รายงาน: สำรวจกระแสค้าน'TQF' ยกเครื่องใหญ่อุดมศึกษารับเปิดเสรี

 
 
ไม่เฉพาะนักเรียนวัยกระเตาะเท่านั้นที่กำลังปวดหัว วุ่นวายกับระบบใหม่ในการเอ็นทรานซ์ ตอนนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยก็กำลังวิวาทะกันหนักหน่วง (ขึ้นเรื่อยๆ) ต่อระบบใหม่อันเกี่ยวข้องกับ “คุณภาพการศึกษา” ซึ่งน่าจะมีผลในการเปลี่ยนโฉมหน้าการศึกษาไทยอย่างสำคัญ
 
ด้วยว่า เร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ได้ประกาศมาตรฐานการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา” ( มคอ.) หรือ ทีคิวเอฟ (TQF:Thai Qualifications Framework for Higher Education)
 
เหตุผลสำคัญในการปรับเปลี่ยนอดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เคยระบุไว้แล้วว่า คือ ข้อตกลงของอาเซียน ซึ่งกำหนดจะเปิดเสรีการศึกษา การลงทุน และแรงงานในปี 2015 ทุกประเทศในอาเซียนสามารถจัดตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ และไทยก็สามารถลงทุนด้านการศึกษาได้ทุกประเทศเช่นกัน  
 
เรื่องนี้สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ. ขยายความว่า ต้องการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถตอบสนองต่อทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนได้เต็มประสิทธิภาพ ในด้านกลับกันก็ต้องการให้มหาวิทยาลัยปรับตัวแข่งขันกันให้เป็น “แหล่งวิชาการของภูมิภาค” รองรับนักเรียนนักศึกษาที่คาดว่าจะเข้ามาเรียนในไทยเท่าขึ้นอีกเท่าตัวใน 3-4 ปีข้างหน้า
 
สร้างบัณฑิตเชื่องๆ ?
 
“กรอบมาตรฐานคุณวุฒิบัณฑิตกำหนดคุณลักษณะไว้ 5 ด้าน คุณธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า คุณธรรมของคนไทยลดลง รับได้กับนักการเมืองที่เก่งแต่โกงกิน ล่าสุดผลวิจัยศูนย์คุณธรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า คุณธรรมคนไทยทุกกลุ่มลดลงโดยเฉพาะความ ซื่อสัตย์ ลดจาก 2.76 ในปี 2550 เหลือ 2.34 ในปี 2552 เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมมาเป็นอันดับแรก” อดีตรัฐมนตรีศึกษาฯ กล่าวไว้ในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2552 : ปีแห่งคุณภาพการศึกษาไทย ที่เมืองทองธานี วันที่ 2 ก.ค.52
 
ส่วนผสมของบัณฑิตตามมาตรฐานนี้กำหนด ต้องประกอบไปด้วย  5 ด้านหลัก 1. ด้านคุณธรรม จริยธรรม 2.ด้านความรู้ 3.ด้านทักษะทางปัญญา 4.ด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ5.ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
 
แน่นอน สายสังคมศาสตร์ที่มุ่งเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ ถอด รื้อวาทกรรมของสังคม และเป็นนักตั้งคำถามตัวยง ย่อมตั้งคำถามต่อกรอบนี้อย่างหนีไม่พ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมมากๆ และกำลังเป็นคำยอดฮิตในสังคมการเมืองไทยอย่างเรื่องคุณธรรม
 
“หลักเกณฑ์พวกนี้มันมีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะทำให้นักศึกษาเชื่อง ไม่มีลักษณะตั้งคำถามกับบรรทัดฐานสังคมเลย นักศึกษาที่จบมาก็คงจะต้องเดินตามกรอบของสังคม เราก็เลยมาคิดกันว่าตกลงแล้วผลการเรียนรู้ของนักศึกษา 5 ข้อนี้มันเหมาะสมไหม แล้วมันกำหนดได้จริงไหม สาระสำคัญของมันที่ทุกสาขาวิชามีร่วมกันจำเป็นต้องกำหนดไหม” ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
 
จำกัดเสรีภาพถึงห้องเรียน ?
 
ยุกติยังมองว่า แม้แต่ละคณะจะมีโครงสร้างหลักสูตรแตกต่างกันไป แต่กรอบมาตรฐานนี้ค่อนข้างละเอียด แบ่งเป็นแบบฟอร์มภายใต้ชื่อเรียก มคอ.1-7 ซึ่งลงลึกไปถึงตัวหลักสูตรชนิดที่อาจเป็นการก้าวล่วง ‘เสรีภาพในการเรียนการสอน’
 
“เรายังต้องตอบคำถามว่าหลักสูตรของเรามันตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร หลักสูตรของเราต้องไปดูตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยเหรอ แหกไปจากแผนพัฒนาได้ไหม นอกคอกได้หรือเปล่า ตั้งคำถามได้หรือไม่” ยุกติระบุ
 
ทั้งนี้ มคอ. 1-7 เป็นการกรอกรายละเอียดเพื่อแสดงมาตรฐานในระดับคุณวุฒิ รายละเอียดของหลักสูตร โครงสร้าง เนื้อหาหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน ทรัพยากรที่ ตัวชี้วัดความสำเร็จของหลักสูตร รายละเอียดของรายวิชา รายละเอียดของวิชาประสบการณ์ภาคสนาม รายงานผลการดำเนินการของรายวิชา รายงานผลการดำเนินการของประสบการณ์ภาคสนาม 
 
TQF ท่านได้แต่ใดมา ?
 
แม้การบังคับใช้เพิ่งเริ่มต้น และการต่อต้านเพิ่งก่อตัวได้ไม่นาน แต่แท้ที่จริงมีการเตรียมพัฒนาระบบกันพักใหญ่ โดยหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ทาง สกอ.ก็มีแนวคิดในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (National Qualifications Framework: NQF) โดยได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลีย จากนั้นได้หารือ ปรับปรุง รับฟังความคิดเห็นกันจนออกมาเป็นกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยตามข้อมูลพื้นฐานคุณลักษณะบัณฑิตของสังคมไทย หรือ TQF ในปัจจุบัน
 
TQF เริ่มเดินเครื่องเต็มสูบแล้ว มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการรองรับไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค.52 (สมัยจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์) ตามด้วยประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา ศึกษาพัฒนาหลักสูตรตามประกาศนี้ให้เรียบร้อยในปีการศึกษา 2553  และกำหนดให้การปฏิรูปนี้เห็นผลชัดเจนในทางปฏิบัติในปี 2555
 
อย่างไรก็ตาม สาขานำร่องที่เริ่มร่างกรอบหรือประกาศใช้เครื่องมือนี้ไปบ้างแล้ว ได้แก่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาโลจิสติกส์ สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาวิชาครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเคมี
 
เครื่องมือ ‘Big Brother’ ?
 
คำถามอีกมากมายถูกสะท้อนออกมาผ่านการประชุมสองสามครั้งของคณาจารย์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของ TQF โดยส่วนใหญ่ถูกบันทึกเป็นหมุดหมายไว้ที่ viewpoints on quality in Thai higher education
 
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ TQF โดยลากยาวไปถึงการปรับเปลี่ยนให้อุดมศึกษาไทย “ออกนอกระบบ” เป็นที่มาของการตั้ง สกอ.ในปี 46 ตามมาด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่จะคัดเลือก 9 สถาบันชั้นนำเป็นแนวหน้าโครงการ ทำให้มหาวิทยาลัยแปรสภาพเป็นบริษัทธุรกิจที่แข่งกัน “ผลิตสินค้าวิชาการ” นำมาขายในตลาดต่างชาติ ด้วยการเพิ่มความถี่ในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ และทุ่มทุนโฆษณาเพื่อเพิ่มเรตติ้งในระดับสากลอย่างไม่เคยมีมาก่อน
 
สำหรับ TQF ปิ่นแก้วมองว่า มันทำหน้าที่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของอาจารย์อย่างถี่ยิบ และลึกลงไปถึงระดับรายวิชาผ่านระบบการเขียนรายงาน( ที่ไม่มีคนอ่าน) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และยังเป็นการสร้างมาตรฐานเดี่ยวที่บังคับใช้เหมือนกันหมด (standardization) ด้วยขั้นตอนการควบคุมที่เพิ่มขึ้นอย่างสลับซับซ้อนผ่านสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า มคอ. 1-7
 
“มคอ.1-7 ต้องทำทุกปีการศึกษา และสกอ.ยังได้ระบุบทลงโทษที่ชัดเจนเอาไว้ในสัญญาดังกล่าว หากหลักสูตรใดไม่ผ่านการประเมินของสกอ. หรือไม่สามารถรักษาระดับคะแนนเฉลี่ยที่ดีต่อเนื่องกันสองปี  ก็จะไม่ได้รับการรับรองและเผยแพร่หลักสูตรจากสกอ. หรือถูกถอดออกจากการรับรองคุณภาพได้”
 
ปิ่นแก้วสรุปว่า “ถึงที่สุด TQF ไม่ใช่เครื่องมือในการประกันคุณภาพอย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นกระบวนการแทรกแซงของรัฐเพื่อควบคุมอุดมศึกษาผ่านสถาบันเช่น สกอ. แม้จะอ้างว่าสร้าง TQF ขึ้นมาควบคุมมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไร้มาตรฐาน แต่การใช้เครื่องมือที่ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องมาตรฐานได้ในการเหวี่ยงแหอย่างเหมารวม ภายใต้กระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนวิชาการต่างๆ  ย่อมก่อให้เกิดข้อกังขาต่อความถูกต้องและชอบธรรมของ สกอ.ขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
 
เราจะโต๊ เราจะโต ?
 
ขณะที่กฤติยา อาชวนิจกุล จากมหาวิทยาลัยมหิล ถามถึงตัวชี้วัดความสำเร็จซึ่งเน้นไปที่ภาวะการได้งานทำของนักศึกษาเมื่อจบออกไป การได้รับเงินเดือนตามเกณฑ์ (ของก.พ.) ความพึงพอใจของนายจ้าง ผู้ประกอบการ รวมไปถึงการทำงานได้ตรงตามสาขาที่ศึกษา ซึ่งล้วนเป็น “กับดัก” ที่วงการการศึกษาไทยติดแหงก
 
“ดิฉันคิดว่าเราอยู่ใน 2  กับดัก 1. คิดว่ากระบวนการค้นหาความรู้ ความจริงมีอยู่ชุดเดียว  อยู่ในความคิดแบบวิทยาศาสตร์  ที่คิดว่าสังเกตได้ จดได้ พยากรณ์ได้ แล้วจะควบคุมโลกได้  กับดักที่ 2  คือกับดักทุนนิยมข้ามชาติ  เน้นกำไร  ฉะนั้นกระบวนการ QC ทั้งหมดก็อยู่ในกับดักอันนี้  คือเป็นกระบวนการที่ทำให้การศึกษาเป็นสินค้า เพราะเราเน้นการผลิตเชิงพาณิชย์ ” กฤติยากล่าว
 
“การใช้เกณฑ์บ่งชี้ผลการดำเนินงาน การทวนสอบมาตรฐานผลการเรียนรู้ที่วางอยู่บนภาวะการมีงานทำเช่นนี้ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาศักยภาพในความเป็น “พลเมืองของสังคม” ไทยได้แต่อย่างใด” อรัญญา ศิริผล อาจารย์คณะสังคมวิทยามนุษยวิยา มช. วิพากษ์ถึงความผิวเผินเกินไปของตัวชี้วัด
 
Accountability ?
 
วิจารณ์ พานิช ประธาน กกอ. เคยบันทึกไว้ว่า การพัฒนาอุดมศึกษาไทยต้องใช้เครื่องมืออันหลากหลาย แต่ TQF ก็ถือเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของสถาบันการศึกษา และช่วยพัฒนาคุณภาพภายในได้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งจะว่าไปก็นับเป็นเป้าประสงค์ที่น่าสนใจยิ่ง
 
“เวลานี้สถาบันอุดมศึกษาไทย (ในภาพรวม) มี autonomy สูงมาก แต่หย่อนด้าน accountability ต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ  กกอ. จึงให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการใช้ TQF เป็นเครื่องมือสร้างความรับผิดชอบต่อคุณภาพผลผลิต (Learning Outcome) ของแต่ละสถาบัน เน้นให้สภามหาวิทยาลัย (ของแต่ละสถาบัน) ดูแลให้มีระบบการจัดการคุณภาพภายใน (IQA – Internal Quality Assurance) อย่างเอาจริงเอาจัง”
 
อย่างไรก็ตาม ยุกติกลับมองว่า เครื่องมือของ สกอ. นี้ไม่ตอบอะไรนอกจากจะเพิ่มความซ้ำซ้อนให้กับระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา (สมศ. ) และสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการประเมินภายในของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้นักศึกษาประเมินอาจารย์ การประเมินภายในคณะ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามอีกว่า การกรอกเอกสารอย่างยิบย่อยนั้นจะนำไปสู่การประเมินและปรับปรุงการเรียนการสอนตลอดจนหลักสูตรได้จริงแท้อย่างไร เพราะถึงที่สุดก็เป็นการกรอกโดยผู้สอนฝ่ายเดียว
 
ประสบการณ์ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา
 
ปิดท้ายด้วยตัวอย่างปัญหาของระบบทำนองเดียวกันนี้จากต่างประเทศ ซึ่งอรัญญา สิริผล ได้รวบรวมข้อมูลนำเสนอไว้ 3 ประเทศ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น  โดยในอังกฤษ มีการตั้งคำถามกันถึงตัวชี้วัดในการประเมินงานวิจัย ซึ่งสุดท้ายแล้วมักไปเน้นเรื่องแผนการตลาด เนื่องจากงานวิจัยจำเป็นต้องโปรโมทไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ทุน ในอเมริกาสถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน ในวงวิชาการโดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์และวิจิตรศิลป์ เกิดภาวะอิหลักอิเหลื่อในการหาความสมดุลระหว่างการผลิตความรู้เพื่อตอบโจทย์ให้กับงานบริการทางสังคม ชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัย กับความจำเป็นที่จะปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาเพื่อตอบรับกับกระแสการตลาดเสรีที่เข้ามา
 
ขณะที่ญี่ปุ่น ก็มีการทำ NQF ในลักษณะคล้ายบ้านเรา เริ่มต้นขึ้นมาเมื่อปี 2004 และประสบปัญหาอาจารย์กลายเป็นหนูถีบจักร เพราะต้องประเมินคุณภาพกันถี่ยิบ สร้างต้นทุนของเวลาและพลังงานของบุคลากรที่ต้องสูญเสียไป แทนที่จะได้เอาพลังไปใช้ทำกิจกรรมการวิจัย การเรียนการสอน
 
กระแสคัดค้านขยายตัว
 
เหล่านี้คือคำถามใหญ่ส่วนหนึ่งของคณาจารย์สายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่ร่วมระดมความคิดเห็นกันไปไม่นานมานี้ และกำลังเผยแพร่ข้อมูลในหมู่อาจารย์ ตลอดจนสาธารณชนทั่วไป โดยมีแผนจะจัดสัมมนาใหญ่ในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้
 
ถึงที่สุด ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องของอาจารย์ไม่กี่สิบคน ... ไหนๆ ก็ได้เรียนฟรีกันแล้ว เราก็น่าจะมีโอกาส ‘ดีไซน์’ ห้องเรียนในฝันของเราด้วย เพื่อที่บางทีประเทศนี้จะได้ไม่มี “คนโง่ที่ซื้อได้” เสียที ...  
 
 


การประชุมเพื่อรวบรวมความเห็นเรื่อง “TQF กับทิศทางมหาวิทยาลัยไทยในกระแสโลก” วันที่ 11 มกราคม 2553 ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.30 ถึง 17.30 น.มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณาจารย์และนักวิชาการ 46 คน จาก 9 สถาบัน
 
ที่ประชุมมีข้อเสนอร่วมกันดังนี้
1. ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงศึกษาฯยับยั้งกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อทบทวนวิธีการควบคุมมาตรฐานระดับอุดมศึกษา และสร้างระบบการควบคุมมาตรฐานการศึกษาใหม่ ทั้งนี้แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะเรียกร้องให้ยกเลิก TQF ทันทีเลยหรือไม่
2. เร่งศึกษาระบบการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยองค์กร ต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนของการประกันคุณภาพการศึกษา
3. ระดมความคิดถึงทิศทางของการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยในกระแสโลกปัจจุบัน ไม่ใช่การตามกระแสโลกโดยไม่มีทิศทางของตนเอง
4. ร่างกรอบมาตรฐานการศึกษาระดับอุดมศึกษาใหม่ โดยยึดหลักให้ชุมชนทางวิชาการมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและวิธีการ และให้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของสาขาวิชาต่างๆ
5. ตั้งสมาคมวิชาชีพ หรือสมาคมวิชาการ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการศึกษาไทย

ที่ประชุมตั้งแกนกลางของกลุ่มเพื่อประสานงานคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ประกอบด้วย
ศ. เจตนา นาควัชระ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รศ.ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร. กฤติยา อาชวนิจกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร. รัศมี ชูทรงเดช มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท