Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


นับเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเมื่อได้อ่านบทความเรื่องบัตรความเป็นคน
(Human Card): แก้
ปัญหาคนไร้รัฐไร้ชาติ โดยสังคม คุณคณากรสกุล[1] จบลง และไม่ว่าจะอ่านกี่รอบก็มีบางประเด็นที่ทำให้ไม่สบายใจอยู่ทุกครั้ง และอดไม่ได้ที่จะต้องใช้เวทีแห่งนี้สื่อสารผ่านข้อกังวลดังกล่าว เท่าที่พยายามจับความเนื้อหาให้ได้เข้าใจว่า (1) ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของคนไร้รัฐไร้ชาติในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน (2) การแก้ปัญหาของรัฐไทยต่อกรณีคนไร้รัฐไร้ชาติ คือ ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ (3) มีคนจำนวนมากในประเทศไทยที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ คนเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพคนไร้รัฐไร้ชาติ (4) คนไร้รัฐไร้ชาติส่วนใหญ่อาศัยในตะเข็บชายแดนที่ข้ามไปข้ามมา เพื่อหนีการกวาดล้างของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (5) เพื่อให้คนไร้รัฐไร้ชาติได้สิทธิความเป็นคน รัฐบาลก็ทำบัตรความเป็นคนให้พวกเขา และหากเขากระทำผิด รัฐบาลไทยก็มีสิทธิที่จะเรียกบัตรความเป็นคนคืน

จากเนื้อหาดังกล่าวดิฉันคาดเดาว่าผู้เขียนมีเจตนาดีเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้คนไร้รัฐไร้ชาติได้รับสิทธิต่างๆ ที่พวกเขาและเธอยังเข้าไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเข้ารับการศึกษา หรือสิทธิในการเดินทาง แต่ประเด็นที่ควรไตร่ตรองและตระหนักอย่างลึกซึ้งให้มากขึ้น บทความนี้กำลังพาเราเดินทางไปสู่ “หุบเหวแห่งความสิ้นหวังของการจัดการคนในประเทศไทยที่วันนี้ถูกเรียกในนามอื่นๆที่มิใช่พลเมือง ผ่านการมีบัตรความเป็นคน”

 

ข้อถกเถียงของดิฉันมี 3 ประการ ดังนี้
 
ประการแรก –ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของทุกคนมีความชัดเจน และไม่ได้ได้มาด้วยการหยิบยื่นหรือประทานจากรัฐ แต่รัฐต่างหากที่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกทำให้ด้อยค่า/เลือนหาย/ไม่ชัดเจนศักดิ์ศรีความเป็นคนเป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์ หรือสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่นๆ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 1 ก็กล่าวชัดเจนว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรี และเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง” ฉะนั้นศักดิ์ศรีความเป็นคนจึงเป็นคุณค่าที่มิอาจล่วงละเมิดได้
 
ประการที่สอง - “คนไร้รัฐ ไร้ชาติ” “คนไร้สัญชาติ” “แรงงานข้ามชาติ” และ “ผู้ลี้ภัย” มีรายละเอียดเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างกัน และไม่สามารถอธิบายแนวทางการจัดการแบบเหมารวมเพียง “การขึ้นทะเบียนแรงงาน” เท่านั้นได้ดิฉันไม่แน่ใจว่าผู้เขียนให้ความหมายคำว่า “คนไร้รัฐ ไร้ชาติ” ว่าหมายถึงใคร เพราะคนไร้รัฐไร้ชาติ เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก คำดังกล่าวนี้กินความรวมถึงประชากรอย่างน้อย 4 กลุ่ม คือ แรงงานข้ามชาติที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน, ชนพื้นเมืองที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย (กลุ่มบัตรสี), คนไร้รัฐ/ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร (คนที่ตกสำรวจจากกรมการปกครอง บางคนเกิดในประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว และมีจำนวนหนึ่งเป็นคนไทยแต่ไม่มีเอกสารรับรองตน) และผู้ลี้ภัยจากภัยประหัตประหารจากประเทศเพื่อนบ้าน (กะเหรี่ยง, ไทยใหญ่, กะเรนนี , มอญ , ปะโอ ฯลฯ) ซึ่งแต่ละกลุ่มในทางกฎหมายของรัฐไทยมีแนวทางการจัดการที่แตกต่างกัน การอธิบายด้วยการอ้างว่า “มาตรการของรัฐไทยที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ ความพยายามขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ โดยการพิสูจน์ทราบสัญชาติ” จึงเป็นคำอธิบายที่ใช้ได้เฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มที่เข้าถึงการพิสูจน์สัญชาติได้เท่านั้น ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วประชากรอีก 3 กลุ่ม รัฐไทยมีแนวทางอื่นๆในการจัดการ 
 
ดังเช่นกรณีน้องนารวย ถ้ายังจำกันได้ นารวย คือ เด็กนักเรียนหญิงจาก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลจากการตั้งชื่อหมีแพนด้าหลินปิง แต่เนื่องจากนารวยถูกระบุว่าเป็นคนไร้สัญชาติจึงทำให้อดเดินทางไปเที่ยวที่เฉิงตู ประเทศจีน กรณีนี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว คือ นารวยเป็นคนสัญชาติไทยแต่เนื่องจากไม่ได้ไปแจ้งเกิด จึงตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทย แม้ว่าจะมีคนเถียงว่าพ่อแม่นารวยเป็นคนลาหู่ก็ตาม แต่โดยหลักกฎหมายไทยแล้ว คนลาหู่เป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ปัญหานารวยจึงต้องแก้ด้วยการลงรายการสัญชาติไทยให้แก่นารวย หรือกรณีผู้ลี้ภัยจากภัยสงครามประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในแคมป์พักพิงชั่วคราวแถบชายแดนไทย-พม่า หรือนอกแคมป์ ดังเช่นผู้ลี้ภัยบ้านหนองบัว อ. ท่าสองยาง จ. ตาก ที่อพยพหนีภัยมายังประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 คนกลุ่มนี้เพียงต้องการแสวงหาความคุ้มครองระหว่างประเทศ (international protection) เท่านั้น เมื่อพื้นที่บ้านเกิดปลอดภัย พวกเขาก็พร้อมสมัครใจกลับคืนถิ่นฐาน เป็นต้น
 
ประการที่สาม– “การมีบัตร” กับ “ความเป็นคน” เป็นคนละเรื่องกัน “บัตร” คือ เครื่องมือชนิดหนึ่งของรัฐสมัยใหม่ในการจำแนกแยะแยะความเป็นพลเมืองกับความไม่เป็นพลเมืองออกจากกัน ใครก็ตามที่ไม่มีบัตรที่รัฐกำหนด คนผู้นั้นถือว่าละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐ ถูกกีดกันให้กลายเป็น “คนอื่นของรัฐ” รัฐมีอำนาจตัดสินใจในการจำแนกแยกแยะสถานะรวมถึงตัดสินคนที่ไม่มีบัตรเหล่านี้ในชื่อที่แตกต่างกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วมีคนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนพื้นเมืองที่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ตกหล่นเพราะรัฐเข้าไม่ถึง “พวกเขา” พวกเขาจึงถูกทำให้กลายเป็นคนไร้สิทธิ ไร้เสียง และถูกผลักให้ไปอยู่ตรงชายขอบของสังคม แต่นั่นมิได้หมายความว่าพวกเขาจะสูญเสียความเป็นคนหรือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับการมีบัตรและไม่มีบัตร อธิบายให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้นเช่น สิทธิสุขภาพ หากมองในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแล้ว ด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ก็คงไม่ได้ดูหรอกว่าผู้ป่วยคนนั้นจะมีบัตรหรือไม่มี หรือในเรื่องการศึกษาที่ทุกวันนี้ประเทศไทยก็ให้สิทธิเด็กทุกคน แม้จะไม่มีบัตรอะไรเลยก็สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ 
 
ความน่าตกใจของบัตรความเป็นคนนั้น หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าคนที่ไม่มีบัตร หรือถูกยึดบัตรนี้โดยรัฐ ก็เท่ากับว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่มีความเป็นคนในสายตาของรัฐไปเลยหรือไม่ หากมองในแง่พัฒนาการของรัฐสมัยใหม่แล้ว การจำแนกบุคคลโดยบัตรต่างๆ เป็นเพียงเทคโนโลยีที่รัฐนำเข้ามาเพื่อจะปกครอง/จำแนก/แยกแยะ/ควบคุมคนกลุ่มต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสิ่งที่เรียกว่า “พลเมือง” “คนไทย” หรือ “ชื่ออื่นๆ” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ควบคุม “คน” เท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อปกครองคนของรัฐนั้น ๆ ด้วย
 
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าไปครอบครองความเป็นคนได้สมบูรณ์แบบ เพราะความเป็นคนได้ถูกสถาปนาให้มีความเป็นลักษณะสากลที่อำนาจรัฐหรือกฎหมายต้องให้การยอมรับ ดังนั้นหากวันนี้มีบัตรความเป็นคน ก็คงจะเป็นครั้งสำคัญที่จะยอมรับให้รัฐสามารถก้าวล่วงพื้นที่อันศักดิ์สิทธิแห่งความเป็นคน หรือพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือ เรายอมให้รัฐกำหนดว่าใครมีหรือไม่มีความเป็นคน และสามารถถอดถอนความเป็นคนนั้นไปได้
 
สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นในแง่ของปฏิบัติการก็คือว่า เรากำลังผลักให้คนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่งให้ความคุ้มครองพวกเขา กลายเป็นกลุ่มที่มีสถานภาพต่ำกว่าความเป็นคน หรือกลายเป็นอื่นจากคนอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด เท่ากับว่าพวกเขาสามารถจะถูกกระทำหรือละเมิดจากคนอื่นๆได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ซึ่งปฏิบัติการแบบนี้ก็เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว ที่วันนี้พวกเขาก็ยังมีความเป็นคนและได้รับการปกป้องตามกฎหมายโดยรัฐแม้จะมีบัตรหรือไม่มีบัตรก็ตาม และหากวันนี้เราให้รัฐกำหนดความเป็นคนได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ย่อมจะทวีความชัดเจนและรุนแรงมากขึ้นได้อีกหรือไม่ เพราะรัฐไม่ได้ยอมรับเขาเหล่านี้ว่าเป็นคน หรือฉีกทึ้งความเป็นคนของพวกเขาทิ้งไปเสียแล้ว คำถามก็คือ สังคม และชุมชนจะมองพวกเขาว่าอย่างไร เป็นคน หรือไม่ใช่คน เพราะเราได้แบ่งแยกความเป็นคนด้วยบัตรไปแล้ว
 
ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่จะต้องทำหาใช่การทำให้รัฐออกบัตรความเป็นคน แต่จะต้องยืนยันหนักแน่นว่า คนทุกคนที่อยู่ในโลกใบนี้เป็นคน และเมื่ออยู่ในรัฐไทยพวกเขาจะต้องได้รับสิทธิในความเป็นคนซึ่งเป็นหลักการที่สังคมโลกยอมรับว่า เป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่อำนาจของรัฐสมัยใหม่จะต้องยอมรับและจะต้องปกป้องสิทธิในความเป็นคนของทุกคน รวมถึงให้สิทธิที่จะทำให้เขาเหล่านั้นยังรักษาความเป็นคนของพวกเขาได้ เช่น สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อรักษาชีวิต สิทธิในการจะแสวงหาความปลอดภัย สิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ก็คือ การทำให้คนทุกคนสามารถแสดงตนว่าตนเองเป็นคนที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้นๆ และขอมีสัญชาติในรัฐนั้นๆเพื่อไม่ให้ตนเองสามารถก้าวข้ามความเป็นคนไร้สัญชาติไปได้ ซึ่งความมีสัญชาติกับความเป็นคนก็เป็นคนละเรื่องอีกเช่นกัน
 
 
[1] กรุงเทพธุรกิจ, 15 มีนาคม 2553 หน้า 11 หรือสืบค้นได้ที่ http://www.bangkokbiznews.com/2010/03/15/news_30515902.php?news_id=30515902
 
 
 

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 62 (16 มีนาคม 2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net