Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 4 ปีมานี้ ทำให้สังคมได้เรียนรู้และมองเห็นปมปัญหาที่แท้จริงว่าไม่ได้อยู่ที่คุณทักษิณเพียงคนเดียว หรือไม่ได้อยู่ที่ความไม่เท่ากันของระดับสติปัญญาและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังที่บางฝ่ายพยายามกล่าวอ้าง แต่ปมปัญหาที่แท้จริงคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคม
 
คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า “ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว เราไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขสร้างความเกลียดชังกันขึ้นในสังคม สมัยรัฐบาลทักษิณ หนี้ต่อครัวเรือนของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว แต่คุณทักษิณรวยขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว ซึ่งก็เป็นความเหลื่อมล้ำอีกแบบหนึ่ง”
 
ในขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงพยายามอธิบายความเหลื่อมล้ำผ่านระบบชนชั้น “อำมาตย์-ไพร่” ซึ่งพอจับความได้ว่า “ระบบอำมาตย์” คือ “โครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในสังคมมีอำนาจโดยไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แต่สามารถใช้อำนาจนั้นแทรกแซงการเมืองและระบบราชการได้อย่างอยู่เหนือการตรวจสอบของประชาชน และโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้นทั้งในทางการเมืองและทางกฎหมาย”
 
มีการเรียกอำนาจของอำมาตย์ว่าเป็น “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ” แต่ในความหมายตามจารีตคือ “อำนาจบารมี” ซึ่งเป็นอำนาจในโครงสร้างวัฒนธรรมอำนาจตามจารีตประเพณีที่ยอมรับการมีอยู่ของ “อำนาจพิเศษ” บางอย่างโดยที่สังคมเชื่อกันว่าอำนาจเช่นนั้นคือตัวแทนของความดีงาม หรือเป็นอำนาจของความดีงาม
 
แม้จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาเกือบ 80 ปี แล้ว การ “ถวิลหา” อำนาจของความดีงามดังกล่าวก็ยังคงอยู่ เช่น การถวิลหาที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในช่วงแรกๆของการเสนอ “การเมืองใหม่” ที่ว่า  “หากรัฐบาลคอร์รัปชันหรือไม่จงรักภักดี ให้ทหารทำรัฐประหารได้ หรือให้พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพไทยสามารถเลือก ผบ.เหล่าทัพได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่ต้องผ่านการเสนอของนายกรัฐมนตรี”
 
ระบบอำมาตย์ยึดโยงอยู่กับอำนาจพิเศษดังกล่าวนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงนี้มีการมองกันสองทางคือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าระบบเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการสร้างชาติบ้านเมือง และปัจจุบันก็ยังมีคุณค่าในแง่ของการถ่วงดุลอำนาจฉ้อฉลของนักการเมืองได้ (อย่างเช่นที่ช่วยขจัดรัฐบาลคอร์รัปชัน เป็นต้น) แต่อีกฝ่ายมองว่าอำนาจดังกล่าวคือต้นตอของปัญหาความเป็นประชาธิปไตยและความเหลื่อมล้ำในสังคม
 
เนื่องจาก (1) อำนาจของอำมาตย์ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับอำนาจของประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (2) บทบาทของอำนาจนั้นที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองและระบบราชการ ทำให้การเลือกตั้งของประชาชนลดความสำคัญลง เพราะรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาถูกชี้นำ/กำกับโดยอำนาจนั้นอีกชั้นหนึ่งซึ่งอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน และหรือกระทั่งทำให้การเลือกตั้งไม่มีความหมายไปเลย เพราะอำนาจนั้นทำการรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมา
 
ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ คือต้นตอของปัญหาความไม่เสมอภาคของ “1 คน = 1 เสียง” ทำให้คนส่วนน้อยมี “อภิสิทธิ์” ในการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ในทางสังคมการเมืองเหนือคนส่วนใหญ่ เป็นสาเหตุนำมาซึ่งการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเป็น “สองมาตรฐาน” นั่นคือ มีการออกกฎหมายที่ขัดหลักความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์และละเมิดเสรีภาพในการพูดหรืออื่นๆ และมีการบังคับใช้กฎหมายกับคนแต่ละชนชั้นหรือแต่ละฝ่ายอย่างไม่เท่าเทียม
 
ฉะนั้น “อำมาตย์” จึงถูกมองว่าเป็นชนชั้น “อภิสิทธิชน” ส่วน “ไพร่” ก็คือชนชั้นที่ถูกอภิสิทธิชนเอาเปรียบ หรือถูกมองว่าโง่ จน เจ็บ เป็นเครื่องมือของนักการเมืองฉ้อฉล ไม่ใช่เสรีชนที่เข้าใจ “ประชาธิปไตย” และไม่สามารถใช้สิทธิอำนาจในการปกครองตนเองได้ด้วยวิจารณญาณที่เป็นอิสระ “ไพร่” จึงยังไม่ควรจะมีอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเต็มที่ ควรรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางด้วยเหตุผลเรื่องเอกภาพและความมั่นคงแห่งรัฐ
 
อย่างไรก็ตาม ภาพความเหลื่อมล้ำผ่านวาทกรรม “อำมาตย์-ไพร่” เป็นเพียงภาพสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติหนึ่งเท่านั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีมิติอื่นๆ อีกมาก เช่น ตัวอย่างที่เห็นกันได้ง่ายๆในเรื่องความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาคือ ชาวนา แม่ค้าขายส้มตำ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือคนหาเช้ากินค่ำโดยทั่วไป ไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจต่อรองใดๆในการฝากลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาต่างๆ ขณะที่ “เด็กฝาก” เข้าเรียนจากข้าราชการ นายพล อาจมีจำนวนน้อยกว่า “เด็กฝาก” จากนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติซึ่งมักจะมีรายชื่อ “เด็กฝาก” เป็นบัญชีหางว่าว
 
เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าเจ้าหน้าที่ ยาม คนทำความสะอาด คุณทักษิณ บรรดานายพลหลังเกษียณที่เข้ามาอยู่ในพรรคเพื่อไทย นักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการในพรรคเพื่อไทย และที่อยู่ในมวลชนเสื้อแดงหรือที่สนับสนุนมวลชนเสื้อแดงก็มีรูปแบบการใช้ชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่อาจจัดเข้าในกลุ่มของ “ไพร่” ที่ถูกเอาเปรียบเหมือนชาวบ้านส่วนใหญ่จากภาคอีสานและภาคเหนือที่มาร่วมชุมนุม
 
กล่าวโดยรวมๆแล้ว สังคมมีความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ แต่ถึงแม้ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้จะทำให้เรามองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น แต่ประเด็นถกเถียงหรือเงื่อนไขเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งก็ยังติดอยู่ที่ตัวบุคคลหรือฝักฝ่าย
 
เช่น ยังชูประเด็นพลเอกเปรม-ทักษิณ-อภิสิทธิ์ หรือรัฐบาล-คนเสื้อแดง อำมาตย์-ไพร่ หรือ เสื้อเหลือง-เสื้อแดง จึงทำให้การเจรจาประนีประนอมเพื่อหาทางลงให้ตัวบุคคลหรือฝักฝ่ายสำคัญกว่าการหยิบยกประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมมาสู่การพิจารณาหาทางแก้ไขร่วมกัน
 
ฉะนั้น การยื้อความขัดแย้งจึงกลายเป็นเรื่องของ “เกมแพ้-ชนะ” ทางการเมือง ไม่ยุบสภาก็ไม่เห็นทางออกจากปัญหาความขัดแย้ง ยุบสภาก็อาจมองเห็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ยังมองไม่เห็นแนวทางแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆลดลงอย่างเป็นรูปธรรม
 
ถ้าเรายืนยันกันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่มีพัฒนาการมาถึงจุดที่ประชาชนตระหนักในปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งก้าวพ้นปัญหาของตัวบุคคล หรือความเป็นฝักฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญแล้ว สิ่งที่ควรตั้งคำถามในการเจรจาระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลคือ การยุบหรือไม่ยุบสภาจะเป็นเงื่อนไขของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร
 
แต่ละฝ่ายควรควรยกประเด็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเป็นรากฐานของความขัดแย้ง แสดงให้ประชาชนเห็นว่ามีแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไรบ้าง เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า
 
หรือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ควรเป็นประเด็นหลักที่พรรคการเมือง มวลชน และประชาชนภาคส่วนต่างๆ จะรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า หรือรณรงค์ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net