ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: "มวลชนไพร่" "ยุบสภา-นองเลือด-ไม่มีเจ๊า-ไม่มีจบ"

หมายเหตุ: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 สัมภาษณ์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นหัวข้อว่า "ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิเคราะห์ข้อเสนอ "มวลชนไพร่" "ยุบสภา-นองเลือด-ไม่มีเจ๊า-ไม่มีจบ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

 

ถ้าการเคลื่อนไหว ต่อสู้ทางการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของ "ผ้าผืนใหญ่" ทางประวัติศาสตร์ ขบวนการต่อสู้เพื่อเป้าหมายประชาธิปไตย เพื่อเรียบเรียง-ถักทอ-ร้อยเย็บเป็น "ผ้าผืนใหญ่" มีมาแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยเข้าสู่การเมืองใหม่ของสยาม ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ซึ่งปรากฏ-แรงปะทะ-สะท้อนจาก "ระบอบพิพูล-เผ่า-ผิน-สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส"  ภายหลังถูกเรียกเป็นปรากฏการณ์การเมืองในระบบ "ประชาธิปไตย แบบไทย"

แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังไม่ได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ ประชา ธิปไตย ทว่าการเมืองไทยได้   แปลงรูป-แปลงระบอบเข้าสู่ความเป็นระบบ "เสนา-อำมาตยาธิปไตย" 

กระทั่งการเคลื่อนไหวของมวลชนในยุค 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 และ "พฤษภาทมิฬ 2535" จึงมีคลื่นความคิดของ กระแส "เสรีนิยม" เข้ามาเป็นกระแสหลัก

การบุกเบิก เติมเต็ม ชำระสะสางและรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การเมืองไม่อาจสมบูรณ์ หากไม่มีมุมมอง "ประวัติศาสตร์ช่วงยาว" ทั้งในบริบทสังคม-การเมืองไทย และการเมืองโลก ประกอบเป็น "ผ้าผืนใหญ่"

ทั้งหมดเป็นทรรศนะวิชาการที่   ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวม-เรียบเรียงจนตกผลึกเพื่อใช้ปรากฏการณ์ "เสื้อแดง" ที่เคลื่อนไหวอึกทึกครึกโครมทั่วทั้งแผ่นดินอีสาน-เหนือ ประกอบเป็น "ผ้าเผลาะ"  ผืนใหญ่ทางประวัติศาสตร์

จึงต้องบันทึกข้อวิเคราะห์ของ "ดร.ชาญวิทย์" ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป...

 

@วิเคราะห์ทางออกสถานการณ์ การเมือง ที่แกนนำเสื้อแดงยื่นข้อเสนอต้องยุบสภาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้ามองในแง่ดี คือคงจะมีการยุบสภาเพราะปริมาณและคุณภาพของฝ่ายเสื้อแดงน่าจะทำให้รัฐบาลหา ทางออกให้กับสังคมด้วยการยุบสภาและเริ่มต้นไปสู่การเลือกตั้งใหม่ จากนั้นคงมีการปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป   แต่ถ้ามองในแง่ร้าย อาจจะมีการนองเลือดหรือมีเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่า "สงกรานต์เลือด" ในปีที่แล้ว เนื่องจากในปีนี้คงไม่มี "การเจ๊ากันไป" แค่นั้น และอาจมีการปราบปรามกำจัดบุคคลชั้นนำของฝ่ายเสื้อแดง

ในแง่นี้ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้สีแดงจะถูกปราบปรามไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบ เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้ทำให้เรื่องจบ

กระทั่งปีนี้ผ่านมาถึงปีที่ 4 แล้ว เรื่องยิ่งปานปลาย ฉะนั้นหากมีการปราบปรามกำจัดผู้นำบางคนก็จะยิ่งทำให้ทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้กำลังเพิ่มเติมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะยุบสภาหรือมีการนองเลือดก็ไม่ได้ทำให้เรื่องจบในตอนนี้

 

@ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ นปช.-เสื้อแดง แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นในประวัติศาสตร์อย่างไร

ประเด็นที่เหมือนกันคือ เมื่อมีการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยาได้แล้ว ทักษิณไปอยู่ต่างประเทศเหมือนกับนายปรีดี      พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่มีความแตกต่างตรงที่ยุคของทักษิณมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการสื่อสารกลับเข้า มาในประเทศและมีเงิน

แต่คนรุ่นโน้นในปี 2475 เมื่อพระยาทรงสุรเดช หรือกระทั่งรัชกาลที่ 7 เมื่อทรงลี้ภัย สละราชสมบัติ ก็ไม่สามารถกลับมาได้ รวมทั้งนายปรีดี จอมพล ป. พล.ต.อ.เผ่า ก็กลับเมืองไทยไม่ได้ 

แต่ผมคิดว่า ทักษิณและพรรคพวกเป็น สิ่งใหม่ในการเมืองไทย คือหลุดจากอำนาจไปแต่เรื่องก็ไม่จบ เพราะมี 1) เทคโนโลยี     2) เงิน และ 3) มีมวลชนจำนวนหนึ่งให้ความจงรักภักดีสนับสนุน ในแง่นี้การเมืองของเราไม่เหมือนที่เป็นมา เราจะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

@มีการประเมินว่าปริมาณมวล ชนที่มา รวมตัวกันเป็นจำนวนมากนั้น เพราะมีการจัดตั้งด้วยเงิน อาจารย์ประเมินอย่างไร

การเมืองก็ต้องมีการจัดตั้ง ซึ่งการจัดตั้งหรือการมีเงินเข้ามา ไม่ได้หมายความว่า มวลชนไม่มีพลัง ส่วนปรากฏการณ์พลังบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของมวลชนนั้น ในอดีตมีครั้งเดียวคือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะถูกหลอกและถูกล้อมปราบเมื่อ 6 ตุลา 2519 นั่นเป็นครั้งเดียวที่มวลชนมาอย่างไร้เดียงสา

 

@ครั้งนี้มวลชนไม่ไร้ เดียงสา ไม่ถูกหลอก

ส่วนปรากฏการณ์เดือนมีนาคม 2553 นี้ สำคัญมากในแง่ที่เรากำลังเดินมาถึงตรงกลางของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีการจัดตั้งที่เป็นระบบมาก ๆ ในการเข้ามาใช้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครในการต่อรองอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีคนเข้ามาร่วมมากอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง และคนในส่วนบนของสังคมก็คาดไม่ถึงว่าจะมามากขนาดนี้

การเมืองที่เรารู้จักกัน หากไม่มีเงินก็ทำไม่ได้ การเมืองก็คือการเมือง เหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้ใหญ่ไม่กล้าออกมาเล่น ทำให้เด็ก ๆ นักศึกษาหนุ่มสาวออกมาเล่น แต่ตอนนี้เด็ก ๆ บอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่...ก็ว่ากันไป

 

@มวลชนที่เข้าชุมนุมสมัย มีนาคม 2553 มีเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนอย่างไร

ผมคิดว่าการเมืองไทยได้ยกระดับมาก ๆ ในแง่ความรู้ ผมไม่เชื่ออย่างที่นักวิชาการเคยเชื่อกันว่า คนบ้าน นอกคนชนบทชาวไร่ชาวนา โง่  แต่เราควรเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ว่า เขาไม่ยอมให้ถูกหลอกอีกต่อไปแล้วมากกว่า เพราะชาวบ้านเขารู้ทัน เขามี โทรศัพท์มือถือกันทุกบ้าน มีข้อมูลข่าวสาร เขาไม่ได้มีสภาพเป็นแบบที่เราเคยเชื่อกัน

เนื่องจากคนระดับล่างกำลังตื่นตัวและทวงสิทธิ สิ่งที่น่าสนใจในตอนนี้คือ ลักษณะการต่อสู้ที่มีการชูคำ 2 คำ คือ คำว่า "ไพร่" และ "อำมาตย์" ถ้ามองแบบมาร์กซิสต์/ อาจบอกว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น โดยการต่อสู้ครั้งนี้อาจไม่ใช่มาร์กซิสต์สกุลเหมาหรือเลนิน แต่ถูกแปลงให้เป็นไทย

เดิมทีคำว่า "ไพร่" มักจะถูกกวี นักเขียน นำมาใช้ แต่ไม่มีใครนำมาใช้ในความพยายามเข้าใจสังคมไทยว่าไพร่ คือสามัญชนคนทั่วไปที่กำลังเรียกสิทธิจากผู้ดี  ชนชั้นสูง อภิสิทธิ์ชน ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก จากเดิมที่ไพร่ถูกใช้ในแวดวงคนมีการศึกษา  แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง 

 

@ การต่อสู้ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องระหว่างคนชนบทกับคนในเมือง แต่เป็นเรื่องระหว่างไพร่กับคนชั้นสูง

เป็นการแบ่ง 2 ขั้วความจริงแล้วมีคนในเมืองจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะเป็นคนชนบท และมีคนชนบทจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองมีฐานะเป็นคนในเมือง ฉะนั้น    คำอธิบายเรื่องคนชนบทกับคนเมืองอาจ  ไม่พอ แต่ต้องอธิบายฐานะทางสังคม   มากกว่าฐานะตามภูมิศาสตร์ว่าอยู่ตรงไหน 

 

@ รูปแบบการแพ้-ชนะของคนเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร

ยังไม่มีแพ้-ชนะขณะนี้ เพราะเกมนี้ยาวไม่จบง่าย ๆ ถึงแม้หากมีการยุบสภาแล้วก็ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องจะจบ หรือหากมีการปราบปราม มีการนองเลือด มีคนดัง ๆ ตัวโต ๆ ถูกทำลายชีวิตแล้วเรื่องก็ยังไม่จบอยู่ดี

 

@ประเมินว่าระดับการชุมนุม ครั้งนี้จัดว่า ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจได้หรือไม่ 

เหตุการณ์เดือนมีนาคม 2553 เป็น    จุดหนึ่งของการขับเคลื่อนใน transition (ช่วงเปลี่ยนผ่าน) โดยที่ transition อาจเป็น 100 ปีก็ได้ เพราะมีความพยายามของกระบวนการประชาธิปไตย มีความพยายามยึดอำนาจมาตั้งแต่ ร.ศ. 130 ต่อมามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีมาเรื่อยๆ

หากพูดถึง 14 ตุลา 2516, พฤษภา 2535 การเกิดเหตุการณ์มีนา 2553 ก็อยู่ในกระบวนการทั้งหมดอันยาวนาน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่บางครั้งใช้เวลาถึง 100 ปี

แต่เรามักหลอกตัวเองหรือมักถูกหลอกเสมอว่า ในอดีตเรามีความสมานฉันท์   ปรองดองสามัคคี โดยมองข้ามเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มองข้ามความขัดแย้งที่มีอยู่ในอดีต เช่น วังหลวงกับวังหน้า เมื่อเรามองข้ามเหตุการณ์เหล่านี้ เราจึงคิดว่าภาพในอดีตมีความปรองดอง

 

@ ดังนั้น ความไม่เป็นเอกภาพของแกนนำเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นปัญหาหรือเป็นปรากฏการณ์ที่ดี

ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดจากความคิดที่แตกต่าง ซึ่งไหลไปรวมกันที่จุดเดียวกัน หากมองย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา คนก็คิดว่าเป็น unity (ความสามัคคี)     แต่ความจริงไม่ใช่ และเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์หลายครั้งทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา   ก็มีความคิดที่แตกต่างกันในคนฝ่ายเดียวกัน

 

@ผู้ชุมนุมบางส่วนมีเป้า หมายสู้ให้ทักษิณกลับประเทศ บางส่วนต้องการจะโค่นอำมาตย์ เมื่อเป้าหมายแตกต่างขนาดนี้จะไหลไปรวมกันสู่จุดใด

ในประวัติศาสตร์ นักปฏิวัติมักจะมาทะเลาะกันเองหลังการต่อสู้จบแล้ว...       สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ควรสู้ไปให้ถึงที่สุด ขออย่างเดียว อย่าใช้อาวุธฆ่ากัน

 

ชื่อบทสัมภาษณ์เดิม  ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิเคราะห์ข้อเสนอ "มวลชนไพร่" "ยุบสภา-นองเลือด-ไม่มีเจ๊า-ไม่มีจบ"

(ที่มา :หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท