สภาทนายแนะรัฐส่งมนุษย์เรือโรฮิงญากลับพม่าในฐานะ "เหยื่อค้ามนุษย์"

ไทยส่ง 29 โรฮิงญากลับบังคลาเทศ ขณะโรฮิงญาจากพม่าส่อเค้าเจอกล่อมกลับประเทศ ด้านสภาทนายความแนะส่งกลับในฐานะเหยื่อค้ามนุษย์ เชื่อพม่าน่าจะยินดี

สุรพงษ์ บรรยายภาพการส่งชาวโรฮิงญากลับบังคลาเทศ

(18 ก.พ.) ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น และกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ แถลงข่าวถึงความคืบหน้ากรณีทหารเรือของไทยจับกุมชาวโรฮิงญาได้ 84 คน และส่งตัวไปยังตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่จังหวัดระนอง เมื่อเดือนมกราคม 2552 ว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยถูกตัดสินว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และให้ ตม.รับตัวเพื่อส่งกลับ โดยหลังได้รับเรื่องร้องเรียน สภาทนายความได้เข้าให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกระบวนการทางกฎหมายและประสานงานกับประเทศต้นทาง

นายสุรพงษ์ระบุว่า ชาวโรงฮิงญาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาจากประเทศบังคลาเทศและพม่า ในส่วนของบังคลาเทศนั้น ภายหลังถูกจับกุมได้แสดงความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ จึงได้มีการประสานงานกับประเทศบังคลาเทศเพื่อตรวจสอบเอกสารแสดงตน โดยพบว่ามีเอกสารยืนยันจริง วานนี้ (17 ก.พ.) ชาวโรฮิงญาเชื้อสายบังคลาเทศ 29 คนจึงได้ถูกส่งตัวไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อทำการผลันดันส่งกลับแล้ว โดยสายการบิน BIMAN Airway เที่ยวบินที่ BG089 เวลา 15.00น. และเดินทางถึงบังคลาเทศในช่วงเย็นวันเดียวกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกลุ่มที่มาจากพม่าว่า หลังจากมีข่าวการจับกุม ทางพม่าได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ไม่ใช่คนพม่าและจะไม่ยอมรับกลับ ขณะเดียวกัน ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ก็ขอไม่กลับพม่าเช่นกัน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากก่อนเดินทางมาก็ถูกทำร้ายร่างกาย

ด้านนายนัสเซอร์ อาจวาริน ผู้จัดการมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ฯ สภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กลับมีชาวโรฮิงญาแสดงเจตจำนงให้ผลักดันไปที่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเขาเองตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ชาวโรฮิงญาได้ขอไม่กลับพม่า แต่ทำไมภายหลังกลับมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ทราบมาว่ามีการให้ข้อมูลกับชาวโรฮิงญาที่ ตม. ว่าขอให้เปลี่ยนใจเดินทางกลับ นอกจากนี้ ในภาวะถูกกดดันพวกเขาคงต้องการอิสรภาพ ดังนั้น รัฐจึงควรสร้างความเข้าใจกับพวกเขาและให้ความช่วยเหลือพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัย ให้ได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับข้อเสนอในการแก้ปัญหา นายสุรพงษ์ เสนอว่า รัฐบาลไทยควรประสานงานกับประเทศต้นทางในการดูแลคนเหล่านี้ตั้งแต่ก่อนมาจนถึงการส่งกลับ ซึ่งในกรณีบังคลาเทศก็สำเร็จด้วยดี ขณะที่กรณีพม่า เขาเสนอว่า แม้พม่าจะไม่ยอมรับพิสูจน์สัญชาติ แต่ก็ยังมีช่องทางส่งกลับในฐานะเหยื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งเขาเชื่อว่า พม่าจะรับกลับ เพราะที่ผ่านมา พม่าได้รับเหยื่อค้ามนุษย์ทั้งผู้หญิงและเด็กซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยงและไทใหญ่กลับประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมีองค์กระหว่างประเทศเข้าให้ความช่วยเหลือตลอดกระบวนการ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหากพม่าไม่ยอมรับกลับ และมีข้อมูลว่าคนเหล่านี้มาจากพม่าแน่นอน พวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ลี้ภัยและคนไร้สัญชาติ ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศในการส่งต่อไปยังประเทศที่สามต่อไป

นอกจากนี้ เขากล่าวว่า สภาทนายความมีข้อมูลอย่างชัดเจนว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หากมีการดำเนินการจัดการอย่างจริงจัง ปัญหาการค้ามนุษย์-เข้าเมืองผิดกฎหมายก็จะหมดไป โดยสภาทนายความยินดีส่งข้อมูลทั้งหมดให้ แต่ปัจจุบันรัฐก็ยังไม่เคยขอข้อมูลหรือทำการสืบสวนชาวโรฮิงญาเหล่านี้

นายสุรพงษ์ย้ำด้วยว่า หากมีกลุ่มใหม่เข้ามาอีก สิ่งที่รัฐทำต้องไม่ใช่แค่การผลักดันกลับประเทศ ซึ่งเทียบเท่ากับการส่งเสริมและสนับสนุนขบวนการค้ามนุษย์ต่อไปเรื่อยๆ แต่ต้องจับกุม เพื่อให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ไม่มีใครอยากกลับเข้ามาอีกเพราะรู้ว่าจะต้องถูกส่งกลับ เขาเล่าว่า ที่ผ่านมา เมื่อมีเรือขนาดใหญ่บรรทุกคน 100 คนเข้ามา เจ้าหน้าที่จะผลักดันออกไปทางทะเล จากนั้นจะมีเรือเล็กลอบกลับเข้ามาอีกเพื่อผ่านไปยังมาเลเซีย และเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าไม่รู้เรื่อง เพราะถือว่าได้เคยส่งกลับไปแล้ว

เขาเล่าว่า ปัจจุบันมีโรฮิงญาจากพม่าซึ่งถูกควบคุมตัวที่ ตม. และถูกเกลี้ยกล่อมให้กลับพม่า โดยอาจมีการลอบส่งกลับทางเส้นทางธรรมชาติไปแล้ว ซึ่งการทำแบบนี้ พม่าไม่ได้รับรู้ด้วย คนเหล่านั้นอาจถูกทหารพม่าจับและทรมาน หรือพยายามจะกลับเข้ามาในไทยอีก เท่ากับการส่งพวกเขากลับสู่ขบวนการค้ามนุษย์เช่นเดิม ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่แก้ปัญหาโดยผลักเรื่องไปให้พ้นตัว เพราะไม่เช่นนั้น ชาวโรฮิงญาก็จะกลับเข้ามาอีก

สำหรับการลักลอบเข้ามาในประเทศไทยทางทะเลนั้น นายสุรพงษ์ให้ข้อมูลว่ามีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมีลักษณะเป็นขบวนการใหญ่ในช่วง 3 ปีหลังนี้ โดยเรียกว่า Boat People หรือมนุษย์เรือ ซึ่งจะมากับเรือใหญ่บรรทุกคนประมาณ 100 คนต่อลำ เพื่อลักลอบต่อไปยังมาเลเซีย ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยเมื่อจับได้ก็จะผลักดันออกไป และมีชุดใหม่เข้ามาไม่สิ้นสุด จนเมื่อเดือนธันวาคม 2551 สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้เสนอข่าวทหารเรือไทยผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปทางเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นการปล่อยพวกเขาไปสู่ความตาย ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลไทยออกมาปฎิเสธการกระทำดังกล่าว แต่บีบีซีก็มีภาพยืนยัน ทำให้ไทยเสียภาพพจน์ จนเมื่อมีจับกุมโรฮิงญากลุ่มดังกล่าวได้ ก็มีการนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นครั้งแรก รวมถึงได้รับการส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย เนื่องจากบางส่วนถูกทหารพม่าทำร้ายร่างกาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท