ภาคประชาชนเสนอแนวปฏิบัติเรื่องการชุมนุมโดยสันติ

9 มีนาคม 2553ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันต้นกล้า, เครือข่ายพุทธิกา, เครือข่ายครอบครัว,คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ, กลุ่มเยาวชนศึกษาสันติวิธี, Thai Poet Society ร่วมกันออกเอกสารนำเสนอแนวทางสันติวิธีให้กับทั้งสามฝ่ายซึ่งได้แก่ ผู้ชุมนุม รัฐบาลและสาธารณะชน โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ประเด็นที่เสนอต่อสาธารณชนเรื่องการชุมนุมโดยสันติ

การชุมนุมโดยสันติและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของสาธารณชนด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมีอยู่สามฝ่ายคือ ผู้ชุมนุมเอง ฝ่ายรัฐผู้มีหน้าที่ดูแลการชุมนุม และสาธารณชนที่อาจได้รับผลกระทบ (ทั้งนี้ไม่รวมถึงฝ่ายอื่นที่อาจเข้ามาแทรกแซงหรือหันเหการชุมนุม) สองฝ่ายแรกล้วนประกาศว่าจะยึดมั่นในสันติวิธี ส่วนสาธารณชนเอง ก็ไม่น่าจะมีผู้ใดที่ประสงค์จะให้เกิดความรุนแรง ในทางตรงข้าม สาธารณชนอยากได้รับความมั่นใจจากสองฝ่ายแรกว่า ได้มีการเตรียมการที่ดีเพื่อป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งได้เตรียมมาตรการไว้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทันท่วงที หากมีความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี สาธารณชนยังอาจมีบทบาทที่จะช่วยให้การชุมนุมเป็นไปโดยสันติได้ด้วย
 

สาธารณชนในฐานะผู้เฝ้าดูที่รู้เท่าทัน 
การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคน การชุมนุมครั้งนี้เป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างรัฐบาล กับข้าราชการที่ทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาลฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายค้าน ร่วมกับ นปช. อีกฝ่ายหนึ่ง สาธารณชนคือผู้เฝ้าดูการแข่งขันทางการเมืองโดยเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญด้วย เพื่อให้รู้เท่าทันการแข่งขันทางการเมือง สาธารณชนพึงรู้เท่าทันกติกาการชุมนุมอย่างสันติ หมายความว่าสาธารณชนจะต้องสามารถแสดงออกหากมีความพยายามหรือมีการละเมิดกติกาเกิดขึ้น กฎหมายบ้านเมืองคือกติกาพื้นฐาน แต่ผู้ชมพึงเฝ้าดู เจตนาและพฤติกรรมของทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมมือกันป้องกันความรุนแรง มิใช่ต่างฝ่ายคอยแต่จะขอความเห็นใจและโทษอีกฝ่ายโดยหวังตบตาผู้ชม ในที่นี้ ขอเสนอข้อคิดเห็นบางประการประกอบการเฝ้าดูการชุมนุมเพื่อความรู้เท่าทันดังนี้

·         ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าเหนือทรัพย์สินหรือสิ่งอื่นใด
·         การใช้วาจายั่วยุให้เกิดความเกลียดชังจนถึงขั้นพร้อมทำร้ายผู้อื่นไม่ใช่สันติวิธีและน่าจะผิดกฎหมายด้วย
·         การควบคุมฝูงชนต้องมีระเบียบและขั้นตอนที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และใช้วิธีการตามกรอบของกฎหมายโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หากจำเป็นจึงใช้ความรุนแรงน้อยที่สุด เพียงเพื่อระงับความรุนแรงที่ร้ายแรงกว่าเท่านั้น 
 

สาธารณชนในฐานะผู้สื่อสารเพื่อป้องกันความรุนแรง 
ในระบอบประชาธิปไตย สาธารณชนควรมีการถกแถลงกัน (deliberation) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้ดี เมื่อมีการชุมนุมครั้งใหญ่ นอกเหนือจากการถกแถลงเพื่อชั่งน้ำหนักเหตุผลของแต่ละฝ่ายแล้ว สาธารณชนพึงถกแถลงว่าตนสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงได้อย่างไรหรือไม่ด้วย ในการนี้อาจเริ่มต้นที่ตนเองก่อน เช่น
·         ฝึกการมีสติและการรักษาระยะห่างทางอารมณ์
·         ฝึกการฟังและการไม่ด่วนตัดสิน
·         ฝึกขันติธรรมหรือความทนกันได้โดยเข้าใจว่าทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ต่างมีความเดือดเนื้อร้อนใจ ถึงเราอาจได้รับผลกระทบหรือมีความเดือดร้อนบ้าง ก็ควรมีความเห็นใจและอดทน มิใช่เห็นดีหรือเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงเพื่อให้เรื่องจบลงโดยไวโดยไม่นำพาการแก้ไขปัญหา ฯลฯ

สาธารณชนพึงแสดงออกว่าไม่ต้องการความรุนแรง โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น
·         ใช้อินเทอร์เน็ต (อีเมล์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องสันติวิธีและการชุมนุมโดยสงบ
·         ใช้การโทรศัพท์ หรือ เอสเอ็มเอส เข้าไปในรายการวิทยุและโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนการไม่ใช้ความรุนแรง
·         ใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่นการแต่งกายที่มีหลายสี เพื่อแสดงออกว่าไม่ยึดติดหรือคล้อยตามฝ่ายใดไปทั้งหมด หากรู้จักคิดอย่างรอบคอบและแยบคายบนฐานของการรับฟังข้อมูลที่หลากหลาย

สาธารณชนพึงสื่อสารถึง นปช. และฝ่ายรัฐ ทั้งโดยผ่านสื่อสารมวลชน หรือโดยปิดประกาศข้อความ ซึ่งอาจมีเนื้อหา เช่น
·         ชุมนุมไม่ว่า แต่อย่ารุนแรง
·         อย่าจัดม็อบชนม็อบ
·         ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่ แต่ไม่ใช่คู่กรณี
·         รัฐโปรดทำหน้าที่ อย่าให้มีความรุนแรง
 

สาธารณชนในฐานะผู้สื่อข่าวพลเมือง
คนย่อมไม่ยับยั้งชั่งใจที่จะทำบาปหากคิดว่าไม่มีผู้รู้เห็น แต่จะละอายต่อบาปมากขึ้นด้วยเกรงว่าจะเป็นที่รู้เห็นกันโดยทั่ว ในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ที่คิดจะก่อความรุนแรงหรือผู้ที่มีอารมณ์ร้อนแรงอาจยับยั้งชั่งใจหากมีผู้สื่อข่าวคอยจับตาดูอยู่ อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวมีจำนวนจำกัดและไม่อาจมีอยู่ทุกแห่งหนได้ อีกทั้งบางคนอาจเสนอข่าวด้านเดียวหรือเข้าข้าง  ซึ่งจะยั่วยุอารมณ์ยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น สื่อสารมวลชนควรเปิดพื้นที่ ให้สาธารณชนทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวพลเมือง คอยบันทึกเสียง และบันทึกภาพ เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ในหลายแง่มุม การมีผู้สื่อข่าวพลเมืองเป็นสักขีพยานจำนวนมาก จะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจ และจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงลงได้

 

                                                                                                     00000

 นอกจา่กนี้ ในวันที่ 10 มีนาคม เครือข่ายข้างต้น เสนอประเด็นต่อ นปช. เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล เรื่องการชุมนุมโดยสันติ ดังนี้ 
 
ประเด็นที่เสนอต่อ นปช. เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลเรื่องการชุมนุมโดยสันติ
 
 
ในการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๓ คาดกันว่าจะมีผู้เข้าชุมนุมเกินแสนคน การมีผู้คนจำนวนมากมาอยู่รวมกันเช่นนี้ แม้จะมีการเตรียมการที่ดี หรือใช้ความรอบคอบมากแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องไม่ประมาท เพราะเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต มิไยจะโทษฝ่ายใด ย่อมต้องเสียใจอยู่ดี ในที่นี้ขอเสนอข้อคิดเห็นบางประการต่อผู้นำ นปช. ในฐานะผู้จัดการชุมนุม และรัฐบาลในฐานะผู้สั่งการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้
 
ข้อคิดเห็นทั่วไป
·         คติที่อาจช่วยให้การชุมนุมเป็นไปโดยสันติคือ ไม่ประมาท มีสติ มิรุนแรง
·         ทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ชุมนุมพึง สมาทานศีล ซึ่งเป็นข้อตกลงทางใจ ต่อสาธารณะ (Public MOU) ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง
·         นปช. และรัฐบาลมีความขัดแย้งกันในหลายๆ เรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ต้องร่วมมือกันคือ การป้องกัน บรรเทา และระงับความรุนแรง ซึ่งทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบ
·         ในการร่วมมือกันดังกล่าว ต้องมีความจริงใจ ตลอดจนมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพและเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน
 
จัดให้มีระบบงานความร่วมมือ
ในการร่วมมือกันป้องกัน บรรเทา และระงับความรุนแรง รัฐบาลและ นปช. ควรวางระบบงานซึ่งอาจมีองค์ประกอบเบื้องต้น ดังนี้
·         จัดให้มีคณะทำงานของแต่ละฝ่าย ทำหน้าที่เหมือนเป็น “ทูต” ที่คอยสื่อสารให้รู้เขารู้เราตลอดเวลา ทั้งนี้ ในกิจการใดที่อาจเสี่ยงต่อความรุนแรง หรือในกิจการที่จะต้องร่วมกันป้องกัน บรรเทา และระงับความรุนแรง
·         คณะทำงานของแต่ละฝ่ายมีแผนงานป้องกัน บรรเทา และระงับความรุนแรง ซึ่งมีการสื่อสารให้ทราบล่วงหน้า หรือให้ทราบหากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ
·         คณะทำงานของแต่ละฝ่ายมีเครื่องมือสื่อสารถึงกันหลายช่องทาง ทั้งที่เป็นการสื่อสารถึงหลายบุคคลพร้อมกัน หรือการสื่อสารระหว่างบุคคลหรือคณะบุคคลโดยเฉพาะ เช่น โทรศัพท์ โทรสาร อินเทอร์เน็ต วอล์กกี-ทอล์กกี วิทยุสมัครเล่น ฯลฯ
·         คณะทำงานต้องสามารถสื่อสารถึงแกนนำหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ปฏิบัติงานได้เตรียมการและมีการฝึกฝนให้รับสถานการณ์ต่างๆ เท่าที่คาดคิดไว้ก่อนได้ รวมทั้งรับทราบและให้ความร่วมมือกันในภาคสนามโดยไม่เกิดความเข้าใจผิดด้วย
·         ผู้ปฏิบัติงานภาคสนามสามารถรายงานเหตุการณ์ที่อาจร้ายแรงหรือรุนแรงไปยังคณะทำงานได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถเข้าระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ชัดเจนล่วงหน้า (rule of engagement)
·         คณะทำงานสามารถติดต่อกับบุคคลหรือองค์กร ที่มีทักษะในการป้องกัน บรรเทา และระงับความรุนแรง หรือให้ความช่วยเหลือกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้น ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 
ข้อคิดเห็นต่อ นปช.
·         ผู้จัดชุมนุมและผู้ชุมนุมพึงสมาทานศีลต่อสาธารณะดังนี้ “ข้าพเจ้าจะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และจะไม่ก่อเหตุรุนแรงใดๆ”
·         การชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความเดือดร้อน ระคายเคืองต่อสาธารณชนไม่มากก็น้อย จึงควรมีการทำความเข้าใจต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และจำกัดขอบเขตมิให้เกิดความเดือดร้อนจนเกินไป หรือจนส่งผลให้เกิดการชุมนุมต่อต้าน
·         ถ้ามีการนำยานพาหนะจำนวนมากเข้ามาในเมือง ควรจัดสถานที่จอดอย่างเป็นระเบียบและไกลจากที่ชุมนุมพอสมควร
·         ควรมีผู้นำที่จะคอยดูแลผู้มาชุมนุมเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่หน่วยย่อยถึงหน่วยกลางกรณีที่ต้องกระจายตัวออกไป ต้องควบคุมหน่วยย่อยต่างๆ ให้รวมตัวกันไว้ โดยกำหนดจุดรวมตัวหน่วยย่อย และจุดรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ไว้ล่วงหน้า โดยไม่ให้มีการกระจายตัวแบบไร้การควบคุม
·         จัดให้มีระบบสื่อสารระหว่างผู้นำตามลำดับชั้น เช่นการสื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งระบบสื่อสารที่เข้าถึงผู้ชุมนุมจำนวนมากหรือทุกคน นอกเหนือจากเวทีปราศรัยใหญ่ เช่น มีเวทีปราศรัยย่อย การสื่อสารผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
 
ข้อคิดเห็นต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
·         เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่คู่กรณี หากมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและจริยธรรม
·         เจ้าหน้าที่รัฐพึงสมาทานศีลต่อสาธารณะดังนี้ “ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ป้องกันระงับและบรรเทาความรุนแรง อย่างมีสติและตามกฎหมาย”
·         เจ้าหน้าที่รัฐพึงศึกษากฎเกณฑ์การปฏิบัติการในการควบคุมฝูงชนอย่างมีระเบียบเป็นขั้นตอนในกรอบของกฎหมายโดยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง หากจำเป็นจึงใช้ความรุนแรงน้อยที่สุด เพียงเพื่อระงับความรุนแรงที่ร้ายแรงกว่าเท่านั้น
 
ข้อคิดเห็นต่อรัฐบาล
·         รัฐบาลพึงสมาทานศีลต่อสาธารณะดังนี้ “ข้าพเจ้าจะสั่งการต่อเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความรับผิดชอบ โดยมุ่งมิให้เกิดความรุนแรงใด ๆ”
·         รัฐบาลพึงใช้สื่อด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดอารมณ์รุนแรงจนอาจเกิดการชุมนุมต้านการชุมนุมที่ควบคุมได้ยาก
·         รัฐบาลพึงอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมตามสมควร เช่นจัดสถานที่จอดรถ จัดสถานที่ชุมนุมเพื่อมิให้มีการแตกกระจายการชุมนุม ซึ่งจะควบคุมยาก
·         รัฐบาลพึงใช้กฎหมายความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้งโดยการประกาศภาวะฉุกเฉิน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท