาคประชาชนอีสานขอสนับสนุนพันธมิตรฯและประชาชนผู้ร่วมชุมนุมให้ อยู่ในความสงบด้วยกระบวนการอหิงสา ที่ปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63

และ 5.หากมีการสลายการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย เครือข่ายภาคประชาชนอีสาน จะยืนอยู่เคียงข้างและให้การสนับสนุนแก่พันธมิตรฯ และเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศร่วมกันต่อสู้กับความไม่ถูกต้องอย่างถึง ที่สุดต่อไป นอกจากนี้ในไฮไฟว์ของนายภุชงค์ ซึ่งเผยแพร่สาธารณะ ยังปรากฏรูปของเขาสวมผ้าพันคอพันธมิตรฯ ด้วย

 

เป็นเครือข่าย “พลเดช” รัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทหาร
นอกจากนี้จากเอกสารบันทึกการประชุมของ "สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สXส) ซึ่งเพิ่งประชุมไปเมื่อ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ยังพบว่า นายภุชงค์ มีชื่อเป็นกรรมการ “สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สxส)” ที่มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมัยรัฐบาลทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกสมาคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net