Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อนมีคนงานโรงงานสิ่งทอ “เอสจีไอ” โรงงานสิ่งทอ “ซุปเปอร์” และคนงานโรงงานผลิตสุรา “เดอะแกรนด์รอยัลวิสกี้บริวเวอรี่” ในย่างกุ้ง ชุมนุมขอขึ้นค่าแรง (อ่านข่าวย้อนหลังที่นี่) ล่าสุด ในสัปดาห์นี้นี้มีรายงานว่า คนงานพม่าในโรงงาน 2 แห่ง ในกรุงย่างกุ้งชุมนุมขอขึ้นค่าแรงบ้าง ในขณะที่มีกระแสเรียกร้องขอตั้งสหภาพแรงงานถูกกฎหมายภายในพม่า

เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า (ดีวีบี) รายงานว่า ได้มีกลุ่มกรรมกรชาวนาในพม่า รวมตัวกันภายใต้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “สันนิบาตเพื่อเอกภาพกรรมกร-ชาวนา” (the Workers-Farmers Unity League - WFUL) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลดข้อห้ามการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน

การตั้งสหภาพแรงงาน เป็นเรื่องที่ได้รับอนุญาตในพม่า อย่างไรก็ตามภายใต้รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี 2551 ระบุว่ารูปแบบของสหภาพแรงงานจะต้อง “ไม่ขัดต่อระเบียบและกฎหมายด้านความมั่นคง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ขัดต่อระเบียบแบบแผนและศีลธรรม” ซึ่งข้อแม้เหล่านี้ดูคลุมเครือ

ผู้นำของ WFUL นางยียีเฉ่ง (Yee Yee Shein) กล่าวว่า รัฐบาลต้องยึดถือมาตรฐานสากลเรื่องสิทธิแรงงาน เป้าหมายของการชุมนุมของคนงานอยู่ที่สภาพการจ้างงานทีย่ำแย่ และจ่ายค่าตอบแทนไม่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ค่าตอบแทนเฉลี่ยสำหรับแรงงานในพม่าต่ำกว่า 640 บาทต่อเดือน

นางยียีเฉ่ง กล่าวด้วยว่า กลุ่มของเธอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ “ประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน” และเตือนว่าการชุมนุมนัดหยุดงานของคนงานจะดำเนินต่อไปถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงอะไร

เธอยังวิจารณ์การแปรรูปอุตสาหกรรมที่เป็นรัฐวิสาหกิจในพม่าอย่างขนานใหญ่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน และว่าการชุมนุมนัดหยุดงานของกรรมกรจะนำไปสู่ความล่มจมของการผูกขาดทางเศรษฐกิจประเทศที่กระทำโดยวงศาคณาญาติของเผด็จการด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่าเริ่มดำเนินการประมูลขายอุตสาหกรรมของรัฐให้เอกชนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยมีนักธุรกิจชาวพม่าเป็นผู้ได้ประโยชน์หลัก โดยเมื่อไม่นานมานี้บริษัทตู่ เทรดดิ้ง คอมปานี (Htoo Trading Company) ซึ่งมีเตซา (Tay Za) มหาเศรษฐีพม่าซึ่งใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร ได้เข้าซื้อ วิสาหกิจการไฟฟ้าย่างกุ้ง มาดำเนินการเอง

นางยียีเฉ่ง กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาคนงานหญิงในพม่าจะออกมาชุมนุมเมื่อเดือนก่อนและนายจ้างสัญญาว่าจะขึ้นค่าแรงให้ แต่จนบัดนี้นายจ้างก็ยังไม่ทำตามสัญญา

“เราเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงอีก 10,000 จ๊าตต่อเดือน (ประมาณ 336 บาท) โดยนายจ้างตกลงจะขึ้นให้ 5,000 จ๊าต (ประมาณ 168 บาท) แต่สิ้นเดือนนี้ นายจ้างยังหักเงินออกจากเงินเดือนของเรา และเรายังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่มากว่าที่เคยได้”

นางยียีเฉ่ง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา มีคนงานราว 500 คน ชุมนุมที่โรงงานผลิตรองเท้า “ลักกี้” ในย่างกุ้ง ในขณะที่คนงานโรงงานสิ่งทอย่านใกล้เคียงกัน ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างด้วย

ผู้บริหารกิจการสิ่งทอแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวดีวีบีว่า การประท้วงของคนงานน่าจะดำเนินต่อไป หากรัฐบาลไม่สร้างโอกาสในการได้งานที่มากกว่านี้ และเขายังคาดการณ์ว่า การประกาศขึ้นค่าไฟกว่า 10 เท่า จะทำให้ภาคธุรกิจดำเนินไปอย่างไร้เสถียรภาพและจะเกิดความไม่พอใจมากขึ้น
 

 
 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก
Rangoon strikes pre-empt union call, By AYE NAI, DVB, 10 March 2010

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net