Skip to main content
sharethis
 

การลดระดับลงของแม่น้ำโขงจนถึงขั้นวิกฤตในระยะ 1-2 เดือนมานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศท้ายน้ำ ทั้งไทย ลาว กัมพูชาต่างได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า ทั้งด้านการเดินเรือค้าขาย การทำประมง การอุปโภคบริโภค รวมทั้งการเกษตรกรรม

 
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สื่อหลายสำนักทั้งไทยและเทศรายงานไปในทำนองเดียวกันว่า เกิดจากจีนปิดเขื่อน ซึ่งเป็นผลมาจากความแห้งแล้งอย่างหนักในมณฑลยูนนาน ที่แห้งแล้งที่สุดในรอบ 60 ปี ดังนั้นการปิดเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ทั้งเพื่อการหล่อเลี้ยงตัวเขื่อนและการผลิตกระแสไฟฟ้าของจีนจึงนำมาซึ่งการเกิดวิกฤตการณ์น้ำโขงแห้งแล้งในประเทศท้ายน้ำอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
 
อย่างประเทศไทยเองนั้น ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมานี้พบว่า น้ำโขงมีระดับอยู่ที่ 0.37 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี จากสายน้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนนับล้านใน 6 ประเทศ ทว่าวันนี้กลับแห้งขอด ผู้คนริมโขงกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ดังนั้นวิกฤตน้ำโขงที่เกิดขึ้น นาทีนี้จึงกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมกันหาทางออก
 
จากธิเบตสู่ทะเลจีนใต้
 แม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดมาจากทิวเขาทังกลาชานของเทือกเขาหิมาลัยในประเทศธิเบต ไหลผ่านจีนแผ่นดินใหญ่แถบมณฑลยูนนาน ผ่านพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม มีความยาวตลอดลำน้ำกว่า 4,800 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 795,000 ตารางกิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำนานาชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในทวีปเอเชีย การที่แม่น้ำโขงคือถิ่นกำเนิดและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก นักชีววิทยาได้ประมาณการว่า ตลอดลำน้ำโขงนั้นมีพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 1,000 ชนิด จนแม่น้ำสายนี้ถูกจัดให้เป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย และอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับ 3 ของโลก รองลงมาจากแม่น้ำอะเมซอนและแม่น้ำแซร์
 
ที่ผ่านมานั้น แม่น้ำโขง นับว่าเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ปลอดภัยจากการพัฒนาทำให้แม่น้ำโขงเอื้ออำนวยต่อแบบแผนการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำตอนใต้ตั้งแต่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำลงมามีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 50 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้วิถีแห่งการดำเนินชีวิตของชุมชนดังกล่าวนั้นมีความสอดคล้องและพึ่งพากับแม่น้ำโขงอย่างได้สมดุล รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงนั้นก็ได้มีชีวิตอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้
           
ลำน้ำโขงกับคนริมโขง
สำหรับประเทศไทย เขต อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย ที่เป็นพรมแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นพื้นที่แรกที่แม่น้ำโขงเริ่มไหลเข้าสู่เขตประเทศไทย นับว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเช่นเดียวกับชุมชนริมน้ำโขงในเขต จ.หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี
 
ชุมชนริมน้ำโขงเหล่านี้ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันกับลำน้ำโขงมาช้านาน วิถีความสัมพันธ์ดังกล่าวแสดงออกมาในรูปของประเพณี เช่น พิธีกรรมการสืบชะตาลำน้ำโขง การบวงสรวงปลาบึก รวมทั้งการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพประมงในแม่น้ำโขง การทำการเกษตรริมน้ำโขง การเก็บสาหร่ายไกริมลำน้ำโขง เป็นต้น วิถีการดำรงอยู่ที่แสดงออกมาในรูปของวิถีชีวิต ประเพณี รวมทั้งการประกอบอาชีพเหล่านี้ กลายเป็นระบบความพันสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตชุมชนกับลำน้ำโขงที่ดำเนินไปอย่างพึ่งพาอาศัยและสมดุล
 
ทว่า ในระยะไม่กี่ปีมานี้ แม่น้ำโขงกำลังถูกกระแสแห่งการพัฒนาโหมกระหน่ำเข้าใส่อย่างหนักหน่วง ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นบนแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงเพื่อการผลิตพลังงานและการชลประทาน โดยเฉพาะในเขตจีนที่มีกว่า 10 เขื่อน การระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำเพื่อการเดินเรือพานิช รวมทั้งการขยายตัวของท่าเรือที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็น เป็นต้น โครงการเหล่านี้นำมาซึ่งผลกระทบต่อชุมชนริมน้ำโขงทั้งสิ้น
 
เมื่อเขื่อนกั้นลำโขง
แม้ว่า ประเด็นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จะเป็นประเด็นถกเถียงไปทั่วโลก และมีการยอมรับกันว่า ที่ผ่านมา เขื่อนขนาดใหญ่เป็นนวัตกรรมที่สร้างความหายนะให้กับมนุษยชาติในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะในแง่ของการเปลี่ยนระบบนิเวศน์ของลำน้ำ และของผู้คนที่มีวิถีชีวิตในการอาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิต
 
อย่างไรก็ตาม จีนกลับเป็นประเทศหนึ่งที่ยังมุ่งหน้าสร้างเขื่อน ด้วยเหตุผลทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาจีนมีแผนสร้างเขื่อนจำนวน 8 เขื่อนในตอนบนของแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เขื่อนม่านวาน (Manwan) สร้างเสร็จเป็นเขื่อนแรกเมื่อปี 2539 ในปีเดียวกันนั้น ได้เริ่มสร้างเขื่อนดาเชาชาน (Dachaochan) ถัดมาในปี 2544 รัฐบาลยูนนานสร้างเขื่อนเซียววาน (Xiaowan) รวมทั้งเขื่อนจิงฮอง (Jinghong) ขึ้นมาอีก สำหรับเขื่อนอื่นๆ อยู่ในระหว่างการวางแผน เช่น เขื่อนนัวซาดู (Nuozhadu) เขื่อนกองกัวเคียว (Gongguoqiao) เขื่อนกันลันบา (Ganlanba) และเขื่อนเมงซอง (Mengsong)
 
ในการดำเนินการสร้างเขื่อนทั้งหมดนี้ แม้รัฐบาลจีน โดยธนาคารพัฒนาจีน (China Development Bank : CDB) จะดำเนินการหาเงินเพื่อสร้างเขื่อน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนในหลายด้านจากหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีการสร้างเขื่อนจิงฮองขนาด 1,500 เมกกะวัตต์ รัฐบาลไทยและจีนทำสัญญาร่วมกันในการก่อสร้าง และกำลังต่อรองกันเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนนัวซาดูอีกด้วย ขณะที่บริษัทจากอเมริกาก็มีส่วนในการระดมทุนในการสร้างในบางเขื่อน รวมทั้งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็ให้เงินกู้เพื่อสร้างสายส่งไฟฟ้าของเขื่อนนาเชาชาน ดังนั้นจะเห็นว่าในการดำเนินการสร้างเขื่อนต่างๆ ในจีนนั้น นานาชาติมีบทบาทอย่างสูงในการให้การสนับสนุนในหลายๆ ด้าน
 
กิจกรรมบนลำน้ำโขง กับบทบาท MRC
ที่ผ่านมา แม้การบริหารจัดการแม่น้ำโขง มีการตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission : MRC) ขึ้นมา โดยประเทศท้ายน้ำทั้งพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งภายใต้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงนั้น ประเทศสมาชิกได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง และมีข้อตกลงในการบริหารจัดการในทรัพยากรน้ำร่วมกัน แต่ทว่าประเทศต้นน้ำที่สามารถกำหนดการไหลของลำน้ำโขงอย่างจีน มิได้เป็นสมาชิกของ MRC แต่อย่างใด
 
ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของจีนต่อลำน้ำโขงจึงสามารถดำเนินการได้ตามอำเภอใจ ทั้งการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำโขง กิจกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งโขงอย่างมหาศาล และแน่นอนว่าประเทศท้ายน้ำก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่างๆ เหล่านั้นได้ ร้ายไปกว่านั้น บทบาทของ MRC เองก็ดูเหมือนว่ามิได้ทักท้วง หรือติติงใดๆ ต่อการดำเนินกิจกรรมของจีน แม้กระทั่งรัฐบาลไทยเองก็ตาม
 
และที่ตลกร้ายไปกว่านั้น ปัจจุบันประเทศท้ายน้ำ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิก MRC เองก็ยังมีแนวคิดสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงตอนล่างจำนวน 9 เขื่อนขึ้นมาอีก อาทิ เขื่อนปากแบ่ง ใน สปป.ลาว ,เขื่อนหลวงพระบาง ใน สปป.ลาว ,เขื่อนไชยะบุรี ใน สปป.ลาว ,เขื่อนซำบอ ในกัมพูชา รวมทั้งเขื่อนปากชม และเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งกั้นน้ำโขงระหว่างไทย - สปป.ลาว ด้วย
 
ดังนั้น จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งการขาดทิศทางที่ชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำโขง การมุ่งเน้นการสร้างเขื่อนที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดโดยอ้างประเด็นพลังงาน การเห็นแก่ผลประโยชน์เพียงลำพังของจีน เหล่านี้จึงนำมาซึ่งวิกฤตของระดับน้ำในลำน้ำโขงอย่างเลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่เกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นชุมชนในเขตลุ่มน้ำโขง
 
สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเองไม่ได้แสดงจุดยืนหรือหาทางออกในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เครือข่ายภาคประชาชนจำนวนมากกลับตื่นตัว และเร่งรัดให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ อย่างเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ,โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ,โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ,กลุ่มรักษ์เชียงของ ,กลุ่มฮักน้ำของ จ.อุบลราชธานี ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ ที่ระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2553 จนถึงขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงผิดปกติจนอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งมีระดับใกล้เคียงกับระดับน้ำโขงในช่วงเดียวกันของปี 2536 อันเป็นที่ที่เขื่อนม่านวาน ได้เริ่มเก็บกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และจากข้อมูลระดับแม่น้ำโขงที่เผยแพร่โดย MRC ของวันที่ 22 ก.พ. 2553 ที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับน้ำต่ำกว่านี้อีกในช่วงต่อไป  
 
ระดับน้ำที่ต่ำผิดปกติในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการหาปลา การสัญจรทางน้ำ และน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย และนับตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา เรือโดยสารขนาดใหญ่ระหว่างห้วยทราย-หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว ต้องหยุดเดินเรือ
           
เครือข่ายฯ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย ต้องให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ต่อการพัฒนาบนแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนในประเทศจีน เนื่องจากได้สร้างผลกระทบด้านท้ายน้ำมาตั้งแต่ปี 2536 ทั้งในฤดูแล้งและในฤดูฝน ดังเช่นสถานการณ์น้ำท่วมในฤดูฝนเดือน ส.ค. 2551
 
เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีท่าทีที่ชัดเจนต่อรัฐบาลจีน ในอันที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไทยที่อาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำ โดยในระยะเฉพาะหน้านี้ และต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการกักเก็บน้ำของเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน และประสานงานกับรัฐบาลประเทศในลุ่มน้ำโขง รวมทั้งการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงตั้งแต่ จ.เชียงราย ไปจนถึง จ.อุบลราชธานี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
 
ขณะที่นิวัตร ร้อยแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา กล่าวว่า ปัญหาเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนนั้นเกิดมาตั้งแต่ปี 2539 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงคือการขึ้นลงของน้ำไม่ปกติ มีผลต่อคนหาปลา ปัญหาต่อตลิ่งที่พัง และในปี 2546 เป็นปีที่แล้งมาก หลังจากนั้นเมื่อเขื่อนจิงฮองสร้างขึ้นจึงเป็นข้อวิตกกังวลว่า จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงขึ้น แล้วก็เกิดขึ้นจริง เราสรุปได้ว่าสาเหตุนั้นมาจากการสร้างเขื่อนในจีน
 
มิติ ยาประสิทธิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มรักเชียงแสน  กล่าวว่า สถานการณ์น้ำโขงแห้งนั้น ปกติเกิดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว แต่ในปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าทุกปีเป็นอย่างมาก ทั้งยังส่งผลให้ลำน้ำสาขา อย่างลำน้ำอิง ลำน้ำคำแห้งขอดไปด้วย และส่งผลกระทบไปถึงชาวประมงในลุ่มน้ำโขงที่ต้องมีปัญหาในการเดินเรือ เพราะน้ำในแม่น้ำบางจุดเหลือระดับแค่เป็นทางน้ำเล็กๆ เท่านั้น ขณะที่ผลกระทบด้านการเกษตรก็เช่นเดียวกัน ชาวบ้านเจอปัญหาความแห้งแล้ง จึงต้องสูบน้ำมารดซึ่งก็ต้องเพิ่มต้นทุนเรื่องน้ำมันขึ้นไปอีก
 
"เรื่องนี้เป็นผลจากเขื่อนจีนแน่นอน เพราะระดับน้ำจะเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับการเปิดปิดประตูเขื่อน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการศึกษากันแล้วและได้ข้อสรุปว่าเขื่อนทำให้น้ำไหลช้า มีผลต่อการพัดพาตะกอนทำให้เกิดสันดอนทรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างแม่น้ำโขงบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสนตอนนี้ผืนทรายโผล่ขึ้นมาทำให้ฝั่งลาวเข้ามาอยู่ใกล้ๆนี่เอง" มิติ กล่าวทิ้งท้าย.
 
 
 
ข้อมูลประกอบการเขียน
- โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (Project for Ecological Recovery : PER)
- โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (Towards Ecological Recovery and Regional Alliance : TERRA)
- www.mekonglover.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net