Skip to main content
sharethis

ชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กว่า 200 คน รุกยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดเชียงราย พร้อมให้กำลังใจ 3 ชาวบ้านที่ถูกตำรวจแจ้งความหลังเหตุชุมนุมรอบศาลากลางจังหวัดค้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ร้องสอบพ่อเมืองเชียงรายเพิ่ม-สั่งไม่ฟ้องคดี

วานนี้ (10 มี.ค.53) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ชาวบ้าน ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กว่า 200 คน ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายบนถนนรัตนาเขต เพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน 3 คนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งความดำเนินคดีข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อาญา มาตรา 215 พร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดเชียงราย เรียกร้องให้มีคำสั่งสอบสวนพยานเพิ่มเติม และขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

จากกรณีการชุมนุมของชาวบ้านเมื่อวันที่ 3 ก.ค.52 เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ของ บริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่ หมู่ 8 บ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ที่ศาลากลางจังหวัดขณะที่กำลังมีการประชุมเพื่อพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมด้วย ส่งผลให้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับนายสวัสดิ์ สายสุขการจินะกุล นางสุพรรณี แสง และนายสมพล สมถะ ในฐานะที่เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม

นางสุพรรณี แสงอรุณ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงเหนือ ชี้แจ้งในหนังสือขอความเป็นธรรมว่า การชุมนุมในวันที่ 3 ก.ค.52 มีประชาชนที่สนใจการประชุมกลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประกาศเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมรับฟังผลการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค.52 อีกทั้งขณะเกิดเหตุได้อยู่ในห้องประชุมโดยตลอดจนเสร็จสิ้นการประชุม ไม่ได้ออกไปร่วมชุมนุม

ทั้งนี้ นางสุพรรณี ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยชีวมวล ตามคำสั่งจังหวัดเชียงรายที่ 1702/2552 ลงวันที่ 3 ก.ค.52

นอกจากนี้ หนังสือขอความเป็นธรรมได้ขอให้อัยการมีคำสั่งให้สอบสวน นายไว ขจรคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เพื่อยืนยันว่ามีการเชิญผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีทั้ง 3 คนเข้าร่วมการประชุมและอยู่ในห้องประชุมโดยตลอด และนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
 


ภาพถ่ายนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขณะเจรจากับผู้ชุมนุม ที่สี่แยกแม่กรณ์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวเนื่องมาจากการเลื่อนประชุมเพื่อพิจารณากลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากที่เดินทางไปรับฟังผลการประชุมไม่พอใจ จึงมีการรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการประชุมโดยเร็วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง การชุมนุมจึงยืดเยื้อออกไป โดยชาวบ้านได้ย้ายไปชุมนุมบริเวณสี่แยกแม่กรณ์ แม้การชุมนุมดังกล่าวจะยุติลงเมื่อผู้ว่าฯ ได้ลงมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมแต่ภายหลังจากนั้นมีชาวบ้านจำนวน 13 คน ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา จากความผิดฐานร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ปิดกั้นถนนและจอดรถกีดขวางการจราจรบนทางหลวง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

นายไว ขจรคำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.วังเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงรายกล่าวถึงการออกมาเคลื่อนไหวในวันนี้ว่า เป็นเพราะต้องการร้องขอความเป็นธรรม โดยขอให้ผู้ว่าฯ ทบทวนคำพูดของตัวเอง เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ให้ไปร่วมฟังการประชุมและบอกว่าจะไม่ฟ้องชาวบ้าน และเพื่อเป็นการให้กำลังใจกับผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องมาให้ปากคำกับอัยการ หลังจากที่เคยมีการเลื่อนนัดไปแล้วครั้งหนึ่งจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ.มาเป็นวันนี้ ซึ่งก็ได้เลื่อนไปอีกเป็นวันที่ 20 มี.ค.เพราะอัยการมีคำสั่งสอบข้อมูลจากนายอำเภอเวียงชัยเพิ่มก่อน

นายไวกล่าวต่อมาว่า หลังจากยื่นหนังสือต่ออัยการจังหวัดกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางต่อไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีที่มีข่าวว่าโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งได้รับคำตอบจากอุตสาหกรรมจังหวัดว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทุกอย่างอยู่ที่ส่วนกลางเป็นคนอนุมัติ แต่ในส่วนชาวบ้านเชื่อว่าทางอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ มาโดยตลอดน่าจะรู้ข้อมูลแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะบอกชาวบ้านหรือไม่

สำหรับโครงการที่จะทำการก่อสร้างในพื้นที่ นายไวกล่าวว่าทราบเรื่องเมื่อราวปลายปี 2551 จากการเข้ามาประชาคม โดยตามแผนก่อตั้งจะใช้พื้นที่ราว 78 ไร่ ส่วนชาวบ้านก็พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่มีการปรับพื้นที่ โดยได้ไปร้องเรียนกับอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงว่ายังไม่มีการขออนุญาต ไม่สามารถทำอะไรได้

นายไวมองว่าการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ให้อะไรกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่จะนำปัญหาทั้งเรื่องฝุ่นละอองจากแกลบที่เป็นวัตถุดิบ ปัญหาการแย่งชิงน้ำกับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ปัญหาการจราจร อีกทั้งยังรู้ข้อมูลว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า การสร้างโรงไฟฟ้ามีแต่กลุ่มผลประโยชน์ที่อยากได้

“เขาบอกว่าถ้าสร้างแล้วจะตั้งกองทุนให้ ใครมีปัญหาอะไรจะได้แก้ไข แต่ผมบอกไม่เอาดีกว่า เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มันก็เป็นการเอาเงินฟาดหัวทั้งนั้น” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ให้ความเห็น

นายไวกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนกับอนุกรรมการสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งในวันที่ 18 มี.ค.นี้ คณะกรรมการสิทธิฯ จะลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวรวมทั้งกรณีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องในคดีต่างๆ เพราะการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย
 
“เราต้องการวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม ” นายไวกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรรมการบริหารบริษัทดังกล่าวได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่บริษัทจะทำการก่อสร้างส่งผลกระทบน้อยมาก เพราะเป็นโรงงานขนาดเล็ก ตั้งอยู่ห่างชุมชน และได้ให้มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาผลกระทบแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net