Skip to main content
sharethis

อธิบดีอัยการคดีปกครอง รวบรวมหลักฐานร้องศาลปกครอง เปิดทาง 12 โครงการมาบตาพุดเดินหน้าต่อ ระบุไม่ใช่โครงการก่อมลพิษ ทำคู่ขนานระหว่างรอการปฏิบัติตามรธน. ด้านเวทีเทคนิคพิจารณ์ “โครงการรุนแรง” ของกระทรวงทรัพไร้ข้อสรุปเสนอ กก. 4 ฝ่าย เลขาฯนายก โต้ ‘ดร.โกร่ง’ ตั้งองค์กรอิสระได้ ไม่มีปัญหา

 
11 ก.พ.53 เว็บไซต์กรุงเทพธรุกิจรายงานว่า อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาให้ 12 โครงการก่อสร้างพื้นที่ ต.มาบตาพุด จ.ยะยอง ได้ดำเนินการต่อไป เนื่องจากโครงการที่ยื่นคำร้องดังกล่าวไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อมลพิษ โดยศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
 
ทั้งนี้ โครงการแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก มี 9 โครงการ ที่ขอให้ศาลฯอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อและทดสอบเครื่องจักร กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 3 โครงการ ซึ่งได้ขอให้ศาลฯอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างและทดสอบเครื่องจักรได้ โดยกลุ่มนี้เป็นโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
สำหรับ 9 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้า ได้แก่ บริษัท ไทยโพลิเอทิลีน จำกัด, บริษัท สยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ, บริษัท สยามโพลิเอทิลีน จำกัด, บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด 2 โครงการ, บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด, บริษัท มาบตาพุด แทงก์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด ส่วนอีก 3 โครงการที่จะดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท เอ็มทีพี เอชพี เวจี(ประเทศไทย) จำกัด, บมจ.วีนิไทย (VNT)และบริษัท บี อาร์ พี สตีล จำกัด
นายประศาสน์ชัย ตัณฑพานิช อธิบดีอัยการคดีปกครอง กล่าวว่า โครงการที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองอนุญาตดำเนินการก่อสร้างต่อนั้น ได้มีการรวบรวมเอกสาร และหลักฐานเสนอต่อศาลว่าโครงการดังกล่าวไม่การเริ่มก่อสร้างใหม่ แต่เป็นโครงที่เคยดำเนินมาแล้วและสามารถที่ทำต่อไปได้ เพราะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่บริษัทเอกชนบางส่วนได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองพิจารณาว่าอยู่ในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นการยื่นคำร้องครั้งนี้ก็จะไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนดังกล่าวและไม่กระทบกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง การยื่นคำร้องเราต้องมีพยานหลักฐานแสดงให้ศาลเห็นว่าโครงการนั้นไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และสามารถที่จะทำคู่ขนานระหว่างรอการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด
 
ประชาพิจารณ์มาบตาพุดล่ม-ค้านเกณฑ์ทส.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) การจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นทางเทคนิค (Technical Hearing) เพื่อจัดทำเกณฑ์การกำหนดประเภท และขนาดโครงการรุนแรงทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ เลขาธิการ สผ. กล่าวชี้แจงว่า เกณฑ์ในการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมรุนแรงจะประกอบ ด้วย 1. สถานที่ตั้งของโครงการ 2. ขนาด ความหนาแน่น และลักษณะของชุมชน 3. ลักษณะของโครงการในมุมมองของปริมาณของเสีย สารพิษ สารอันตราย หรือมลพิษที่ปล่อยออก โครงการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายร้ายแรง 4. ขนาดของโครงการ
"สผ.ยืนยันว่าการจัดรับฟังทางเทคนิคครั้งนี้ ไม่ใช่การสอด แทรกกระบวนการ แต่จะเสนอต่อคณะกรรมการการ 4 ฝ่าย ที่จะจัดประชาพิจารณ์ในวันที่ 19 ก.พ.นี้" นางมิ่งขวัญระบุ
อนุกรรมการค้านเกณฑ์รุนแรง สผ.
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงรายการ โครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง กล่าวว่า ได้คัดค้านไปแล้ว เพราะเป็นเกณฑ์คนละระดับ และยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงการจะเกิดตรงไหน ไม่ใช่แค่พื้นที่มาบตาพุด หรือลำพูนที่อ่อนไหวต่อโครงการรุนแรง เพราะถ้า สผ.รู้เกณฑ์ข้อ 1 ข้อ 2 แล้วก็ต้องรู้ในระดับโครงการด้วยเพราะเท่าที่ฟังแล้วเวที เพียงแค่ครึ่งวันยังไม่มีอะไรเลย ทำให้ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่สามารถส่งให้คณะอนุกรรมการนำไปประกอบการไปรับฟังความคิดเห็นได้เลย
ปลัด ทส.ยัน 4 หลักเกณฑ์
ส่วนนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัด ทส. กลับมองว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่ได้ล้มเหลว เพราะค่อนข้างชัดเจนทางวิชาการว่าตัวหลักเกณฑ์ อาทิเช่น 1. พิจารณาธรรมชาติของตัวโครงการ   2. พื้นที่ตั้งโครงการมีความอ่อนไหวต่อระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม 3. โครงการมีปริมาณความเข้มข้นกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ และ 4. การบริหารจัดการโครงการนั้นๆ ว่า มีความเหมาะสมหรือ ไม่
ด้านแหล่งข่าวจาก ทส.รายหนึ่งที่เข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ยอมรับว่าการจัดประชุมครั้งนี้ไม่ได้สาระสำคัญในเรื่องการหลักเกณฑ์ทางวิชาการในการกำหนดโครงการประเภทรุนแรง ที่จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อจัดรับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาค ได้แต่เพียงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมที่ต่างคนต่างพูดเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้ามีการเตรียมข้อมูลในเรื่องหลักเกณฑ์ที่จะหารือแต่พอถึงเวลาประชุมกลับไม่มีการแจกเอกสารหลักเกณฑ์         
กอร์ปศักดิ์ยันระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งองค์กรอิสระ
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาการลงทุนมาบตาพุด เปิดเผยว่า การที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ใช้ปากทำงาน โดยเฉพาะมาบตาพุดรัฐบาลให้ความสนใจน้อยมากและไม่เป็นทุกข์ร้อน เมื่อตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแล้ว รัฐบาลก็ไม่ทำอะไร ไม่เป็นความจริง เพราะคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมีตัวแทนจากภาครัฐเข้าร่วม ทำงานหนักตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จนเกิดกระบวนการที่จะให้การดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550
ส่วนการทำประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน ขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ คาดว่าจะส่งรายงานสรุปให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายพิจารณาได้ภายใน 2 เดือน
กรณีการตั้งองค์กรอิสระโดยออกระเบียบสำนักนายกฯ ไม่ถูกต้อง นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าต้องออกเป็นกฎหมาย เพราะออกกฎหมายใช้ 6 เดือนหรือหลายปี จึงเลือกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ เร็วกว่า
ส่วนร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระนั้น ครม.ได้ตั้งข้อสังเกตกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า ให้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สภาพิจารณาทันสมัยประชุมนี้ ส่วนที่รัฐบาลไม่ออก พ.ร.ก.องค์กรอิสระถาวร เพราะมีทางออกอื่นที่ทำได้และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
"ผมฐานะหนึ่งในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ชี้แจงว่าที่เขาพูดมาไม่ใช่ข้อเท็จจริง มีสิทธิวิจารณ์ได้ จะวิจารณ์แรงๆ ก็ได้ แต่ไม่แน่ใจว่าทราบข้อเท็จจริงหรือไม่ ที่ไปตีความว่ารัฐธรรมนูญกำหนดว่าองค์กรอิสระต้องออกเป็นกฎหมายเท่านั้น ต้องไปอ่านใหม่ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net