Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุก่อนอ่าน –จดหมายฉบับนี้คุณทิวา พรหมสุภา เป็นผู้ลงมือพิมพ์และเรียบเรียงด้วยตนเองทั้งหมด โดยเนื้อหาด้านล่างมาจากมิตรสหายผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ต้องการสื่อสารถึงสังคมไทย เพิ่มเติมไปจากรายงานของผู้อื่นที่ผ่านมา

เรียนศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

หลังจากที่ศูนย์ข่าวฯได้เผยแพร่ข่าวการกดดันส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่บ้านหนองบัวและอุสุทะ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 24 ม.ค. 2553 เรื่องราวของพวกเราก็เป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นในสังคมไทย จากรายงานข่าวต่าง ๆ เราพบว่า ทั้งนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐไทยรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร มีความเข้าใจตรงกันกับเราอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ  "ผู้ลี้ภัยจะได้อนุญาตอยู่ในประเทศไทยในขณะที่ยังคงมีอันตรายอยู่ในบ้านของตน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะต้องกลับบ้าน"

เราเห็นด้วย เราเพียงแต่ขอพักอาศัยในประเทศไทยเพื่อหลบภัย เราไม่มีความประสงค์จะอยู่ในเมืองไทยต่อไปแน่นอนหากว่าภัยคุกคามนั้นสลายไปแล้ว ความตั้งใจของผู้ลี้ภัยทุกคนก็คือจะกลับบ้านของตนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราและท่านอาจเข้าใจหรือมีมุมมองไม่ตรงกัน ก็คือประเด็นที่ว่า สถานการณ์ที่เหมาะสมปลอดภัยเพียงพอต่อการกลับคืนถิ่นของเรานั้นเป็นเช่นไร และอีกประเด็นหลักที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ยืนยันว่า พวกเราบางคนได้เดินทางกลับถิ่นฐานไปแล้วโดยสมัครใจเอง ตรงนี้ เราก็อาจเข้าใจคำว่า "ความสมัครใจ" ต่างกัน

เราจึงอยากขอชี้แจงผ่านศูนย์ข่าวฯ สู่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และสังคมไทย ดังต่อไปนี้

เกี่ยวกับพวกเรา

1. ผู้ลี้ภัยหนองบัวและอุสุทะนั้นอพยพมาเมื่อปลายพ.ค.-ต้นมิ.ย. 2552 พร้อมกันก็จริง แต่ก็มาจากหลายหมู่บ้านที่ทั้งสภาพดั้งเดิมและปัญหาปัจจุบันต่างกัน เล่อป่อเฮออยู่ในเขต KNU ในขณะที่หมู่บ้านอื่นอยู่ในเขต DKBA หรือในพื้นที่อำนาจทับซ้อน การตัดสินใจของคนบ้านหนึ่งว่า "กลับบ้านได้แล้ว" หรือ "ไม่กลับ" จึงไม่สามารถถือเป็นคำตอบของคนทั้งหมดได้

2. ผู้ลี้ภัยหลายคนไม่ได้เพิ่งลี้ภัยมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก และทุกครั้งที่หลบภัยมาเราก็กลับบ้านไปอย่างรวดเร็ว ดังเช่นเมื่อ ธ.ค.2543 ที่เล่อป่อเฮอถูกเผา เรากลับไปสร้างหมู่บ้านใหม่ในอีกเพียงหนึ่งเดือนถัดมาเมื่อที่กองทัพพม่า/DKBA กลับไป หากสถานการณ์ขณะนี้แตกต่างออกไป เราจึงยังไม่สามารถกลับบ้านได้โดยง่าย

3. การที่เราลี้ภัยมา เราไม่ได้ปรารถนาให้ประเทศไทยต้องรับภาระแต่ผู้เดียว หากเราแสวงหาความคุ้มครองระหว่างประเทศ (international protection) ปัจจุบันความช่วยเหลือต่าง ๆ ล้วนมาจากองค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศ และสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ( UNHCR ) ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้ความคุ้มครองเราหากรัฐไทยอนุญาตเปิดทางให้

เกี่ยวกับ "สถานการณ์ที่เหมาะสมและปลอดภัย"

1. สำหรับพวกเราแล้ว สถานการณ์ที่ปลอดภัย ไม่ใช่เพียงเมื่อการสู้รบยุติโดยฝ่ายหนึ่งยึดพื้นที่ได้ และไม่ได้วัดได้ด้วยการกลับไปยืนในพื้นที่ชั่วขณะและยังมีชีวิตรอด แต่หมายถึงการที่เราจะสามารถไป "ใช้ชีวิตปกติ" อยู่ได้อย่างปลอดภัย ภัยคุกคามชีวิตของเราจึงรวมถึงกับระเบิด การบังคับใช้แรงงาน การบังคับเกณฑ์ลูกหาบ และทหารรวมทั้งทหารเด็กด้วย

2. สำหรับชาวบ้านเล่อป่อเฮอที่อยู่ติดฐานที่มั่น KNLA (กองทัพของ KNU) กับระเบิดเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง การที่ทหารไทยมองว่าชาวบ้านน่าจะเคยชินกับกับระเบิดอยู่แล้วก็มีส่วนจริง เพราะเราอยู่ในภาวะสงคราม แต่ในการสู้รบ พ.ค.-มิ.ย. 2552 ที่ผ่านมา กองกำลังทั้งสองฝ่ายได้วางกับระเบิดเพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบและเส้นทางเข้าเล่อป่อเฮอ.......

อ่านจดหมายฉบับสุดท้ายทั้งฉบับ click : http://gotoknow.org/file/ngaochan/CBNA_59.doc

"เราขอขอบคุณประเทศไทยที่ได้ให้ที่พำนักแก่เราในยามยากลำบาก เราไม่ปรารถนาให้รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติต่อเราอย่างพิเศษ หากเพียงแต่ยึดหลักมนุษยธรรม และหลักการกลับคืนถิ่นฐานโดยสมัครใจ ปลอดภัย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นหลักสากลโลก

ท้ายสุดนี้เราหวังว่าประชาชนไทยจะเข้าใจว่า ตราบใดที่การกดขี่ข่มเหงและสงครามระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนเผ่ายังไม่ยุติ การกลับคืนถิ่นของเราแม้โดยสมัครใจก็อาจไม่ยั่งยืนเต็มที่ เนื่องจากความรุนแรงอาจแผ่ขยายมาในพื้นที่นี้อีกเมื่อไรก็ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net