Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพิจารณาสาระสำคัญของโอวาทปาติโมกข์อย่างเชื่อมโยงกับหลักธรรมอื่นๆ เช่น ความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันของสรรพสิ่งตามกฎ “อิทัปปัจจยตา” จะเห็นได้ว่า การสร้าง “สันติภาวะภายใน”ชีวิตของปัจเจกบุคคล กับ “สันติภาวะทางสังคม” นั้นต่างเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมกันและกัน

พุทธศาสนามักถูกมองว่า เป็นศาสนาที่สอนเกี่ยวกับ “สันติภาวะภายใน” หรือ ความสงบภายในจิตใจของปัจเจกบุคคล ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความพ้นทุกข์ หรือบรรลุ “นิพพาน” เป็นด้านหลัก ไม่มีคำสอนเกี่ยวกับ “สันติภาวะทางสังคม” อย่างชัดเจนเป็นระบบ

มุมมองข้างต้นนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เพราะหากพิจารณาคำสอนของพุทธศาสนาในยุคต้นๆในระยะเวลาที่ห่างจากวันตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เพียง 9 เดือนเท่านั้น ก็ปรากฏคำสอนอันเป็นพื้นฐานของ “สันติภาวะทางสังคม” แล้ว นั่นคือ “โอวาทปาติโมกข์” หรือ หลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ ป่าไผ่อันร่มรื่นที่มีชื่อว่า “เวฬุวัน” ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือเดือน 3

ชาวพุทธถือกันว่า เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การจดจำรำลึก จึงกำหนดให้วันเพ็ญเดือน 3 (หรือวันเพ็ญเดือน 4 ในปีอธิกมาศ) เป็น “วันมาฆบูชา” เพื่อให้พุทธศาสนิกได้ทบทวนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่ การทบทวนเพื่อทำความเข้าใจสาระสำคัญของ “โอวาทปาติโมกข์” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม

โอวาทปาติโมกข์นั้น ว่าโดยสาระสำคัญแล้วก็คือคำสอนที่วางหลักการพื้นฐานของการสร้าง “สนติภาวะภายใน” ชีวิตของปัจเจกบุคคล และ “สันติภาวะทางสังคม” นั่นเอง

เนื้อหาส่วนแรกพูดถึงหลักการสร้าง “สันติภาวะภายใน” ไว้ 3 ประการ คือ

1.ไม่ทำความชั่วทั้งปวง
2.ทำความดีให้สมบูรณ์
3.ทำจิตของตนให้สะอาดผ่องใส

หลักการสร้างสันติภาวะภายในดังกล่าวนี้ ปัจเจกแต่ละคนสามารถทำให้เป็นจริงได้ด้วยการดำเนินชีวิตที่มี “ไตรสิกขา” คือ ดำเนินชีวิตที่มี “ศีล” ได้แก่ การดำเนินชีวิตที่ไม่เบียดเบียน หรือไม่ละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ศักดิ์ศรีของคนอื่น และไม่ละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองโดยการทำลายตนเองด้วยสิ่งเสพติดหรือสิ่งมอมเมาต่างๆ มี “สมาธิ” คือ การฝึกสติ ฝึกจิตให้มีความมุ่งมั่นเอาชนะปัญหาอุปสรรค ความชั่วร้ายต่างๆ และมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และมี “ปัญญา” รู้เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต มีความเห็นถูกต้อง คิดถูกต้องจนกระทั่งรู้วิธียกระดับจิตใจของตนเองให้มีอิสรภาพอย่างสมบูรณ์

เนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ส่วนที่สอง เป็นการระบุถึง “นิพพาน” ว่าเป็น “บรมธรรม” หรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต พูดถึงขันติธรรมหรือความอดทนอดกลั้นว่าเป็นคุณธรรมที่เอื้อต่อความเพียรเพื่อขจัดกิเลสที่เป็นมูลเหตุพื้นฐานของความไม่สงบสุขในชีวิตและสังคม

ส่วนที่สาม เป็นการกำหนดหลักการในการอยู่ร่วมกันทางสังคมซึ่งมีลักษณะเป็นรากฐานของ “สันติภาวะทางสังคม” ว่า ต้องไม่เบียดเบียน ไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่า เมื่อปัจเจกแต่ละคนไม่เบียดเบียนกันและกัน สังคมย่อมสงบสุข เอื้อให้แต่ละคนได้อยู่อย่างสงบสุข และมีโอกาสในการเพียรพยายามพัฒนาจิตปัญญาเพื่อยกระดับคุณค่าชีวิตของตนให้สูงส่งขึ้นด้วย

หากพิจารณาสาระสำคัญของโอวาทปาติโมกข์อย่างเชื่อมโยงกับหลักธรรมอื่นๆ เช่น ความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันของสรรพสิ่งตามกฎ “อิทัปปัจจยตา” จะเห็นได้ว่า การสร้าง “สันติภาวะภายใน”ชีวิตของปัจเจกบุคคล กับ “สันติภาวะทางสังคม” นั้นต่างเป็นเหตุปัจจัยส่งเสริมกันและกัน

กล่าวคือ เมื่อปัจเจกแต่ละคนไม่ทำชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส หรือมุ่งดำเนินชีวิตอย่างมีไตรสิกขา มีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต มีขันติธรรม และความเพียร ย่อมช่วยให้สังคมสงบสุขปราศจากการเบียดเบียนกันและกันในลักษณะต่างๆด้วย

และเมื่อสังคมสร้างระบบ มีวัฒนธรรม หรือยึดถือค่านิยมในการอยู่ร่วมกันอย่างไม่ทำร้ายกันทางวาจา ทางร่างกาย และอื่นๆย่อมเป็นการสร้างสังคมสงบร่มเย็นที่เอื้อให้ปัจเจกแต่ละคนได้พัฒนาสันติภาวะภายในอย่างเต็มตามศักยภาพของตนเองด้วย

ถึงวันมาฆบูชาในสถานการณ์ร้อนแรงทางการเมืองเช่นในปีนี้ บางทีอาจจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องตั้งสติทบทวนว่า ในการเรียกร้อง “สังคมประชาธิปไตย” นั้น บางทีเราอาจต้องเรียกร้อง “สังคมสันติภาพ” ควบคู่กันไปด้วย ความเป็นประชาธิปไตยกับสันติภาวะทางสังคมน่าจะงอกงามไปด้วยกัน

ซึ่งแน่นอนว่า สองสิ่งนี้ย่อมไม่งอกงามออกมาจากวิธีคิด และการกระทำที่รุนแรง! 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net