Skip to main content
sharethis

 

ตั้งใจจะเขียนจดหมายถึงคุณสฤณีตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่แล้ว แต่ติดโน่นติดนี่จนล่วงเลยมาหลายวัน กระนั้นก็ยังจำเป็นต้องเขียน แม้ทราบดีว่าคุณสฤณีไม่ใช่นักตอบจดหมาย ขณะที่ผมก็ไม่ใช่นักเขียนจดหมาย (ตกงานจากอาชีพตอบจดหมาย-ฮา) เพราะมีข้อข้องใจที่อัดอั้น ไม่สามารถหาคำตอบได้กระจ่าง หวังว่าคงให้ความกรุณาแก่คนรู้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงิน และโทรคมนาคม

คงทราบแล้วใช่ไหมครับว่า ผมมีข้อข้องใจสืบเนื่องจากบทความ “ประเมิน ‘ผลประโยชน์ส่วนเกิน’ ในคดีทักษิณ ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ ก่อนศาลตัดสิน” ที่คุณสฤณีเผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนนั่นแหละ ซึ่งได้รับการนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสื่อกระแสหลัก (ทั้งที่ก่อนหน้านี้แม่-ไม่เคยสนใจงานของคุณสฤณี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการอิสระ ไม่ใช่แบบเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง หรือนิติไกรพจน์)

อย่าเข้าใจผิดว่าผมจะมาคัดค้านอะไรคุณสฤณี ผมอยู่ข้างเชียร์คุณสฤณีต่างหาก (ได้ข่าวว่าศาสดาหัวโตเขียนด่าคุณสฤณีในฟ้าเดียวกัน ผมยังเคืองแทน) ผมอ่านบทความ ดก. (ดังกล่าว) แล้วพบว่าคุณสฤณีคำนวณตัวเลขได้แม่นยำ เป๊ะๆ ทุกบาททุกสตางค์ที่ทักษิณ “โกงชาติ” ถึงแม้คุณสฤณีจะบอกว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่อยากฟันธงว่าคำพิพากษาน่าจะหรือควรจะออกมาในแนวทางใด แต่การที่คุณสฤณีใช้หลักวิชาการเงินมาอธิบายให้เกิดความกระจ่าง ในข้อหาของ คตส. คุณสฤณีก็ได้ฟันหัวทักกี้ เอ๊ย ฟันธงให้ผมสะใจแล้วครับ เพราะบอกอยู่ชัดๆ ว่าตัวเลขประมาณการของ คตส.และคุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ค่อนข้างสมเหตุสมผล

ในฐานะที่ผมเป็นคนพาดหัวข่าวจนไทยโพสต์ถูกฟ้อง 400 ล้านกับคุณสุภิญญา กลางณรงค์ และยืนยันตลอดมาว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน บทความ ดก.ของคุณสฤณีจึงเป็นของวิเศษสำหรับผมที่จะใช้ฟาดหัวไอ้หัวโต เอ๊ย ใช้โต้เถียงกับพรรคพวกที่ยังโง่งมว่าทักษิณไม่ผิด เพราะผมอยากให้ศาลท่านยึดทรัพย์ทักษิณให้หมด 76,000 ล้าน แถมยังต้องขายบ้านขายช่องมาเสียภาษีอีก 10,000 กว่าล้าน เหมือนอย่างคดีที่ดินรัชดาที่ศาลท่านบอกว่าไม่ทุจริต (แต่ติดคุก) แล้วกองทุนฟื้นฟูยังหน้าซื่อตาใสไปฟ้องจะริบเอาที่ดิน แถมไม่คืนเงินอีกต่างหาก

ยรกต. (อย่างไรก็ตาม) คุณสฤณีครับ ต้องขออภัยจริงๆ ที่ผมมันความรู้น้อย หลังจากไปโต้เถียงกับพรรคพวก ก็โดนมันยันหน้าหงายกลับมาในหลายประเด็น จนผมเกิดความอัดอั้นตันใจ แน่นท้องแน่นไส้ กินยาระบายก็ไม่หาย ต้องเขียนมาถามคุณสฤณีนี่แหละ

ถ้ายังไง ขอฝากสำเนาเรียนถามคุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หรือคุณสัก กอแสงเรือง ให้ช่วยตอบข้อข้องใจด้วยก็ดีนะครับ ไม่งั้นผมแย่แน่ๆ เลย เพราะเถียงเพื่อนไม่ออก

1.จะตั้งเป็นข้อหนึ่งสองสามเหมือนข้อสอบก็ได้นะครับ หนึ่ง คือประเด็นแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

เพื่อนผมมันขีดเส้นตรงที่คุณสฤณีอ้างสมุดปกเหลืองของ คตส.ว่า บมจ.ทีโอที ได้รับความเสียหายมูลค่า 30,667 ล้านบาท ในระหว่างปี 2546-2550 จากค่าสัมปทานที่น้อยกว่าควรจะได้รับ คุณสฤณีบอกว่า ยรกต. กระทรวงการคลังมีรายได้จากภาษีสรรพสามิตในส่วนนั้นแทน ทำให้ความเสียหายต่อรัฐที่เป็นตัวเงินมีมูลค่าสุทธิเท่ากับศูนย์

แต่คุณสฤณีก็เขียนอีกว่า “ยรกด. (อย่างไรก็ดี) ถ้าหากศาลพิพากษาว่า การออกพระราชกำหนด 2 ฉบับที่ให้เก็บ “ภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม” นั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ธันวาคม 2546 เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม (ที่ให้คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีดังกล่าวมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทาน) นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีนั้น “ประโยชน์ส่วนเกิน” ของเอไอเอสก็จะเท่ากับมูลค่าความเสียหายต่อ บมจ.ทีโอที คือส่วนแบ่งรายได้ที่ควรจะได้รับ จำนวน 30,667 ล้านบาท...”

คุณสฤณีครับ ผม เอ๊ย เพื่อนผม มันแย้งแล้วผมงงตึ้บเลยครับ ว่าทำไม ยรกต. กับ ยรกด. ของคุณสฤณีขัดกันเอง เอ๊ะ ก็ในเมื่อเงินจำนวนเดียวกัน เอไอเอสจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิตเข้าคลังไปแล้ว ยังจะบอกว่ามติ ครม.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วให้เขาจ่ายซ้ำให้ทีโอทีอีกหรือครับ จ่ายแล้วจ่ายอีกมันจะเป็นธรรมหรือครับ ตัวเงินก็เท่าเดิม ความเสียหายเป็นศูนย์ ยังจะถือว่าเป็น “ประโยชน์ส่วนเกิน” อีกหรือครับ

ผมก็พยายามเถียงแทนว่านี่คุณสฤณีไม่ได้บอกว่าผิดหรือไม่ผิด เพียงแต่เอาหลักวิชาการเงินมาคำนวณตามข้อหา คตส. แต่เพื่อนผมมันบอกว่า ก็ตรงนี้แหละที่คุณสฤณีเอาไปสรุปส่งท้ายว่าทักกี้ทำความเสียหายต่อรัฐ 6.5 หมื่นล้านหรือถ้าศาลตัดสิน ดก. ก็จะเพิ่มเป็น 9.6 หมื่นล้าน เฉยเลย แถมบอกว่าศาลอาจตัดสินให้จำเลยชดใช้ความเสียหายให้แก่รัฐอีกต่างหาก (เหลือแต่กะลาแน่ ทักกี้เอ๋ย)

กลับมาที่ 30,667 ล้าน คุณสฤณีครับ เพื่อนผมมันเอาข้อเขียนเรื่อง “มุมมองของนักบัญชี (Nirvana) ต่อข้อหาของ คตส.ที่ใช้ยึดทรัพย์ทักษิณ” มาให้ผมอ่าน ไอ้ผมก็ไม่ค่อยรู้จัก Nirvana (รู้จักแต่คอร์ทนี เลิฟ อิอิ) ไม่ยักรู้ว่าไอ้หมอนี่เป็นพวกเสื้อแดง เห็นข้อเขียนสดุดีคุณพ่อทักกี้เต็มไปหมด แหม นักบัญชีนามแฝงที่ไหนจะมาสู้นักวิชาการอิสระ แต่มันก็อ้างตัวเลขที่ค้นมาจากเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. จากรายงานประจำปีของบริษัทนะครับ

คุณสฤณีครับ ไอ้หมอนี่มันแย้งอะไรไว้เยอะทีเดียว ผมอ่านแล้วก็มึนตึ้บ อยากให้ คตส.หรือคุณสมเกียรติออกมาโต้มันให้หน้าหงายไปเลย แต่ตอนนี้ที่เพื่อนผมมันเอามาโต้จนผมหงายมาแล้วก็คือ ไอ้เจ้า Nirvana มันอ้างว่า ทีโอทีเรียกร้องให้เอไอเอสจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งรายได้ 31,463 ล้านบาท (ตัวเลขต่างกันนิดหน่อยแต่น่าจะอันเดียวกัน) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือนตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.2550 ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ดีแทคจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งรายได้ 16,887 ล้านบาท พร้อมเบี้ยปรับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 21,982 ล้านบาท ซึ่งเงินที่เรียกร้องนี้ก็คือ เงินจำนวนเดียวกับที่ 2 บริษัทจ่ายภาษีสรรพสามิตไประหว่างปี 2546-2549 นั่นเอง (Nirvana อ้างข้อมูลจากหมายเหตุประกอบงบการเงินของเอไอเอสและดีแทค)

คุณสฤณีครับ ถึงตรงนี้เพื่อนผมมันถามว่า ถ้าศาลพิพากษาว่ามติ ครม.ที่ให้เอไอเอส ดีแทค นำเงินค่าภาษีมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แปลว่า นอกจากเอไอเอสต้องจ่าย “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” 31,463 ล้านบาทคืนให้ทีโอทีแล้ว ดีแทคก็ต้องจ่าย “ผลประโยชน์ส่วนเกิน” 16,887 ล้านบาท (เป็นอย่างน้อย) คืนด้วยหรือเปล่าครับ

นี่ไอ้เจ้า Nirvana มันยังไม่ได้ไปค้นข้อมูลของ True อีกนะ ถ้า True ก็ถูกคุณพ่อรัฐวิสาหกิจทวงเงินภาษีสรรพสามิตเหมือนกันล่ะ เจ้าสัวจะว่ายังไง (ไอ๊หยา คงพูกไม่ชักไปใหญ่)

1.2 (เอ๊ะ 1.1 อยู่ตรงไหน ช่างมันเหอะ) ไอ้เจ้า Nirvana มันยังอ้างอีกนะครับว่า ข้อมูลจากรายงานประจำปีของทีโอที ปี 46-51 ซึ่งแยกเป็น 2 ช่วงคือ ปี 46-49 มีภาษีสรรพสามิต ปี 50-51 ยกเลิกแล้ว มีตัวเลขรายได้รวม รายได้ค่าสัมปทาน และเงินที่จ่ายให้รัฐดังนี้

 
ข้อมูลจากรายงานประจำปีของทีโอที (จำนวนเงิน: ล้านบาท)
 
ปี46
 
ปี 47
ปี 48
ปี 49
ปี 50
ปี 51
รวม
รายได้ทั้งหมด *
77,068
76,905
76,019
75,765
71,187
72,161
449,104
กำไรก่อนภาษี
17,525
17,010
10,821
11,308
8,911
8,231
73,807
รายได้ค่าสัมปทาน
10,051
10,846
9,286
9,650
17,365
19,463
76,661
จ่ายเงินนำส่งคลัง
4,000
-
-
-
-
-
4,000
จ่ายปันผล
1,500
4,500
10,166
5,508
1,002
5,511
28,187
จ่ายภาษี
(นิติบุคคล)
6,260
5,487
4,130
4,327
2,678
2,628
25,512
 
รวมจ่ายให้รัฐฯ
11,353
10,188
15,530
9,317
4,676
8,121
59,184

* รวมรายได้ค่าสัมปทาน

หมายเหตุ ปี 50 – 51 รัฐบาลขิงแก่ได้ยกเลิกภาษีสรรพสามิตสำหรับมือถือ

คุณสฤณีครับ ในส่วนของเงินนำส่งคลัง ผมเข้าใจว่าสาเหตุที่ปีต่อๆ มาไม่มี ก็เพราะทีโอทีพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แปรรูปเป็นบริษัท โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% เงินนำส่งคลังจึงมาเพิ่มในส่วนของเงินปันผลแทน

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือตัวเลขตามตารางมันแสดงให้เห็นว่า ในปี 50 และ 51 ที่รายได้ค่าสัมปทานเพิ่มจาก 9.2 และ 9.6 พันล้านบาทในปี 48,49 เป็น 1.73 และ 1.94 หมื่นล้านบาทในปี 50 และ 51 นั้น ทีโอทีกลับไม่ได้จ่ายเงินให้รัฐเพิ่มขึ้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 50 จ่ายลดลงจาก 9,317 ล้านบาทในปี 49 เหลือแค่ 4,676 ล้านบาทในปี 50 และ 8,121 ล้านบาทในปี 51

เพื่อนผมมันเอาตัวเลขมายันใส่หน้าจนพูดไม่ออกเลยครับ คุณสฤณี ว่านี่ไงผลของการยกเลิกภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม ทำให้รัฐขาดรายได้ คือแทนที่จะได้ภาษีสรรพสามิตจากเอไอเอส ราวๆ ปีละ 7-8 พันล้านบาท เป็นทางที่หนึ่ง บวกกับเงินปันผลและภาษีนิติบุคคลที่ทีโอทีต้องจ่ายให้รัฐ เป็นทางที่สอง พอรวมกันไปเข้าปากทีโอทีแล้ว ไหงมันหายไปปีละร่วมหมื่นล้านบาท

แถมรายได้และกำไรของทีโอทียังสาละวันเตี้ยลงๆ ด้วยซ้ำ บริหารกันอย่างไรไม่ทราบ

เพื่อนผมยังยกข้อมูลของ กสท. ที่ Nirvana ไม่ได้ค้นมาด้วย เป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์เท่าแต่สรุปคร่าวๆ ได้ว่าในปี 50 กสท.มีรายได้ค่าสัมปทาน 14,091 ล้านบาท จ่ายปันผลให้คลัง 3,740 ล้านบาท ปี 51 รับค่าสัมปทาน 15,097 ล้านบาท จ่ายปันผล 6,900 ล้านบาท ไม่มีตัวเลขภาษี แต่คงอีหรอบเดียวกัน

นั่นคือ จากที่กรมสรรพสามิตเคยได้ภาษีโทรคมนาคมจากทุกบริษัทรวมปีละ 16,000 ล้านบาท เหลือมูลค่าสุทธิเท่ากับศูนย์ ส่วนที่กระทรวงการคลังเคยได้เงินปันผลและภาษีนิติบุคคลจาก ทศท. กสท. ก็ยังได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ยังไงก็ไม่สามารถชดเชยที่เคยได้ 16,000 ล้านบาท

เพื่อนผมมันถามว่าใครกันแน่ทำให้ “รัฐ” เสียหาย “รัฐ” ในความหมายคือผลประโยชน์ประชาชน 60 ล้านคน ไม่ใช่ “รัฐวิสาหกิจ” ไทเกอร์สลีปอีท เงินเดือนโบนัสของคุณพ่อคุณแม่สหภาพ พนักงาน ผู้บริหาร ไม่กี่คน

ต่อให้ทักกี้ได้ผลประโยชน์ทับซ้อนผูกขาดยังไง ในเมื่อทักกี้หมดอำนาจแล้ว เอไอเอสก็ขายไปแล้ว ถ้าวันนั้นรัฐบาลขิงแก่ไม่ยกเลิก พรก.แปรสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลนี้จะยังได้เงินภาษี 16,000 ล้าน ไม่ต้องไปรีดภาษีน้ำมันให้เดือดร้อนชาวบ้าน หรือเดือดร้อนน้อยลง

คุณสฤณีครับ เจออย่างนี้ผมอึ้งไปเลย เป็นข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน ไอ้เจ้า Nirvana นักบัญชีโนเนม มันบอกในสิ่งที่คุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ณ TDRI ไม่เคยบอกต่อสาธารณชน ว่ายกเลิก พรก.แล้ว กระทรวงการคลังได้เงินภาษีน้อยกว่าเดิม ถูกละครับ ที่ว่าความเสียหายต่อรัฐที่เป็นตัวเงินมีมูลค่าสุทธิเท่ากับศูนย์ อธิบายได้ว่าจากกระเป๋าซ้ายย้ายไปกระเป๋าขวา จากกระเป๋าขวาย้ายมาคืนกระเป๋าซ้าย แต่ไอ้มือที่ล้วงกระเป๋านี่สิ คุณพ่อคุณแม่รัฐวิสาหกิจเค้าล้วงไปก่อนจนอิ่ม เหลือเศษให้เราเท่านั้น

ขออภัย ผมน่ะอยู่ฝ่ายเชียร์ ปชป. คือเชียร์คุณกรณ์ จาติกวณิช ให้แปรรูปการบินไทย ปล่อยให้ล้มละลายแบบ JAL แล้วให้เอกชนเข้าไปบริหาร โห พนักงานเงินเดือนเฉลี่ย 4 หมื่น มิน่า ถึงได้กล้าๆ ควักกระเป๋าซื้อข้าวกล่องครัวการบินไทยเลี้ยงพวกยึดสนามบิน (สันนิษฐานว่าควักกระเป๋า เขาคงไม่จิ๊กเอาเฉยๆ มั้ง)

1.3 คุณสฤณีครับ เพื่อนผมอีกคนเป็นนักกฎหมาย เมื่อผมเอาเอกสาร ดก.ของคุณสฤณีไปโต้กับเขา เขาก็แย้งมาจนผมงงไม่ใช่น้อย แต่พอจะลำดับความ (รู้น้อย) ได้ดังนี้ครับ

คือที่คุณสฤณีพูดถึงความเสียหายต่อประชาชนผู้บริโภคในระยะยาว ผลกระทบเชิงลบต่อแรงจูงใจของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดใหม่ๆ อาทิ 3G ซึ่งคงจะอ้างมาจากคุณสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ว่า พรก.แปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต กีดกันคู่แข่งรายใหม่นั้น

อันที่จริงผมก็เคยสัมภาษณ์คุณสมเกียรติ และฟังคุณสมเกียรติพูดมาหลายครั้ง คนรู้น้อยอย่างผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่ามันกีดกันรายใหม่ตรงไหน เพราะคุณสมเกียรติอ้างง่ายๆ ว่าผู้ประกอบการรายใหม่ไม่อยากเสียภาษี ถ้ามีรายใหม่เข้ามาจริง รัฐบาลทักษิณที่มีอำนาจ โดยรัฐมนตรีคลัง ก็อาจประกาศขึ้นอัตราจัดเก็บจาก 10% เป็น 20-30% ได้หน้าตาเฉย (?) ข้อกล่าวหา คตส.ก็บอกว่าทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่รายเดิมมีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีของตนได้ เอ๊ะ มันแปลว่าถ้ามีรายใหม่ แล้วจะไม่มีสิทธินำค่าสัมปทานไปหักจากภาษีหรือครับ (รายเดิมไม่ได้แปลว่าเอไอเอสเจ้าเดียว แต่รวมทั้งทรู ดีแทค ผมก็งงๆ อยู่เหมือนกันว่าทำไม คตส.สรุปว่า “ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส”)

อันนี้เราพูดถึงรายใหม่นะครับ เพราะเพื่อนผมบอกว่า ไอ้เรื่อง พรก.เนี่ย ทั้งทรูและดีแทคก็ไม่เคยโวยว่าทำให้เอไอเอสได้เปรียบ เขาโวยกันเรื่องค่า access charge และสัญญาที่ไม่เท่าเทียมต่างหาก แต่เรื่อง พรก. ถ้าจะว่ากีดกันรายใหม่ ก็คือกีดกันให้ทั้งทรู ดีแทค และเอไอเอส ประเด็นนี้ Nirvana ทำตารางให้ดูแล้วว่าจากปี 44-49 ผู้ใช้เอไอเอสเพิ่มจาก 3.2 ล้านเป็น 19.5 ล้าน ค่ายอื่นรวมกันเพิ่มจาก 1.4 เป็น 20.5 ล้าน เปอร์เซ็นต์การเพิ่มของค่ายอื่นสูงกว่าเอไอเอสเสียอีก รวมทั้งเปอร์เซ็นต์รายได้ที่ค่ายอื่นก็เพิ่มในอัตรามากกว่าเอไอเอสด้วยซ้ำ (โปรดดูข้อเขียนของ Nirvana ที่มีคนรวบรวมไว้ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jampoon&month=04-02-2010&group=3&gblog=1)

คำถามก็คือรายใหม่มันจะลอยมาจากไหน ไม่ต้องพูดถึงในทางธุรกิจ ซึ่งไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดแสดงความสนใจเข้ามาทำธุรกิจมือถือแข่งกับค่ายที่มีอยู่แล้ว 3 ค่ายใหญ่ ทักกี้, ซีพี, ดีแทค (ที่ก่อนขายให้นอร์เวย์คุณก็รู้ว่าเป็นนายทุนพรรคไหน)

เพื่อนผมที่เป็นนักกฎหมายตอบว่าลอยมาจากไหนล่ะครับ ก็ลอยมาจาก กทช.นะสิ

เขาอธิบายว่าประเด็นนี้ต้องกลับไปดูรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งกำหนดให้มี กทช.ขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมี พรบ.ออกมาเมื่อปี 43 รัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับนี้เป็นการ “เปิดเสรีโทรคมนาคม” โดยชัดเจน นั่นคือจากเดิมที่เรามีรัฐวิสาหกิจ ทศท. กับ กสท. เป็นทั้งผู้กำกับดูแล (Regulator) และเป็นผู้ปฏิบัติ (Operator) ต่อไปรัฐวิสาหกิจทั้งสองจะเหลือแต่บทบาทของผู้ปฏิบัติ แต่อำนาจในการกำกับดูแลไปอยู่ที่ กทช. ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขออกใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่

ฟังแล้วผมก็มึน แต่เขาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า จากเดิมที่ ทศท. กับ กสท. เป็นทั้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเอง และเป็นผู้ให้สัมปทาน โดยจัดสรรคลื่นความถี่ให้สัมปทานเอกชน เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 40 และ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ก็จะมี กทช.มาเป็นผู้จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการให้สัมปทานแทน ทศท.กับ กสท. จะมีฐานะเป็นเพียงผู้ประกอบการรายหนึ่ง เหมือนกับรายอื่นๆ เพียงแต่กฎหมายยกเว้นไว้ว่าไม่มีผลกระทบต่อสัมปทานเดิม (คือสัมปทานระหว่าง ทศท.กับเอไอเอส สัมปทานระหว่าง กสท.กับดีแทคและทรู)

คำถามว่ารายใหม่จะมาจากไหน จึงมาจาก กทช.นี่ไง เหมือนที่ กทช.กำลังจะออกสัมปทาน 3G อยู่ตอนนี้ เพียงแต่ตอนนั้นหลังมีกฎหมายลูกแล้ว กทช. ก็ยังเกิดไม่ได้ซักที ทุกคนก็รอ ระหว่างรอ ก็ไม่มีใครยื่นขอรายใหม่ แม้จะเกิด กทช.เมื่อปี 47 ก็ยังมีข้อถกเถียงทางกฎหมายสารพัดสาระเพ (เช่นต้องตั้ง กสช.ด้วย) ที่คุณสมเกียรติรู้ดี กทช.จึงยังออกสัมปทานไม่ได้

ฉะนั้น ในความเป็นจริง ปัญหาที่ทำให้ไม่เกิด “รายใหม่” จึงเป็นปัญหาที่ กทช. มากกว่าปัญหาภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม เพื่อนผมเขาฝากถามคุณสมเกียรติ ว่าถ้าวันนี้ยังมีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมอยู่ มันจะกระทบไหมกับการที่ กทช.ออกสัมปทาน 3G คุณสมเกียรติลองอธิบายให้ดูหน่อยสิว่ามันจะ “กีดกัน” อย่างไร

กลับมาที่การแบ่งค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ผมถามว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ เขาก็บอกว่าเพราะรัฐบาลมีนโยบายแปรรูป ทศท.กับ กสท. เป็นทีโอทีกับ CAT แล้วเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลถือว่าสัมปทานมีที่มา 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมาจากคลื่นความถี่ ที่เป็นของรัฐ ของประชาชน 60 ล้านคน ที่มอบให้รัฐวิสาหกิจไปจัดสรร อีกส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนลงแรงของ ทศท.กับ กสท.เอง จึงต้องแยกรายได้ 2 ส่วนนี้ออกจากกัน

แหม ตอนนี้นะ คุณสฤณีครับ เขาย้อนผมจนพูดไม่ออกเลยว่า ก็เหมือนที่คุณรสนา โตซิฯ กับพวกคัดค้านการเอา กฟผ.เข้าตลาดหุ้นโดยมีเขื่อนและสายส่งเข้าไปด้วย หรือ ปตท.เข้าตลาดหุ้นโดยมีท่อก๊าซและกรรมสิทธิ์ที่รัฐเวนคืนเข้าไปด้วย คลื่นความถี่เป็น “สมบัติชาติ” จะยอมให้เอาเข้าตลาดหุ้นไปได้อย่างไร รัฐบาลตอนนั้นจึงแยกรายได้ออกเป็น 2 ส่วน โดยอนุมานว่า 10% เป็นรายได้จากคลื่นความถี่ที่เป็นสมบัติชาติ ต้องเป็นของหลวง ต้องส่งเข้าคลัง ที่เหลือ 10-15% เป็นของมึง ถือว่าพวกมึงสร้างขึ้นลงทุนลงแรงทำขึ้น (ที่จริงยังมากไปด้วยซ้ำ เพราะไม่เห็นทำอะไรเลย)

ผมก็ย้อนมันจนขวยไปเหมือนกันครับ ว่าที ปตท.กับ กฟผ. ทำไมทักกี้ไม่ทำงี้มั่ง แล้วมีความจำเป็นอะไรที่ต้องเอาเข้าตลาดหุ้น ไม่เอาเข้าไม่ได้หรือ ตรงนี้มันกลับมาเถียงฉอดๆ อีกแล้วว่า ไม่ว่ามึงจะเป็น ทศท. หรือทีโอที มึงก็หมดสภาพจากการเป็น Regulator เพียงแต่กฎหมายยกเว้นให้สัมปทานที่ทำไว้แล้ว ฉะนั้นรายได้ที่ได้จากการเป็น Regulator เอาคลื่นความถี่ของส่วนรวมไปหากิน ไม่ใช่ได้จากการเป็น Operator ก็ควรจะแยกมาให้รัฐ ไม่ดีหรือ ก็เหมือนที่รสนาทวงค่าเช่าท่อก๊าซจาก ปตท.ยิกๆ ว่าจ่ายน้อยเกินควร

ไม่แน่เหมือนกันนะครับ คุณสฤณี ตอนนี้ TOT กับ CAT ก็มีสภาพเป็นบริษัทไปแล้ว แต่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ถ้ากระทรวงการคลังขายหุ้นให้เอกชนถือด้วยเมื่อไหร่ คุณรสนา คุณสารี ก็อาจต้องไปทวงค่าเช่าคลื่นความถี่ 10% ของรายได้ กลับมาเป็นภาษีสรรพสามิต ถ้าเกิดเรื่องอย่างนั้นเมื่อไหร่คงได้ฮากันทั้งบ้านทั้งเมือง

คุณสฤณีครับ เพื่อนผมที่เป็นพวก 2 ไม่เอา ที่เห็นว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเคยคัดค้าน พรก.ฉบับนี้มาเช่นกัน ถึงวันนี้เขาก็ยังมองย้อนหลังแล้วเห็นว่า ไอ้ พรก.แปรสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตนี่ ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรเลย และเป็นผลดีกับรัฐ เป็นผลดีกับส่วนรวม มากกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ตอนนั้นมันไม่ควรออกเป็น พรก. ซึ่งเป็นการใช้อำนาจบริหารอย่างรวบรัดลัดขั้นตอน ไม่เปิดให้มีการโต้แย้งทำความเข้าใจตามวิถีประชาธิปไตย

เราคงไม่มองผลประโยชน์ของคุณพ่อคุณแม่ ทศท. กสท. เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ของผู้บริโภค จริงไหมครับ ผม(อันนี้ผมจริงๆ นะ) ฟังคุณสมเกียรติทักท้วง กทช.เรื่องสัมปทาน 3G ว่าเกรงรายเก่าได้แล้วจะโยกผู้ใช้บริการจากสัมปทานเดิมไป 3G ทำให้ ทศท. กสท. ขาดรายได้ ฟังแล้วขัดหูอย่างไรไม่ทราบ ถ้าผมเป็นผู้บริโภคนะครับ มีของใหม่เรื่องไรผมจะงมโข่งกับของเก่า โยกไม่โยกผมก็ไปอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ ทศท. กสท. จะเจ๊งก็เรื่องของมัน ผมต้องไปรับผิดชอบไรด้วย

2. ประเด็นการแก้ไขสัญญา ลดส่วนแบ่งรายได้แบบพรีเพด จากเดิม 25% เป็น 20% ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 คุณสฤณีสรุปว่า ประโยชน์ส่วนเกินที่เอไอเอสได้รับ เท่ากับ 70,872 ล้านบาท เท่ากับส่วนแบ่งรายได้ที่ทีโอทีได้รับน้อยลง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 39,558 ล้านบาท

คุณสฤณีครับ ผมโดนเพื่อนแย้งอีกแล้วครับ ว่าคราวนี้ทำไมคุณสฤณีไม่พูดถึงความสมเหตุสมผล แต่ใช้เครื่องคิดเลขไปรวดเดียวเลย เพื่อนผมเขาแย้งว่า เดิมโทรศัพท์มือถือมีแต่แบบโพสต์เพด พอมีพรีเพดที่เป็นของใหม่ ซึ่งมีค่าใช้โครงข่ายน้อยกว่าโพสต์เพด ดีแทคก็เป็นเจ้าแรกที่ขอลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายของบริการพรีเพด จาก 200 บาทเป็น 18% ทีโอทีก็ยอมลดให้ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.44 โดยทรูมูฟได้สิทธิด้วย เอไอเอสจึงขอลดมั่ง ทีโอทีตั้งคณะทำงานพิจารณาแล้วให้ลดเหลือ 20% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. หรือหลังดีแทค-ทรูมูฟ 2 เดือน

เอไอเอสเคยออกมาโต้เมื่อปี 49 นะครับว่า การลดส่วนแบ่งรายได้ ดก. ดีแทคได้ประโยชน์ส่วนเกินไปถึง 47,762 ล้านบาท ถ้าคำนวณไปจนสิ้นสัมปทานจะเป็นเงินราว 2 แสนล้านบาท ทรูมูฟได้ประโยชน์ส่วนเกิน 21,311 ล้านบาท ถ้าคำนวณไปจนสิ้นสัมปทานจะเป็นเงินราว 1 แสนล้านบาท เพื่อนผมเขาถามว่าถ้าเราทวงประโยชน์ส่วนเกินจากทักษิณได้แล้ว จะมีใครไปทวงประโยชน์ส่วนเกินจากดีแทคทรูมูฟไหมครับ

คุณสฤณีครับ เป็นความจริงที่ว่าการลดค่าตอบแทน ดก. ทำให้ดีแทคกับทรูมูฟเสียค่าตอบแทนมากกว่าเอไอเอส (ดูเหมือนจะเป็น 25% กับ 20% ไม่แน่ใจ) เรื่องนี้มีที่มาจากสัญญาที่ไม่เท่าเทียม เกี่ยวกับค่า access charge หรือค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนักหรอก แต่เท่าที่เขาสรุปให้ฟังคร่าวๆ คือเอไอเอสของทักกี้มันทำสัญญากับ ทศท.เป็นรายแรกตั้งแต่ปี 33 โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าใช้คลื่นความถี่ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายค่าใช้เลขหมาย รวมกันทั้งหมด แล้วดีแทคก็ไปดิ้นรนทำสัญญากับ กสท. โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าใช้คลื่นความถี่อย่างเดียว แต่ไม่มีโครงข่ายและเลขหมาย ดีแทคต้องมาจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและค่าใช้เลขหมายกับ ทศท. เมื่อปี 37 ต่อมาก็มีทรูมูฟอีกราย

ถามว่ามันเท่าเทียมไหม ก็ไม่เท่าเทียม แต่มันเกิดขึ้นมาก่อนทักกี้จะเป็นนายกฯ แล้วครับ ทักกี้มันจะไปยัดใต้โต๊ะมาอย่างไรผมไม่ทราบ ทราบแต่ว่าตอนนั้นมันไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วไอ้ความไม่เท่าเทียมนี้มันก็ค้างคามา คือเอไอเอสจ่ายค่าสัมปทานให้ ทศท.รายเดียวต่อเดียว แต่ดีแทคทรูมูฟต้องจ่ายสองต่อ คือค่าสัมปทานให้ กสท. กับค่า access charge ให้ ทศท. ซึ่งเอไอเอสเขาก็พูดภาษาการค้าว่า มึงอยากได้สัมปทานเอง มึงไปยอมทำสัญญาเสียเปรียบมาตั้งแต่ต้น จะมาร้องแรกแหกกระเฌออะไร

มันฟังกวนๆ นะครับ แต่จริงของมัน เหมือนไอทีวีเจือกไปทำสัญญาสัมปทานค่าโง่แพงบรรลัย ขณะที่ช่อง 7 ได้สัมปทานถูกเป็นขี้ แล้วจะมาร้องแรกแหกกระเฌอทำไม มาขอแก้สัญญาทำไม ดันแก้ตอนทักกี้เป็นนายกฯ อีก เลยถูกยึดไปให้หย่องใช้ฟรี แถมเงินอีกปีละสองพันล้าน

อย่างที่บอกแล้ว ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ฟังว่ามันมีรายละเอียดเยอะ มีที่มาที่ไปของสัญญาที่ไม่เหมือนกัน คลื่นที่ไม่เท่ากัน (เอไอเอสเคยโต้ว่าดีแทคได้คลื่นไปตั้ง 75 MHz มากเกินจนเหมือนกีดกันรายใหม่-แน่ะ มันพูดเหมือนคุณสมเกียรติพูดเลย แถมบอกว่าเคยเอาไปให้ Samart เช่าช่วงด้วย)

ฉะนั้นพอสรุปง่ายๆ ว่าเอไอเอสได้เปรียบเพราะทักกี้เป็นนายกฯ เพื่อนผมมันก็ไม่ยอมรับ เขาบอกว่าต้องดูที่มาที่ไปของการแก้ไขสัญญาแต่ละครั้ง ไม่ใช่ คตส.เห็นการแก้ไขสัญญาครั้งไหน เหมือนเอไอเอสได้ประโยชน์ก็เอามาเหมาโหล บอกว่าเพราะทักกี้เป็นนายกฯ หาประโยชน์เข้าตัวเองหมด

เขายังให้ย้อนไปดูเมื่อปี 49 ที่รัฐบาลขิงแก่เข้ามา แก้สัญญาทั้ง 3 ค่ายให้เหมือนกัน คือพรีเพด เอไอเอสต้องเสียจาก 20% เป็น 25% เท่าค่ายอื่น แต่โพสต์เพด เอไอเอสได้ลดนะครับ จาก 30% เป็น 25% เท่าค่ายอื่นอีกเหมือนกัน ใช่ว่าเสียหมดซะเมื่อไหร่ (สัญญาเอไอเอสตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.48 เสียค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 30%)

ที่สำคัญนะครับ คุณสฤณีครับ ที่เขาแย้งผมจนพูดไม่ออกเรื่องแก้สัญญาพรีเพดคือ การแก้สัญญาครั้งนี้มีข้อกำหนดให้ลดค่าบริการให้ผู้บริโภคด้วย

เรื่องนี้เอไอเอสเคยออกมาโต้ เพื่อนผมก๊อปข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ปี 50 บอกว่าที่ทีโอทีอ้างว่าส่วนแบ่งรายได้ลดลงจากปี 44-49 เป็นเงินถึง 3.2 หมื่นล้านนั้น เอไอเอสมันแย้งว่า สัญญา ดก.ก็ทำให้เอไอเอสมีรายได้ลดลงถึง 2.74 ล้านบาทเช่นกัน เพราะข้อตกลงต่อท้ายสัญญา เอไอเอสต้องนำส่วนต่างไปลดค่าบริการให้ผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 44-48 และไม่ต่ำกว่า 10% ในปี 49-58

แต่ในความเป็นจริง เอไอเอสลดค่าบริการมากกว่าสัญญากำหนดด้วยซ้ำ คือลดลงทันที 10% ในปี 44 แล้วก็ลดถัดมาอีกปีละ 24% 35% 52% 56% 71% จนจากราคา 5.40 บาทต่อนาทีในปี 43 เหลือแค่ 1.31 บาทต่อนาทีในปี 49

เอไอเอสมันพูดแบบเล่ห์พ่อค้า จริงไหมครับ เพราะยิ่งลดราคาก็ยิ่งมีคนใช้มือถือกันกระหน่ำ และไม่ใช่ลดค่ายเดียว ลดทุกค่าย ตัวเลขคนใช้เอไอเอสจากปี 44 มี 3.2 ล้านคนเพิ่มเป็น 19.5 ล้านในปี 49 ค่ายอื่นจาก 1.4 ล้านเป็น 20.5 ล้าน รวมทุกค่ายจาก 4.6 ล้านเป็น 40 ล้าน ในยุคที่มีนายกฯ เป็นอัศวินคลื่นลูกที่สามชื่อทักกี้ พวกนักวิชาการ NGO ที่เสแสร้งเป็นฤาษีไม่พกมือถือคงด่าเช็ดว่าทำให้สังคมไทยตกเป็นทาสเทคโนโลยี

แต่คุณสฤณีครับ เพื่อนผมโต้ว่า คน 40 ล้าน ที่ใช้มือถือนาทีละบาทนาทีละ 50 ตังค์ ลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลกันตอนนี้ ต้องขอบคุณการที่ ทศท.ลดค่า access charge ให้ดีแทค และลดส่วนแบ่งค่าพรีเพดให้เอไอเอส เพราะที่ คตส.อ้างว่าทำให้ ทศท.เสียหาย 7 หมื่นล้าน หรือที่คุณสฤณีคำนวณว่ามูลค่าปัจจุบัน 3.9 หมื่นล้านนั้น ถ้าเราคำนวณทื่อๆ แบบเดียวกับที่ คตส.คำนวณ 8-9 ปีที่ผ่านมา สมมติเราใช้มือถือแค่ปีละ 500 นาที ทั้งหมดก็ 4,000 นาที ถ้าไม่มีการแก้ไขสัญญาเราก็ยังต้องเสียนาทีละ 3-5 บาท แต่มันลดลงมาเหลือนาทีละ 1-2 บาท คิดถัวขั้นต่ำลดลงนาทีละ 1 บาท เราก็ได้ประโยชน์ส่วนเกินแล้ว 4,000 บาท เป็นอย่างน้อย ใช่ไหมครับ

แล้วในทางตรงกันข้าม ใช่ว่า ทศท. กสท. จะมีรายได้ลดลง เพราะคนใช้มากขึ้น ค่าบริการก็มากขึ้น รายได้ของเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ก็มากขึ้น ส่วนแบ่งก็มากขึ้น จริงไหมครับ อันนี้นาย Nirvana เขาทำตารางเทียบให้ดูเลยว่า จากปี 45 ที่เอไอเอสจ่ายค่าสัมปทานและภาษี 5.4 พันล้าน ปีต่อมาเพิ่มเป็น 7.9, 10.1, 9.4 และ 8.9 ตามลำดับ 3 ปีแรกพุ่งกระฉูดเลย เพราะคนใช้เพิ่มขึ้นทันทีที่ค่าบริการลด

คุณสฤณีครับ ผมฟังแล้วเอามาชั่งน้ำหนัก ก็ไม่ใช่จะเชื่อเขาว่ามีแต่เรื่องดีนะครับ ส่วนตัวผมยังเห็นว่าการที่เอไอเอสได้แก้ไขสัญญาเมื่อปี 44 มันทำให้เอไอเอสได้เปรียบ และได้ประโยชน์จริง แต่การที่ คตส.เอามาคิดคำนวณแบบกำปั้นทุบหม้อดิน หรือตั้งบัญญัติไตรยางค์แบบเด็ก ป.4 มาคิดค่าเสียหายว่า ถ้ายังคงค่าสัมปทานเดิม ทศท.จะได้เท่านั้นเท่านี้ จึงถือว่าเสียหายเท่านั้นเท่านี้ มันง่ายไปมั้งครับ เพราะมันมีปัจจัยอีก 2 ประการคือ หนึ่ง สัญญามันไม่เท่าเทียมมาแต่เดิมแล้ว และสอง มันส่งผลให้เกิดการลดค่าบริการ ให้คนไทย 36 ล้านคนได้ใช้มือถือ การติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมสะดวกสบาย เอื้อต่อการพัฒนาอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

คุณสฤณีครับ ทักกี้น่ะมันเก่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน มันถึงชอบใช้คำว่า Win-Win ยกตัวอย่างเรื่องนี้คือ ทักกี้ได้ประโยชน์ รัฐได้ประโยชน์ ชาวบ้านได้ประโยชน์ เราจะแยกอย่างไรให้เห็นว่าตรงไหนที่ทักกี้ได้ประโยชน์ มันเป็นการบ้านที่ไม่ง่ายเหมือนบัญญัติไตรยางค์นะครับ

3. เนื่องจากข้อ 3 ของ คตส. คุณสฤณีเองยังมึน ผมก็ยิ่งมึน ไม่รู้มันโผล่มาจากไหน ต้องข้ามไปเหมือนคุณสฤณี คือข้ามไปข้อ 4 ซึ่งเพื่อนผมเขาบอกว่าอ่านแล้วก็ตลก เพราะ คตส.จะเอาผิดทักกี้ตั้งแต่การอนุมัติโครงการดาวเทียม การทำอะไรทุกอย่างหรือการแก้ไขสัญญาอะไรทุกอย่าง ขอให้ทำเถอะ ผิดหมด เพียงเพราะชินคอร์ปเป็นของทักกี้ (สรุปว่าห้ามยิงดาวเทียม จนกว่าจะพ้นตำแหน่งนายกฯ)

ที่คุณสฤณีเอามาคิดเฉพาะการยกเว้นภาษีก็ถูกต้องแล้วครับ ประเด็นน่าจะอยู่แค่นั้น แต่เขาก็แย้งอีกว่าที่ยกเว้นภาษี 16,459 ล้าน หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 12,776 ล้านนั้น ขอถามว่าถ้าทักกี้ไม่ใช่นายกฯ ไม่ได้นั่งหัวโต๊ะบอร์ดบีโอไอ แล้วรัฐบาลจะไม่ยกเว้นภาษีให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ แม้แต่สลึงเดียวเลยหรือ

ที่ผ่านมาก่อนไอพีสตาร์ ชินแซทยิงดาวเทียมไทยคมไป 3 ดวง เมื่อปี 36, 37 และ 40 ถามว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุนและได้รับยกเว้นภาษีไหม เท่าที่เพื่อนบอก ไทยคม 3 ได้ยกเว้นภาษีแบบเดียวกันเป๊ะ คือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของรายได้จากต่างประเทศ เป็นเวลา 8 ปี ไทยคม 1 และ 2 ไม่ได้ BOI และไม่ได้ยกเว้นภาษี เพราะรายได้ต่างประเทศมีไม่มาก

คุณสฤณีครับ ฟังอย่างนี้ก็ยุ่งแล้วสิครับ เพราะแปลว่ามันมีมาตรฐานเดิมมาก่อนที่ทักกี้จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่ว่าเป็นนายกฯแล้วลดภาษีให้บริษัทตัวเองมากกว่าเดิม อาจมีข้อแม้อยู่อย่างคือคุณสฤณีต้องไปสืบค้นว่าตอนลดภาษีให้ไทยคม 3 นั้นทักษิณเป็นรองนายกฯ อยู่หรือเปล่า เข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวแบบลดค่าเงินบาทหรือเปล่า ถ้ายังงั้นก็ต้องยุ คตส.ให้ยึดทั้งภาษีที่ยกเว้นให้ไทยคม 3 และไอพีสตาร์เลยสิครับ

แต่เพื่อนผมโต้อีกนั่นแหละว่า คู่แข่งเช่นดาวเทียมฮ่องกง เขาก็ยกเว้นภาษีรายได้จากต่างประเทศให้ ไม่ต้องขอด้วยซ้ำ แถมภาษีรายได้ในประเทศเขาก็เสียน้อยกว่าเรา ฉะนั้น การลดภาษีเพื่อช่วยให้แข่งขันกับต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผล

นอกจากนี้เขายังแย้งอีกนะครับว่า 16,459 ล้านไม่ใช่วงเงินที่ได้ยกเว้นภาษีจริง คือใน 8 ปียกเว้นให้สูงสุด 16,459 ล้าน แต่ถ้ารายได้ไม่ถึง กำไรไม่ถึง สัดส่วนที่จะเสียภาษีก็น้อยลง จากวงเงิน 16,459 ล้าน จริงๆ อาจยกเว้นภาษีไม่ถึงหมื่นล้านก็ได้ (เอ๊ะ แล้วยังงี้ รอให้ครบ 8 ปี ค่อยคำนวณ “ประโยชน์ส่วนเกิน” ได้ไหม)

4.คุณสฤณีครับ ยรกด. เพื่อนผมเขาชมคุณสฤณี ที่บอกว่ากรณีเงินกู้พม่า ไม่มีข้อมูลว่าถ้าเอ็กซิมแบงก์ไม่ปล่อยกู้ รัฐบาลพม่าจะยังซื้อของชินแซทอยู่หรือไม่ ซื้อในเงื่อนไขใดราคาใด (แต่ลงท้ายคุณสฤณีก็ไปสรุปตามคุณสมเกียรติอยู่ดี)

ส่วนตัวผมน่ะเชื่อแน่ว่า ทักกี้มันต้องกระซิบบอกเผด็จการทหารพม่า ว่าถ้าจะลงทุนระบบโทรคมนาคมต้องซื้อของอั๊ว แล้วอั๊วจะให้กู้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเวลาเจบิ๊กเจสมอลล์มันให้เงินกู้ไทย มันก็ไม่ได้บอกให้ไปซื้อของไอ้กัน หรือใช้บริษัทสี่แสงของคุณบรรหารก่อสร้างหรอก มันต้องโอบายาชิ นิชิมัทสึ ฯลฯ จริงไหม

สมมติให้กู้แล้ว พม่ามันไม่เบี้ยว ส่งเงินต้นดอกเบี้ยครบ มันจะซื้อของชินแซทหรือของสามารถ ประเทศชาติก็ไม่ได้เสียหาย จริงไหม ตรงกันข้าม ถ้ามันไปซื้อของสิงคโปร์โตก ซื้อของไอ้ยุ่น แบบไหนจะดีกว่า

อันนี้ผม เอ๊ย เพื่อนผม (ลืมไป) ก็ไม่ใช่จะตะแบงว่าทักกี้ทำถูกหรอกนะครับ มันไม่เหมาะสมอย่างยิ่งอยู่แล้วสำหรับคนเป็นผู้นำประเทศ แต่มันจะผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องดูเปรียบเทียบกับการที่แบงก์ปล่อยกู้แล้วหนี้สูญ ซึ่งก็ต้องถามอีกนั่นแหละว่ามันสูญหรือยัง ถ้ายัง จะพูดได้อย่างไรว่าเป็นความเสียหายต่อรัฐ

คุณสฤณีครับ นี่แหละคือความอัดอั้นคับข้องใจของผม ที่ไปเถียงสู้เขาไม่ได้ เลยต้องเขียนจดหมายมาหาคุณสฤณี โดยไม่เรียกร้องให้คุณสฤณีตอบ แต่อยากให้ คตส.หรือคุณสมเกียรติชี้แจงข้างเดียวก็ได้ ว่าเอ๊ะ ไอ้การมี พรก.แปรค่าสัมปทานเป็นภาษี กับไม่มี ตกลงอย่างไหนมันดีกว่าแน่ เพราะตอนนี้ชาวบ้านชาวช่องเริ่มกังขาแล้วว่า มีซะยังดีกว่า อย่างน้อยก็ได้เงิน 16,000 ล้านเข้าคลัง รวมทั้งไอ้การแก้สัญญาให้เอไอเอส ที่ชาวบ้านเห็นๆ กันว่าโทรมือถือนาทีละ 3 บาท 5 บาทลดเหลือ 1 บาท (ผมไม่ได้ใช้เอไอเอสนะครับ ผมใช้ทรู แต่ได้อานิสงส์ไปพร้อมกัน จำได้ว่าเมื่อก่อนนาทีแรก 5 บาท เดี๋ยวนี้นาทีละบาท)

ขอเรียนว่าผมเนี่ยอยากเห็นทักกี้โดนยึดทรัพย์หมดตูดจริงจริ๊ง แต่กลัวว่า คตส.กับคุณสมเกียรติชี้แจงแล้วฟังไม่ขึ้น เลยต้องทักท้วงด้วยความปรารถนาดี

เมื่อวันที่ 16 ที่ผ่านมา ผมยังซื้อลอตเตอรี่เลขท้าย 3 ตัว 726 เลยนะครับ (ใบละ 100 ยุคศีลธรรมจ๋าไม่เอาหวยบนดิน) เพราะถือเคล็ด 7.6 หมื่นล้าน วันที่ 26 แถมทักกี้ยังเกิดวันที่ 26 กรกฎาด้วย

ที่ไหนได้ ผมตีผิด เลขท้าย 3 ตัวดันออก 026 จังๆ เลย อยากเขกหัวตัวเอง ผมน่าจะตีว่าวันที่ 26 เหลือจู๋น - จู๋น จ๋อง หก

แหม ไม่งั้นคงได้ชวนไปเลี้ยงข้าวซักมื้อ

                                                                                                                      ขอแสดงความนับถือ
                                                                                                                            ใบตองแห้ง
                                                                                                                            22 ก.พ.53

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net