Skip to main content
sharethis
ภาพจากนิทรรศการศิลปะ "การเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอาศัยอยู่แบบชั่วคราว
และการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"
 
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีการเสวนาวิชาการ เรื่อง การเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอาศัยอยู่แบบชั่วคราว และการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
ฤดีรัตน์ เดชประยูร จากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน เล่าว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายพิสูจน์สัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า โดยขั้นตอนในการพิสูจน์ของคนลาวและกัมพูชาจะทำในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตจะทำเป็น one stop service คือพิสูจน์สัญชาติแล้วทำพาสปอร์ต วีซ่าได้เลย ขณะที่ขั้นตอนของพม่า จะต้องข้ามไปฝั่งพม่า โดยมีสองคำถาม ที่อาจส่งผลต่อการได้สัญชาติคือ 1.สนับสนุนการปกครองของประเทศพม่าหรือไม่ และ 2.เป็นโรฮิงญาหรือไม่ เพราะโรฮิงญานั้นคือชนเผ่าชายแดนที่ถูกกำหนดพื้นที่ให้อยู่ หากข้ามแดนออกไป จะเสียสิทธิการอยู่ในราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม เธอย้ำว่า เมื่อพวกเขาพิสูจน์สัญชาติและทำพาสปอร์ตแล้ว ก็จะมีสิทธิเหมือนคนต่างชาติที่ถือพาสปอร์ตทั่วไป ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติ ก็จะอยู่ในการดูแลของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
มีคำถามว่า กรณีพิสูจน์สัญชาติพม่าจะต้องแบ่งกลุ่มเชื้อชาติหรือไม่ ฤดีรัตน์ กล่าวว่า หม่องมิ้น รัฐมนตรีของพม่า ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยินดีพิสูจน์ทุกเผ่าทุกเชื้อชาติ โดยไม่มีการแบ่งแยก อย่างไรก็ตาม หากมียื่นคำร้องพิสูจน์สัญชาติไปแล้วทางพม่าไม่ตอบก็แปลว่าไม่รับพิสูจน์ ซึ่งบุคคลนั้นก็จะมีสิทธิอยู่ในประเทศได้จนถึงปี 2555 ขณะที่ผู้ที่กลัวและไม่กล้าเขียนใบพิสูจน์ เพราะกลัวว่าญาติพี่น้องที่พม่าจะถูกระรานก็ไม่ต้องเขียน แต่คนเหล่านี้ก็จะต้องอยู่ในประเทศ ไปไหนไม่ได้ และอยู่ภายใต้การดูแลของ สมช.
ด้านชมัยพร สินธุประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวยืนยันว่า ไม่มีการเลือกปฎิบัติระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ กระทรวงได้ให้การคุ้มครองเท่ากันหมด โดยยกตัวอย่างคดีที่มีลูกจ้างต่างด้าวถูกล่อลวงมาเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ศาลก็ได้สั่งจำคุกนายจ้าง 8 ปี ไม่รอลงอาญา นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2553 กระทรวงยังมีเป้าหมายให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิตามกฎหมายด้วย
วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เล่าถึงสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการว่า แม้ในกฎหมายประกันสังคมจะไม่ได้เขียนว่า ไม่คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ แต่นายจ้างก็มักไม่นำคนงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อลดต้นทุน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ ไม่จ่ายเบี้ยขยันและไม่มีระบบลาคลอด เพราะคนงานเหล่านี้ไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจต่อรอง
เธอมองว่า ในแง่กฎหมาย แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยต้องได้รับการคุ้มครองเท่ากับแรงงานไทย อาทิ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานได้นั้นขัดกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และ มาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากนี้แล้วยังมีสิทธิในกฎหมายประกันสังคม และ พ.ร.บ. ความปลอดภัยในสถานประกอบการ ที่ควรแก้ไขให้คนงานเหล่านี้เข้าถึงด้วย
วิไลวรรณเสนอว่า เมื่อปฎิเสธไม่ได้ว่าไทยต้องการแรงงานราคาถูก หรือแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลก็ควรจะมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ว่าจะให้เขาอยู่อย่างไร จะดูแลเขาอย่างไร จะมีหรือไม่มีเงื่อนไขอย่างไร
ทั้งนี้ เธอเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก รวมถึงลดค่าใช้จ่ายค่าบริการในการพิสูจน์สัญชาติลงและลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น ให้มีการพิสูจน์สัญชาติพม่าในประเทศไทยเช่นเดียวกับการพิสูจน์สัญชาติลาวและกัมพูชา ให้หน่วยงานรัฐจัดการพิสูจน์สัญชาติให้โดยไม่ต้องผ่านนายหน้า เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และนำเงินเหล่านั้นไปดูแลแรงงานข้ามชาติทั้งในด้านการศึกษาและสุขภาพ 
เอกชัย ปิ่นแก้ว เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ระบบข้อมูลสถานะบุคคลของไทยยังไม่เป็นระบบดีพอ ทำให้บางคนอาจมีเอกสารหลายชนิด ขณะที่ตำรวจบางคนก็ขาดความเข้าใจ อีกทั้งในบางพื้นที่มีนโยบายการกวาดล้าง การทำงานจึงซับซ้อน โดยแต่ละฝ่ายขาดระบบการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปัญหาขึ้น
เอกชัย แสดงความเห็นว่า การพิสูจน์สัญชาติที่เป็นข้อท้าทายที่สุดคือ พม่า ซึ่งมีคนที่ระบุว่าตัวเองเป็นพม่าแล้วถูกตีกลับจำนวนมาก ในอนาคต จึงน่าจะหาวิธีการประสานงานระหว่างรัฐ เช่นประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ ยังอยากให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งกำลังจะใช้กันเร็วๆ นี้ บรรจุเรื่องของแรงงานซึ่งมีคุณูปการต่อเศรษฐกิจและประเทศ ให้เป็นวาระแห่งชาติด้วย เพื่อให้เกิดการเสวนาเชิงลึกและการจัดการระบบให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
น้องดาว แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ เล่าว่า เข้ามาทำงานในไทยเป็นคนงานในบ้านมา 2 ปีกว่าแล้ว โดยเริ่มต้นได้ค่าจ้าง 3,500 บาทต่อเดือน และไม่รับอนุญาตให้ออกไปไหน จนปี 52 ได้ขึ้นทะเบียนแรงงาน คิดว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ ซ้ำยังไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพหรือที่ทำงานได้ ทำให้เธอต้องทำงานบ้านที่เดิมต่อไป ทั้งนี้ เธอกล่าวเสริมด้วยว่า ไม่ได้อยากทำอะไรที่ผิดกฎหมาย อาจมีบางครั้งที่เผลอข้ามไปนอกเขต ก็กลับกลายเป็นผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่ได้ไปปล้นใครหรือทำอะไรผิด
เธอบอกว่า เพื่อนๆ ของเธอก็มีความกังวล เพราะถ้าไม่พิสูจน์สัญชาติก็จะต่อบัตรทะเบียนแรงงานไม่ได้ และอยู่ได้แค่ 4 ปีก็จะถูกส่งกลับ หลายคนต้องใช้หนี้เท่าตัว จากกู้เงินมา 10,000 บาทก็ต้องคืน 20,000 บาท ทั้งยังถูกเจ้านายโกงค่าแรง เวลาเพียง 4 ปีคงไม่พอจะเก็บกลับบ้าน จะให้ไปสร้างชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดก็คงเป็นไปไม่ได้
อนึ่ง งานสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ "นิทรรศการศิลปะการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบไร้ถิ่นพำนัก การอาศัยอยู่แบบชั่วคราวและการไม่มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่แน่นอนของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" โดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) และสตูดิโอซัง (Studio Xang) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดา
นิทรรศการภาพศิลปะครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้สะท้อนความมีตัวตนและการดำรงอยู่เพื่อการทำงานหาเลี้ยงชีพผ่านผลงานศิลปะที่มีทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพวาดลายเส้น วิดีโอ และการแสดงในรูปแบบต่างๆ โดยจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 15-28 กุมภาพันธ์ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซ.ทองหล่อ สุขุมวิท 55 กรุงเทพมหานคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net