Skip to main content
sharethis

จากการที่องค์กรพัฒนาเอกชนและนักสิทธิมนุษยชนได้ออกมาคัดค้านและเรียกร้องให้ทหารยับยั้งการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่าในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับสู่ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ซึ่งมีกำหนดจะส่งกลับใหม่หมดภายในวันที่ 15 ก.พ.โดยได้มีการยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการสิทธิฯ ให้เข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากหวั่นเกรงถึงความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตของผู้ลี้ภัยหากต้องถูกส่งกลับ และการละเมิดสิทธิในการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัย โดยคณะกรรมการสิทธิได้นัดประชุมโดยเชิญตัวแทนผู้นำองค์กรกระเหรี่ยง นักวิชาการ และนักสิทธิมนุษยชน ร่วมชี้แจง เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ก.พ.53 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องต่อกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ กองทัพภาค 3 สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ภาคประชาสังคม UNHCR ตัวแทนสถานทูตต่างๆ อาทิ เบลเยี่ยม แคนาดา หรัฐอเมริกา และตัวแทนสหภาพยุโรป โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิฯ เข้าร่วมรับฟังด้วย

 

ทหารยืนยันกระบวนการ “อำนวยความสะดวก” ให้เดินทางกลับไม่มีการบีบบังคับ

ในการชี้แจง พ.อ.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 อ.แม่สอด จ.ตากฝ่าย ในฐานะตัวแทนกองทัพภาค 3 กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการของทหารเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้หนีภัยเดินทางกลับโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญและเป็นการกลับด้วยความสมัครใจ ไม่มีการผลักดันใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งรายงานล่าสุด ผู้หนีภัยที่เดินทางกลับในวันที่ 5 มี 3 ครอบครัว จำนวน 12 คน และในวันที่ 6 มี 10 ครอบครัว จำนวน 41 คน

ก่อนหน้าที่ผู้ลี้ภัยจะเดินทางกลับครั้งนี้ ได้มีการประชุมร่วมประชุมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง ตัวแทนผู้หนีภัยชาวกะเหรียง UNHCR สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายในวันที่ 26 ม.ค.53 ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะเดินทางกลับ แต่การนำคนทั้งหมดกลับไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีทะยอยกลับ ส่วนกรณีที่ว่าต้องส่งกลับให้หมดภายในวันที่ 15 ก.พ.นั้น ทางกองทัพไม่เคยมีการสั่งการกำหนดวันที่จะส่งกลับ

พ.อ.ผดุง กล่าวชี้แจงด้วยว่า กรณีการสู้รบในระหว่างวันที่ 2-5 มิ.ย.2552 ในเขตชายแดนประเทศพม่า ทำให้มีผู้หนีภัย (ใช้คำว่าผู้หนีภัยเนื่องจากยังไม่มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัย) จากการสู้รบเข้ามาในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง กว่า 3,000 คน ทางทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่พักรอชั่วคราว 5 แห่ง ใกล้แนวชายแดน เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางกลับและได้ดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาทหารได้อำนวยความสะดวกให้ผู้หนีภัยเดินทางกลับไปแล้วกว่า 20 ครั้ง คงเหลืออีกประมาณพันกว่าคนในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ที่รอสมัครใจในการเดินทางกลับ

 

เตื่อนใช้คำว่า “สมัครใจ” ต้องพิจารณาให้ดี

“เขาอยากกับก็ให้กลับ ไม่อยากกลับก็แล้วแต่ให้เขาตัดสินใจเอง เราไม่ได้กดดัน และเราพร้อมรับถ้าเขาเปลี่ยนใจที่จะไม่กลับ ซึ่งช่วยไม่ได้ แต่ผมอยากให้พิจารณาคำว่าสมัครใจมันมีเงื่อนไขอยู่ เราชอบใช้คำว่าสมัครใจ ยกตัวอย่างไฟไหมบ้านผม ผมขอไปอยู่กับคุณสิงห์ คุณสิงห์ก็เมตตาให้ที่อยู่อาศัย เลี้ยงดูให้ข้าว แถมเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาช่วยดูแล คุณสิงห์จะรับก็รับไม่ไหว เมื่อไฟดับแล้วคุณควรจะกลับบ้านคุณได้แล้ว คุณสิงห์บอกคุณควรจะกลับบ้านคุณเสียทีสิ คุณมาเพราะไฟไหม้ไม่ใช่เหรอ คุณไม่มีข้าวกินเดี๋ยวผมส่งต่อให้ก็ได้ ผมบอกไม่กลับ ผมยังไม่สมัครใจกลับ มันเป็นเพราะอะไรคำว่าไม่สมัครใจ เพราะไม่ปลอดภัย เป็นข้ออ้าง ไม่มีอาหารกินเราก็พร้อมที่จะช่วย มาติดใจทีวีบ้านคุณสิงห์หรือเปล่า พอกลับไปแล้วไม่มีทีวีดู” พ.อ.ผดุง กล่าว

พร้อมย้ำว่าการตัดสินใจที่จะเริ่มอำนวยความสะดวกให้ผู้หนีภัยกลับยึดหลักเหตุผลที่ว่าเขามาจากการสู้รบ ซึ่งไม่ใช่ว่าสู้รบเสร็จแล้วต้องกลับได้ดูถึงเหตุหลที่ทำไมถึงไม่กลับ และพยายามคลี่คลายปัญหามาตามลำดับโดยเปิดเผยทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ พ.อ.ผดุง ได้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าที่ผ่านมาแม้สถานการณ์สู้รบได้สงบลงแล้ว แต่จำนวนคนที่เข้ามาอยู่พื้นที่พักรอชั่วคราวก็ยังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังกังวลถึงความปลอดภัยจากการเปลี่ยนกองกำลังของทหารในพื้นที่สู้รบ อีกส่วนคือคนที่อยู่ในชุมชนฝั่งไทยแอบแฝงเข้ามา ซึ่งเท่าที่มีการตรวจสอบก่อนหน้านี้พบว่ามีกว่า 741 คน หลังจากนั้นจึงมีมาตราการคัดแยกคน มีการติดเลขที่บ้าน และห้ามเข้าออก ทั้งนี้การเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักรอชั่วคราวทำให้ได้รับประโยชน์ใน 3 ทาง คือ มีบ้านให้อยู่ ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ และยังสามารถออกจากที่พักเพื่อไปขายแรงงานข้างนอกได้ อีกทั้งยังพบว่าตามแนวชายแดน มีการข้ามไปมาระหว่างคน 2 ฝั่ง รวมทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่พักรอชั่วคราวด้วย

ตัวแทนกองทัพภาค 3 กล่าวด้วยว่า จากเหตุผลที่ทำให้ผู้หนีภัยไม่ยอมออกจากพื้นที่เนื่องจากห่วงเรื่องความปลอดภัย ในส่วนขอเสนอที่ให้รัฐบาลทั้งไทยและพม่ารับรองความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะส่วนตัวเคยพูดคุยกับประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นฝั่งพม่าในเรื่องที่มีผู้หนี้ภัยเดินทางกลับมา โดยเขาบอกว่าไม่มีปัญหา ดังนั้นการที่จะให้ฝั่งพม่ามารับรู้รับรองความปลอดภัยคงไม่ทำ และไม่มีใครกล้าทำ ไม่เช่นนั้นผู้หนีภัย ราว 70,000 กว่าคน ในพื้นที่จังหวัดตาก คงสามารถเดินทางกลับไปได้หมดแล้ว

ด้าน พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้รับผิดชอบพื้นที่ซึ่งเกิดกรณีปัญหา กล่าวเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้บีบบังคับแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าก่อนการอำนวยความสะดวกในการส่งกลับมีการจัดทำแบบสอบถามความสมัครใจ มีหนังสือยินยอมเดินทางกลับ และมีการทำหลักฐานในการส่งกลับแต่ละครั้ง โดยมีตัวแทนเอ็นจีโอ มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันร่วมลงลายนิ้วมือ

นอกจากนี้ พ.อ.นพดล ยังได้มีการนำเสนอคลิปภาพของนายโยชิมิ ไซตะ หัวหน้าภาคสนาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) ที่กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่าไม่มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย รวมทั้งภาพถ่ายในระหว่าการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย และเอกสารต่างๆ ด้วย

 

ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง ย้ำ 4 ข้อวิตกหากต้องถูกส่งกลับ

ขณะที่นายซอ เคว เซ (Saw Kweh Say) ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง กล่าวว่า ทุกวันนี้ชาวกะหรี่ยงก็อยากกลับไปในพื้นที่ที่ตัวเอง ซึ่งคอยอยู่แต่ยังไม่สามารถกลับได้ด้วยเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.กับระเบิดที่ยังมีอยู่ทั่วไป จึงไม่ปลอดภัย 2.พื้นที่ดังกล่าวควบคุมโดยกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (Democratic Karen Buddhist Army: DKBA) ซึ่งหากไปอยู่ในพื้นที่ต้องถูกบังคับใช้แรงงาน จนไม่สามารถทำมาหากินได้ 3.เมื่ออยู่ในพื้นที่ควบคุมของกะเหรี่ยงพุทธอาจต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร และ 4.ยังไม่มีอาหารที่เพียงพอ เพราะเมื่อปีที่แล้วได้ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทำให้ไม่ได้เพาะปลูก จึงไม่มีอะไรจะกิน

 

“จอน” ชี้การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องของทหาร แต่ต้องแก้ไขโดยรัฐต่อรัฐ
   
ด้าน นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในที่ประชุมให้ความเห็นว่า ความตกลงระหว่างประเทศในการส่งผู้ลี้ภัยที่เกิดจากการปะทะกลับ มีหลักการที่สำคัญที่ไม่ใช่แค่การสมัครใจอย่างเดียว แต่ต้องมีความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน และมีความสามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิมได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้จากการรับฟังยังมีข้อสงสัยในหลายประการ ประการแรก คือนโยบายของรัฐบาลไทยต่อการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบคืออะไร เพราะจากที่ชี้แจงมานั้นเป็นการจัดการโดยกองทัพบก อีกทั้ง ปัญหาที่คุยกันในวันนี้เป็นปัญหาที่ดำรงมาเป็นสิบๆ ปี ที่มาจากปัญหาการปกครองของประเทศพม่า จึงเกิดความขัดแย้งและเกิดการต่อสู้โดยที่รัฐบาลทหารพม่ามีส่วนสร้างความแตกแยกระหว่างชนกลุ่มต่างๆ และจากรายงานเมื่อปี 2549 ของอาสาสมัครสาธารณสุขชาวพม่าพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่แถบชายแดนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยมีการบังคับใช้แรงงาน ที่สำคัญพบระดับการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดและลักษณะของการขาดสารอาหารที่รุนแรงเทียบได้กับประเทศในแอฟริกา

นายจอน กล่าวด้วยว่าสิ่งที่ฟังวันนี้ไม่ได้ทำให้มีความเชื่อมั่นและอุ่นใจใน 2 ประการ ประการแรก คือ ความสมัครใจในการเดินทางกลับ จากการยกตัวอย่างทำให้เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงคือทางทางการไทยรู้สึกว่าผู้ลี้ภัยอยู่มานานแล้วและถึงเวลาที่เขาสมควรจะเดินทางกลับ ซึ่งไม่ใช่ความสมัครใจแต่เป็นการใช้แรงกดดันบางอย่างให้กลับไป และหากจะประเมินถึงความสมัครใจควรให้หน่วยงานที่ไม่มีผลประโยชน์เป็นผู้ประเมิน คุยโดยอิสระ ไม่มีทหารมาอยู่ใกล้ๆ และนอกจากความสมัครใจแล้วต้องมีหลักประกันความปลอดภัยด้วย เพราะขณะนี้ข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีใครรู้เลย

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกองทัพภาคที่ 3 ไม่ใช่เรื่องของทหาร มันเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขโดยรัฐบาลต่อรัฐบาล แล้ววิธีการแก้ไขนั้นคือจะต้องสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยเป็นอันดับแรกสุด เรื่องนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าต้องคุยกันต้องหาทางออกให้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการสู้รบในพื้นที่ ไม่การบังคับใช้แรงงาน”

“การส่งชาวบ้านกลับไป ผมคิดว่าควรจะต้องทำอย่างรอบคอบ อย่างเป็นระบบมากกว่านี้ ผมเห็นด้วยกับเป้าที่ว่าจะให้เขาไปกลับไปโดยความสมัครใจ แต่จะต้องเป็นเป้าที่เกิดจากการสร้างสันติภาพในพื้นที่ สร้างหลักประกันทางสังคม หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น การที่อยู่ดีๆ จะพยายามให้เขากลับไปโดยไม่มีหลักประกันใดๆ ผมคิดว่าเป็นปัญหาอย่างมาก และนั่นทำให้เกิดลักษณะของการประท้วงทั่วโลกในกรณีนี้” อดีตสมาชิกวุฒิสภา เจ้าของรางวัลแมกไซไซปี 2548 แสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ ในวันที่ 17-18 ก.พ. ที่จะถึงนี้ กรรมการสิทธิฯ จะลงทำการพื้นที่ เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และในวันที่ 23 ก.พ. จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net