Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ นอกจากผู้คนในสังคมไทยเริ่มคุ้นชินกันมากขึ้นกับคำว่า “สันติวิธี” แล้ว “สันติวิธี” ยังกลายเป็นยุทธวิธีหลักที่คนกลุ่มต่างๆ ยึดถือและประกาศมั่นว่า ด้วยแนวทาง “สันติวิธี” เท่านั้นจึงจะสามารถเอาชนะการต่อสู้กดดันเพื่อบรรลุข้อเรียกร้องของกลุ่มตน

การเติบโตและเริ่มกลายเป็นคุณค่าสำคัญในการต่อสู้ในสังคมไทยของ “สันติวิธี” ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่พัฒนามาจากการเรียนรู้ของผู้คนทุกหมู่เหล่าร่วมกันในสังคม จากความผิดพลาด เจ็บปวด และสูญเสียมากมาย ในครั้งที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะจากฝ่ายใดก็ตาม

ในแง่รูปแบบ คงไม่มีใครที่จะสามารถชี้นิ้วฟันธงได้ว่า วิธีการแบบไหนคือ “สันติวิธี” หรือแบบไหนไม่ใช่ ทั้งนี้เพราะ “สันติวิธี” ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องเป็น 1,2,3 เท่านั้น หากผู้คนแต่ละสังคมต้องช่วยกันให้คำนิยาม ช่วยกันส่งเสียงสะท้อนกลับว่า วิธีการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้นั้น วิธีการใดยอมรับได้หรือไม่ได้ แล้วกลุ่มการต่อสู้เคลื่อนไหวต่างๆ จะเรียนรู้และทบทวนและพัฒนารูปแบบของ “สันติวิธี” ให้มีความเหมาะสมให้เป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากการยึดมั่นในรูปแบบของ “สันติวิธี” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากแล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหรืออาจจะสำคัญมากกว่าก็คือ ด้านที่เป็นจิตวิญญาณของ “สันติวิธี”

มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้สันติวิธีคนสำคัญคนหนึ่งของโลก ได้ให้หลักการสำคัญที่เป็นจิตวิญาณของ “สันติวิธี” ว่า สันติวิธี คือวิถีชีวิตสำหรับผู้กล้าหาญ เป็นการต่อต้านอย่างเข้มข้นต่อความเลวร้ายฉ้อฉลด้วยอารมณ์ที่เข้มแข็งและทรงพลัง มุ่งแสวงหาความเป็นมิตรและความเข้าใจ เลือกยืนอยู่บนข้างความรักแทนความเกลียด ความรักจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ของคนในชุมชนและต่อต้านความอยุติธรรม ยอมรับความเจ็บปวดโดยปราศจากการคิดแก้แค้น ความทนทุกข์ทรมานที่ได้รับนั้นมีอำนาจที่ลบล้างเหตุผลและแปรเปลี่ยนฝ่ายตรงข้าม “สันติวิธี” เชื่อมั่นว่า พระเจ้าจะอยู่เคียงข้างความยุติธรรม นักสันติวิธีจึงมีความศรัทธาอย่างลุ่มลึกว่า ในที่สุดแล้วความยุติธรรมจะเป็นผู้ชนะ

การชุมนุมเรียกร้องต่อสู้ของคนเสื้อแดง และ นปช. ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลของนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภานั้น มีคุณค่าและคุณูปการมากมายสำหรับการพัฒนาบทเรียนการต่อสู้แบบ “สันติวิธี” ให้เติบโตยิ่งขึ้นในสังคมไทย ดังนี้

1) คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ถูกนำไปผูกโยงกับการนิยมใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์บุกตะลุยเข้าไปในโรงแรมที่พัทยา การทุบรถนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความรุนแรงในจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ฝ่ายแกนนำได้ประกาศชัดเจนที่จะยึดรูปแบบการต่อสู้แบบ “สันติวิธี” และปฏิเสธที่จะทำตามรูปแบบการต่อสู้ของฝ่ายพันธมิตรฯ ที่ผ่านมา เช่น การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง และการยึดทำเนียบรัฐบาล โดยเห็นว่าวิธีการเหล่านั้นไม่ใช่แนวทาง “สันติวิธี” เพราะได้สร้างความเสียหายมากมายให้กับสังคมไทย ดังนั้น

2)  กลุ่มเสื้อแดง จึงเลือกวิธีการอื่นด้วยการสละเลือดของตัวเองแล้วนำไปเทราดในสถานที่ต่างๆ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้อง แทนการเลือกจะไปต่อสู้ทำร้ายผู้อื่นแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเหมือนประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น การสละเลือดของคนเสื้อแดงจึงเป็นการพัฒนาเรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีตของทั้งจากฟากตัวเอง และจากฝั่งกลุ่มพันธมิตร การใช้รูปแบบการสละเลือดของคนเสื้อแดงครั้งนี้ แน่นอนว่าผู้คนในสังคมคงเห็นแตกต่างมุมมองกันไปสุดแล้วแต่จุดยืนของแต่ละคนว่า เป็นวิธีการที่ยอมรับได้หรือพึงรังเกียจ เสียสละ หรือไร้สาระ แต่ไม่ว่าผู้คนจะเห็นต่างกันอย่างไรก็ตาม อย่างน้อย การเลือกยืนยันที่จะไม่เอาเลือดหัวคนอื่นออกด้วยการสละเลือดของตนเองนั้น ก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างความรุนแรงเสียหายให้กับชีวิตผู้คนเหมือนที่เคยเกิดขึ้น 

3) การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่า ได้ให้ความหวังและทำให้“สันติวิธี” มีที่ยืนที่มั่นคงยิ่งขึ้นในสังคมไทย ผู้เขียนจึงหวังว่า คนเสื้อแดงจะยังคงยืนหยัดในแนวทางการต่อสู้แบบ“สันติวิธี” ดังคำยืนยันของแกนนำตลอดไป และขณะเดียวกันคงได้สดับตรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคมเพื่อพัฒนาให้รูปแบบของ“สันติวิธี” ให้มีสาระที่สัมพันธ์สอดรับกับจิตวิญญาณของ “สันติวิธี” ให้มากยิ่งขึ้น เช่น การสละเลือดในครั้งหน้า แทนที่คนเสื้อแดงจะนำไปสาดเทด้วยถ้อยคำความสาปแช่ง พวกเขาจะนำเลือดไปบริจาคให้ทหาร-ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บในโรงพยาบาล หรือญาติของทหารตำรวจที่ต้องการเลือด แทนการนำไปทิ้งบ้านคนที่พวกตนเกลียดชัง พวกเขาจะสวดด้วยคำขอพรด้วยถ้อยคำอันงดงามให้กับฝ่ายตรงข้ามแทนการสาปแช่งเพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงหัวใจของพวกเขา ด้วยการมอบความรักให้กับคนที่เราเกลียด จึงนับเป็นอาวุธของคนกล้า และจะมีอำนาจในการประหัตประหารหัวใจของคนที่เข็งกระด้างอย่างแท้จริง

4) ขออย่าคิดว่าแนวทางการต่อสู้แบบ “สันติวิธี” เหมาะกับสังคมที่มีความยุติธรรมและมีความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะนั่นคือตรรกะที่ผิดพลาด หากสังคมมีความยุติธรรมและมีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว เราก็คงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องออกมาต่อสู้เรียกร้อง ดังนั้น เพราะสังคมไม่มีความยุติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก จึงมีผู้คนมากมายออกมาต่อต้านการเหยียดสีผิว ต่อต้านการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการทำลายสภาพแวดล้อม เป็นต้น   

โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่สังคมพึงรังเกียจอย่างยิ่ง ไม่ใช่การใช้วิธีสละเลือดของคนเสื้อแดงเพื่อแสดงสัญลักษณ์ในการต่อสู้โดยไม่ได้ไปทำร้ายใคร หากสิ่งที่พึงน่ารังเกียจและสมควรประณามอย่างยิ่งอย่างยิ่งคือ เผด็จการที่ใช้กำลังอาวุธออกมาทำการรัฐประหารถึงแม้ว่าจะไม่มีการเสียเลือดสักหยดเดียวก็ตาม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net