Skip to main content
sharethis

กลุ่มเมืองลา NDAA ผุด 6 เงื่อนไขต่อรองพม่า เลี่ยงตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน
(SHAN 4 มี.ค.53) - กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ยื่นเงื่อนไข 6 ข้อ ต่อรองรัฐบาลทหารพม่า เลี่ยงจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน หลังถูกทัพพม่าเร่งเดินเครื่อง ชี้กำหนดเส้นตายสิ้นสุดแล้ว

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 -28 ก.พ. ที่ผ่านมา กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่เมืองลา เมืองหลวงเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของ NDAA หารือกันถึงการเตรียมยื่นเงื่อนไขต่อรองรัฐบาลทหารพม่า กรณีที่ถูกยื่นข้อเสนอให้จัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน Border Guard Force -BGF ในการประชุมหารือของ NDAA ซึ่งมีเจ้าจายลืน หรือ หลินหมิ่งเสียน ผู้นำสูงสุดเข้าร่วมด้วย ได้ข้อสรุป 6 ข้อ คือ 1.NDAA ยังไม่พร้อมที่จะรับเจ้าหน้าที่ทหารพม่าเข้าประจำในหน่วยกำลังพล 2.ขอให้กองทัพพม่าเปิดการฝึกอบรมด้านการทหารให้แก่ NDAA เฉพาะในพื้นที่ NDAA 3.ขอให้เจ้าหน้าที่ NDAA ที่มีอายุเกินกว่า 50 ปี สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ 4.ขอให้กำหนดเขตพื้นที่เมืองสะลือ และ น้ำปาน อยู่ในเขตครอบครองของ NDAA ต่อไป (รัฐบาลพม่าพยายามกำหนดเขตเมืองสะลือ และ น้ำปาน อยู่ในเขตเมืองยาง พื้นที่ครอบครองของทหารพม่า) 5.NDAA ยังไม่พร้อมที่จะให้ทางการพม่าเข้าไปจัดตั้งสำนักงานในพื้นที่ และ 6. NDAA ขอยึดกฎระเบียบการบริหารทั้งการปกครองและการทหารตามเดิม

ทั้งนี้ เงื่อนไขของ NDAA 6 ข้อดังกล่าว ถูกส่งให้กับรัฐบาลทหารพม่าในวันที่ 28 ก.พ. หลังการประชุมแล้วเสร็จ โดยถ้อยคำในจดหมายเงื่อนไขได้ระบุด้วยว่า กลุ่ม NDAA ไม่มีแนวคิดที่จะแยกตัว และยังคงยึดหลักการระบบ 1 ประเทศ 1 กองทัพอยู่
การประชุมของ NDAA มีขึ้น หลังจาก เจ้าซางเป่อ เลขาที่ 1 เจ้าส่างหลู่ เลขาที่ 2 ของ NDAA พร้อมด้วยคณะ เดินทางไปเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก ตามคำเชิญของพล.ต.จ่อเพียว แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ซึ่งได้พบปะหารือกัึนกับ พ.อ.ตานทุตเต็ง ผู้อำนวยการสำนักงาน จี 1 โดย พ.อ.ตานทุตเต็ง ได้กล่าวกับคณะตัวแทนของ NDAA ว่า ระยะเวลาการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน ตามที่กำหนดไว้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ได้สิ้นสุดแล้ว โดยขอให้ NDAA เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นเขาได้กำหนดทางเลือกให้กับ NDAA 3 ข้อ คือ 1. จัดตั้งเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน 2.วางอาวุธ และ 3.ยอมเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารพม่าได้ยื่นข้อเสนอให้ NDAA คัดเจ้าหน้าที่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปให้ลาเกษียณทั้งหมด โดยทางรัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้คนละ 3 หมื่นจั๊ต อีกทั้งเสนอว่า กองทัพพม่าจะเปิดการอบรมให้แก่นายทหารชั้นผู้น้อยของ NDAA ที่เมืองเชียงตุง ส่วนนายทหารชั้นใหญ่จะส่งไปฝึกที่เมืองป๊ะทู เขตเมืองลอกจอก ซึ่งเป็นค่ายฝึกทหารใหญ่สุดในรัฐฉาน นอกจากนี้ ทางการพม่ายังเสนอที่จะเข้าไปตั้งสำนักงานบริหารต่างๆ ในเขตปกครองของ NDAA ด้วย

พม่ายึดที่ดินนับพันเอเคอร์ สร้างทางรถไฟเมืองนาย – เชียงตุง
(SHAN 4 มี.ค. 53) – ทางการพม่ายึดที่ดินในเมืองเชียงตุงนับพันเอเคอร์ ทั้งของสาธารณะและไร่นาชาวบ้าน ใช้เป็นพื้นที่สร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมภาคใต้ – ภาคตะวันออกของรัฐฉาน ด้านชาวบ้านเจ้าของที่ไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ

แหล่งข่าวชาวเมืองเชียงตุงแจ้งว่า มีที่ดินจำนวนมากทั้งของสาธารณะและเป็นไร่นาชาวบ้าน ซึ่งประมาณการหลายพันเอเคอร์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทางการพม่ายึด เพื่อใช้เป็นพื้นที่โครงการสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก และเมืองนาย รัฐฉานภาคใต้พื้นที่ที่ถูกยึดส่วนใหญ่อยู่ในตำบลเก็งพอง, นาคำ, และเชียงคำ ซึ่งชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้รับการชดเชยแต่อย่างใด มีเพียงผู้ที่กล้าแสดงตัวไปติดต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่พอได้รับเงินชดเชยบ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่กล้าไปติดต่อเนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาพม่าได้

ก่อนหน้านี้สื่อของรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า ทางการมีโครงสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉาน เชื่อมจากเส้นทางเดิมเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่เส้นทางเมืองน้ำจ๋าง – เมืองสี่ป้อ (ภาคใต้สู่ภาคเหนือ) ระยะทางประมาณ 250 กม. / เมืองน้ำจ๋าง – เมืองเชียงตุง (ภาคใต้สู่ภาคตะวันออก) ระยะทางประมาณ 330 กม. และเมืองล่าเสี้ยว – เมืองหมู่แจ้ (รัฐฉานภาคเหนือ) รวมระยะทางราว 170 กม. ทั้งนี้ ทางการพม่าอ้างว่าสร้างเพื่อใช้ขนส่งมวลชนและการพาณิชย์

สำหรับโครงการเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองนาย – เชียงตุง มีกำหนดผ่าน เมืองลางเคอ, เมืองปั่น, (รัฐฉานภาคใต้) เมืองโต๋น, เมืองสาด, เมืองโก๊ก, และเมืองพยาก (รัฐฉานภาคตะวันออก)

มีรายงานว่า ขณะนี้ทางการพม่าได้ลงมือดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานี้รถไฟสายนี้แล้ว อยู่ระหว่างตำบลเก็งพอง – นาคำของเมืองเชียงตุง ไม่ไกลจากมหาวิทยาวิทยาลัยของเมืองเชียงตุงมากนัก โดยมี นายจายติ๊บ นักธุรกิจในท้องที่ เป็นผู้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยวัสดุส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไทย

นอกจากนี้ ทางการพม่ากำลังเตรียมสร้างสะพานเส้นทางรถไฟ ข้ามแม่น้ำสาละวิน ใกล้กับสะพานท่าซาง อยู่ระหว่างเมืองโต๋น – เมืองปั่น เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมเส้นทางรถไฟสายเมืองนาย – เชียงตุง อีกด้วย

ไม่นานก่อนหน้านี้ หนังสือนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลทหารพม่า รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.ท.มินอ่องหล่าย รมต.กลาโหมของพม่า ได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่เมืองเชียงตุง ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟในรัฐฉานของทางการพม่า ได้ถูกนักวิเคราะห์มองว่า มีเป้าหมายเพื่อใช้ในด้านการทหารมากกว่าการพาณิชย์ โดยให้สังเกตุได้จากรถไฟในรัฐฉานปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้ในด้านการทหารมากกว่าการขนส่ง มวลชนและการค้า

จีนส่งทหารตรึงชายแดนรัฐฉาน เตรียมรับศึกพม่า–ว้า UWSA
(SHAN 3 มี.ค. 53) – ทหารพม่าและกลุ่มหยุดยิงว้า UWSA ยังคงมีการเสริมกำลังเผชิญหน้ากันต่อเนื่อง ขณะที่จีนไม่นิ่งนอนใจสถานการณ์ ส่งทหารร่วม 2 พันนาย ตรึงชายแดนรัฐฉาน เตรียมรับมือ

มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 27 -28 ก.พ. เป็นต้นมา กองกำลังว้า UWSA ได้มีการเสริมกำลังทหารตามเขตรอยต่อพื้นที่ครอบครองของตนกับทหารพม่า ทั้งทางด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ เช่น หัวป่าง ป่างโหลง เมืองมังแสง และเมืองป๊อก เมืองแผน อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีคำสั่งว่า หากมีทหารพม่ารุกล้ำเข้าเขตพื้นที่ว้าเกิน 10 วา ให้ยิงได้ทันที

การเสริมกำลังของกองกำลังว้า UWSA มีขึ้นหลังจากทหารพม่าเสริมกำลังเข้ารัฐฉาน ในพื้นที่ทางภาคกลางและพื้นที่อยู่ตรงข้ามเขตครอบครองว้า 2 กองพล คือ กองพลที่ 33 และ 55 เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากมีการเสริมกำลังพลของทหารพม่าและกองกำลังว้า UWSA ทำให้จีนซึ่งมีชายแดนติดกับเขตปกครองว้า (รัฐฉาน) ไม่นิ่งนอนใจในสถานการณ์ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กองกำลังปลดปล่อยประชาชนจีน ได้เสริมกำลังทหารไปประจำเมืองแลม (ฝั่งจีน) ตรงข้ามเมืองปางซาง เขตปกครองว้า กว่า 1 พันนาย ก่อนหน้านี้ เมืองแลม มีทหารจีนประจำอยู่เพียงไม่กี่ร้อยนาย ปัจจุบันเพิ่มจำนวนกว่า 2 พันนาย พร้อมกับมีการติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานไว้ด้วย

ปัจจุบัน พื้นที่ตรงข้ามเขตปกครองว้า มีกำลังทหารพม่าประจำอยู่รวม 3 กองพล ได้แก่ กองพลที่ 99 และ 33 อยู่ในพื้นที่หัวป่าง ป่างโหลง อยู่ทางด้านเหนือ และกองพลที่ 55 ประจำในพื้นที่เมืองมังแสง อยู่ทางด้านตะวันตก ส่วนด้านใต้มีกำลังทหารพม่าประจำอยู่ราว 400 – 500 นาย จากเมื่อก่อนมีไม่ถึง 100 นาย

มีรายงานอีกว่า เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา กองทัพอากาศพม่าได้มีการนำเครื่องบินรบ รุ่น มิก-29 ที่ซื้อเข้าประจำการจากรัสเซีย มาทำการฝึกบินซ้อมรบที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออกด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายฝ่ายมองว่า เป็นการจงใจข่มขู่กองกำลังหยุดยิงที่แข็งข้อต่อรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มหยุดยิงว้า UWSA และกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า และ เปาโหย่วเฉียง ผู้นำกองกำลังว้า UWSA ได้พบปะหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะภาพกองกำลังหยุดยิงเป็นหน่วย พิทักษ์ชายแดน BGF-Border Guard Force ที่เมืองต้างยาน รัฐฉานภาคเหนือ การพบหารือของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นหลังมีเจ้าหน้าที่จีนช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ผู้นำว้า UWSA ซึ่งเคยปฏิเสธพบตัวแทนพม่าหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่รายงานผลการหารือของทั้งสองฝ่าย

ในวันเดียวกัน หลังการหารือกับผู้นำว้า UWSA แล้วเสร็จ พล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ จากเมืองต้างยานมายังบ้านปุ่งป่าแขม (ตรงข้ามอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่) ตรวจเยี่ยมกำลังพล พร้อมมีคำสั่งให้กองกำลังอาสาสมัครโกก้าง กลุ่มของนายเหล่าเออ มีกำลังพลราว 50 – 60 นาย ประจำบ้านนากองมู ให้เคลื่อนย้ายไปประจำที่ต๋อเหลื่อ (ทางทิศใต้ของปุ่งป่าแขม) ทั้งนี้ คาดว่า เพื่อเป็นการช่วยส่องสอดความเคลื่อนไหวกองกำลังว้า UWSA

ความสัมพันธ์กองทัพรัฐบาลทหารพม่า และกองกำลังว้า UWSA ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงและมีกำลังพลมากที่สุดในบรรดากลุ่มติดอาวุธในสหภาพพม่าไม่สู้ดี หลังรัฐบาลทหารพม่าได้ยื่นข้อเสนอกดดันให้กลุ่มหยุดยิงเปลี่ยนสถานะภาพเป็น กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ภายใต้การกำกับของรัฐบาล เพื่อเตรียมรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มหยุดยิงส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่กองทัพพม่าได้พยายามข่มขู่พร้อมมีการเสริมกำลังกดดันอย่างต่อเนื่อง 

 -------------------------------------------------------------------------

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่http://www.khonkhurtai.org/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net