เครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขง เตรียมยื่นหนังสือสถานทูตจีน 3 เม.ย.

 
จากสถานการณ์ปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงแห้งขอด เข้าขั้นวิกฤตที่สุดในรอบหลายสิบปี จนสร้างปัญหา ผลกระทบแก่ชุมชนในลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นเครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขงระบุว่ามีสาเหตุหลักมาจากทางการจีนได้ปิดเขื่อน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 3 เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากกิจกรรมต่างๆ ของจีนที่สร้างผลกระทบกับลำน้ำโขง เช่น การระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงเพื่อการเดินเรือ เป็นต้น
 
กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขง เตรียมยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ในวันที่ 3 เม.ย. นี้ ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาณาจักรไทย 57 ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นได้ชี้แจงเหตุผลการยื่นหนังสือครั้งนี้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้
 
-------------------
 
ด้วยเหตุจำเป็นอย่างสูงยิ่ง จากสถานการณ์วิกฤติน้ำโขงแห้งต่ำสุดในรอบ 50 ปี ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา รวมทั้งเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วมใหญ่สุดในรอบ 40 ปี เดือนสิงหาคม 2551 และสิ่งสำคัญคือภาวะน้ำขึ้นเร็วลงเร็วกว่าเมตรเพียงวันเดียวในหน้าน้ำท่วมและขึ้นเร็วลงเร็วเกือบ 50 เซ็นติเมตรในหน้าแล้ง สืบเนื่องซ้ำเติมมาสิบปีจากการควบคุมน้ำปิดเปิดเขื่อนจีนในแม่น้ำโขงตอนบน รวมทั้งการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจากจีนลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ
 
เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างร้ายแรง มีผลต่อพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาลดลง ชาวประมงและคนท้องถิ่นริมโขงต้องเลิกอาชีพประมง อีกทั้งเกษตรริมโขงก็ลดลง ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านมีผลกระทบโดยตรงและสืบเนื่องให้ระบบวัฒนธรรมวิถีชีวิตสังคมเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังก่อผลกระทบต่อการเดินเรือท้องถิ่น การท่องเที่ยวและระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
 
ด้วยเหตุและผลในเชิงประจักษ์จากท้องถิ่นริมน้ำโขง เป็นสิ่งยืนยันว่า คำโฆษณาของนักสร้างเขื่อนที่ว่า " เขื่อนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน" ไม่เป็นความจริง แต่เขื่อนจีนยืนยันได้เพียงว่า "เขื่อนไม่ช่วยป้องกันน้ำท่วมและซ้ำเติมให้แห้งแล้งในท้ายเขื่อนยิ่งขึ้น" การสร้างเขื่อนตอนบนในแม่น้ำโขงซึ่งจีนเรียกว่า "หลานซางเจียง" เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว 3 เขื่อน คือ มันวาน (2539) ต้าเชาชาน (2546) และจินหง (2551) กับอีกหนึ่งเขื่อนยักษ์สูงเท่าตึก 30 ชั้น ซึ่งเสร็จเดินเครื่องปั่นไฟฟ้าตัวแรกไปแล้วในตุลาคม 2552 โดยรัฐบาลจีนให้สิทธิในการพัฒนาสร้างและบริหารเขื่อนแก่บรรษัทเอกชนรายใหญ่คือ บริษัทหัวนึง (Huaneng Power Internation-HPI) นอกจากนี้ พวกเขายังมีแผนการสร้างเขื่อนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 4 เขื่อน ทั้งหมดนี้ รัฐบาลจีนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนท้ายได้ เพราะสายน้ำโขงแม่จะคนละชื่อแต่เป็นสายน้ำเดียวกัน ไหลล่องหากันมาหลายพันปี
 
ด้วยเหตุนี้เครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขงในประเทศไทยทั้งภาคเหนือและอีสานจึงจำเป็นยิ่งที่ต้องเดินทางมาเปิดเวทียื่นหนังสือร้องเรียนและมอบของขวัญหมายเลข 3 พร้อมให้ความเข้าใจในเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นเชิงประจักษ์ต่อเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาณาจักรไทย ณ 57 รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ 10310 ในวันที่ 3 เมษายน 2553 เริ่มต้นเวทีเวลา 8.30 น. และพิธียื่นหนังสือเวลา 10.00 น. ตามกำหนดการที่แนบมาด้วยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลจีนให้สิทธิแก่กลุ่มทุนเอกชนเป็นผู้มีสิทธิเด็ดขาดเพียงผู้เดียวในการพัฒนาสร้างและบริหารน้ำโขงตอนบนแก่บริษัททุนเอกชน ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติแม่น้ำโขงตอนบนไม่ใช่ของประชาชนคนธิเบตและจีนยูนนานอีกต่อไป ประชาชนจีนชาวนาเกษตรกร กรรมาชีพชาวจีนย่อมเข้าใจดีว่า พวกเขาคือหัวใจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แล้วเหตุใดรัฐบาลจีนจึงปล่อยให้ทุนเอกชนมีสิทธิและได้ประโยชน์ในการจัดการน้ำโขงตอนบนเพียงผู้เดียว และยังผลให้เกิดกระทบร้ายแรงต่อคนท้ายน้ำซึ่งร่วมสายน้ำเดียวกัน เราหวังว่าประชาชน เกษตรกรและกรรมาชีพชาวจีนย่อมเข้าใจเกษตรกร ชาวประมง ในท้ายน้ำด้วยหัวใจเดียวกัน
 
ท้ายที่สุด เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาณาจักรไทยในนามของรัฐบาลจีนต้องต้อนรับการมายื่นหนังสือร้องเรียนของประชาชนแม่น้ำโขงผู้เดือดร้อนในครั้งนี้ด้วยมิตรไมตรีดั่งญาติพี่น้อง เพราะเราและท่านคือพี่น้องร่วมแม่น้ำเดียวกัน !
 
 
 
           
 
กำหนดการ
 
           
 
08.30 น.                        รวมพลคนรักแม่น้ำโขง
 
                                      การแสดงทางวัฒนธรรม : กลองสะบัดชัย
 
09.00 น.                        โฆษกของเครือข่ายฯ กล่าวชี้แจงการจัดเวที
 
           
09.10 น.                        ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
 
                                     นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว : แจ้งแถลงเหตุและผลของคนท้ายน้ำ
 
           
10.10 น.                        พิธียื่นหนังสือและมอบของขวัญแก่สถานฑูตจีน
 
           
10.20 น.                        การแสดงทางวัฒนธรรมจากอีสาน
 
           
10.40 น.                        ตัวแทนเครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขง-ภาคอีสาน อภิปราย
 
           
11.10 น.                        การแสดงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง
 
            
12.00 น                         ปิดเวที
 
 
 
           
 
องค์กรร่วมเวทียื่นหนังสือฯ
 
         
1.กลุ่มรักษ์เชียงของ เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
 
2.กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา จ.อุดรธานี
 
3.กลุ่มฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี
 
4.โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
 
5.เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง
 
6.โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
 
7.กลุ่มศึกษาวัฒนธรรมและนิเวศ/ ศูนย์ข้อมูลและสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน
 
8.พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท