Skip to main content
sharethis

3 มี.ค. 53 - msnbc รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า รังมดทำหน้าที่คล้ายระบบร่างกายขนาดใหญ่ (Superorganism) โดยมดราชินีจะทำหน้าที่ผลิตไข่มดเพื่อเติบโตมาเป็นมดงานตัวน้อยให้ทำหน้าที่ตามความต้องการของตัวมดราชินีเองและมดตัวอื่น ๆ แต่เรื่องแบบนี้ก็เป็นการยื่นหมูยื่นแมว บางครั้งการอยู่รอดส่วนตัวก็มีความสำคัญกว่าจนทำให้ต้องทำลายผลประโยชน์ของส่วนรวม

บางครั้งรังมดก็มีมดราชินีมากกว่าหนึ่งตัว ข้อดีของการมีมดราชินีเป็นจำนวนมากคือการที่ต่างก็ผลิตมดงานออกมาให้รังจะทำให้มีกำลังการผลิตในรังมากขึ้น ทำให้รังมีโอกาสอยู่รอดในปีแรกได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่มดราชินีทุกตัวที่จะอยู่รอดได้ตลอด หลังจากที่มดงานวัยเยาว์เกิดมา เจ้าพวกตัวเล็กนี้จะคอยกำจัดมดราชินีส่วนเกินจนกว่าจะเหลือมดราชินีเพียงตัวเดียว

แต่ในบางครั้ง สงครามเคมีของมดพวกนี้ก็ทำไปเพื่อกำจัดมดราชินีทุกตัว

"พวกมดงานตัวเล็กกว่ามาก และสร้างความเสียหายได้เพียงเล็กน้อย ดังนั้นมันจึงต้องใช้เวลาหลายวันในการกัดหรือปล่อยกรดจนกว่าจะล้มมดราชินีได้ บางทีมดราชินีก็อาจจะตายด้วยความหิวได้เช่นกัน" ลุค ฮอลแมน จากศูนย์วิวัฒนาการทางสังคม มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกล่าว "โดยปกติแล้วพวกมันจะหยุดเมื่อมีมดราชินีเหลืออยู่ตัวเดียว แต่บางครั้งพวกมันก็สังหารมดราชินีทุกตัว"

ฮอลแมน เสริมว่านั่นเป็นการสละชีพเพื่อการวิวัฒนาการ เพราะปกติแล้วมดงานไม่สามารถผลิตลูกหลานเองได้ แต่อาศัยมดราชินีในการส่งทอดยีนส์

ขณะเดียวกันนักวิจัยก็ค้นพบว่า มดราชินีเองก็มีความเฉลียวในการทำให้ตัวเองอยู่รอด พวกมันจะผลิตมดงานจำนวนน้อยลงเมื่อมีมดราชินีตัวอื่นอยู่ เพราะการผลิตตัวอ่อนมดจำนวนมากทำให้มดราชินีสูญเสียพลังงาน ทำให้เธอมีพลังในการต่อสู้ป้องกันตัวเองจากมดงานที่เข้าจู่โจมน้อยลง

จากการทดลองในแล็บ มีการนำมดราชินีที่เพิ่งได้รับการผสมพันธุ์ไว้ในรังปูนปลาสเตอร์ โดยมีทั้งวางไว้เดี่ยว ๆ และวางรวมกับมดราชินีอื่น ๆ อีกสองสามตัว หลังจากที่ไข่มดเข้าสู่ระยะดักแด้ (ก่อนเข้าสู่วัยโต) นักวิจัยก็ใช้วิธีการหยิบดักแด้บางส่วนออกไม่ ไม่ก็นำมาวางไว้มากขึ้น

มดราชินีจะผลิตตัวอ่อนน้อยลงหากอยู่ร่วมกับมดราชินีตัวอื่น โดยเฉพาะเมื่อรังมดมีจำนวนมดงานมากพออยู่แล้ว ในงานวิจัยเผยผลออกมาว่า เมื่อเทียบกับรังมดที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายดักแด้แล้ว กลุ่มที่ถูกนำตัวดักแด้มาเพิ่มจะผลิตตัวอ่อนน้อยลงร้อยละ 25 ขณะที่ในรังที่มีการนำตัวดักแด้ออกไป จะสร้างตัวอ่อนเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 18

แต่มดงานก็ไม่ได้โง่ พวกมันดนกลิ่นออกว่ามดราชินีตัวไหนเริ่มเห็นแก่ตัว มดราชินีที่มีความสามารถในการออกลูกซึ่งทำให้มีกลิ่นจากสารเคมีในตัวแรงที่สุดมักจะได้รับการละเว้นจากการถูกมดงานทำร้าย

"การที่มดงานสังหารมดราชินีที่เห็นแก่ตัวที่สุดจะทำให้มดราชินีตัวอื่นระวังตัวคอยพยายามช่วยเหลือรังมากขึ้น" ฮอลแมนกล่าว "ระบบกฏหมายขั้นพื้นฐานอาจช่วยให้มดวิวัฒนาการเป็นสังคมที่พัฒนามากกว่านี้ เช่นเดียวกับสังคมมนุษย์ก็ได้"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net