Skip to main content
sharethis

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี แสดงทัศนะผ่านรายการ “ลงเอยอย่างไร” ช่อง 11 เตือนอย่าทำให้คนกลุ่มน้อยมาเป็นผู้แทนคนกลุ่มใหญ่ และรัฐเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมการใช้ความรุนแรง หากไม่ทำก็หมดความชอบธรรม

รายการลงเอยอย่างไร เมื่อค่ำวันที่ 10 มีค. ที่ผ่านมาทางโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นพิธีกร ได้เชิญผู้เข้าร่วมสองรายคือนายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันในเรื่องแนวทางสันติวีธี กับพล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ เนื้อหาหลักในการออกอากาศตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่กำลังจะมีขึ้นในกรุงเทพฯกับแนวทางในการจัดการกับการชุมนุมของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นหลักของการสนทนาเป็นเรื่องของคนเสื้อแดงและโอกาสเกิดความรุนแรงในระหว่างการชุมนุมนั้น ในช่วงหนึ่งนายชัยวัฒน์พยายามชี้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่คือคนที่ไม่ต้องการความรุนแรง ฝ่ายที่อาจจะต้องการความรุนแรงเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะพยายามทำก็คือไม่ทำอะไรที่เป็นการทำให้คนกลุ่มน้อยกลายมาเป็นผู้แทนของคนกลุ่มใหญ่

“ถึงยังไงเขาเป็นคนไทย ไม่ว่าเสื้อสีอะไรเราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน จะไปบอกว่าคนเสื้อแดงต้องการพังบ้านพังเมืองยิ่งอันตราย” โดยระบุว่าการกระทำเยี่ยงนั้นจะเท่ากับยิ่งผลักดันคนเสื้อแดงให้ออกห่างและยิ่งจะทำให้คนส่วนน้อยที่ต้องการใช้ความรุนแรงคุมพื้นที่ได้มากขึ้น เมื่อพล.ท.นันทเดชแย้งว่า แม้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ต้องการความรุนแรงก็จริง แต่ในความเป็นจริงการที่คนเสื้อแดงแตกคอกันเอง คุมกันไม่ได้ทำให้ยากที่จะไม่เกิดความรุนแรง นายชัยวัฒน์สรุปว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตาม การที่การชุมนุมจัดตั้งไว้ไม่ได้ ควบคุมกันไม่ได้ย่อมมีโอกาสเกิดความรุนแรงเสมอ แล้วย้ำว่า สังคมไทยจะต้องไม่ผลิตความรู้สึกว่า คนเสื้อแดงเป็นศัตรูและเป็นภัยคุกคามประเทศเพราะคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ต้องการความรุนแรง เนื่องจากการผลิตความรู้สึกต่อต้านเสื้อแดงและเห็นว่าเสื้อแดงเป็นภัยจะเท่ากับผลักให้เกิดสภาพสุดโต่งปรากฏขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงหนึ่งพิธีกรมีคำถามว่าใครมีโอกาสมากกว่ากันที่จะก่อความรุนแรงหนนี้ ในบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ระหว่าง รัฐ ทหาร ตร.แกนนำคนเสื้อแดง แกนนำอีกหลายกลุ่ม ผู้ชุมนุม คนติดตามการชุมนุม และอื่นๆ นายชัยวัฒน์ระบุว่าทุกกลุ่มมีโอกาสทั้งสิ้น รวมทั้งประชาชนที่หากรู้สึกว่าไม่มั่นคงปลอดภัยและรัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองตนเองได้ก็อาจลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเองเช่นเดียวกัน แม้เมื่อพล.ท.นันทเดชยืนยันว่าทหารยึดมั่นอยู่กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและจะไม่กระทำการรุนแรงแน่นอน รวมทั้งรัฐบาลเองก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ ย่อมไม่ใช้ความรุนแรง แต่นายชัยวัฒน์ก็ติงว่า ทหารและรัฐบาลไม่แน่ว่าจะเป็นเอกภาพกันเสมอไป โดยเฉพาะในสภาพของสังคมที่มีความขัดแย้งสูงเช่นขณะนี้ ทหารก็อาจไม่มีภูมิต้านทานสูงขนาดนั้น

ผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นต่อไปว่า โอกาสในการเกิดความรุนแรงอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมาจากชาวบ้านด้วยกันเองที่จะทนคนเสื้อแดงไม่ได้และเล่นงานคนชุมนุม ซึ่งพล.ท.นนทเดช ผู้ร่วมรายการแสดงความเห็นว่า เรื่องแบบนี้อนุมานเอาได้ว่าหากมีคนมาชุมนุมราวห้าหมื่นหรืออย่างมากที่สุดหนึ่งแสนคนจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

“สิ่งที่ชาวบ้านมองคือการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ข้ออ้างของพวกเขาก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ที่อ้างว่าต้องการปชต.ที่แท้จริง ชาวบ้านก็บอกว่าตอนนี้ก็มีปชต.อยู่แล้ว ปชต.ที่แท้จริงเป็นยังไง ข้ออ้างอื่นๆก็ไม่มีน้ำหนัก อันเดียวที่ชาวบ้านมองเห็นก็ว่ามีน้ำหักก็คือการทำเพื่อทักษิณ คนส่วนใหญ่จึงมองว่าการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวของทักษิณ ชาวบ้านอาจไม่ชอบและอาจมาทำอะไร มันจะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงเอง  อีกอย่างคนมาห้าหมื่นจะมานั่งฟังทั้งวันไม่ได้ ต้องคว.ไม่งั้นเขาจะกลับบ้าน ก็ต้องคว.เอาไปนั่นไปนี่ โอกาสกระทบกระทั่งมีแน่ เช่นไปสีลมอีกครั้งโดนขว้างแน่ ชุมนุมสักสี่ห้าวัน คนลดเหลือหมื่นหรือห้าพัน คนที่ออกไปข้างนอกอาจจะโดนเล่นงาน ก็จะคิดแก้แค้น” พล.ท.นันทเดชวาดภาพ

อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ได้ท้วงติงคำพูดของพล.ท.นันทเดชโดยตั้งคำถามว่า เมื่อบอกว่าวิธีการต่อสู้หรือข้อเรียกร้องของเสื้อแดงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยนั้น คำถามก็คือใครที่ไม่เห็นด้วย เพราะคนในเมืองอาจมีที่ไม่เห็นด้วย แต่คนกลุ่มอื่นอาจเห็น พร้อมทั้งชี้ว่า ในการชุมนุม ผู้เรียกชุมนุมต้องกระทำให้ปัญหาเป็นนามธรรม เช่นความไม่เป็นธรรม ชัยวัฒน์ระบุว่าการตัดสินของศาลในคดียึดทรัพย์นั้นเขาเห็นว่าเป็นปัญหากฏหมายน้อยยิ่งกว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขในเรื่องความรู้สึก นอกจากนี้ยังบอกว่าการที่ปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อนั้น สำหรับสังคมไทย ลักษณะเช่นนี้ได้นำพาสถาบันต่างๆที่เคยเป็นสถาบันที่ค้ำจุนสังคมให้อ่อนแอตามกันไปและไม่มีใครต้องการจะฟังใคร นอกจากนั้นยังเสนอว่าในการชุมนุมของกล่มคนเสื้อแดงนั้น สังคมไทยควรจะช่วยให้คนเหล่านั้นชุมนุมได้โดยไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง แต่ทว่าพิธีกรคือเจิมศักดิ์กลับตั้งคำถามว่า หน้าที่ในการทำให้การชุมนุมไม่รุนแรงควรจะเป็นหน้าที่ใครระหว่างสังคมกับแกนนำคนเสื้อแดง

และเมื่อนายชัยวัฒน์ระบุว่าตนเชื่อว่าแกนนำเสื้อแดงเองก็คงไม่ต้องการความรุนแรง ฝ่ายนายเจิมศักดิ์ยืนยันว่า ตนมีหลักฐานว่าแกนนำคนเสื้อแดงนั่นเองที่เรียกร้องหาความรุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา  หลังจากนั้นก็ได้นำภาพจากการตัดต่อวิดีโอที่อัดเสียงการปราศรัยของแกนนำเสื้อแดงจากหลายที่หลายเวลามาต่อกันและล้วนแล้วแต่เป็นคำพูดที่ผู้พูดแสดงอาการแข็งกร้าว เรียกร้องหาความรุนแรงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่โดยที่ผู้นำเสนอภาพไม่ได้ให้บริบทใดๆ เช่นเริ่มต้นด้วยการที่พตท.ทักษิณ ชินวัตรกล่าวว่า “ผมแพ้ไม่ได้” ต่อด้วยแกนนำเสื้อแดงคนแล้วคนเล่าที่พูดไว้ในที่ต่างๆ เช่นเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเอา “ขวดพลาสติก” ขนาดบรรจุ 75 ซีซีเข้ามาด้วย แล้วกรุงเทพฯจะเป็น “ทะเลเพลิง” หรือในช่วงที่เรียกร้องให้ตามไล่ล่านายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเจ้าหน้าที่เพื่อนำมา “ผูกคอ” เป็นต้น นายเจิมศักดิ์ตั้งคำถามกับนักวิชาการนักสันติวิธีว่า นี่หรือคือคนที่ไม่ต้องการความรุนแรง อย่างไรก็ตามนายชัยวัฒน์ยืนยันว่า คนเราในเวลาต่อสู้กันมักจะเกิดความเกลียดชัง และเมื่อเกลียดชังกันแล้วก็จะไม่คิด หน้าที่ของคนในสังคมคืออย่าให้เสื้อแดงกลายเป็นสัญญลักษณ์ของการถูกเกลียดชัง เพราะคนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ไม่ใช่เช่นนั้น และสังคมควรจะช่วยเหลือจัดการปัญหาที่เป็นความไม่พอใจจริงๆของพวกเขา และยังเสนอว่าควรจะหามาตรการไม่ให้การชุมนุมต่อไปผู้ไปชุมนุมมีอาวุธในครอบครอง ให้เป็นการชุมนุมที่ปลอดอาวุธ และให้จนท.เป็นคนกลุ่มเดียวที่มีอาวุธ ทั้งนี้เพื่อจะให้เป็นมาตรการที่จะช่วยให้การชุมนุมเป็นไปโดยสันติ

ด้านพล.ท.นันทเดชกล่าวย้ำหลายครั้งถึงโอกาสการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีเหตุรุนแรงแน่พร้อมกับระบุว่าคนเสื้อแดงจะแก้ตัวด้วยการโยนความผิดให้กันและกันโดยอาศัยภาพความไม่เป็นเอกภาพบังหน้า นอกจากนั้นพล.ท.นนทเดชแสดงความเชื่อมั่นว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นในที่ชุมนุมใหญ่ แต่จะเกิดรอบนอก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดูแลรักษาความปลอดภัยก็จะต้องมีห่วงหลายประการ รวมไปถึงการที่จะต้องพ่วงทัพสื่อมวลชนที่ลงไปทำข่าวเข้าไปด้วยเพื่อเป็นพยานยืนยันว่าหากมีการสลายการชุมนุมขึ้นมา เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำการเกินเหตุ

พล.ท.นนทเดชยังกล่าวด้วยว่าหากมีการทำอะไรที่นอกกรอบ สันติวิธีอาจจะใช้ไม่ได้ ทำให้พิธีกรคือนายเจิมศักดิ์ตั้งคำถามกับนายชัยวัฒน์ว่าการจับกุมคุมขังคนทำผิดถือว่าไม่ใช่สันติวิธีใช่หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า รัฐเป็นองค์กรที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมการใช้ความรุนแรง หากไม่ทำก็หมดความชอบธรรม แต่จะต้องทำภายใต้กรอบของกฏหมายและต้องไม่เที่ยวไปไล่ล่าจับกุม กับคำถามต่อมาของพิธีกรที่ว่า แล้วอะไรคือเส้นแบ่งที่จะทำให้จับกุมได้ นายชัยวัฒน์กล่าวว่า เมื่อมีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net