ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ทำไมไทยไม่ออกวีซ่าให้น้องสาวดาไล ลามะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การตัดสินใจของกระทรวงต่างประเทศในการปฏิเสธไม่ออกวีซ่าให้น้องสาวดาไล ลามะ เข้าไทยเป็นข่าวที่น่าสนใจหลายแง่

แง่แรก ในคำแถลงเหตุผลในการตัดสินใจแบบนี้ กระทรวงต่างประเทศแถลงอย่างชัดเจนว่าคำสั่งห้ามเกิดขึ้นเพราะไม่ต้องการให้จีนไม่พอใจ แน่นอนว่าท่าทีแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการเอาใจจีน ประเด็นคือท่าทีลักษณะนี้ในกรณีนี้มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ในเมื่อผู้เดินทางเข้าไทยไม่ใช่ตัวองค์ดาไล ลามะ แต่คือน้องสาว และที่สำคัญคือเข้ามาเพื่อร่วมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ใช่เพื่อการเรียกร้องเอกราชหรือต่อต้านจีน

ข้อสอง การตัดสินใจนี้เป็นผลจากการผลักดันของรัฐบาลเองหรือจากการเสนอของข้าราชการประจำ คนที่เปิดเผยคำสั่งห้ามนี้คือนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงเชื่อได้มากว่าท่าทีนี้เกิดจากแรงผลักดันของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก ทำให้ตั้งคำถามต่อไปได้ว่าความไม่เป็นเรื่องในกรณีนี้แสดงถึงยุทธศาสตร์ต่อจีนแบบไหนกันแน่ของรัฐบาลปัจจุบัน และเป็นไปได้หรือไม่ว่าการเอาใจจีนแบบไร้สตินี้เกี่ยวพันกับการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตัวแปรจีนมีความสำคัญ

ข้อสาม ท่าทีต่อกรณีดาไล ลามะ แบบเอียงข้างจีนลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะในปี 2530 เมื่อ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลไทยก็เคยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้นำจิตวิญญาณและการเรียกร้องเอกราชจากจีนเข้าไทยเพื่อเดินทางต่อไปรับรางวัลโนเบลมาแล้ว และในปี 2533 รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ซึ่งมี พล.อ.อ.สิทธิ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอีกเช่นกัน ก็เคยมีคำสั่งปฏิเสธไม่ให้ดาไล ลามะ เข้าประเทศเพื่อร่วมงาน 84 ปี พุทธทาสภิกขุ

ข้อสี่ ไม่แน่เสมอไปว่ารัฐบาลไทยทุกชุดจะมีท่าทีต่อดาไล ลามะ เหมือนกัน น่าสนใจว่าในปี 2536 รัฐบาลชวน หลีกภัย อนุญาตให้ดาไล ลามะ เข้าไทยพร้อมคณะผู้รับรางวัลโนเบล 7 ราย เพื่อพูดปัญหาประชาธิปไตยในพม่าในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอองซานซูจีและผู้ลี้ภัยชายแดนตะวันตก คำชี้แจงของรัฐบาลคือไทยไม่ได้พิจารณาการเดินทางมาเยือนของดาไล ลามะ ในฐานะผู้นำการเมือง แต่เป็นในฐานะสมาชิกคณะผู้ได้รับรางวัลโนเบล ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันกลับตาลปัตรท่าทีของไทยต่อดาไล ลามะ ที่รัฐบาลชวนได้ทำไว้อย่างสร้างสรรค์ แล้วหันกลับไปนโยบายแบบสมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ

ข้อห้า คำสั่งห้ามน้องสาวดาไล ลามะ เข้าไทยนี้เกิดภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐมนตรีต่างประเทศชื่อกษิต ภิรมย์ บุคคลเหล่านี้มีอำนาจภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากบรรยากาศการเมืองภายใต้ทหาร อย่างไรก็ดี องค์กรพัฒนาเอกชน นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการไม่น้อยหลีกเลี่ยงที่จะวิจารณ์คนเหล่านี้ คำถามคือท่าทีการทูตที่เน้นผลประโยชน์กับจีนมากกว่ามิติด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนท่าทีต่อรัฐบาลชุดนี้ไปหรือไม่ และอย่างไร หรือจะหลับหูหลับตายกยอต่อไปอย่างที่ผ่านมา..

เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่ารัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจโดยถูกวิจารณ์จากประชาชนหลายฝ่ายเรื่องประชาธิปไตยและการยอมรับผลทางการเมืองของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การตัดสินใจเลือกข้างจีนในกรณีนี้อย่างเกินปกติโดยไม่คำนึงถึงมิติด้านอื่นในกรณีนี้ อาจเป็นเครื่องตอกย้ำมากขึ้นว่ารัฐบาลชุดนี้คำนึงถึงความพอใจของระบอบเผด็จการทหารมากเป็นพิเศษ จึงมีท่าทีต่อเรื่องนี้แบบนี้โดยไม่เห็นคุณค่าของความเข้าใจระหว่างคนไทยและธิเบต รวมทั้งการยอมรับว่าสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในธิเบตเป็นเรื่องสำคัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท