Skip to main content
sharethis

14 มีนาคม 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ ‘เรียกร้องทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธีและร่วมกันฝ่าวิกฤติเพื่อให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าได้’ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

0 0 0

แถลงการณ์
‘เรียกร้องทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธี
และร่วมกันฝ่าวิกฤติเพื่อให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าได้’

 

14 มีนาคม 2553

ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้กำหนดจะจัดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคม 2553 โดยจะระดมผู้คนจากทั่วประเทศให้เดินทางเข้ามาร่วมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 แม้คณะผู้จัดการชุมนุมจะยืนยันว่าจะเป็นการชุมนุมอย่างสันติ แต่ก็ไม่วายที่จะทำให้ประชาชนทั้งหลายคลายความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย อันเป็นองค์กรเครือข่ายของมวลพี่น้องผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยมีความกังวลและไม่ต้องการที่จะเห็นความรุนแรงหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอเรียกร้องต่อสังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรงและช่วยกันคลี่คลายวิกฤติ ดังต่อไปนี้

1. ให้ทุกฝ่ายให้ความเคารพและยอมรับว่าสิทธิในการแสดงความเห็น การรวมตัว และการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 ได้ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธ

2. ขอให้ทุกฝ่ายต้องไม่ทำการใด ๆ เพื่อเป็นการยั่วยุ ที่สำคัญต้องไม่ใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด และให้อดทนต่อการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรง  การควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลนั้นให้บังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม เจ้าหน้ารัฐที่ควบคุมการชุมนุม ต้องไม่มีพกอาวุธ โดยให้มีเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์สำหรับควบคุมดูแลการชุมนุมเท่านั้น เช่นเดียวกันผู้ชุมนุมต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีอาวุธ แกนนำการชุมชุมจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการพกพาอาวุธมาชุมนุม และผู้ชุมนุมต้องช่วยกันควบคุมดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครใช้ความรุนแรง

3. สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆซึ่งอาจมีจุดยืนหรือความเห็นทางการเมืองแตกต่างกับผู้ชุมนุมแต่ก็ควรใช้ความอดทนอดกลั้น มีสติยับยั้งต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ อย่าได้เชื่อข่าวสารที่อาจนำสู่การใช้ความรุนแรงและประชาชนไม่ควรให้ความร่วมมือกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง

4 . ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนงนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรง รอบด้านและรับผิดชอบ ไม่ตกเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนนำเสนอเพื่อไม่ให้สื่อกลายเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนข้อเท็จจริงและนำสู่ความเข้าใจผิดในสังคม เคร่งครัดในจริยธรรมและจิตวิญญาณของความเป็นสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ที่ต้องมีบทบาทในการสนับสนุนระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย

5. ที่สำคัญต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศอีกต่อไป เพราะสังคมไทยได้รับบทเรียนจากความเสียหายของการคิดสั้นแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทำการรัฐประหาร ซึ่งมีข้อสรุปชัดเจนเสมอมาว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง ตรงข้ามกลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไป

6. เพื่อการแก้ปัญหาระยะยาวของประเทศ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากสภาพวิกฤติอันเลวร้ายครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย(ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นพหุสังคมที่มีคนซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากมาย) หาหนทางตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อร่วมกันกำหนดกติกาและแนวทางการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและปฏิบัติร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินไปข้างหน้าได้เสียที

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอของเราจะได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่าย

 

ขอแสดงความนับถือ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net