การพัฒนาระบบโลจิสติกส์รถไฟทางคู่ กับปัญหาการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟ (จบ)

การพัฒนาโลจิสติกส์ไทยกรณีรถไฟทางคู่ที่หวังลดต้นทุนการขนส่ง และโครงสร้างหนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยทีมีอยู่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งนโยบายระดับบนเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟที่ทางรัฐมองว่าขวางเส้นทาง


ชุมชนริมทางรถไฟ

ในอดีตทางรถไฟเป็นเส้นทางหลักในการขนถ่ายสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงสีข้าว จะอยู่ใกล้ริมทางรถไฟเพราะสะดวกในการขนถ่ายสินค้าและลดต้นทุนของผู้ผลิต ทำให้บริเวณริมทางรถไฟเป็นศูนย์กลาง การแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเป็นเหตุให้มีการบุกเบิกที่ดินรถไฟเพื่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยน ประกอบธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร เช่น บริเวณกาดเก๊าจาว เป็นต้น หรือกลุ่มผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานสร้างเป็นบ้านพักชั่วคราวบริเวณชุมชนรถไฟเชียงใหม่ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่ทำงานรถไฟเองก็บุกเบิกทำที่พักของตน

ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา มีการสร้างถนนสู่ชนบท ความสำคัญของการขนส่งก็อยู่ที่ถนน ทางรถไฟเริ่มหมดความสำคัญลง แต่ชุมชนริมทางรถไฟที่เริ่มถือกำเนิดขึ้นยังอยู่ต่อมาโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก จนกระทั่งเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเริ่มส่อเค้าออกมาให้เห็น กล่าวคือ จากการพัฒนาที่เน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดคนที่อพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ได้เกิดการกระจุกตัวในเขตเมือง  ทำให้เกิดการอพยพเข้ามาหางานทำของแรงงานจากทั้งในจังหวัดและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสูญเสียที่ดินให้แก่นายทุน

 

เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาในเมืองกลายเป็นแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งบางส่วนไม่มีที่อยู่อาศัยคนเหล่านี้ต้องเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินว่างเปล่า ทั้งที่ของรัฐและเอกชน จนกลายเป็นชุมชนเมืองที่มีสภาพความเป็นอยู่อันไม่พึงประสงค์ ไม่ได้รับการบริการระดับพื้นฐานจากทางภาครัฐทั้งความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า น้ำประปา และการบริการทางด้านสาธารณะสุข ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมาทำให้ที่ดินของการรถไฟทั้งที่มีชุมชนอยู่เดิมกับที่ดินที่ยังรกร้างว่างเปล่ามีผู้เข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ดังจะยกตัวอย่างของกรณีชุมชนรถไฟสามัคคี จ.เชียงใหม่[1]

 

ชุมชนรถไฟสามัคคี อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 11 ไร่ 77 ตารางวา ชาวบ้านเริ่มเข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินบริเวณนี้เมื่อประมาณ 40 กว่าปีมาแล้ว สถานที่ตั้งของชุมชนอยู่ที่ถนนรถไฟ ต.วัดเกตุ แขวงกาวิละ มีบ้าน 97 หลังคาเรือน จำนวน 220 ครอบครัวจำนวนประชากรทั้งหมด 310  คน

 

เมื่อปี 2510 มีบ้านอยู่เพียง 3 หลัง ต่อมาภายในปี พ..2538 รถไฟได้ทำการสำรวจชุมชนพบว่ามีบ้านอยู่ 70 หลังคาเรือน ปี 2542 ได้ทำการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่ามีจำนวนบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 97 หลังคาเรือน

 

ชาวบ้านที่เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงแรกเล่าว่า เขาเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด เดิมทีอาศัยอยู่บริเวณ สันป่าข่อย หน้าปั๊มน้ำมันเชลส์ ถนนเจริญเมือง ปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินผืนดังกล่าว โดยไม่เสียค่าเช่าให้เจ้าของซึ่งเป็นคนจีน ต่อมาในปี 2506 เจ้าของที่ดินต้องการที่ดินผืนนี้จึงได้บอกล่วงหน้าให้ชาวบ้านย้ายออกประมาณ 3-4 เดือนและจ่ายค่าขนย้ายออกทั้งหมด 20 หลัง (ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ มุงตอง) ส่วนใหญ่ที่ถูกไล่จะย้ายไปอยู่ที่ชุมชนทิพย์เนตร มีเพียงหลังเดียวที่ย้ายมาอยู่บริเวณนี้ เพราะว่าพ่อของเขาทำงานเป็นกรรมกรของการรถไฟคอยแบกของขึ้นรถไฟ ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้สถานที่ทำงาน และตอนที่ย้ายมาอยู่ที่นี้มีบ้านปลูกอยู่ก่อนแล้ว 2 หลัง

 

ชุมชนนี้เริ่มหนาแน่นขึ้นเป็นระยะๆ ตามสถานการณ์ที่มีการไล่ที่ในเชียงใหม่ อาทิเช่น ถูกไล่ที่บริเวณหลังโรงเรียนดาราวิทยาลัย, จากบริเวณสันนาลุงซึ่งย้ายเพราะสู้ค่าเช่าบ้านไม่ไหว และย้ายจากต่างถิ่นเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง

 

อาชีพส่วนใหญ่ของชุมชนคือการเป็นลูกจ้างขั้นต่ำที่มีรายได้น้อย อาชีพขายแรงงาน กรรมกรก่อสร้าง แบกหาม ล้างรถไฟ เก็บขยะขาย ฯลฯ อาชีพขายบริการต่างๆเช่นเด็กเสริฟ แม่ค้าขายของชำทั้งในและนอกชุมชน พนักงานขายตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ และยังมีอีกหลายอาชีพที่หลากหลายและเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง เป็นอาชีพของคนจนผู้มีรายได้น้อย

 

กล่าวโดยสรุป พื้นที่การรถไฟที่มีมากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ ประกอบกับองค์ประกอบของพื้นที่ในอดีต และผลจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2500 ก่อให้เกิดชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศที่มีลักษณะต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขช่วงเวลาและสถานที่ของพื้นที่หนึ่ง ก่อกำเนิดชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีวิถีชีวิตแบบหนึ่งขึ้นมานั้นเอง ชุมชนนี้ได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับสถานีรถไฟที่พวกเขาอยู่ บางสถานที่ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ให้แก่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและการรถไฟฯได้นำไปโฆษณาขาย แต่บางสถานที่ดูเหมือนว่าจะเป็นรำคาญสายตาของการรถไฟฯเพราะขวาง "การพัฒนา" จนนำมาสู่การฟ้องร้องไล่ลื้อที่ของชาวบ้าน

 

ทำไมต้องไล่ลื้อชุมชนริมทางรถไฟ

 

แผนการพัฒนาด้านทรัพย์สินๆได้แยกประเภทที่ดิน  คือ ที่ดินที่ใช้ในกิจการเดินรถไฟ จำนวน 198, 674.76 ไร่ และที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับกิจการรถไฟ จำนวน 36,302.19 ไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ที่ดินศักยภาพสูงจำนวน 7,547.32 ไร่ เช่น ที่บริเวณย่านพหลโยธิน รัชดาภิเษก มักกะสัน และริมแม่น้ำ 2.ที่ดินศักยภาพกลางจำนวน 7,218.12 ไร่ และ 3.ที่ดินศักยภาพต่ำจำนวน 21,536.80 ไร่[2]

         

การรถไฟมีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่มากและพื้นที่ดังกล่าว บางส่วนได้เกิดเป็นชุมชนริมทางรถไฟ เมื่อแผนพัฒนาการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทยเน้นการขนส่งระบบรางมากขึ้น ประกอบกับการรถไฟฯมีหนี้หนี้สินเงินกู้ที่คงค้างอยู่ 7 หมื่นล้านบาทนั้นทำให้กระทรวงคมนาคมต้องการที่ดินการรถไฟมาใช้ให้เกิดประโยชน์คือใช้ทำระบบทางคู่และนำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำให้เกิดมูลค่าโดยการให้เอกชนเช่า

           

นายนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีคมนาคม กล่าวว่า "...ต้องนำที่ดินที่มีอยู่มาพัฒนาโดยให้เอกชนเช่าและคิดค่าผลตอบแทนที่คุ้มค่า ส่วนสัญญาเช่าเดิมที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นสัญญา จะต้องจัดระเบียบและเร่งจัดเก็บผลตอบแทน เพื่อที่จะนำรายได้มาแบ่งเบาภาระค่าบำนาญปีละกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเดิมรายได้จากการพัฒนาทรัพย์สินถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ดินที่มีอยู่ โดยมีรายได้เฉลี่ยปีละ 1.6 พันล้านบาท นอกจากนั้น จะต้องเร่งแก้ปัญหาผู้บุกรุก และกำหนดแนวทางป้องกันการบุกรุกที่เข้มงวดด้วย"[3]

           

ด้วยเหตุนี้การฟ้องไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟจึงเข้มข้นเรื่อยนับตั้งแต่ปลายปี 2552 ชุมชนที่ขวางการทำโครงการรถไฟถูกฟ้องแม้ในขณะที่กำลังเจรจากัน ดังกรณีของการสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ - ตลิ่งชันชุมชนกว่าสิบชุมชนโดนไล่รื้อขณะเจรจาอยู่

           

มูลเหตุของเรื่องนี้ เกิดจากการจัดทำโครงการรถไฟชานเมือง เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการแก้ไข ปัญหาผลกระทบด้านการจราจรให้กับชาวกรุงเทพมหานคร  สายสีเขียว สายสีเขียวเข้ม มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการ สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง มอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนโครงการรถไฟสายสีแดงทั้ง 3 สายคือ บางซื่อ-มักกะสัน บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชั้นนั้น มอบหมายให้การรถไฟเป็นผู้ดำเนินการโดยมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการสำรวจ ตั้งแต่ปี พ..2550 โดยบริษัท ทีมคอนซัลติ้งแอนด์เมเนจเม้น จำกัดบริษัทแอสดีคอน คอร์ปเปเรชั่น จำกัด บริษัทเทสโก้ จำกัด บริษัทแอพซิลอน จำกัด บริษัท เอสคิว อาร์ชิเทคแอนด์แปนเนอร์จำกัด บริษัทดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัทอิเลคโทรวัตต์อินฟรา (ประเทศไทยจำกัด) บริษัทนอร์คอลซัลท์ ซีวิล เอนจิเนียร์ริ่งจำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา การดำเนินการนั้นบริษัทที่ปรึกษาระบุแผนการพัฒนาชัดเจนซึ่งชาวบ้านเองไม่ได้ ขัดขวางการพัฒนา เพียงแต่อยากขอแบ่งปันพื้นที่ที่เหลือจากการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟโดยการเช่า เพียงแต่เจ้าของที่ดินคือการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่ามีโครงการต่างๆลงในพื้นที่และต้องใช้เพื่อพัฒนาเต็มพื้นที่ ตามแผนซึ่งข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบโครงการจากแผนของสำนักนโยบายและการขนส่ง จราจรของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจ้างบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวมาศึกษาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ พบว่ายังมีพื้นที่เหลือให้ชาวชุมชนอยู่อาศัย โดยชุมชนจะขอจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่และปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงจะขอเช่าที่ดินกับการรถไฟให้ถูกต้อง แต่การรถไฟไม่เห็นด้วยและยังมีการออกหมายศาลไล่รื้อ - ดำเนินคดีกับชาวชุมชน ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบที่มาที่ไปของโครงการ จึงมีการชุมนุมที่กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินการรถไฟสายสีแดง 222/2552 ขึ้นมา แต่ปรากฎว่าการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้นั้นไมได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร เนื่องจากมีการไล่รื้อดำเนินคดีเรื่อยๆ ระหว่างการเจรจา[4]

           

นอกจากนี้ยังมีกรณีไล่ฟ้องรื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้เอกชนเช่าตามนโยบายที่กระทรวงคมนาคมดังที่กล่าวไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่การรถไฟฯบิดเบือนสัญญาเช่าของชาวบ้านบริเวณ ตลาดเก๊าจาวเพราะอยากให้เอกชนเช่ามากกว่า[5]

           

ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่าง เพราะถ้าจะยกตัวอย่างการฟ้องไล่ชาวบ้านของการรถไฟฯคงไม่มีพื้นที่เพียงพอ เพราะเชื่อว่าคงมีหลายกรณีมาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลมาจากนโยบายระดับประเทศที่ผูกผันทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนรวมทั้งตัวชาวบ้านทั่วไป มักมองข้าม มองว่ามันใหญ่เกินไป มองว่าไม่เกี่ยวกับตัวเรา แท้ที่จริงแล้วนโยบายระดับบนย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านระดับล่างเสมอ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ฉะนั้นแนวทางออก ผู้เขียนเสนอว่า แทนที่พวกเราจะวิ่งเต้นแก้ไขปัญหาจากนโยบาย(ซึ่งล้าสมัย) เราควรเข้าไปมีส่วนในการกำหนดทิศทางการออกนโยบายตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกยาว

 

สรุป

           

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทยกรณีรถไฟทางคู่ที่มุ่งหวังจะลดต้นทุนการขนส่งเพื่อสนับสนุนการอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม และโครงสร้างหนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยทีมีอยู่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งนโยบายระดับบนเหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาการไล่รื้อชุมชนริมทางรถไฟที่ทางรัฐมองว่าขวางเส้นทาง (ขวางการพัฒนา) การแก้ปัญหาที่มุ่งไล่ลื้อมากกว่ารอมชอมให้เช่าเพราะ ร...ต้องการที่ดินให้เอกชนประมูลเช่า การประมูลเช่าจะทำให้ ร...ได้รายได้ที่มากกว่าการให้ชุมชนเช่า บทความนี้เป็นความพยายามเล็กๆ ที่จะชี้ให้เห็นว่าการใช้ที่ดินของการรถไฟของชุมชนส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่การบุกรุกอย่างไร้เดียงสาหรือเห็นแก่ตัว สิ่งที่รัฐและ ร...ต้องคำนึงคิดความรับผิดชอบต่อคนเหล่านี้ให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคมอันพึงสมควรได้รับเหล่านั้น เพราะคนเหล่านี้คือรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเมือง อย่างน้อยให้ได้มีที่ดินอยู่อาศัย ซึ่งที่ดินของการรถไฟมีเพียงพอที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่(เพราะยังมีที่ดินอยู่อีกมาก) ถ้าจัดสรรแบ่งปันการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ดี(มีที่ให้ชุมชนอยู่ มีที่สำหรับเพื่อพาณิชย์ หรือเพื่อเช่า ฯลฯ)  เชื่อได้ว่าปัญหาโครงสร้างหนี้ของการรถไฟจะถูกแก้ไขอย่างเร็ว การวางระบบรางเพื่อลดต้นทุนการขนส่งก็จะสำเร็จแบบไม่ไร้มนุษยธรรม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ปัญหาก็ยิ่งน้อยลง.

 

อ้างอิง
 

[1] เอกสารการขอเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยของชุมชนรถไฟสามัคคีพัฒนา จ. เชียงใหม่ , ( 8 สิงหาคม พ..2552)


[2]
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , "ครม.ศก.อนุมัติงบ 1 แสนล้าน ปฏิรูปการรถไฟ" [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา.   
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/policy/20091111/85942 ,(11 พฤศจิกายน พ..2552)

[3] "คมนาคมชงแผนพัฒนาที่ดินรถไฟ 3.6 หมื่นไร่ ผลักหนี้7หมื่นล้านให้รัฐรับภาระ ถกครม.เศรษฐกิจวันนี้" [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา. http://www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=16837(11 พฤศจิกายน พ.. 2552)

[4] "เวทีเสวนาปัญหาผลกระทบจากโครงการระบบรถไฟชานเมือง"รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ - ตลิ่งชัน" [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา. http://www.thaingo.org/xboard/viewthread.php?tid=589 (8  มกราคม พ..2552)

[5] อ่านรายละเอียดที่ "ชุมชนริมทางรถไฟเมืองลำปางชุมนุม ทวงสัญญาเช่าที่การรถไฟหลังถูกเบี้ยว", [ระบบอ้างอิงออนไลน์].แหล่งที่มา. http://newspnn.com/detail.htm?code=n2_20012010_01 (20 มกราคม พ.. 2553).

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท