Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
 
13 ก.พ.53 - มีการจัดงานรำลึกถึง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2549 ขึ้นที่ People Space แกลเลอรี่ โดยกนกพงศ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายทั้งบทกวี เรื่องสั้น และความเรียง โดยหนังสือรวมเรื่องสั้น "แผ่นดินอื่น" ได้รับรางวัลซีไรท์ในปี พ.ศ. 2539
 
ในงานนี้ สกุล บุณยทัต อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม กล่าวถึงงานเขียนของกนกพงศ์ ว่าเป็นเหมือนการพูดคุยกับตัวตนลึกๆ ที่อยู่ด้านในของมนุษย์ และมีการพยายามทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่เรามองข้ามหรือมองไม่เห็น งานเขียนของกนกพงศ์ ถือได้ว่ามีการมองโลกด้วยสายตาที่เป็นแบบองค์รวม
 
"การเดินทางที่ไกลสุด ยากลำบากที่สุดของมนุษย์ คือการเดินทางเข้าไปภายในหัวใจนั่นเอง" สกุล บุณยทัต กล่าว
 
สกุล กล่าวอีกว่าคนยุคสมัยนี้ไม่ค่อยมองในแง่ของสุนทรียศาสตร์ ในแง่ของความงามสักเท่าไร ทั้งที่รายละเอียดของชีวิตเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง กนกพงศ์ เขียนงานโดย 'คิดให้มาก' ถึงรายละเอียดของชีวิต ขณะที่นักเขียนสมัยปัจจุบันมัก 'คิดมาก' จนกลายเป็นกังวลมากเกินไป "เราต้องค้นพบมิติของตัวเองเสียก่อน ต้องเข้าใจตนเองให้ได้เสียก่อน"
 
000
 
 
 
 
 
หนุ่มสาวเอย พวกเธอจงเสพย์ การอ่าน’ !?
ในงานยังมีการเสวนาเรื่อง "คนหนุ่มสาวอ่านอะไร" โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ สิทธิเดช โรหิตะสุข อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ, ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร, แก้วตา ธัมอิน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ biothai และมี วัตร ไพรภัทรกุล นักศึกษา ม.กรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
สิทธิเดช โรหิตะสุข อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ กล่าวถึงโครงการรักการอ่านที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมในปัจจุบันว่า การบอกว่าคนไทยยังคงอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เนื่องจากพรมแดนของ 'ตัวหนังสือ'ในยุคปัจจุบันขยายไปมากกว่าการอ่านด้วยวิธีเดิมๆ
 
สิทธิเดช บอกอีกว่าหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันอ่านตามความสนใจและเสรีภาพเฉพาะบุคคล ขณะเดียวกันก็เปรียบเทียบกับสังคมไทยใน 'ยุคแสวงหา' ว่า หนุ่มสาวในยุคนั้นจะมีการอ่านสิ่งที่เปรียบเสมือน 'มันสมอง' (Think Tank) ของสมัยนั้นเช่นวรรณกรรมในกลุ่มเพื่อชีวิต หรือเรื่องราวอะไรที่มันถูกกดทับ บั่นทอน ปิดกั้น เช่นเรื่อง กงจักรปีศาจ เนื่องจากในยุคนั้นเป็นยุคมืด
 
"เขาอ่านอะไรที่มันขับเคลื่อนสังคมในขณะนั้น เพราะในสมัยนั้นเรื่องวรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม กับเรื่องสังคม การเมือง ล้วนเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงเข้าหากัน" สิทธิเดช กล่าว
 
ก่อนพูดถึงการอ่านสมัยปัจจุบันว่าความที่มันหลากหลายมากขึ้นทำให้เหมือนเป็น 'โลกที่กระจัดกระจาย' ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าอ่านอะไร มีการเปรยขึ้นมาในวงเสวนาว่า หมายความว่าหนุ่มสาวปัจจุบันปัจเจกกันมากขึ้น ทำให้สิทธิเดชตั้งคำถามต่อว่า "แต่มันจะอยู่ในระดับปัจเจกชนจนจับต้องอะไรไม่ได้เลยหรือ"
 
ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการนิตยสาร ปาจารยสาร กล่าวว่าปัจจุบันหนุ่มสาวรอบตัวเขาอ่านสิ่งที่ดูเกี่ยวข้องกับสังคมแล้วนำมาถกเถียงกัน ขณะที่คนที่อ่านเรื่องเกี่ยวกับก็อสสิป แฟชั่น แล้วนำมาถกเถียงกันมีจำนวนน้อย
 
"มันน่าสนใจว่า พวกเขา 'ได้อ่าน' อะไรมากกว่า" ธิติ กล่าว โดยยกตัวอย่างว่าทุกวันนี้ยังคงมีหนุ่มสาวที่อ่านแถลงการณ์ พคท. (พรรคคอมมิวนิสท์แห่งประเทศไทย) นิตยสารฟ้าเดียวกัน หนังสือกรณีสวรรคตฯ เว็บไซต์ New Mandala เป็นต้น
 
แก้วตา ธัมอิน เจ้าหน้าที่มูลนิธิ biothai เปิดเผยว่า อยากให้มีการทำวิจัยให้ละเอียดกว่านี้ในเรื่องการอ่าน ไม่ใช่แค่ทำโดยเฉลี่ยรวมออกมา โดยน่าจะมีการแบ่งหมวดเช่น หนุ่มสาวอ่านอะไร ประเภทไหนบ้างด้วย โดยคุณแก้วตามองว่าประเภทของการอ่านมันขึ้นอยู่กับว่าเขาอยู่ในชุมชนรูปแบบไหน และจะมีการอ่านในสิ่งที่อยู่ในกระแสของกลุ่มเพื่อน
 
 
เมื่อสื่อใหม่ (New Media) เข้ามามีบทบาท
สิทธิเดช มองว่า สื่อใหม่ หรือ New media เป็นช่องทางการอ่านที่ขยายจากร้านหนังสือไปสู่โลก Cyber เช่นมีการตั้งกระทู้ถึงหนังสือที่แสดงความคิดเห็นได้ง่ายกว่าเดิม โดยเขามองว่า 'การอ่าน' ไม่ใช่แค่เรื่องของการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งๆ จบอย่างเดียว แต่หมายถึงต้องมีการพูดคุยถกเถียงหลังจากนั้นด้วย
 
"การอ่านไม่ได้ความว่าเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วก็ปิด จบ ถือว่าเราเป็น Reader" สิทธิเดช กล่าว "แต่การอ่านมันคือการพูดคุยกันหลังการอ่าน ...ที่นั่ง ๆ อยู่ (ในที่เสวนา) ตรงนี้ก็กำลังอ่านกันอยู่"
 
สิทธิเดชเสริมว่า ทุกวันนี้มีพื้นที่เท่าทันการอ่านมาก มีเสรีภาพในการถกเถียงแสดงความเห็นมากขึ้นกว่ายุคก่อน
 
ธิติ กล่าวขอบคุณนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ออกงานแล้วประกาศให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน มันทำให้คนขวนขวายหาพวกหนังสือต้องห้ามมาอ่านมากขึ้น นำมาถกเถียงกันมากขึ้น แม้ว่าหนังสือเหล่านั้นจะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลก็ตาม
 
ธิติ บอกว่า ตัวเขาไม่ค่อยซีเรียสว่าคนจะอ่านน้อยลงหรือเปล่า ไม่คิดมากเรื่องการที่สารจะถูกย่อยหรือถูกแปรรูป บางครั้งอาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เช่น ถ้าสาร (message) บางอย่างอยู่บนบิลบอร์ดโฆษณาข้างทางด่วน แล้วย่อยข้อมูลจากหนังสือ 'ฟ้าเดียวกัน' ออกมาเป็น 3 บรรทัดให้อ่านก็เป็นเรื่องดี
 
"ทุกพื้นที่มันมี message เพียงแต่มันเป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่" ธิติกล่าว
 
ด้าน สิทธิเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีสื่ออื่น ๆ ที่เป็นช่องทางเผยแพร่หนังสือให้คนรู้จัก เช่นในภาพยนตร์เรื่อง 'รักที่รอคอย' (October Sonata) มีการกล่าวถึง 'สงครามชีวิต' ของ ศรีบูรพา ทำให้หนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบันได้รู้จักและสนใจของศรีบูรพาด้วย เพราะความเป็นหนุ่มสาวในแต่ละยุคสมัยอาจมีการขาดช่วง ทำให้ไม่รู้จักงานเขียนของอีกยุค สิทธิเดชให้ความเห็นอีกว่าการกระจายตัวที่เร็วขึ้นของข้อมูล อาจทำให้การอ่านมีมากขึ้นตามไปด้วย เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในสถิติ
 
 
 
ธุรกิจโฆษณากับสิ่งพิมพ์
ธิติ บรรณาธิการนิตยสารปาจารยสาร ออกตัวว่าไม่ได้ต่อต้านบริโภคนิยม แต่สนับสนุนการบริโภคในแบบที่ให้พื้นที่กับคนคิดต่างมากขึ้น และไม่ได้คิดว่าธุรกิจมาแทรกแซงอะไร ขณะเดียวกันก็คิดว่าสปอนเซอร์ทางธุรกิจมันยังมีความตรงไปตรงมาว่ามันคือการโฆษณา ยังดีกว่าการแอบแฝงปลูกสร้างวาทกรรมบางอย่างเช่นเรื่องชาติ เรื่องศีลธรรม เรื่องศาสนา ที่มีผลต่อคนเสพย์รุนแรงกว่า
 
 
การอ่านขบวนการคนหนุ่มสาว?
สิทธิเดช เชื่อว่าการอ่านที่ทำให้นหนุ่มสาวรู้สึกอยากเคลื่อนไหว หรือออกมาทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับสังคมจะยังคงมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าต้องการให้ถึงขั้นออกมาตามท้องถนนแบบ 14 ต.ค.2516 ยุคสมัยนี้เป็นยุคที่แต่ละคนขับเคลื่อนในสิ่งที่ตนเองสนใจ และบางคนอาจเคลื่อนไหวที่บ้านด้วยซ้ำ ซึ่งยุคสมัยก่อนก็ไม่ได้มีทางเลือกมากเท่าสมัยนี้
 
ขณะที่แก้วตาเสนอว่า ภาพการเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวในสมัยก่อนเป็นภาพที่ใหญ่และดูชัดเจนกว่า ขณะที่ในปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่คนต่างขับเคลื่อนในสิ่งที่ตนเองสนใจ มีทางเลือกมากขึ้น มีความหลากหลายกว่า ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวแบบเป็นปัจเจกเช่นนี้ก็ทำให้มีอะไรร่วมกันมากขึ้น
 
 
แล้วหนุ่มสาวสมัยนี้ ฉาบฉวยไปไหม?
สิทธิเดช ให้ความเห็นว่า แม้ในยุคปัจจุบันจะสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยความเร็วมากกว่า แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ ทำให้ไปบอกว่ายุคสมัยนี้ฉาบฉวยไม่ได้ เพราะแม้ความเร็วในการส่งข้อมูลจะเปลี่ยนไปแต่ก็ยังสื่อสารกันรู้เรื่อง
 
สิทธิเดช กล่าวอีกว่า พอเราเห็นหนุ่มสาวในยุคสมัยนี้มีญหาเรามักจะผลักให้เป็นปัญหาของทุนนิยมทุกครั้ง เช่น พอเห็นเด็กแห่ไปรับนักร้องที่สนามบิน, เด็กโชว์หวิว, เด็กตกแต่งอวัยวะเพศ ก็มองว่าเป็นปัญหา แล้วก็โบ้ยว่าเป้นปัญหาที่เด็กรู้ไม่เท่าทันทุนนิยม บริโภคนิยมบ้าง ตรงนี้ต้องตั้งคำถามกับมัน เพราะมันอาจไม่ได้เป็นปัญหาเชิงทุนนิยม แต่เป็นเรื่องรสนิยม หรือสุนทรียส่วนตัว
 
ทางด้านแก้วตา ตั้งคำถามว่าการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวอ่านมากขึ้น หมายความว่าจะทำใก้หนุ่มสาวเป็นคนดีตามไปด้วยหรือเปล่า และกับคนที่ไม่อ่านหนังสือจะถือว่าเขาเป็นคนไม่ดีหรือ?
 
"หนังสือเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง" แก้วตา กล่าว
 
ธิติ เสนอว่า มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการอ่าน แต่เป็นเรื่องของการลงไปเป็นเพื่อนด้วย ถ้ามัวแต่ผลิตซ้ำเรื่องความเป็นคนหนุ่มสาวอย่างเดียว ไม่ได้ดัดแปลงเรื่องความเป็น 'พลเมือง' ด้วย วาทกรรมที่มาครอบงำก็เชยไปแล้ว
 
"อ่านหนังสือแล้ว ก็ต้องทำอย่างอื่นด้วย" สิทธิเดช กล่าวเสริม
 
000
 
นอกจากนี้ยังมีการอ่านบทกวี "ลุกไหม้สิ! ซิการ์!" ของ 'ชาย ชาลา' และต่อด้วยการเสวนา ‘บทบาทกวีบนพื้นที่ทางการเมือง’ โดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที และ วาด รวี
 

ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
 
 
ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
แม้เช เกวาร่า มิใช่คนจุด
สานทางศรัทธาคุณค่ามนุษย์
หยุด! ยาพิษอภิสิทธิ์ชน
 
ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
ท้าทายอยุติธรรมเกลื่อนกล่น
เราเป็นคน!
เราเป็นคน!
เราทุกคน!
ไม่มีความยากจนเป็นของใคร
 
ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
จุดน้ำตาแล้วลุกไหม้
จักผ่านคืนมืดคว้างได้อย่างไร
หากแผลภายในยังร่ำร้อง
 
ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
เสมอภาคเสมอหน้านั้นถูกต้อง
ตรวนดึกดำบรรพ์ที่จำจอง
ผองเราจงปลดไป!
 
ลุกไหม้สิ! ซิการ์!
ทะลุทะลวงปวงเทวาแห่งยุคสมัย
ทุบทำลายความกลัวในหัวใจ
หาญจุดไฟจนไหม้ฟ้า
 
ลุกไหม้สิ!
ลุกไหม้สิ!
 
วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า...
ทุกคนเป็นประชาชนคนธรรมดา
ที่งดงาม ชั่วช้า เก่งกล้า โง่เง่า - เท่าเท่ากัน!
 
 
ชาย ชาลา
รำลึกกนกพงศ์ สงสมพันธ์ุ
13 กุมภาพันธ์ 2553
 
 
 
 
 
 
ภาวะ หวั่นคุมเชิง’ ในวงวรรณกรรม และสภาพแวดล้อมที่ถูกบังคับให้เลือกข้าง
ในการเสวนา ‘บทบาทกวีบนพื้นที่ทางการเมือง’ วาด รวี เริ่มต้นนำบทกวี จากหนังสือรวมบทกวี 'ป่าน้ำค้าง' ของกนกพงศ์ ขึ้นมาอ่านให้ฟัง และร่วมกันตีความ โดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที ให้ความเห็นแบบอ้อมๆ ว่า กนกพงศ์ ก็เป็นประชาชนไทยคนหนึ่งที่อยู่ในเงื่อนไขบางอย่างตามรัฐธรรมนูญ หรือโครงสร้างของเมืองไทยที่ 'ผียังไม่เจาะผ้า'
 
มีการพยายามบีบคั้นในวงคุยให้แสดงทัศนะออกมาว่า หากกนกพงศ์ยังคงมีชีวิตอยู่เขาจะเป็นฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ไม้หนึ่งตอบว่า เขาไม่ได้พูดปรักปรำ เพียงแค่ตั้งข้อสงสัยว่าสภาพแวดล้อมอาจผลักดันให้เขาต้องเลือกข้าง ขณะเดียวกันก็บอกว่าศัตรูของเสื้อแดงไม่ใช่เสื้อเหลือง แต่คือกลุ่มอำมาตย์
 
หากเปรียบกับยุทธจักรของโกวเล้ง "...คนในวงการ (วรรณกรรม) ไม่เป็นตัวของตัวเอง" ไม้หนึ่งเปรยไว้ช่วงต้นของการเสวนา และขยายความในเวลาต่อมาว่า ในปัจจุบันเขามีคนในวงการคุยด้วยน้อยมาก และเกิดภาวะ 'หวั่นคุมเชิง' กันในวงการ เกิดการหวาดระแวงกัน
 
ด้านวาด รวี ให้ความเห็นว่างานของกนกพงศ์ แสดงถึงการพยายามต่อสู้ทางชนชั้นในอีกระดับหนึ่ง โดยมีการพยายามสะท้อนการกดขี่ การตกเป็นเบี้ยล่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมและวิธีคิดแบบชนชั้นกลาง แบบเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมาใช้
 
 
ไม้หนึ่งชี้ ศิลปินควรเรียนรู้สรรพวิชา
ไม้หนึ่ง ตอบคำถามนี้ว่า จริง ๆ แล้วนักเขียนก็มีสิทธิที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ควรทบทวนด้วยว่าเขาได้สิทธินั้นมาอย่างไร "มีอยู่ 3 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ตราบใดที่คุณยังไม่เป็นเซียน หรือ อรหันต์ คือเรื่องการเมือง, เศรษฐกิจ และ ศิลปวัฒนธรรม"
 
"ผมเรียกร้องสรรพวิทยาในวงการกวี" ไม้หนึ่งกล่าว โดยขยายความว่า นักศิลปวัฒนธรรมในบ้านเราถูกจัดตั้งให้อยู่แยกส่วนให้อยู่แค่กับเรื่องเดียว แต่จริงๆ แล้วควรจะมีความรู้ในด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งนี่ถือเป็น 'ความหลากหลาย' ที่แท้จริง ไม่ใช่ความหลากหลายในความหมายของ NGOs
 
"นักศิลปวัฒนธรรมของเราไม่เริ่มต้นจากข้อเท็จจริง" ไม้หนึ่งกล่าว "คุณอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์บ้างก็ได้ ไปจีบสฤณี (อาชวานันทกุล) เพื่อให้รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์บ้างก็ได้"
 
ขณะเดียวกัน ไม้หนึ่ง ก็ได้แสดงทรรศนะโดยให้ความสำคัญกับกวี โดยบอกว่ากวีเป็นจุดแข็งของมนุษยชาติ ถ้ากวีได้เรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ ด้วยจะไปได้ไกลว่าทุกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net