Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวใกล้เวลาการชุมนุมใหญ่ของนปช. เป้าหมายเพื่อต้องการสื่อสารกับคนกรุงเทพว่า พลังเงียบไม่ควรออกมาชุมนุมร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะขาดความชอบธรรมใน 7 ประการ การแถลงข่าวนี้เกิดขึ้นที่พรรคประชาธิปัตย์ จึงสะท้อนจุดยืนร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อการแถลงข่าวดังต่อไปนี้

 

1. ข้ออ้างในเรื่องการชุมนุมไม่มีความปลอดภัย

การชุมนุมโดยตัวของมันเองไม่ได้ทำให้เกิดอันตราย แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง แกนนำมีหน้าที่ป้องกันให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ แต่รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิ ตลอดชนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่มีเงื่อนไข และโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาโยนความรับผิดชอบให้ รัฐบาลไม่สามารถออกตัวว่าจะไม่รับรองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนด้วยข้ออ้างใดๆ การที่สส. บุญยอด ยกทฤษฎี “จับแพะชนแกะ” โดยอ้างคำพูด พล.ต. ขัตติยะ หรือเสธ. แดง ว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย ไม่ช่วยให้รัฐบาลดูดี หรือพ้นจากความรับผิดชอบไปได้ เพราะแกนนำนปช. ปฏิเสธหลายครั้งแล้วว่า พล.ต. ขัตติยะ ไม่ใช่แกนนำนปช. คำพูดของเสธ. แดง ถือเป็นความรับผิดชอบของเสธ. แดง และไม่ถือว่าเป็นมติของนปช. หากรัฐบาลเห็นว่าคำพูดของเสธ.แดงอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ รัฐบาลมีหน้าที่ยับยั้งความรุนแรง แต่ทำไมรัฐบาลกลับเพิกเฉย และใช้คำพูดของเสธ. แดงเป็นข้ออ้างว่าการชุมนุมจะไม่ปลอดภัย

 

2. ข้ออ้างในเรื่องไม่มีผู้นำที่ชัดเจน

นปช. มีแกนนำที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้น รัฐบาลก็คงไม่สามารถขึ้นบัญชีดำแกนนำดังที่รัฐบาลได้ทำ แต่การจัดรูปองค์กรที่เน้นกระจายอำนาจมากขึ้น ทำให้การนำไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่คนเพียงสองสามคน และทำให้มีผู้ที่พร้อมจะขึ้นมาเป็นแกนนำ ในกรณีที่แกนนำเดิมถูกจับ เพื่อให้การชุมนุมเดินต่อไปได้ นี่ต่างหากคือสิ่งที่รัฐบาลกลัว รัฐบาลมักจะหยิบยกตัวอย่างกรณีที่มีคนขนรถแก๊สมาข่มขู่ประชาชนชาวแฟลตดินแดง และการยึดรถเมล์มาเผาว่า เป็นฝีมือของคนเสื้อแดงที่ต้องการสร้างความรุงแรงในเหตุการณ์ตุลาเลือด แกนนำคนเสื้อแดงปฏิเสธหลายครั้งว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ฝีมือคนเสื้อแดง และเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาล ในเมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน ทำไมรัฐบาลจึงเพิกเฉย ไม่พยายามพิสูจน์และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในขณะที่รัฐบาลไม่เร่งหาตัวผู้กระทำผิด ทำไมรัฐบาลจึงยกเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมากล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่าเป็นฝีมือของเสื้อแดง คำพูดที่ปราศจากการพิสูจน์ต่างหากที่เป็นการยั่วยุและกระตุ้นให้เกิดความโกรธแค้นอันเป็นเงื่อนไขให้เกิดการตอบโต้และความรุนแรง

 

3. ข้ออ้างในเรื่องไม่มีจุดยืนในการเรียกร้อง

เดิมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และแนวร่วมสร้างความเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมีจุดยืน “สู้เพื่อทักษิณ” คนเดียว เมื่อคนเสื้อแดงได้ยกระดับการต่อสู้ให้ “ไกลไปกว่า” การสู้เพื่อทักษิณ รัฐบาลกลับบอกว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไม่มีจุดยืน ในสังคมประชาธิปไตย การรวมตัวกันของคนจำนวนมากที่ไม่พอใจสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองหลายๆ อย่าง สามารถมีเป้าหมายร่วม และเป้าหมายที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ จุดยืนในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ที่เหมือนและแตกต่างกันในบางเรื่องจึงเป็นเรื่องปกติ การเคลื่อนไหวที่ยกระดับให้ไกลไปกว่าการสู้เพื่อทักษิณนี่เอง คือเหตุผลที่ทำให้ขบวนการคนเสื้อแดงเติบโต และมีพลังที่จะบ่อนเซาะอำนาจเผด็จการจากรูรั่วจากหลายด้านพร้อมกัน แต่รัฐบาลและฝ่ายอำมาตย์กลับบิดเบือนว่าการต่อสู้เพื่อเป้าหมายร่วมหลายประการ เป็นการเรียกร้องที่ไร้จุดยืน

 

4. ข้ออ้างในเรื่องหากเข้าร่วมการชุมนุมแล้ว จะไม่ได้ข้อเท็จจริง

ข้ออ้างของรัฐบาลที่ว่า การเข้าร่วมชุมนุมจะไม่ได้ข้อเท็จจริง เพราะมีการปล่อยข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลุกระดม รัฐบาลอ้างว่าหากต้องการทราบข่าวที่แท้จริง ประชาชนควรติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ อยู่ที่บ้านมากกว่า การพูดเช่นนี้คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการพูดแบบ “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น”  ทำให้ดูเหมือนกับว่า รัฐบาลไม่เคยมีส่วนใดๆ ในกระบวนการปล่อยข่าวลือ สร้างข่าวลวง หรือปลุกระดมให้เกิดความกลัวเกลียดชังคนเสื้อแดงที่เป็นไปอย่างอึกทึกในทุกวันนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว การโหมกระแสโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอำมาตย์ที่ครอบงำสื่อ และใช้สื่อสร้างกระแสความแตกแยกเกลียดชังให้กับคนในชาตินั้น กระทั่งคนที่ไม่เหลืองไม่แดง ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกอึดอัดกับ การพูดแบบ “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” อย่างต่อเนื่องเป็นการละเมิดจริยธรรมของนักสื่อสารมวลชนที่ดี เป็นการฆาตกรรมความจริงขั้นที่หนึ่ง เพื่อปูทางให้กับการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม การที่รัฐบาลห้ามไม่ให้คนเข้าร่วมผู้ชุมนุมเพราะกลัวจะรู้ความจริงอีกด้านหนึ่ง จึงเป็นการฆาตกรรมความจริงขั้นที่สอง ซึ่งตอกย้ำความไม่เป็นประชาธิปไตยของสังคมมากขึ้นไปอีก พฤติกรรมเช่นนี้ต่างหากคือเงื่อนไขที่สร้างความแตกแยกและความรุนแรง

 

5. ข้ออ้างในเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯอีกได้

หากยังจำกันได้ เดิมทีการชุมนุมกำหนดว่าจะมีขึ้นก่อนก่อนการตัดสินพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แต่ตอนนั้นรัฐบาลโหมกระแสผ่านสื่อกระแสหลักว่า การชุมนุมก่อนการยึดทรัพย์ มีเป้าหมายเพื่อกดดันการตัดสินของศาล การชุมนุมจึงถูกเลื่อนออกไปเป็นหลังการตัดสินยึดทรัพย์ แต่รัฐบาลกลับบอกว่าการชุมนุมหลังการตัดสินยึดทรัพย์ไร้ความหมาย เพราะไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาล การให้เหตุผลของรัฐบาล จึงเป็นการอ้างทฤษฎี “หมาป่ากับลูกแกะ” โดยแท้ การเลื่อนเวลาในการชุมนุมเป็นหลังการตัดสินยึดทรัพย์เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า คนเสื้อแดงก้าวไปไกลกว่าทักษิณแล้ว ทว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์กลับยึดติดกับทักษิณ และจมปลักอยู่กับการสร้าง “ผีทักษิณ” ขึ้นมาหลอกสังคมอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ข้ออ้างว่าการชุมนุมไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถช่วยทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ จึงเป็นเพียงการใช้จิตวิทยามวลชน เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความชอบธรรมในการชุมนุมเท่านั้น

 

6. ข้ออ้างในเรื่องการชุมนุมจะไม่มีโอกาสชนะ เพราะทางรัฐบาลได้มีการประสานกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกด้าน

การชุมนุมโดยตัวของมันเองไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ไม่ได้มีตัวช่วยเหมือนการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง แต่คุณค่าของการชุมนุม ขึ้นอยู่กับใครจะนิยามคำว่า “แพ้” และ “ชนะ” อย่างไร บางคนบอกว่า แค่ออกมาชุมนุมมือเปล่ากันเป็นล้าน และกลับไปมือเปล่า โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ถือเป็นชัยชนะแล้ว เพราะการชุมนุมเป็นการยืนยันถึงสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และเป็นการใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การที่รัฐบาลเอาเรื่องชัยชนะในการชุมนุมไปผูกติดกับการ “ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง” สะท้อนจุดยืนที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลกำลังสร้างมาตรฐานขึ้นมาใหม่ว่า ใครถืออาวุธ คนนั้นมีชัยชนะในสังคมไทย

 

7. ข้ออ้างในเรื่องเป็นการชุมนุมที่ไม่มีอารยธรรม

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ข้ออ้างในเรื่อง “การขับถ่ายของเสียในที่สาธารณะ” เพื่อห้ามไม่ให้ประชาชนมาชุมนุม รัฐบาลอ้างคำพูดประชดประชันของคนๆ หนึ่งว่า ถ้ารัฐบาลไม่จัดที่ๆ เหมาะสมให้ ก็จะถ่ายของเสียในที่สาธารณะ บอกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไร้อารยะธรรม ขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม แทนที่รัฐบาลจะถามตัวเองว่า ทำไมรัฐบาลไม่จัดหาส้วมสาธารณะให้เพียงพอ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างอารยะ รัฐบาลกลับเพิกเฉยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม การใช้ข้ออ้างในเรื่อง “ขี้ไม่ถูกที่” เพื่อห้ามไม่ให้คนมาชุมนุม แสดงความไร้วุฒิภาวะของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ไม่น่าแปลกเลยว่าทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงถูกประชาชนต่อต้านด้วย “ขี้” มาโดยตลอด ประวัติศาสตร์คงต้องจารึกไว้ว่า “ขี้” ได้กลายเป็นอาวุธของผู้ด้อยอำนาจในสังคมไทย ที่ใช้ตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่อารยชนจอมปลอม แต่ไร้มนุษยธรรมและความยุติธรรมเฟื่องฟู เฉกเช่นเดียวกับ “รองเท้า” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของประชาชนพม่าต่อรัฐบาลเผด็จการ  

 

 

หมายเหตุ  จากบทความเดิมชือ"สงครามข่าวสารกับนักแสดงที่ไม่สมบทบาท"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net