Skip to main content
sharethis

(SHAN 8 ก.พ. 53) – ตัวแทนแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่เผยเหตุแรงงานบางส่วนไม่พิสูจน์สัญชาติ เพราะไม่มีทั้งบัตรประชาชนและบ้านอยู่ในพม่า และหวั่นทางบ้านถูกรังแก ระบุเตรียมขอนายกฯ ขยายเวลายื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติ และให้รัฐบาลประสานพม่าเข้ามาตั้งศูนย์พิสูจน์ในไทยต่อไป

เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.53) ที่อาคารวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงใหม่นำโดยกลุ่มหสพันธ์แรงงานข้ามชาติ (MWF) และกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ร่วม 100 คน ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการพิสูจน์สัญชาติแรงงาน ในชื่อ การประชุม “มติ ครม.19 มกราคม 2553 การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานข้ามชาติ” โดยมีเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ และนักเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่เข้าร่วม

นางภัณฑิลา แก้วบุญเรือง นักวิชาการแรงงาน 5 จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปยื่นเอกสารพิสุจน์สัญชาติ 43,782 คน จากจำนวน 66,000 คน ซึ่งขณะนี้มีแรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลทหารพม่าแล้ว 74 คน และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมามีรายชื่อแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์แจ้งมาอีก 1,182 คน และในอาทิตย์หน้าคาดว่าจะมีรายชื่อแจ้งกลับมาอีกประมาณ 1,000 คน

นางภัณฑิลา กล่าวว่า การที่แรงงานเข้ารับการพิสูจน์สัญชาตินั้นเป็นผลดี เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเดินทางไปไหนมาไหนอย่างอิสระและสามารถทำใบขับขี่รถได้ ที่สำคัญแรงงานจะได้รับสิทธิและสวัดิการตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็ยังมีแรงงานที่ยังไม่เข้ารับการพิสูจน์อยู่ ซึ่งแรงงานทุกคนต้องกรอกเอกสารพิสูจน์สัญชาติและต่อใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 28 ก.พ. 53 นี้ หลังจากนี้แรงงานที่ไม่รับการพิสูจน์สัญชาติก็จะถูกผลักดันกลับประเทศ

ขณะที่ตัวแทนแรงงานข้ามชาติคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงสาเหตุที่แรงงานบางส่วนไม่ยอมกรอกข้อมูลจริงลงแบบพิสูจน์สัญชาติว่า เป็นเพราะหวั่นจะเกิดผลกระทบต่อญาติพี่น้องหรือครอบครัวหรือที่อยู่ทางบ้าน และบางส่วนไม่สามารถที่จะกรอกข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและบ้านอยู่ในพม่า เพราะถูกบังคับโยกย้ายหมู่บ้านและหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ มีตัวแทนแรงงานที่เข้าร่วมการประชุมหลายคนได้เสนอแนวคิดให้รัฐบาลประสานรัฐบาลทหารพม่าเข้ามาตั้งศูนย์รับการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าจะสร้างความสะดวกให้แก่แรงงาน และจะเป็นการง่ายกว่าการที่จะให้แรงงานที่จำนวนนับแสนเดินทางไปยังชายแดน ซึ่งต้องได้รับความลำบากและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พวกเขายังต้องการให้มีการยกเลิกบริษัทนายหน้า หรือ ให้บริษัทนายหน้าที่รับดำเนินการพิสูจน์สัญชาติลดค่าดำเนินการน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกรมการจัดหางานยังไม่ได้รับรายงานว่า มีแรงงานที่เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่พม่าแต่อย่างใด ซึ่งการที่เกิดความหวั่นวิตกกันว่าหากพิสูจน์สัญชาติจะทำให้ทางการพม่าทราบ ข้อมูลและไปรบกวนทางบ้านนั้นอาจเป็นเพียงการเล่าลือสืบต่อกันมากกว่า เพราะจนถึงขณะนี้มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติข้ามไปยื่นเรื่องขอทำพาสปอร์ตที่ชายแดนในฝั่งพม่ากลับมาแล้วนับพันคน และไม่มีใครถูกทำร้ายแม้แต่คนเดียว มีเพียงชาวโรฮิงยา 1 คน และเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี อีก 1 คน ที่ไม่ได้การออกพาสปอร์ต เนื่องจากชาวโรฮิงยาเป็นชนชาติที่ทางการพม่าให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ประวัติ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทางการพม่าถือว่ายังไม่เข้าเกณฑ์ที่จะพาสปอร์ตทำงานให้ได้

นายอนุรักษ์ กล่าวด้วยว่า การพิสูจน์สัญชาติเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า ซึ่งถ้าหากเกิดการรังแกหรือมีการทำผิดระเบียบสามารถนำหลักฐานร้องเรียนได้ แรงงานไม่ควรวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่แรงงานควรใส่ใจก็คือการพิสูจน์สัญชาติ ถ้าหากไม่ยื่นพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. ก็จะเสียสิทธิ์และจะอยู่ต่อไปไม่ได้ ส่วนเรื่องที่จะขอให้รัฐบาลทหารพม่าส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการพิสูจน์ สัญชาติในประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงแรงงานก็ให้ความสำคัญ โดยในวันที่ 12 – 15 ก.พ. นี้ กระทรวงแรงงานจะเดินทางไปพม่าซึ่งจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันด้วย

ทางด้านอาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลประสบความล้มเหลวในการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยการจดทะเบียนครั้งล่าสุดมีแรงงานไปรับการจดน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานที่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียน สาเหตุอาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ และการที่บอกว่าหากแรงงานไม่ยื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ. 53 จะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้นั้นก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคิดว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่เ้ข้าใจเรื่องพิสูจน์สัญชาติอยู่อีกมาก ซึ่งรัฐบาลควรขยายเวลาและควรมีการประชาสัมพันธ์ว่าหากทำแล้วจะได้ประโยชน์และสิทธิอะไร   

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติระบุว่า ทางกลุ่มตัวแทนแรงงานร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลทบทวนขยายเวลายื่นเรื่องพิสูจน์สัญชาติออกไป และให้รัฐบาลประสานรัฐบาลพม่าส่งเจ้าหน้าที่มารับการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย รวมถึงให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติและการต่อใบอนุญาตทำงานให้มากขึ้น

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีข้ามชาติทั้งลาว พม่า และกัมพูชา เข้ารับการจดทะเบียนแรงงานรวม 1,310,690 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นแรงงานสัญชาติพม่า 1,076,110 คน ซึ่งในส่วนของแรงงานสัญชาติลาว และกัมพูชา ส่วนใหญ่ได้ผ่านการรับรองการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เหลือเพียงแรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ และการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติอยู่ในราชอาณาจักรไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยที่ให้แรงงานไปกรอกข้อมูลพิสูจน์สัญชาติภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้

...............................................................
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net