Skip to main content
sharethis

“พ.อ.นพดล” สั่งระงับส่งกลับผู้ลี้ภัย ย้ำยังอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับ ด้าน “UNHCR” รุดลงพื้นที่ตรวจสอบความโปร่งใส หวั่นผู้ลี้ภัยได้รับแรงงกดดัน ส่วนผู้ลี้ภัยแจงอยากกลับบ้านแต่ติดปัญหาระเบิดค้าง พร้อมร้องช่วยอาหาร 1 ปี หากไปอยู่ในพม่า

 

 

 

สืบเนื่องจากการที่นักสิทธิฯ และองค์กรภาคประชาสังคมไทย-กะเหรี่ยง ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกรณีกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า ในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้งหมดภายในวันที่ 15 ก.พ.53 และจะมีการส่งกลับในวันที่ 5 ก.พ.นี้ 30 ครอบครัว หรือจำนวน 161 คน

วันนี้ (5ก.พ.53) พ.อ.นพดล วัชรจิตบวร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว ได้ลงพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกระเหรี่ยง แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) คณะกรรมการช่วยเหลือชาวพม่าตามแนวชายแดนไทย - พม่า (Thailand Burma Border Consortium: TBBC) อาสาสมัครกลุ่มเพื่อนพม่า และผู้สื่อข่าว

พ.อ.นพดล ชี้แจงว่า การดำเนินงานไม่ใช่การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ได้สั่งการให้ทหารอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่า เพื่อให้เดินทางข้ามแม่น้ำเมยกลับไปยังภูมิลำเนาในประเทศพม่า ที่บ้านเลอเบอเฮอ ตรงข้ามบ้านหนองบัว ต.แม่อูสุ อ.ท่าสองยาง โดยยืนยันว่าผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ขู่เข็ญบังคับใดๆ และที่บ้านเอลเบอเฮอในฝั่งพม่าไม่ได้มีการสู้รบใดๆ แต่จากเหตุการณ์คัดค้านการส่งกลับดังกล่าวทำให้ได้สั่งการให้ทหารออกนอกพื้นที่ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ผ่านมา และยกเลิกการอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยในการเดินทางกลับในวันนี้ (5 ก.พ.)

พ.อ.นพดลกล่าวต่อมาถึงกำหนดการที่จะมีการจัดส่งผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะกลับสู่พม่าภายในวันที่ 15 ก.พ. โดยยืนยันว่าไม่เคยให้นโยบายหรือพูดถึงข้อมูลดังกล่าว และคงไม่มีใครอยากจะผูกมัดการทำงานของตัวเอง ทั้งนี้นับจากที่ผู้ลี้ภัยได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นเวลากว่า 8 เดือน ได้ทำการส่งกลับไปเพียง 18 ครั้ง ซึ่งรวมแล้วกว่า 1,500 คน และในปัจจุบันเหลือยังอยู่ในค่ายฯราว 1,500 คน หากจะดำเนินการในช่วงเวลาเพียงเท่านี้คงไม่สามารถทำได้ อีกทั้งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสมัครใจของผู้ลี้ภัยเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการยกเลิกการอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยในการเดินทางกลับในวันนี้ แต่จากการพูดคุยกับทหารในพื้นที่ได้รับทราบว่าในช่วงเช้าของวันที่ 5 ก.พ. ผู้ลี้ภัยได้สมัครใจเดินทางกลับไปแล้วจำนวน 3 ครอบครัว ทั้งหมด 12 คน โดยนั่งเรือหางยาวกลับไปโดยปลอดภัย ในขณะที่แหล่งข่าวในพื้นที่ที่เชื่อถือได้รายงานว่าผู้ที่เดินทางกลับในวันนี้มีทั้งหมด 13 คน โดยเป็นชายวันรุ่น 1 คน หญิง 4 และเด็กอีก 8 คน

นายโยชิมิ ไซตะ หัวหน้าภาคสนาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่าขณะที่เดินทางมาถึงพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว พบว่าผู้ลี้ภัยได้เดินทางออกจากพื้นที่ไปแล้วจึงไม่สามารถบอกได้ว่าไปอย่างสมัครใจหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการพูดคุยกัน ทั้งนี้ในการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยได้ประสานกับ พ.อ.นพดล ให้ทาง UNHCR ได้เข้าไปร่วมสอบถามถึงความสมัครใจว่าผู้ลี้ภัยต้องการไปด้วยตัวเองจริงๆ ทหารไทยไม่ได้กดดันให้ต้องเดินทางกลับ

นายโยชิกล่าวให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ทางเจ้าหน้าที่ UNHCR ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 30 ครอบครัว ที่ทางทหารแจ้งว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับไปที่เลอเปอเฮอ ในวันที่ 5 ก.พ.โดยทหารจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับแต่พบว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนถึง 22 ครอบครัวที่ไม่ได้ต้องการเดินทางกลับ ทำให้้เกิดข้อสงสัยและห่วงใยต่อกระบวนการตรวจสอบความสมัครใจดังกล่าว

นายโยชิมิ กล่าวด้วยว่า ที่พูดกันในวันนี้ไม่ใช้การส่งกลับ แต่เป็นการเดินทางกลับด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นอิสระของทุกคน แต่หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่มั่นใจในการเดินทางกลับ ทางการไทยควรต้องจัดการแก้ปัญหาให้หมดไป

ส่วนแองเจรีน่า เจ้าหน้าที่องค์กร TBBC ได้ติงฝ่ายทหารว่า ควรจะสร้างความมั่นใจได้ให้กับผู้ลี้ภัยในการเกิดทางกลับได้อย่างปลอดภัยไม่มีอันตราย ถึงแม้ครอบครัวเตรียมในจะกลับ แต่ทางทหารควรต้องมีการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ก่อน ยกตัวอย่างการประสานงานในเรื่องความปลอดภัย และการเก็บกู้ระเบิดที่มีฝังอยู่มากมายในประเทศพม่า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตามหลักการสิทธิมนุษยชน และกฎของสากลในการที่จะพิทักษ์ซึ่งชีวิตเพื่อนมนุษย์

อนึ่ง บ้านเลอเปอเฮอ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู (Karen National Union: KNU) และกองทัพรัฐบาลพม่าที่สนธิกำลังกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ ดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army: DKBA) เมื่อวันที่ 2มิ.ย.52 ซึ่งทำให้มีผู้ลี้ชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า หนีภัยสู้รบเข้ามาในเขตไทยทั้งหมด กว่า 3,000 คน โดยเป็นฐานที่มั่นเก่าของ KNU แต่ปัจจุบันได้ตกเป็นที่มั่นของกะเหรี่ยง DKBA ไปแล้ว ทั้งนี้แม้ DKBA จะมีการไถเคลียร์พื้นที่แล้วบางส่วน แต่ยังไม่มีใครออกมารับรองความปลอดภัย

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า TBBC และ UNHCR ได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจำนวน 3 ครอบครัว และได้รายงานในที่ประชุมโดยมีประเด็นสำคัญที่ผู้ลี้ภัยไม่อยากกลับไปประเทศพม่า คือ 1 กับระเบิดที่ยังไม่ได้เก็บกู้ 2 ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารและการดำรงชีวิตหลังจากกลับไปแล้ว 3 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างKNU กับ DKBA ซึ่งอาจปะทุขึ้นอีก 4 เกรงว่าจะถูกบังคับใช้แรงงานโดย DKBA

ช่วงบ่ายได้มีการสัมภาษณ์แกนนำในศูนย์พักรอชั่วคราวบ้านแม่อุซุทะจำนวน 8 คนจาการสัมภาษณ์พบว่าผู้ลี้ภัยมีความกังวลเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยบ้านหนองบัว และสำหรับผู้ลี้ภัยบางส่วนที่มีความต้องการจะเดินทางกลับประเทศพม่านั้นได้มีข้อเสนอต่อ TBBC และ UNHCR เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารเป็นเวลา 1 ปี โดยให้ผู้ชายเดินทางไปเตรียมพื้นที่ก่อน ส่วนผู้หญิงและเด็กให้อยู่ที่ศูนย์พักรอเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เจ้าที่ของ UNHCR จะเดินทางลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยที่มีความต้องการจะเดินทางกลับประเทศพม่าในวันจันทร์นี้ (8 ก.พ.)

นอกจากนี้ได้มีข้อเสนอในวงประชุมให้ทหารไทยทำข้อตกลงกับ KNU และ DKBA ในการเก็บกู้ระเบิดในพื้นที่ชุมชนร่วมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศให้การช่วยเหลือ

ในกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่าทางทหารได้กดดันผู้ลี้ภัยให้เดินทางกลับประเทศพม่าโดยการจำกัดการส่งอาหารนั้น จากการประชุมชี้แจงพบว่าทหารไม่ได้รับผิดชอบเรื่องการแจกจ่ายอาหาร แต่เป็นหน้าที่ของ TBBC และ แกนนำชุมชน ซึ่งในพื้นต้นพบว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ลี้ภัยบางส่วนไม่ได้รับอาหารเกิดจากข้อมูลจำนวนผู้ลี้ภัยที่คลาดเคลื่อน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net