Skip to main content
sharethis
 
 
 
 
 
 
 
สภาพชายหาดบ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา ถึงบ้านนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา
ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นทะเลกัดเซาะ
 
 
ตลอดแนวชายฝั่งตั้งแต่บ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา ผ่านบ้านนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยาวไปจนถึงบ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ ล้วนแล้วแต่ปรากฏร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงอยู่เป็นระยะ
 
ท่ามกลางการพังทลายของชายฝั่ง ภาพที่ปรากฏตลอดแนวก็คือ เขื่อนกันคลื่นและเขื่อนกันทราย
 
นายหมัด สังข์แก้ว ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ บอกกับเราว่า การกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้น หลังจากกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นตรงปากคลองสะกอม เมื่อปี 2540 เนื่องจากร่องน้ำตื้นเขิน ชาวบ้านไม่สามารถนำเรือออกไปทำประมงได้
 
“สมัยที่ยังไม่มีเขื่อนกันน้ำและคลื่น รัฐจะจัดสรรงบประมาณมาขุดลอกทราย เพื่อให้เรือประมงเข้าออกเรือได้สะดวก ถึงแม้จะสร้างเขื่อนกันทรายขึ้นมาแก้ปัญหา ก็ยังต้องขุดลอกทรายอยู่เหมือนเดิมทุกปี แสดงให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้เลย แถมยังเกิดปัญหากัดเซาะตามมาอีก”นายเสริฐ โต๊ะหลีชาวบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ กล่าว
 
ทว่า นายอินรีตร์ หมะประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลสะกอม พอใจกับการสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่น เพราะทำให้ชาวประมงออกเรือได้ทุกช่วงเวลา
 
“ผมคิดว่าน่าจะสร้างเขื่อนใต้น้ำ เพื่อลดความแรงของคลื่นที่จะมากัดเซาะชายฝั่ง แต่เรื่องนี้ต้องรอฟังความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย” ความเห็นของผู้ใหญ่บ้านอินรีตร์
 
เมื่อย้อนกลับมายังบ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว ซึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นมาเป็นระยะ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
 
นายมูหนีด หมัดเจริญ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลเกาะแต้ว เขต 2 บอกเล่าถึงสถานการณ์กัดเซาะชายหาดบ้านบ่ออิฐว่า ชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือนกำลังวิตกกังวล เพราะการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ส่งผลกระทบกับชาวบ้านแล้วกว่า 30 หลังคาเรือน อีก 3 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก  
        
“40 ปีที่ผ่านมา ชายหาดบ้านบ่ออิฐมีความอุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคลื่นได้ซัดเอาแนวชายฝั่งหายไปประมาณ 3 ไร่ เฉลี่ยปีละ 2 เมตร ก่อนหน้านี้เคยมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนชายหาดจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้ไม่พบแม้แต่ร่องรอยของเต่าทะเล” นายมูหนีด กล่าว
 
เมื่อกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันคลื่นเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะ บริเวณทิศใต้ของแนวเขื่อนมีทรายทับถมมากขึ้น ส่วนทิศเหนือมีร่องรอยการกัดเซาะขยายวงกว้าง
 
บ้านปึก หมู่ที่ 10 ตำบลนาทับ เป็นอีกพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนกันคลื่น เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาด เมื่อปี 2551 โดยกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อน 7 เขื่อน แต่ละเขื่อนมีความยาวประมาณ 500 เมตร ระหว่างตัวเขื่อนมีช่องว่างให้เรือวิ่งเข้าออก
 
จากภาพที่ปรากฏบริเวณชายหาดตรงที่มีเขื่อนกันคลื่น จะมีหาดทราย แต่ตรงบริเวณช่องว่างระหว่างตัวเขื่อน จะเกิดการกัดเซาะมาถึงถนน
 
ทว่า ดูเหมือนชาวบ้านปึกส่วนใหญ่ 95% พอใจกับการแก้ปัญหาด้วยการเขื่อน
 
นายอดิเรก หมัดหมาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับ ที่มองว่าการเขื่อนกันคลื่นเป็นผลดีกับชาวบ้านปึก ถึงแม้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะภูมิทัศน์ไม่สวยงาม และทรายถูกดักไว้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปให้กับหาดเก้าเส้งและหาดชลาทัศน์ได้
 
“เราต้องเลือกว่าเราจะเอาชายหาดสวยๆ หรือความอยู่รอดของชาวบ้าน”
 
ส่วนบริเวณช่องว่างระหว่างเขื่อนที่ยังมีการกัดเซาะอยู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทับบอกว่า จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนสลับฟันปลา
 
ขณะที่นักวิชาการอย่างรศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นว่า ถึงเวลาหยุดการสร้างเขื่อน หรือสิ่งล่วงล้ำลงไปในทะเล ก่อนที่จะไม่มีชายหาดเหลือให้ได้ใช้ประโยชน์
 
นี่คือ ความเห็นต่างต่อการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนชายฝั่งอยู่ในขณะนี้
 
 
 
………………………………………..
 
หมายเหตุ : ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2553 โครงการสื่อสารสร้างสุขสงขลา ได้จัดโครงการอบรมผู้สื่อข่าวเยาวชนเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ โดยมีเยาวชนที่มีอายุ 13 – 16 ปี จากโรงเรียนในอำเภอรัตภูมิ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอจะนะ และอำเภอเมือง 43 คน เข้าร่วมอบรม ที่สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
 
รายงานเรื่อง“กัดเซาะชายหาด–ปัญหาใหญ่ของคนริมฝั่ง” เป็นหนึ่งในผลงานการลงทำข่าวจริงในพื้นที่ของเยาวชนทั้ง 43 คน ที่เข้าอบรมในครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net