Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีการสู้รบระหว่างทหารพม่าซึ่งสนธิกำลังทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอ เข้าปะทะกับทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยู บริเวณชายแดนพม่าติดกับด้าน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และมีชาวกะเหรี่ยงหนีภัยเข้ามายังฝั่งไทยด้าน อ.ท่าสองยาง กว่าสามพันคน จากหมู่บ้านที่รายรอบในรัฐกะเหรี่ยงก็ต้องเปลี่ยนไป พวกเขากลายเป็นผู้ลี้ภัยในแผ่นดินไทย อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวที่บ้านหนองบัว และแม่อุสุ(อุสุทะ) อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 53 ที่ผ่านมา ผู้แทนชาวบ้านในศูนย์อพยพเล่าว่า ตอนนี้ ทหารไทยเชิญผู้นำชาวกะเหรี่ยง UNHCR - TBBC หารือเพื่อผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศพม่า ส่วนทางผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 35 กล่าวว่า ได้ประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกันระหว่างทหาร ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR ผู้แทนองค์กรช่วยเหลือชาวพม่า TBBC ผู้นำชาวกะเหรี่ยง สัญชาติพม่า ที่ได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามายังชายแดนไทย และฝ่ายปกครอง-ฝ่ายความมั่นคงไทย เตรียมผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง 1,500 คน กลับฝั่งพม่าทั้งหมด โดยความสมัครใจ เนื่องจากช่วงนี้ไม่มีการสู้รบแล้ว อีกทั้งเป็นนโยบายรัฐบาลว่าจะไม่มีการจัดตั้งพื้นที่พักพิงชั่วคราวเพิ่มอีก อย่างไรก็ตามจะเป็นลักษณะการทยอยส่งกลับ

ผู้อพยพรายหนึ่งได้เล่าว่า พวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่ค่ายพักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัว ผ่านไปกว่าเจ็ดเดือนแล้ว ซึ่งพื้นที่หลังสุสานวัดพุทธของหมู่บ้านกะเหรี่ยงไทยที่อยู่ตรงข้ามหมู่บ้านเล่อป่อเฮอ หลังจากที่พ้นภาวะฉุกเฉินและความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐที่จะบังคับส่งกลับและสร้างอุปสรรคแก่ความช่วยเหลือในเดือนแรก พอหลังจากนั้น พวกเขา และพี่น้องชาวบ้านผู้ลี้ภัยก็ได้รับอนุญาตให้สร้างกระท่อมพักพิงด้วยไม้ไผ่และหลังคาพลาสติกบ้าง ผ้าเต้นท์บ้าง เพื่อไม่ให้ดูเป็นการถาวรจนเกินไป ส่วนที่พักพิงผู้ลี้ภัยแม่อุสุทะอยู่ในสภาพแย่กว่า เพราะที่นั่นพวกเขาถูกจัดให้อยู่ในไร่ข้าวโพดและห่างไกลจากถนน และถูกควบคุมเข้มงวดกว่า ในขณะที่ค่ายหนองบัวยังมีโรงเรียนส่วนคนที่อุสุทะยังอยู่ในระหว่างเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทหารที่คุมพื้นที่ แต่ตอนนี้พวกเขากำลังจะถูกผลักดันกลับอีกครั้ง... เสียงคำพูดที่สั่นคลอนด้วยความกังวลปนความกลัว และภาพความโหดร้ายที่ยังไม่เลือนราง ก็จะหวนกลับมาอีกครั้ง

“พวกเราอยากกลับบ้าน พวกเราไม่คิดที่จะอยู่บนแผนดินไทยตลอดไปหรอก แต่พวกเรายังกลับตอนนี้ไม่ได้ กลัว”

ปัญหาเรื่องความปลอดภัย อันเนื่องมาจากภัยกับระเบิดที่วางไว้ในการสู้รบที่ผ่านมา กับระเบิดถูกวางไปแล้วทุกที่ ในไร่ในนา บนเส้นทางเดิน และแม้กระทั่งในสนามฟุตบอลของโรงเรียน ผู้ลี้ภัยจากหมู่บ้านไกลออกไป ไม่แน่ใจว่าจะเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยจากกับระเบิดหรือเปล่า ...

"พวกเราจะทำไร่ทำนาได้อย่างไร หากกับระเบิดอยู่ในผืนดินที่เราทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว แล้วเราจะเอาอะไรกิน บริเวณรอบเล่อป่อเฮอก็เป็นกับระเบิด จะมีคนเสียแขนเสียขา เสียชีวิตไม่รู้อีกเท่าไหร่

"พวกเราผู้ลี้ภัยไม่กล้าหวังอะไรมากไปกว่าขอหลบภัยอยู่บนแผ่นดินไทย หากไม่ต้องการให้เราอยู่ที่เดิม ขอเพียงอยู่ติดริมน้ำเมย อันเป็นพรมแดนไทย-พม่าก็พอแล้ว... ที่ผ่านมาทหารไทยในพื้นที่พยายามมาหลายต่อๆ ครั้ง กดดันให้กลับไป ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ผู้ลี้ภัยถูกจำกัดการเข้าออกค่ายอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าค่ายแม่หละ ฝนตกลงมาจนหลังคาชั่วคราวที่ทำด้วยผ้าใบถูกพัดออก พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซม เจ้าหน้าที่ทหารตรวจค้นค่ายหนองบัว ยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและกล้องถ่ายรูป และเรียกบรรดาครูมาข่มขู่ไม่ให้ส่งข่าวใด ๆ ออกนอกพื้นที่และไม่ให้ใช้โทรศัพท์”

อันที่จริงอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นเพียงเครื่องมือทำรายการของบริจาคในค่าย เช่น รายการอาหารและของบริจาคอื่นๆ ผู้นำถูกค้นตัวอย่างละเอียด โดยอ้างว่าเป็นการตรวจค้น ‘ยาเสพติด’

“พวกเราได้แต่สวดมนต์ภาวนาต่อพระเป็นเจ้าในทุกศาสนาที่พวกเราแต่ละคนนับถือ” แหล่งข่าวที่ไม่อาจเปิดเผยชื่อเล่า

และนี่คือสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ที่กำลังเลวร้ายลงทุกที ขณะที่รัฐบาลกำลังป่าวประกาศชี้แจงว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีคำถามว่า ภายใต้การบัญชาการของรัฐบาล เจ้าหน้ารัฐปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมจริงแล้วหรือยัง

การอ้างว่าเป็นนโยบายของรัฐที่จะต้องผลักดันกลับประเทศ ทั้งๆ ที่ผู้คนเหล่านี้ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตเลย และทั้งๆ ที่บอกว่าจะให้ผู้ลี้ภัยสมัครใจกลับเอง แต่เอาเข้าจริง ในพื้นที่กลับไปบังคับให้ชาวบ้านกลับ เหมือนกรณีม้งลาวที่ผลักดันกลับ และไม่ให้นักข่าวเข้าไปร่วมตรวจสอบ

หากรัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะลบผู้ลี้ภัยออกจากแผนดินประเทศไทยเพียงเพราะมองว่า ‘เป็นภาระ’ จะหมายถึงชีวิต อีกกี่ร้อยกี่พันที่ต้องสูญเสีย.. กี่ชีวิตที่จะถูกทำลาย ที่อาจประสบชะตากรรมที่ยากคาดเดา หากพวกเขาต้องกลับไปฝั่งพม่าก่อนเวลาอันควร แล้วเราจะยังกล้าเอ่ยอ้าง ‘สิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม’ ต่อประคมโลกอีกหรือ

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net