Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“My non-violence does not admit of running away from danger and leaving dear ones unprotected. Between violence and cowardly flight, I can only prefer violence to cowardice. I can no more preach non-violence to a coward than I can tempt a blind man to enjoy healthy scenes.”

“สันติวิธีของข้าพเจ้ามิใช่การยอมรับถึงการวิ่งหนีจากอันตรายและทอดทิ้งผู้ เป็นที่รักโดยไม่ยอมปกป้อง ระหว่างความรุนแรงกับการหลบหนีอย่างขี้ขลาด ข้าพเจ้าขอเลือกเอาความรุนแรงเหนือความขี้ขลาด ข้าพเจ้าไม่สามารถเทศน์เรื่องสันติวิธีให้แก่คนขี้ขลาดได้เท่ากับการที่ ข้าพเจ้าทำการหลอกล่อคนตาบอดให้มีความสุขอยู่กับภาพอันสวยงาม”

Gandhi, Young India, 28 May 1924
   
มหาตมะ คานธี เขียนในบทความลงนิตยสารการเมืองของพรรคคองเกรส Young India วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467)  
  

 

ข้างต้นนี้คือ คำกล่าวอมตะที่คนซึ่งชอบอ้างว่าตนเองยึดถือหรือชื่นชมแนวทางนักสันติวิธีแบบ มหาตมะ คานธี นักสู้กู้เอกราชของอินเดีย ไม่เคยเอ่ยถึงเลย ถือเป็นมุมมองที่ช่วยเฉลยข้อเท็จจริงให้ทุกคนที่ได้อ่านรับรู้คำกล่าวชิ้น นี้ ได้ตระหนักหรือทบทวนตัวเองอย่างรอบคอบอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งได้แล้วว่า ตนเองเป็นนักสันติวิธีที่แท้จริงหรือไม่

คานธี ในฐานะต้นธารของการต่อสู้ทางการเมืองในแนวสันติวิธีของโลกยุคร่วมสมัย ได้เปิดเผยท่าทีของเขาเองอย่างชัดเจนแล้วว่า ความแตกต่างระหว่างนักสันติวิธีที่แท้จริงตามแนวสัตยาเคราะห์ของเขา กับ คนขี้ขลาดที่อำพรางตนเองภายใต้เสื้อคลุมของนักสันติวิธีนั้น เป็นเช่นใด

สาส์นจากวาทะ และวัตรปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่คานธีส่งให้นักสันติวิธีร่วมสมัยและรุ่น หลังทั้งหลายได้ตระหนักและเตือนตนเองอยู่เสมอก็คือ การต่อสู้บนแนวทางสันติวิธีนั้น 1) ต้องกำหนดขึ้นจากบริบททางสังคมที่เป็นรูปธรรม2) ต้องไม่แยกเป้าหมายและวิธีการออกจากกัน 3) ต้องเคารพความแตกต่างของแนวทางต่อสู้อื่นๆบนพื้นฐานของขันติธรรมด้วย

ข้อเท็จจริงจากคานธี ได้ยืนยันชัดเจนว่า สันติวิธีของเขา ไม่ได้เกิดขึ้นแบบ”คิดเอาเอง” หรือ ท่องจำจากคนอื่น แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการดัดแปลงความคิดอันยาวนานหลายทศวรรษใน สถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นจริง ไม่ใช่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ริมขอบทาง หรือในห้องสัมมนา หรือในวงสนทนาที่ร้านกาแฟ

ในฐานะผู้นำทางการเมืองที่ร่วมการต่อสู้กู้เอกราชจากอังกฤษที่ยึดอินเดีย เป็นเมืองขึ้นมายาวนาน คานธีกลับจากแอฟริกาใต้ใน ค.ศ. 1915 ก่อนสงครามโลกครั้งแรกเล็กน้อยพร้อมกับแนวคิดต่อต้านการบัญญัติและบังคับใช้ กฎหมายที่ฉ้อฉลของอำนาจรัฐเรื่อง แข็งขืนอย่างอารยะ ( เดิมเขาใช้คำว่า passive resistance ต่อมาเปลี่ยนเป็น civil disobedience เพราะเห็นว่า คำแรกเหมาะสำหรับสื่อสารในแอฟริกาใต้เท่านั้น แต่คำหลัง เหมาะกับการสื่อสารกับปัญญาชนในอังกฤษและยุโรปมากกว่า) และได้พบว่า กลุ่มนักสู้เพื่อเอกราชของอินเดียภายใต้การนำของปัญญาชน แม้กระทั่งในพรรคคองเกรส ได้แตกออกเป็นฝักฝ่ายจนหาเอกภาพทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไม่ได้ อีกทั้งยังถูกสายลับอังกฤษบ่อนทำลายในทุกรูปแบบ (มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า กลุ่มนักปฏิวัติอินเดียในโพ้นทะเลจำนวนมากถูกสายลับอังกฤษตามไล่ล่าจนโงหัว ไม่ขึ้นทั่วโลก รวมทั้ง ศรี อรพินโต นักวางระเบิดที่ต้องวางมือหนีไปเป็นฤาษีในเขตยึดครองของฝรั่งเศสในอินเดีย)

คานธีใช้เวลาศึกษาสังคมอินเดีย และทำความเข้าใจกับอารมณ์แห่งยุคสมัยของคนอังกฤษอย่างถ่องแท้ โดยยินยอมร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษในอาณานิคมอินเดียเพื่อช่วยเกณฑ์คนอินเดีย เข้าเป็นทหารในสงครามโลกครั้งแรก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการสันติวิธี โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเปิดทางแลกเปลี่ยนกับการได้เอกราชของอินเดีย”

หลังสงครามโลกครั้งแรกสิ้นสุดลง ธาตุแท้ของจักรวรรดินิยมอังกฤษสำแดงเดชเมื่อมีการออกกฎอัยการศึก(กฎหมายโร ว์แลทท์)ที่มีการประท้วงอันเป็นที่มาของ”การสังหารหมู่ที่อัมฤตสา”อันโด่ง ดัง (มีคนตายกว่า 100 คน บาดเจ็บกว่า 3 พันคน) ทำให้คานธี ต้องปรับความคิดใหม่ ยืมเอาแนวคิดของราม ซิงห์ นักสู้อหิงสาอินเดียรุ่นก่อนมาปรับใช้ และ เปลี่ยนถ้อยคำเรียกแนวทางจากแข็งขืนเชิงอารยะมาเป็นสัตยาเคราะห์ (ผสมแนวทางแข็งขืนเชิงอารยะเข้ากับแนวทางไม่ร่วมมืออำนาจรัฐ) ด้วยเหตุผลว่า คำว่าแข็งขืนเชิงอารยะไม่สามารถสื่อสารกับคนอินเดียได้ชัดเจน แต่สัตยาเคราะห์เหมาะกว่าในการใช้เพื่อสื่อสารกับสังคมที่มีหลายวรรณะ เหลื่อมล้ำกัน

ผลลัพธ์คือ คานธีกลายเป็นผู้นำพรรคคองเกรสที่ปรับโครงสร้างใหม่ให้กลายเป็นพรรคมวลชน มีการออกนิตยสารเผยแพร่ชื่อ Young India ที่คานธีลงมือเขียนบทความเอง

ภายใต้การชี้นำของนิตยสาร Young India คนอินเดียทุกวรรณะได้เข้าร่วมขบวนการของพรรคคองเกรสมากขึ้น ในขณะที่ขบวนการต่อสู้ในแนวทางอื่นก็มีโอกาสปฏิบัติการมากขึ้น ทั้งเข้าร่วมกับพรรคคองเกรส และแยกตัวเป็นอิสระ จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ต้องยอมรับกันว่า เส้นทางสู่เอกราชของอินเดียนั้น ไม่ได้มีแต่แนวทางสัตยาเคราะห์ของคานธีตามลำพัง แต่มีการเคลื่อนไหวแบบคู่ขนานระหว่างสันติวิธีกับการใช้กำลังควบคู่กันมาโดย ตลอด โดยแต่ละฝ่ายก็ล้วนอดกลั้นไม่กล่าวหาซึ่งกันและกัน

บนแนวทางสัตยาเคราะห์ คานธีนำการต่อสู้หลายครั้ง แต่การต่อสู้ทุกครั้งมีความรุนแรงเกิดขึ้นประปรายและเป็นตัวเร่งการต่อสู้ เสมอไม่เคยขาด การต่อสู้ที่โด่งดังที่สุดได้แก่ การต่อสู้กับการผูกขาดเกลือของบริษัทอังกฤษที่เมืองแดนดี ค.ศ. 1930 ซึ่งขบวนต่อสู้บนท้องถนนเดินไปให้ทหารและตำรวจอาณานิคมตีโดยไม่ต่อสู้ สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก ทำให้คานธีถูกจับกุมและลงโทษจำคุกนาน 6 ปี (ติดคุกจริง 2 ปีเศษ) แต่มีส่วนสร้างกระแสกดดันในอังกฤษให้มีการลงมือเจรจากับพรรคคองเกรสเรื่อง การมอบเอกราชให้อินเดียหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล

แนวทางสัตยาเคราะห์ของคานธี ได้สร้างผลสะเทือนอย่างมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยื่นข้อเสนอให้พรรคคองเกรสร่วมมือชักชวนคนอินเดียเข้าร่วมรบในสงคราม ต่อสู้นาซี แรกสุดคานธีไม่ยอมรับข้อเสนอ เพราะขัดแย้งกับหลักการของตนเอง แต่สมาชิกและผู้นำพรรคคนอื่นๆเห็นด้วย ท้ายสุดคานธีตัดสินใจออกนอกห้องประชุม ปล่อยให้พรรคลงมติเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีคนอินเดียเข้าร่วมในสงครามมากที่สุดถึงกว่า 1 ล้านคน และตายไปหลายแสนคน

การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้พรรคคองเกรสแตกเป็นหลายเสี่ยง และอิทธิพลของคานธีก็ลดลงไปชั่วคราว เนื่องจากท่าทีต่อการเข้าร่วมในสงครามของคานธีเป็นความขัดแย้งในตัวเอง

ก่อนหน้านั้น ในสงครามซูลูในแอฟริกาใต้ คานธีก็เสนอตัวต่อรัฐบาลอังกฤษในแอฟริกาใต้ก่อตั้งกองทัพอาสาสมัครอินเดีย เข้าร่วมรบ โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อสร้างโอกาสให้คนอินเดียได้ฝึกฝนตนเองในสงครามที่แท้จริง” และในสงครามโลกครั้งแรกที่คานธีมีส่วนร่วรณรงค์เกณฑ์คนอินเดียร่วมรบในทหาร ทหารประจำการ ก็ให้เหตุผลว่า”ให้คนอินเดียมีความสามารถในการถือและใช้อาวุธ..หากเราต้อง การเรียนรู้เพื่อใช้ปืนในการทำสงคราม เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องเข้าประจำการในกองทัพ”

ผู้นำพรรคบางคนอย่างสุภาส จันดรา โบส ซึ่งไม่พอใจกับท่าทีสมยอมต่ออังกฤษของคานธี และไม่พอใจต่อท่าทีพรรคหลังจากการประหารชีวิตนักปฏิวัติอินเดีย ประกาท ซิงห์ (ขว้างระเบิดเข้าไปในรัฐสภาในนิวเดลี พร้อมกับแถลงการณ์ว่า “ต้องการให้แม้คนหูหนวกยังได้ยินเสียงร้องเพื่อเอกราช”)ในปี 1929 ได้แยกตัวออกไปติดต่อญี่ปุ่นและฮิตเลอร์ ตั้งกองกำลังต่อต้านอังกฤษในพม่าขึ้นมา และผู้นำกลุ่มมุสลิมก็ก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมอินเดียขึ้นเพื่อขอแยกตัวเป็น เอกราชไม่ขึ้นกับอินเดียในอนาคต

จนถึงปลายสงครามโลก คานธีตัดสินใจนำการต่อสู้ครั้งใหม่เรียกว่า “ออกจากอินเดีย” แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าว แม้จะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกกลบด้วยปรากฏการณ์ทหารเรือชาวอินเดียในกองทัพเรือ (INA) ที่บอมเบย์ก่อการขบถต่ออังกฤษขึ้น มีการต่อสู้กันจนเรือถูกจมไปหลายลำ ก่อนที่ขบถจะถูกปราบปราม

การขบถในบอมเบย์ ผสมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านในพม่า และการเคลื่อนไหวของคานธี ร่วมเป็นตัวสร้างกระแสให้สื่อมวลชนและประชาชนในอังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลลง มือเจรจามอบเอกราชให้อินเดียโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดการลุกฮือรุนแรงจนกระทั่งเศรษฐกิจอังกฤษที่ใกล้จะพินาศเพราะ สงครามโลกครั้งที่สองต้องอับปางลงยาวนาน

นายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลอร์ด แอตลี ยอมรับว่า การลุกฮือขึ้นของกองกำลังใช้อาวุธในอินเดียหลายจุดคือ ต้นเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ลอนดอนต้องตัดสินใจนั่งโต๊ะเจรจามอบเอกราชให้ อินเดีย ไม่ใช่แนวทางสัตยาเคราะห์ของพรรคคองเกรสซึ่งไม่ได้ส่งผลสะเทือนมากนัก แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยอมรับว่ายากจะปฏิเสธและแยกคุณูปการของแนวทางสันติ วิธีและการใช้กำลังออกจากกันเด็ดขาดในการต่อสู้เพื่อเอกราช

หลังได้รับเอกราช คานธีก็ยอมรับว่าคนอย่าง ศรี อรพินโต ประกาท ซิงห์ และ สุภาส จันดรา โบส เป็นวีรชนของชาติเช่นเดียวกับคนของพรรคคองเกรส นั่นคือ แม้คานธีจะประกาศตัวโดยเปิดเผยว่าไม่เดินแนวทางที่ใช้ความรุนแรง แต่ก็ให้พร้อมจะให้ความเคารพกับคนที่เดินแนวทางอื่นๆอย่างมีขันติธรรม

โยฮัน กาลตุง กับ แนวทางคานธีใหม่
   
หลังยุคของคานธี แนวทางสันติวิธีแม้จะแพร่กระจายไป แต่ก็ไม่มีแนวทางไหนเป็นที่ยอมรับเท่ากับแนวทางที่นำเสนอโดยนักต่อสู้เพื่อ สันติภาพชาวนอร์เวย์ โยฮัน กาลตุง ผู้ริเริ่มการทำให้กระบวนการสันติวิธีกลายเป็นวิทยาศาสตร์ที่ใช้อธิบายได้ ทั่วไป

กาลตุงยอมรับว่า เขาได้รับอิทธิพลของคานธีเหมือนคนอื่นๆ แต่เขาลงลึกมากกว่าปกติโดยการวิเคราะห์หลักการที่คานธีไม่ได้ให้รายละเอียด เอาไว้ ซึ่งน่าจะเป็นแก่นของสันติวิธีที่ยั่งยืน

สาระนั้นได้แก่ สันติธรรมเชิงบวกที่มุ่งแก้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม

กาลตุงเริ่มต้นศึกษาสาระของการใช้ความรุนแรงในสังคมมนุษย์หลายรูปแบบ แล้วสรุปออกมาว่า ความรุนแรงสามารถแยกออกได้เป็น 2 หมวดหลักด้วยกันคือ ความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสได้ กับ ความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสไม่ได้

ความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสได้ หมายถึงความรุนแรงที่ปรากฏชัดตั้งแต่การทำร้าย การตบตีทิ่มแทง ยิง เข่นฆ่า หรือทารุณกรรมในทุกรูปแบบ

ส่วนความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสไม่ได้ หมายถึงความรุนแรงทางด้านวัฒนธรรม เช่นการเหยียดหยามทางเพศ การเหยียดชนชาติ สีผิว สถานะทางสังคม ถิ่นที่อยู่ ภาษาฯ และความรุนแรงด้านโครงสร้างสถาบัน เช่น ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ การกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น ฯ

กาลตุงจัดลำดับความรุนแรงว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงที่สัมผัสได้เป็นการมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หากยังซื้อเวลาให้ปัญหาหมักหมม รอวันระเบิดขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะตราบใดที่สังคมยังยอมให้มีความรุนแรงที่สัมผัส/จับต้องไม่ได้ดำรงอยู่ ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ก็ยากที่จะสร้างสันติสุขขึ้นในสังคมได้ ยิ่งสังคมซับซ้อนมากเท่าใด โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจะยิ่งยุ่งยากในการแก้ไขมากเพียงนั้น

เพื่อมุ่งแก้โจทย์ที่คานธีค้างเอาไว้ในเรื่องสันติวิธี กาลตุง ย้อนกลับไปวิเคราะห์หลักการสัตยาเคราะห์ 11 ข้อของคานธีโดยละเอียด แล้วย่อยออกมาใหม่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองด้วยสันติวิธีในความหมายที่แท้ จริงของคานธี สร้างขึ้นมาจากรากฐานความคิดของนักคิดเก่าแก่ของฮินดูโบราณที่เรียกว่า 5 กล้าหาญ คือ

1)    กล้าเผชิญกับการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ ทั้งทางตรงและอ้อมอย่างเท่าทันและหลากมุมมองเพื่อสร้างทางออก หรือทางเลือกใหม่
2)    กล้าขัดแย้ง ถือว่ายิ่งขัดแย้งยิ่งเป็นโอกาสมากกว่าอันตราย เพราะแต่ละข้างของคู่ขัดแย้งล้วนต่างมีเหตุผลของตนเองในการต่อสู้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากความขี้ขลาด หรือ เพราะความขัดแย้งที่ไม่อาจลงรอยกันได้
3)    กล้าศึกษาบทเรียนในอดีตทั้งของตนเองและศัตรูหรือมิตรเพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ และสร้างโอกาสในการต่อสู้ใหม่
4)    กล้าจินตนาการเพื่อวาดสังคมในอุดมคติล่วงหน้า โดยไม่ต้องกังวลว่าจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ เพื่อนำไปอธิบายให้มวลชนเข้าใจจนเป็นเจตนารมณ์ร่วมขึ้นมาถึง เป้าหมายหลักและรองของการต่อสู้
5)    กล้าทำความสะอาดบ้านตนเองพร้อมไปกับการต่อสู้กับศัตรูและกลุ่มอื่นๆ เพื่อกำจัดจุดอ่อนของภายในองค์กรก่อนที่จะลุกลามในอนาคต

จากพื้นฐาน 5 กล้าหาญตามหลักสัตยาเคราะห์ของคานธี ทำให้กาลตุง นำเสนอว่า สันติวิธีที่แท้จริงและยั่งยืน จะต้องสามารถก้าวข้ามจารีตของกระบวนการแก้ปัญหาความรุนแรงให้ได้เสียก่อน โดยทำการแยกสันติวิธีออกเป็น 2 แนวทางคือ สันติวิธีเชิงบวก กับสันติวิธีทางลบ

สันติวิธีเชิงบวก (Positive Non-Violence) หมายถึงกระบวนการปฏิเสธความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสไม่ได้ โดยมุ่งขจัดความรุนแรงด้านโครงสร้างสถาบัน และความรุนแรงด้านวัฒนธรรม ให้ลดน้อยลงที่สุด เพื่อนำความยุติธรรม เสรีภาพ และความเคารพกันและกันเยี่ยงภราดรภาพของสมาชิกในสังคมกลับคืนมา

ส่วนสันติวิธีเชิงลบ (Negative Non-violence) หมายถึงกระบวนการปฏิเสธความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสได้อย่างเดียว โดยเพิกเฉยกับความรุนแรงที่จับต้อง/สัมผัสไม่ได้

ปัญหาของกาลตุงก็คือ แม้จะมองเห็นชัดเจนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่า สันติวิธีเชิงบวก สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงของสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จมากกว่าสันติวิธีเชิงลบ แต่การติดยึดกับหลักคิดเชิงอภิปรัชญาที่ว่า “วิธีการที่ดี นำไปสู่เป้าหมายที่ดี” ซึ่งนำมาสู่แนวทางสันติวิธีแบบ”วิธีการกำหนดเป้าหมาย”

ข้อเสนอขับเคลื่อนขบวนการสันติวิธีของกาลตุงอันโด่งดังที่ว่า “มุ่งสันติ โดยวิธีการแบบสันติ"(Peace by peaceful means) จึงกลายเป็นกับดักทางความคิดที่สำคัญที่แก้ไม่ตกของบรรดาสาวกของแนวทางสันติ วิธีทั้งหลายไปด้วยจนกระทั่งทุกวันนี้

ผลพวงที่ตามมาก็คือ บรรดานักสันติวิธีไร้เดียงสา และ นักฉวยโอกาสทางการเมือง(ที่สวมเสื้อคลุมสันติวิธีเพื่อซ่อนเร้นเป้าหมาย อื่นๆของตนเอง)ในทุกหนแห่ง ไม่สามารถก้าวข้ามจากสันติวิธีเชิงลบไปสู่พื้นที่ของสันติวิธีเชิงบวกได้เลย ยิ่งพากันป่าวร้องหาสันติวิธีเชิงลบแบบนักลัทธิคัมภีร์อย่างเอาเป็นเอาตาย และพร่ำเพรื่อชนิดพายเรือในอ่างจนหาทางออกไม่พบ พร้อมกับละเลยหลักการสันติวิธีเชิงบวกอย่างจงใจ

บางคนร้ายยิ่งกว่านั้น พยายามป่าวร้องด้วยสำนวนโวหารให้”คนอื่น”เดินแนวทางสันติวิธีตามความเชื่อ ของตนเองอย่างเซื่องๆ เพื่อปิดบังความขี้ขลาดของตนเองในการพยายามหลบเลี่ยงความขัดแย้งและการ ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย โดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อเรียกร้องของสันติวิธีเชิงลบ คือ ปฏิบัติการ 2 มาตรฐาน ที่ด้านหนึ่งสมยอมให้ชนชั้นปกครองที่ฉ้อฉลใช้ความรุนแรงกดขี่ขูดรีดมวลชน และอีกด้านหนึ่งคือมอมเมาให้มวลชนสยบยอมต่อความอยุติธรรมต่อไปไม่มีวันจบสิ้น

คนเหล่านี้ พยายามหลบเลี่ยงที่จะทำความเข้าใจว่า พฤติกรรมในการต่อสู้ทางการเมืองในบางช่วงเวลาของคานธีนั้น ที่ดูเหมือนจะยอมละวางหรือจำกัดเงื่อนไขของหลักการสัตยาเคราะห์เป็นการปรับ เปลี่ยนทางยุทธวิธีให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เป็นจริง โดยไม่ยึดติดวิธีการแบบลัทธิคัมภีร์ แต่ยืนหยัดในยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ถือเป็นการแยกแยะ”หลักการส่วนตัว” ออกจาก”เจตนารมณ์ร่วมของมวลชน”อย่างมีจังหวะก้าว

ความแข็งกระด้างที่ติดตรึงมากเกินขนาดกับวิธีการของกาลตุงที่เน้น“มุ่งสันติ โดยวิธีการแบบสันติ" จึงกลายเป็นตัวการฉุดรั้ง หรือขัดขวางการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพของปวงชนไปโดยปริยาย และหลายครั้งก็มีประสิทธิผลต่ำ เพราะเอาวิธีการมากำหนดเป้าหมาย จนเกิดผลลัพธ์ที่ทำให้ยากจะบรรลุเป้าหมายได้ เสมือนหนึ่ง “เอาฟองน้ำไปขัดภูผา”

ที่สำคัญ ไม่สามารถตอบคำถามสำคัญคือ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่า ศัตรูของสันติวิธี เลือกใช้ความรุนแรงเล่นงานหรือสร้างเงื่อนไขสกัดกั้นมิให้นักสันติวิธีบรรลุ เป้าหมาย

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมล่าสุดในสังคมไทย เมื่อกลุ่มผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยประกาศ”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”ใน วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลและกลุ่มอำมาตย์(ที่หนุนหลังโดยราชสำนัก) ได้ใช้วิธีการง่ายและหยาบกระด้างที่สุดในการรับมือการชุมนุมด้วยการโหมโฆษณา ชวนเชื่อทำลายทางการเมือง สร้างภาพผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นผู้นิยมก่อความรุนแรง สร้างความกลัวในวงกว้างต่อบรรดาคนกรุงเทพมหานคร พร้อมกับยุยงให้คนกรุงเทพฯออกมาต่อต้าน”ข้าศึก”ที่เข้ามารุกรานความสงบ ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงด้วยสงครามชิงพื้นที่ข่าวอย่างเต็มรูป กลับไม่มีนักสันติวิธีคนใดออกมารณรงค์ให้หยุดยั้งแม้แต่น้อย แต่กลับออกโรงมาเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมว่า อย่าให้ความรุนแรง ทั้งที่ยังไม่ได้กระทำเลยด้วยซ้ำ

ในมุมกลับกัน ความพยายามยัดเยียดวิธีการสันติวิธีเชิงลบให้กับมวลชนอย่างเถรตรง ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิเสธที่จะเคารพในเจตนารมณ์ของมวลชนที่ต้องการการ เปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นการฉีดยาชาทางปัญญาให้กับมวลชน เพราะเท่ากับการตกหลุมพรางของผู้กุมอำนาจรัฐที่ฉ้อฉลที่สวมเสื้อคลุมหลอกลวง อำพรางตัวเองภายใต้คำขวัญ”รู้รักสามัคคี”โดยปริยาย

หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นักการเมืองอนุรักษ์นิยมอังกฤษชื่อ เอ็ดมัน เบิร์ก เขียนหนังสือโจมตีว่า การปฏิวัติคือการกระทำทีมุ่งสร้างนรกขึ้นในโลก ด้วยสถาปัตยกรรมทางสังคมที่หายนะ ก็มีคำถามโต้ตอบสวนกลับมาว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอันพ้นยุคที่นิยมใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขีด จำกัดของฝรั่งเศสเอง ทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น ดังนั้น จะถือว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยประชาชนในการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นความชั่วร้ายแล้ว “การที่ทหารโรมันจับพระเยซูตรึงไม้กางเขน ย่อมเป็นความชอบธรรมใช่หรือไม่?”

ดังนั้น การเอาแต่ป่าวร้องสันติวิธีเชิงลบอย่างเดียว คือการยอมรับสภาพว่ามวลชนต้องสยบยอมต่อความรุนแรงด้านโครงสร้างสถาบัน และความรุนแรงด้านวัฒนธรรม เท่ากับถือว่าความอยุติธรรมและการสูญเสียเสรีภาพทางการเมืองของมวลชนนั้น เป็นความชอบธรรมแล้ว

โดยธรรมชาติทั่วไปของมวลชน รักสินติอย่างถึงที่สุด ไม่เคยแสวงหาความรุนแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเริ่มตระหนักถึงความรุนแรงด้านโครงสร้างสถาบัน และความรุนแรงด้านวัฒนธรรม แล้วลุกขึ้นมาทวงกลับคืน ความชอบธรรมก็ยืนข้างพวกเขา และไม่มีวาทะกรรมใดๆที่จะทำลายความชอบธรรมของพวกเขาได้ เพราะพวกเขาไม่ใช่คนเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน

คำถามที่ต้องท้าทายนักสันติวิธีที่เคย กำลัง และวางแผนจะป่าวร้องหาสันติวิธีเชิงลบอย่างซ้ำซาก โดยไม่ยอมเอ่ยถึงสันติวิธีเชิงบวกแม้แต่น้อย ก็คือว่า พวกคนเหล่า จะกล้าหาญเพียงพอแบบคานธีหรือไม่ที่จะก้าวข้ามเกราะกำบัง หรือสลัดทิ้งเสื้อคลุมที่อำพรางตนเอาไว้ มาขับเคลื่อนสันติวิธีเชิงบวกที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมวลชนผู้รักความ ยุติธรรมและประชาธิปไตย เพื่อลดความรุนแรงด้านโครงสร้างสถาบัน และความรุนแรงด้านวัฒนธรรมลงไปให้เหลือน้อยที่สุด บนการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในสถานการณ์จริง

หากไม่ยอมกระทำ หรือไม่ยอมตอบคำถาม ก็เท่ากับว่า นักสันติวิธีเชิงลบ มีฐานะเป็นแค่ คนขี้ขลาด หรือนักสันติวิธีจอมปลอม ตามนิยามของคานธีเท่านั้นเอง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net