Skip to main content
sharethis

 

Prof. Sikke Hempenius เป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาฟิสิกส์วิศวกรรม (Engineering Physics) และ Remote Sensing (ภาพถ่ายระยะไกล) แห่ง Delft University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นอาจารย์ของศ.ดร.ผาสุก กุลลวณิชย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรศ.ดร.วีระพันธ์ มุสิกสาร อดีตประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เมื่อเกษียณจาก Delft University of Technology จึงได้รับการชักชวนให้มาเป็นอาจารย์พิเศษคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนกระทั่งอายุ 70 ปี

ปัจจุบัน แม้วัยจะย่างเข้า 77 ปี Prof.Sikke Hempenius ยังคงรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาโครงการหลักสูตรวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

Prof.Sikke Hempenius นับเป็นผู้คุณูปการยิ่งต่อประเทศไทย เพราะเป็นผู้ริเริ่มศึกษาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยอย่างเป็นระบบเป็นคนแรก ด้วยการนำนักศึกษาจาก Delft University of Technology มาทำวิจัยจนพบสาเหตุสำคัญของการกัดเซาะเมื่อสิบกว่าปีก่อน

Prof.Sikke Hempenius พยายามกระตุ้นนักวิชาการของไทยให้หันมาสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนกระทั่งการกัดเซาะรุนแรงขึ้น รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตระหนักถึงความเสียหาย จึงได้ศึกษาและออกมาเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับชายหาดอย่างเอาจริงเอาจัง

การกัดเซาะชายฝั่งเป็นอย่างไร มีสาเหตุมาจากไหน ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายจาก Prof.Sikke Hempenius

0 0 0

ทำไมถึงสนใจชายหาดประเทศไทย
ผมเป็นคนเนเธอร์แลนด์อยู่ติดทะเล เรียนทางด้านฟิสิกส์ เลยมีความรู้เรื่องชายหาด ทะเล และตะกอนทราย ทะเลเนเธอร์แลนด์คลื่นลมแรง เราจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องทะเล งานของผมทำให้มีโอกาสไปประเทศโน้นประเทศนี้ประมาณ 50 ประเทศ ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งแต่ละประเทศ ผมเลยสนใจพฤติกรรมของชายฝั่งว่าเป็นอย่างไร

หลังจากเกษียณผมมาอยู่เมืองไทย สิ่งแรกที่เห็นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วคือ ชายฝั่งอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีบ้านพังลงไปในทะเล แปลว่าชายฝั่งของไทยป่วยแล้ว จากนั้นผมก็เริ่มไล่ดูตั้งแต่นราธิวาส ปัตตานี สงขลา เพราะมันต้องมีอะไรผิดปกติกับชายฝั่งของไทยแน่ๆ

สิ่งที่ผมเห็นก็คือ ก่อนหน้านี้มีต้นมะพร้าวอยู่ตามแนวชายฝั่ง อยู่ๆ มันก็ล้มลง ตอนนี้ตรงที่เคยเป็นดงมะพร้าว กลายเป็นทะเล นี่คือสิ่งที่ผมเห็น

ผมเกิดความสงสัย เลยขอร่วมมือจาก Delft University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ผมเคยสอน เขาให้ความร่วมมือ ด้วยการส่งนักศึกษา 5 คนมาทำวิจัย ผมได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ได้รู้ปัญหาการพังทลายของชายฝั่งจากเด็กพวกนั้น

การศึกษาของนักศึกษาจากเนเธอร์แลนด์ได้ข้อสรุปชัดเจน การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งไทย มาจากทะเลขาดแคลนทราย

เป็นไปได้ไง นี่คือคำถาม นับเป็นโจทย์ที่แปลก ชายฝั่งของไทยขาดแคลนทราย
สิ่งที่ค้นพบคือ กระบวนการเคลื่อนตัวของทรายชายฝั่งประเทศไทย เคลื่อนจากนราธิวาสขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ ไปปัตตานี ไปสงขลา ไปปากพนัง เคลื่อนขึ้นเหนือตลอด ไม่ได้หยุดนิ่ง หาดทรายเกิดจากทรายที่เคลื่อนตัวขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

ผมไปเจอชายฝั่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มันเกิดหาดเลนงอกออกไปเป็นร้อยเมตร มหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ที่งอก นำไปปลูกสร้างอาคารมากมาย

ประเด็นก็คือ ขณะที่ตรงนี้งอก ชายฝั่งอีกที่หนึ่งหายไป มันมีทั้งงอกและหายไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่ผมแปลกใจ

เมื่อตรวจสอบวันเวลากลับไป ก็พบว่าปัญหานี้เริ่มเกิดขึ้น ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนบางลาง กั้นแม่น้ำปัตตานีที่จังหวัดยะลา

เขื่อนบางลางดักจับตะกอนไว้หมด ทำให้ตะกอนไม่ถูกจ่ายมายังแม่น้ำปัตตานีลงสู่ทะเล จึงเกิดปรากฏการณ์ชายฝั่งปัตตานีหายไป เพราะไม่มีตะกอนมาเติม

ชัดเจนว่า ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอย่างที่มีการกล่าวอ้าง
สงขลานี่ก็น่าสนใจ ตอนสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่เก้าเส้ง (ชุมชนเก้าเส้งในเขตเทศบาลนครสงขลา) มีการวางท่อไปที่เกาะแต้ว (ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา) ตรงบ่อบำบัดน้ำเสียที่เกาะแต้ว น้ำเสียจะล้นออกมาได้ในฤดูฝน สังเกตเห็นว่าตลอดแนว ตั้งแต่เก้าเส้งจนถึงเกาะแต้ว ผมไม่เห็นต้นไม้นอกจากทราย

บริเวณนั้นมีแต่ทรายเป็นหาดแคบๆ แต่พอมาถึงบ่อบำบัดน้ำเสียที่เกาะแต้วมันมีโคลน เป็นโคลนที่ไหลออกมาจากบ่อบำบัดน้ำเสียในฤดูฝน มาติดตรงชายหาดเต็มเลย ทำให้ต้นไม้งอกขึ้นมา แสดงว่าชายฝั่งของไทย นอกจากขาดทรายแล้ว ยังมีปัญหาขาดตะกอนดินดัวย

นั่นคือ ถ้าเราอยากให้มีต้นไม้เกิดขึ้นตรงบริเวณชายฝั่ง ก็ต้องมีตะกอนดินอยู่ตามชายฝั่งด้วย
ผมมองว่าคลองสำโรงตรงบ่อน้ำเสียที่เก้าเส้ง ทำหน้าที่เชื่อมทะเลสาบสงขลากับทะเลอ่าวไทย คลองนี้ไหลผ่านทุ่งนา ภูเขามาออกที่เก้าเส้ง มันจะพาพวกตะกอนดินตะกอนทรายมาด้วย ตะกอนดินพวกนี้ เมื่อถูกพัดไปติดอยู่ตามชายฝั่ง จะทำให้ต้นไม้เติบโต นั่นหมายถึงเป็นชายฝั่งที่มีความสมบูรณ์

จากการตระเวนตามแนวชายฝั่ง ผมพบว่าบริเวณแถวอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลาแทบจะไม่มีนากุ้ง แต่พอเลยมาถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา กลับมีนากุ้งเต็มไปหมด แสดงว่าชายฝั่งบริเวณนี้มีความแตกต่างกัน

ขณะที่ทรายจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ แต่ดินเหนียวหรือโคลนที่ตกตะกอนตามจุดต่างๆ จะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวไปไหน มีต้นไม้งอกงาม ชายฝั่งจึงไม่เกี่ยวกับทรายเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับโคลนด้วย

ทรายหรือดินที่ไหลไปตามชายฝั่ง เวลามันแห้งเจอลมพัดมันจะตกตะกอน พื้นดินที่อำเภอสทิงพระกับอำเภอระโนด จะมีทรายกับโคลนสลับกัน บริเวณใดที่มีโคลนจะมีความสมบูรณ์

เนื่องจากที่ผ่านมามีการพัฒนาถนนหนทาง สร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ มันไปบล็อกตะกอนทรายตะกอนโคลนตามลำน้ำต่างๆ ทำให้ตะกอนแม่น้ำที่เคยไหลมา ถูกหยุดไม่ให้เดินทางมาถึงทะเล ตัวนี้คือปัญหาหลักทำให้ทำให้ชายฝั่งขาดทราย การสร้างสิ่งกีดขวางทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

บริเวณใดถ้ามีทั้งหาด มีทั้งทราย มีโคลนอยู่บ้าง บริเวณนั้นจะมีความหนาแน่น ต้านทานแรงคลื่นได้ดี อันนี้คือลักษณะของชายฝั่ง ถ้าเดินตามชายฝั่งจะพบว่า มีทั้งทรายล้วนๆ ทรายปนโคลนมีต้นไม้ขึ้น

ถ้าดูจากพฤติกรรมที่ทำกันอยู่วันนี้ แสดงว่าคนไทยไม่มีความรู้เกี่ยวกับชายฝั่ง ขนาดเด็กเนเธอร์แลนด์ เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีแท้ๆ ยังสามารถเรียนรู้ได้เร็ว ผมถึงแปลกใจว่าทำไมคนไทยถึงเรียนรู้เรื่องชายฝั่งได้น้อย

เพื่อนผมมาจากเนเธอร์แลนด์ พอไปเดินชายหาด เห็นบ่อน้ำเสียที่เก้าเส้ง รู้เลยว่าบ่อน้ำเสียที่เก้าเส้งวางผิดด้าน เขาถามว่าทำไมไม่ไปวางตรงกำแพงของกองเรือภาค 2 เขาบอกว่า คนไทยไม่มีความรู้เรื่องชายฝั่งเรื่องทะเลเลยหรือไง

อันดับแรก บ่อน้ำเสียมันแพง ของแพงก็ไม่ควรวางไว้ริมทะเล ทำไมต้องไปวางไว้ในที่ที่มันเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย จากละอองน้ำเค็ม ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง ต้องใช้งบประมาณบำรุงรักษามากกว่าปกติ

เขาพยากรณ์เลยว่า พอมรสุมมาทรายที่อยู่ตรงบริเวณบ่อน้ำเสียที่เก้าเส้ง จะโดนคลื่นเซาะออกไป ต่อมาก็เป็นไปตามคำทำนายจริงๆ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาหาดชลาทัศน์ บ่อน้ำเสียสร้างเสร็จปี 2545 พอปี 2547 บินขึ้นไปดูมุมสูง คลื่นขุดทรายออกไปจริงๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนกับที่อำเภอปากพนัง พื้นดินถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ แต่ข่าวกลับออกมาว่า ปัญหาเกิดจากโลกร้อน ไปโทษนั่นโทษนี่ เราจึงแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักที

ปัญหาก็คือ ชายฝั่งขาดทราย ขาดโคลน จากการไปปิดกั้นลำน้ำไม่ให้ตะกอนไหลลงมา ตะกอนที่ว่ามีทั้งทรายและโคลน เมื่อไหลลงมาจะทำให้ชายฝั่งแน่นหนาสู้กับคลื่นลมได้ พอไปหยุดยั้งไม่ให้ตะกอนไหลลงทะเลมาเติมทรายเติมโคลนให้ชายฝั่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชายฝั่งหมดสภาพไม่สามารถดูแลตัวเองได้

สรุปว่าปัญหาอยู่ที่ตะกอนทรายและโคลนแม่น้ำลำคลอง จากต้นน้ำลำธารถูกสกัดไม่ให้ไหลลงทะเล ไปเติมทรายเติมโคลนให้ชายหาดไม่ได้
ถูกต้อง สิ่งกีดขวางตามแม่น้ำลำคลอง จากการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างถนนหนทาง ทำให้เกิดปัญหาชายฝั่งขาดทรายมาทดแทนทรายที่ถูกคลื่นซัดให้เดินทางขึ้นไปทางเหนือของชายฝั่งอยู่เรื่อยๆ

สรุปก็คือ การสร้างสิ่งขวางกั้นแม่น้ำลำคลอง จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาวคือทะเลขาดทราย

ในขณะที่การสร้างเขื่อนกันทราย เขื่อนกันคลื่นในทะเล หรือตรงบริเวณชายฝั่ง หรือสร้างของแข็งล่วงล้ำลงไปในทะเล จะทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะเฉพาะจุด เกิดความเสียหายรุนแรงเป็นจุดๆ

ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยทดลองด้วยการเอาทรายอาบรังสี นำไปทิ้งไว้ที่ท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลา เพื่อดูการเคลื่อนที่ของทรายว่าไปทางไหน เคลื่อนที่ในอัตราวันละเท่าไหร่ นั่นคือสิ่งยืนยันว่าทรายไม่ได้หยุดนิ่ง ทรายเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ส่วนโคลนจะเกาะติดอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไหวไปไหน

การที่กรมเจ้าท่าเข้ามารับผิดชอบแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเหมาะสมแค่ไหน
ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับชายฝั่งอย่าให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้จัดการ เพราะกรมเจ้าท่าไม่รู้เรื่องชายฝั่ง กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ขุดลอกร่องน้ำ งานชายฝั่งเป็นงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมเจ้าท่ามีหน้าที่ขุดร่องน้ำให้เรือเดิน ก่อสร้างท่าเรือ มันคนละเรื่องคนละงานกัน

เราจะเห็นว่า กรมเจ้าท่าจะเน้นไปที่การก่อสร้าง เช่น ท่าเรือ เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทราย ซึ่งเป็นโครงสร้างประเภทแข็งแนวดิ่ง สิ่งก่อสร้างพวกนี้ไม่เป็นมิตรกับชายหาด เพราะธรรมชาติไม่มีอะไรที่เป็นแนวดิ่ง

กรมเจ้าท่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชายหาดเลย เขาคิดสิ่งก่อสร้างประเภทแข็งแรง เพื่อให้เรือเข้ามาจอด เขาคิดได้เท่านั้น นี่คือเหตุผล ทำไมกรมเจ้าท่าถึงไม่ควรยุ่งกับงานรักษาชายหาด

สิ่งที่เขาคิดประดิษฐ์สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนเกเบี้ยน หรือกำแพงอะไรก็ตาม มันแข็งมีรูปร่างเป็นแนวดิ่ง อันนี้ใช้สำหรับก่อสร้างท่าเรือ ใช้ไม่ได้กับการรักษาชายหาด ภารกิจนี้ไม่ใช่ของกรมเจ้าท่า

ถ้าเราทำพวกกำแพงอะไรก็ตามที่แข็งและเป็นแนวดิ่ง คลื่นจะตีขึ้นอย่างรุนแรง จังหวะที่คลื่นลดตัวลง มันจะดูดเอาทรายข้างล่างหายไปด้วย โครงสร้างพวกนี้ไม่ใช่โครงสร้างที่จะมารักษาชายหาด เพราะมันฝืนธรรมชาติ

ที่เนเธอร์แลนด์มีกฎง่ายๆ ให้ประชาชนตามแนวชายฝั่งจดจำคือ

กฎข้อที่ 1 ห้ามไปยุ่งกับชายหาด ไม่ว่าจะเป็นหาดทรายหรือเป็นหาดเลน

พื้นที่ชายหาดมันจะเอียงน้อยๆ ขึ้นไปชนแนวชายฝั่ง เวลาคลื่นมามันจะขึ้นไปถึงจุดหนึ่งแล้วหมดแรง จังหวะที่มันไหลกลับลงมาเบาๆ มันจะลงมาชนกับคลื่นที่กำลังซัดขึ้นมาอีกลูกหนึ่ง มันจะมากระแทกกัน คลื่นลูกหลังก็จะหมดแรง

ปล่อยให้คลื่นมันสู้กันเอง อย่าไปก่อสร้างของแข็งกีดขวางทางคลื่น เพราะถ้าทำอย่างนั้น คลื่นจะกระแทกกับของแข็งที่ปลูกสร้างขวางทางมันอย่างรุนแรง เวลาคลื่นกระชากตัวกลับ มันจะขุดทรายข้างล่างอย่างรุนแรงหายไปด้วย ทุกอย่างเสียหายหมด เพราะไม่มีอะไรไปผ่อนให้ความรุนแรงของคลื่นลดลง

การอยู่กับคลื่นลมก็คือ ให้ทุกอย่างขึ้นลงตามธรรมชาติ อย่าไปขัดขวาง ปล่อยให้คลื่นมันสู้กันจนหมดแรงไปเอง นั่นคือวิธีการที่ถูกต้อง

เขื่อนเกเบี้ยนที่ทางเทศบาลนครสงขลาจะทำ ก็จะประสบกับปัญหานี้ การสร้างของแข็งเพื่อแก้ปัญหาชายฝั่ง จะยิ่งเพิ่มความเสียหาย ที่อำเภอปากพนังทำมาแล้วพังหมด สร้างเสร็จฤดูนี้ พอฤดูถัดมาเจ๊งหมดเลย

ยิ่งโครงสร้างที่เป็นกำแพงคอนกรีต คลื่นที่มาปะทะจะยิ่งรุนแรง คลื่นจะสาดไปตามกำแพง ลมจะพัดเอาละอองน้ำเค็มเข้าบ้าน โดนรถ โดนเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสนิมหมดเลย นอกจากไม่ถูกต้องแล้ว ยังไปทำลายบ้านเรือนชาวบ้านอีกด้วย

ประสบการณ์ของเนเธอร์แลนด์บอกว่า เราไม่ควรสร้างอะไรที่ชันๆ ถ้าจะสร้างควรจะลาดเอียงมากๆ

ถ้าเราจะแก้เป็นจุดๆ ด้วยการรื้อเขื่อนทิ้ง รื้อสิ่งปลูกสร้างชายฝั่ง จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ หาดทรายจะกลับมาเหมือนเดิมเปล่า
รื้อบ่อน้ำเสียที่เก้าเส้ง ไม่ได้แก้ปัญหาให้การกัดเซาะชายฝั่งชลาทัศน์หมดไป ถ้าตราบใดแม่น้ำลำคลองถูกบล็อกด้วยเขื่อน ด้วยอ่างเก็บน้ำ ด้วยสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ จนทรายและโคลนเดินทางเติมเต็มให้กับทะเลไม่ได้ หรือปล่อยให้มีการนำทรายจากแม่น้ำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ จนเสียสมดุล ไม่มีทรายและโคลนไหลลงมาเลี้ยงชายฝั่ง ชายฝั่งก็เสียหายอยู่ดี

ปัญหาชายหาดของไทยในขณะนี้คือ ชายหาดขาดทราย ขาดตะกอนดินลงมาหล่อเลี้ยง

แล้วจะแก้ยังไง
ถ้าเราจะแก้ปัญหาให้ได้ 100% ก็ต้องคืนระบบนิเวศให้กับธรรมชาติ อะไรก็ตามที่ไป บล็อกต้นน้ำลำคลองเอาไว้ จะต้องเปิดให้น้ำพัดพาตะกอนดินตะกอนทรายลงมาอย่างอิสระ อย่างชายฝั่งชลาทัศน์ หาดสมิหลา ถ้าแก้ปัญหาจากต้นน้ำไม่ได้ ก็ทำให้น้ำพัดพาตะกอนดินตะกอนทรายในทะเลสาบสงขลาลงทะเล โดยใช้คลองสำโรงเป็นตัวเชื่อม ให้คลองสำโรงนำตะกอนจากทะเลสาบสงขลาลงมาเลี้ยงชายฝั่ง

ตอนนี้แม่น้ำลำคลองถูกบล็อกหมดเลย ไม่มีตะกอนอะไรเคลื่อนที่ เมื่อระบบมันล้มเหลว ก็ต้องคืนระบบนิเวศให้กับธรรมชาติ ให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเอง

อีกอย่างเวลาจะแก้ปัญหาพวกนี้ เราจะต้องรู้ด้วยว่า ควรจะทำอะไรในฤดูไหน ฤดูไหนไม่ควรทำอะไร เพราะถ้าเราไปรื้อถอนในช่วงพายุเข้ามันก็เละ ถ้าจะตัดสินใจทำอะไรต้องดูเวลาด้วย

เฉพาะหน้าควรจะทำอย่างไร
การจะรักษาชายหาดสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ให้สมบูรณ์ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ตะกอนทราย จากต้นน้ำลำคลองไหลลงสู่ทะเลตามปกติ ลำน้ำไหนปิดต้องเปิด ตอนนี้ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว จะรื้อหรือไม่รื้อเขื่อน จะรื้อหรือไม่รื้อบ่อน้ำเสีย ก็ต้องมีตะกอนทรายไปหล่อเลี้ยงหาด นี่คือคำตอบสุดท้าย

ทำไมคนเนเธอร์แลนด์ ถึงสนใจเรื่องชายฝั่ง
คนเนเธอร์แลนด์ จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องคลื่น เรื่องชายฝั่ง เรื่องทะเล เพราะเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าน้ำทะเล ทุกฤดูมรสุมน้ำทะเลจะหนุนเข้ามาในแผ่นดินท่วมถึงคอ เหตุการณ์แบบนี้ถึงตายได้เพราะประเทศเราอยู่ในเขตหนาว

ดังนั้นคนเนเธอร์แลนด์จะต้องเรียนรู้ให้เร็ว เพื่อเอาชีวิตให้รอด การสร้างท่าเรือรอตเตอร์ดัม เราสร้างด้วยมือ คนเนเธอร์แลนด์ช่วยกันขุดดินทำกันเอง เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างพร้อมกันทั้งหมด พอเราทำไปแล้ว 20 ปี เราจะหยุดทุกอย่างเพื่อประเมินผล สรุปผลแล้วถึงจะทำต่อ

ที่เนเธอร์แลนด์ ไม่ว่าจะทำอะไร ทำแล้วต้องหยุดประเมินผล รู้ข้อดีข้อเสียแล้ว ถึงจะทำต่อ นั่นคือ กระบวนการทำงานของเนเธอร์แลนด์ เราไม่ปล่อยให้ใครทำอะไรไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการประเมินผล

ยกตัวอย่าง ตอนที่กรมเจ้าท่าไปทำเขื่อนกันคลื่นที่ปากแม่น้ำสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก็เห็นความเสียหาย เพราะชายฝั่งพังแล้ว แต่ยังไปสร้างเขื่อนกันทรายเขื่อนกันคลื่นที่ปากบางสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาอีก

ขณะปากพนังก็ออกแบบเขื่อนรอไว้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เรียนรู้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ปากแม่น้ำสายบุรีเลย ตรงนี้สร้างต่อแล้ว เอาแต่สร้างไม่ได้หยุดคิดกันเลย ไม่มีการทบทวน ไม่มีการประเมินผล

ผมสรุปว่า กรมเจ้าท่าไม่เหมาะกับงานนี้ ควรจะมีหน่วยงานใหม่ มีแนวคิดใหม่ๆ ที่ถูกต้อง มาแก้ปัญหาชายฝั่งของไทย บางอย่างคุณรู้ ประชาชนรู้ แต่กรมเจ้าท่าไม่ยอมรับ นี่คือปัญหา

ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดจากทะเล ปัญหาเกิดบนฝั่งนี่แหละ บนฝั่งสร้างปัญหาให้กับทะเล แล้วไปโทษคลื่นลม จริงๆ แล้วไม่ใช่ ปัญหาเกิดขึ้นที่นี่ ปัญหาอยู่บนแผ่นดินนี้

เราเป็นผู้สร้างปัญหาให้ทะเล ไม่ใช่ทะเลสร้างปัญหาให้เรา

  

 
รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
 
 
 
สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ จะส่งผลให้หาดสมิหลาเป็นเหมือนชายฝั่งหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อไปนี้ฤดูมรสุมจะดูไม่ได้เลย คลื่นจะปะทะกับกำแพง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนเกเบี้ยน หรือกระสอบทราย หรือปะการังเทียมชายฝั่ง คลื่นชนตูมมันจะกระโจนข้ามเขื่อนขึ้นมาเลย
 
จะย้ายหรือไม่ย้ายบ่อน้ำเสียตรงเก้าเส้ง ไม่ได้ส่งผลอะไรนัก ถ้าตราบใดตรงนั้นตะกอนทรายยังไหลลงทะเล ยังมีทรายมาหล่อเลี้ยง หาดก็จะยังคงอยู่ บ่อน้ำเสียไม่สามารถทำให้ตรงนั้นเสียหายได้ ถึงแม้จะเอาบ่อออกไปแล้ว ถ้าไม่มีทรายเข้ามาเติมมันก็เสียหาย ถ้ามีทรายเข้ามาเติม หาดก็จะยังอยู่เหมือนเดิม
 
ไม่ว่าจะย้าย หรือจะปล่อยให้อยู่ตรงนั้นในสภาพไม่มีหาด การกัดเซาะจะยังคงอยู่ ถ้าย้ายจะรุนแรงกว่าเดิมอีก เพราะหากไม่มีบ่อน้ำเสีย คลื่นจะซัดขึ้นมาถึงถนนเลย ถ้าจะย้ายก็ต้องหาที่ให้ชายหาดก่อน ต้องถมหรือหาตะกอนทรายมาเติมให้เต็ม แล้วค่อยรื้อออก
 
ตรงที่เขาทำเขื่อนที่เก้าเส้งมีทรายเต็มเลย เพราะเขื่อนมันดักทรายเอาไว้ การที่เขาทำเขื่อนตรงหาดชลาทัศน์ เพราะเขาหวังจะให้ทรายมาถม แต่หลังจากทำเขื่อนแล้ว ทรายไม่มาถม เพราะไม่มีทรายเคลื่อนลงมาเติมให้มัน
จำเรือปานามาได้ไหม พอเรือมาติดหาดด้านทิศใต้ของเรือก็งอกออกมา เพราะทรายในทะเลเดินมาถมให้มัน ด้านเหนือของเรือหาดก็เว้าเข้าหาชายฝั่ง เพราะทรายเดินไปไม่ได้ ถูกเรือปานามาขวางไว้ พอรื้อเรือออกทรายก็เริ่มหนีไปด้านเหนือ หาดตรงด้านเหนือที่เว้าก็งอกออกมาใหม่ ก็แค่นั้นเอง
 
ที่สำคัญสมัยเรือปานามา ปี 2537 เรายังไม่สร้างอะไรล้ำเข้าไปในทะเล สมัยนั้นยังไม่มีเขื่อนสักตัว เดี๋ยวนี้เขื่อนเต็มไปหมดแล้ว เขื่อนที่นาทับ เขื่อนที่เกาะแต้ว ถ้าคลื่นพาเรือปานาเข้ามาอีก ไม่มีหาดให้เกยแล้ว เพราะตอนนี้ตรงนั้นไม่มีทรายแม้แต่เม็ดเดียว
 
การทำเขื่อนเกเบี้ยนของเทศบาลนครสงขลา จะก่อปัญหาต่อไปเป็นลูกโซ่ ถ้าทำตรงนี้แล้ว ส่วนที่อยู่ถัดไปคือหาดสมิหลาก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำชายหาดก็พัง ถ้าตัดสินใจทำหาดสมิหลาก็จะกลายเป็นหาดหิน
 
ฝรั่งช่างสังเกต มองอะไรเป็นระบบ จากทะเลมองไปถึงป่าต้นน้ำเลย นี่คือข้อได้เปรียบ เวลาคนไทยพูด เราจะพูดแต่เรื่องชายหาด Prof.Sikke Hempenius พูดไปถึงภูเขา เราฟังแล้วดูเหมือนนอกเรื่อง แต่มันเป็นเรื่องเดียวกัน
ต้องมองให้ครอบคลุมทั้งระบบ ถึงจะเห็นต้นตอของปัญหา
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net