Skip to main content
sharethis

สสส.เป็นเจ้าภาพประชุมร่วมเครือข่ายเอ็นจีโอ นำร่องสร้างสุขคนไร้บ้าน หวังรับสวัสดิการพื้นฐานของรัฐอย่างเท่าเทียม ขณะที่คนทำงานเผยผลสำรวจล่าสุดมีคนไร้บ้านใน กทม.นับพันชีวิต 

ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันนี้ (18 มี.ค. 53) สำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล จัดประชุมหารือกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสระชน และมูลนิธิกระจกเงา เรื่องการพัฒนาและขยายงานเพื่อลดความไม่เป็นธรรมในสุขภาพในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อันสืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 62 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ได้มีมติร่วมกันในแนวทางการพัฒนาสุขภาพใหม่ที่ชื่อว่า “ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดภาวะด้านสุขภาพ” จึงทำให้มีการระดมตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านคนไร้บ้านและคนจนเมือง ร่วมหารือเพื่อสร้างแนวทางในการดำเนินงานในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่างๆ โดยมี ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรองเป็นประธานในการประชุม

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวในระหว่างการประชุมว่า มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ทำงานกับคนจนในเมืองหลวงหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนแออัด และคนไร้บ้าน โดยเน้นในเรื่องการเข้าถึงบริการของรัฐในหลายส่วน การเข้าถึงที่ดิน การอยู่อาศัยทำกิน และในเรื่องของคุณภาพชีวิตของประชาชน จากผลการลงสำรวจของทางมูลนิธิทั่วพื้นที่กรุงเทพในปีนี้ พบว่ามีคนไร้บ้านกระจายตัวอยู่ทั้งสิ้น 1,093 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเก็บของเก่า ค้าขายเร่ และถ้าเป็นแรงงานที่มีฝีมือก็จะทำก่อสร้างบ้าง ความคาดหวังของทางมูลนิธิและคนทำงาน คือ ต้องการให้มีชุมชนคนไร้บ้านที่เป็นต้นแบบเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 จุด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเพียง 1 ชุมชนก็จะเป็นการจุดประกายแห่งความหวังให้คนไร้บ้านที่เข้ามาอยู่ในศูนย์คนไร้บ้านที่

มูลนิธิได้ก่อตั้งขึ้น รับรู้ว่าจะมีการรวมกลุ่มชุมชนเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับทางหน่วยงานของรัฐในเรื่องพื้นที่ในการใช้สร้างชุมชนของคนไร้บ้าน ซึ่งในประเด็นนี้ก็จะดำเนินการควบคู่กันกับเรื่องการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพด้วย

นอกจากนี้ตัวแทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยยังกล่าวอีกว่า พฤติกรรมของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนที่อยู่ไปไหน ซึ่งมีความคุ้นเคยอยู่ในพื้นที่ที่คุ้นชินและการใช้ชีวิตก็จะมีความเป็นปัจเจกสูง การไปสร้างกรอบให้คนเหล่านี้ต้องเข้าไปรวมกลุ่มในศูนย์ใดก็ต้องผ่านการให้ข้อมูล และการสร้างกระบวนการคิดให้กับคนไร้บ้านเหล่านั้นที่กระจายตัวไปตามจุดต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไร้บ้านปรับทัศนคติและต้องการอยู่ร่วมกันในที่สุด

ด้านนายนที สราวารี ผู้อำนวยการสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสระชน กล่าวว่า การทำงานของสมาคมจะเน้นในเรื่องเด็กไร้บ้าน และครอบครัวไร้บ้านมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันจะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องของคนไร้บ้านที่สมองเสื่อม ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 40 ของคนเร่ร่อนทั้งหมด ซึ่งที่เหลืออีกร้อยละ 60 จะเป็นคนเร่ร่อนที่รู้ตัวเองแต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นคนสมองเสื่อมได้เนื่องจากพิษของสุราที่ดื่มเข้าไป ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงต่อไปเนื่องจากผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคทางสองจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตค่อนข้างสูง แต่ยังมีคนไร้บ้านบางคนที่ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบแต่ยังคงต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเข้ารับบริการด้านสุขภาพบ้างเท่าที่มีความจำเป็น

ทั้งนี้นายนทียังกล่าวอีกว่าสำหรับในประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน ต้องการให้สื่อเป็นตัวกลางให้กับสังคมในการนำเสนอมุมมองด้านที่ดีของคนเหล่านี้ ว่ามีศักยภาพหรือพลังที่สามารถที่จะเรียนรู้ในเรื่องต่างๆได้เช่นกัน ในตอนนี้ถ้าบอกว่าสิ่งที่ต้องการมากที่สุดสำหรับคนไร้บ้าน คือ เรื่องการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมองซึ่งถือว่าสองเรื่องนี้คือเรื่องเร่งด่วนมาก

ขณะที่นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่าที่ผ่านมาได้ทำงานที่ศูนย์ข้อมูลคนหาย พบว่ามีผู้ป่วยสมองเสื่อมออกจากบ้านไปเดินบนท้องถนน บางคนโดนจับเข้าโรงพัก โรงพยาบาล หรือเสียชีวิต ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะอยู่ในโครงการการศึกษาผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทย และโครงการอาสาสมัครสนามหลวง ซึ่งถือว่า กทม.ถือเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ที่มีคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับการทำงานด้านคนไร้บ้านในเบื้องต้นควรที่จะมีการทำงานร่วมกันกับสื่อ เนื่องจากตอนนี้สิ่งที่เราต้องต่อสู้ คือ เรื่องทัศนคติของสังคมต่อคนไร้บ้านในแง่มุมที่ดี และทำอย่างไรให้สังคมเปลี่ยนแปลงมุมมองและเข้าใจว่าการแก้ปัญหาและทำงานด้านคนไร้บ้านในหลายๆประเด็นเป็นหน้าที่ของภาครัฐ

สำหรับการหารือในวันนี้ได้ข้อสรุปที่น่าพอใจในประเด็นที่จะดำเนินการ และมีการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการทำงานร่วมระหว่าง สสส.และเครือข่ายที่ทำงานด้านคนไร้บ้าน ดังต่อไปนี้ คือส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายในการทำงานให้มีความรู้เรื่องกฎหมาย สิทธิ รวมถึงการผลักดันให้เข้าสู่นโยบายของรัฐ   , การเข้าถึงบริการสำหรับคนไร้บ้านในด้านต่างๆของรัฐ, การสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนไร้บ้านแบบยั่งยืน, การจัดทำฐานข้อมูลของคนไร้บ้าน รวมถึงประเด็นในการสื่อสารสาธารณะเพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อคนไร้บ้านอีกด้วย อย่างไรก็ตามการประชุมร่วมของกลุ่มคนทำงานด้านคนไร้บ้านโดยการเป็นเจ้าภาพของ สสส.จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4 เมษายน 2553 ซึ่งคาดว่าจะได้ผลการประชุมและร่วมถึงหลักการในการดำเนินงานต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net