Skip to main content
sharethis
 
 
ที่มาภาพทั้งหมดจาก www.sanamluang.tv
 
 
 
“การผลิตที่ทันสมัยเป็นของมนุษยชาติ
มีแต่คนไร้เดียงสาเท่านั้นที่จะบอกว่า นั่นเป็นของทุน
คอนเซ็ปต์เดิมของสังคมนิยมดูกันที่การแบ่งปัน
แต่สำคัญเราต้องทำการผลิตที่ก้าวหน้า”
 
 

เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา มีการเปิดตัว ‘พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย’ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้เข้าร่วมใส่เสื้อหลากสี แต่แน่นอน สีแดงยังเป็นสีเด่นทั่วห้อง ครั้งนี้นับเป็นการเปิดตัวพรรคที่อ้างอิงกับแนวคิด ‘สังคมนิยม’ อีกหนในสังคมไทย หลังจากพรรคที่มีท่วงทำนองนี้หายไปจากหน้าการเมืองไทยนานจนคนอาจคิดว่าสิ้นสุดสมัยของมันแล้ว

อันที่จริงหากดูเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์แห่งรั้วจามจุรี อธิบายในงานเปิดตัวพรรคครั้งนี้ก็จะพบว่า ชื่อพรรค ‘แนวร่วมสังคมนิยมประชาธิปไตย’ นี้ไม่ใช่ชื่อใหม่ แต่มันเคยเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย โดยมีสมคิด ศรีสังคม เป็นโต้โผใหญ่ และพรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยก็เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยหลายพรรคในยุคที่การต่อสู้ทางความคิด ซ้าย-ขวา ยังระอุ ถึงขนาดที่เคยมี ส.ส.เข้าไปนั่งในสภาหลายสมัย

ช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดคือช่วงปี 2518 ซึ่งพรรคแนวนี้ได้ที่นั่งในสภารวมกันแล้วถึง 37 ที่นั่ง ก่อนจะถูกปราบปรามอย่างหนักในปีต่อมา จากนั้นหลังป่าแตก พรรคแนวสังคมนิยมถูกรื้อฟื้นมาอีกครั้งแบบเงียบๆ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ กระทั่งแม้แต่ชื่อก็หายไป และปิดฉากลงหลังการรัฐประหารปี 2535 เพราะหาผู้สมัคร ส.ส.ได้ไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญปี 2535 กำหนด

ความพยายามตั้งพรรคของบรรดา “ฝ่ายซ้าย” มีอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่สำเร็จ เมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยน ความขัดแย้งทางความคิดเริ่มก่อตัวอีกระลอกในช่วง 3-4 ปีนี้ ฝ่ายซ้ายส่วนหนึ่งได้ร่วมก่อตั้ง “พรรคการเมืองใหม่” กับขบวนพันธมิตรประชาชนเพี่อนประชาธิปไตย ฝ่ายซ้ายอีกจำนวนหนึ่งก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง “พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย” ตามกันมาติดๆ พรรคนี้เพิ่งจดทะเบียนกับคณะกรรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำเร็จเมื่อ 29 ธันวาคม 2552 นี้เอง หลังจากขอจดในชื่อ “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” แล้ว แต่ กกต.บางคนยืนกรานไม่ให้ผ่าน เนื่องจากเชื่อว่าชื่อนี้มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“เรื่องนี้เป็นวาทกรรมที่หยิบยกมาต่อสู้ให้ร้ายกันเฉยๆ ไม่มีใครคิดจะล้มล้างสถาบัน เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างศัตรูกับประชาชนทั้งประเทศ และมันก็ไม่ใช่สังคมนิยมแบบเก่าอีกแล้ว เราพยายามใช้ประเทศสังคมนิยมในยุโรปเป็นแม่แบบ และปรับใช้ให้เข้ากับสังคมไทย” ประชา อุดมธรรมานุภาพ หัวหน้าพรรคฯ กล่าว

ด้านสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคทั้งยังเป็น “ลมใต้ปีก” ของขบวนการซ้ายมาตั้งแต่อดีต ตอบคำถามถึงความเหมือนหรือแตกต่างกับ “แดงสยาม” ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ที่สุดในกลุ่มคนเสื้อแดงว่า “เราอาจเหมือนกันตรงที่อยากเห็นประเทศก้าวหน้า สังคมเป็นธรรม แต่อาจแตกต่างในรายละเอียด การเลือกเส้นทางการเมือง สำหรับเรื่องสถาบันที่อาจมีผู้กล่าวหาพรรคนั้น ไม่กังวล เพราะเราทำตามกฎหมาย ซี่งในทางการเมืองเรื่องนี้ถูกขีดเส้นชัดเจนอยู่แล้ว

 
 

ประชา อุดมธรรมานุภาพ และ สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน
 
 
 
 
 

หากดูรายชื่อกรรมการบริหารพรรค (อ่านในเอกสารประกอบด้านล่าง) คนในแวดวงเดิมๆ อาจรู้จักมักคุ้นกันอยู่ แต่คงไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป ประชาเล่าว่า การเคลื่อนไหวในการก่อตั้งพรรคมีมาตั้งแต่  3-5 ปีก่อนรัฐประหารแล้ว และเมื่อสถานการณ์เดินมาถึงความขัดแย้ง แดง-เหลือง ที่ดูยากจะหาทางออก พวกเขาที่นิยามตนว่าเป็น “นักต่อสู้เก่าแก่” ก็เห็นควรต้องร่วม “ชี้นำสังคม” ตามแนวทางของเขา

“เราพยายามรื้อฟื้นจิตวิญญาณที่ทำเพื่อคนอื่นขึ้นมา คนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมยังคงมีอยู่เยอะในสถานการณ์ที่ทางโน้นคนก็ไม่ชอบ ทางนี้คนก็ไม่ชอบ” สรรเสริญ กล่าว

สรรเสริญชี้ว่า การรวมตัวครั้งนี้พยายามผ่านอุปสรรคสำคัญ ทั้งเรื่องเงินทุน ซึ่งหวังพึ่งใครไม่ได้นอกจากช่วยๆ กันเอง กับเรื่องการหาบิ๊กเนมมาร่วมพรรค ซึ่งเท่ากับเป็นการขายอดีต มากกว่าขายปัจจุบัน ทางออกที่เหมาะสมจึงหนีไม่พ้นแนวทางแบบ “พรรคกระยาจก” คือ แต่ละคนต่างก็มีอาชีพของตนเอง และรวบรวมสิ่งที่มีอยู่มาค่อยๆ ดำเนินการไปในแนวทางตนเอง

 
 

ตำแหน่งแห่งที่ของพรรคสังคมนิยมใน พ.ศ.2553  

แนวทางสังคมนิยมที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ.นี้ ซึ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้วก็ย่อมต้องมีโฉมหน้าที่แตกต่างจากเดิมบ้าง โดยเฉพาะกับโจทก์เก่าอย่าง “ทุนนิยม”

หากดูจากคำแถลงในวันเปิดตัวก็พอจะมองเห็นแนวทางพรรคอยู่บ้าง เช่น “ต่อสู้ให้ประชาชนได้รับสิทธิเสมอภาค คัดค้านการใช้อภิสิทธิ์เหนือประชาชน” “ร่วมกับกรรมกร ชาวนา นักศึกษาปัญญาชน ประชาชนทุกหมู่เหล่าคัดค้านการรัฐประหารและคัดค้านการแทรกแซงการเมืองของตุลาการทุกรูปแบบ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย คัดค้านอำนาจนอกระบบ” “ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระจายอำนาจสู่ประชาชน”

ส่วนแนวทางเศรษฐกิจก็มีประเทศสังคมนิยมในยุโรปเป็นต้นแบบ เน้นการสร้างรัฐสวัสดิการ อัตราภาษีก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ปฏิวัติที่ดิน ควบคุมอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“การผลิตที่ทันสมัยเป็นของมนุษยชาติ มีแต่คนไร้เดียงสาเท่านั้นที่จะบอกว่านั่นเป็นของทุน คอนเซ็ปต์เดิมของสังคมนิยมไม่ได้อธิบายเรื่องการผลิต พูดแต่เรื่องการแบ่งปัน อุดมการณ์เดิมนั้นดูกันที่การแบ่งปัน แต่สำคัญเราต้องทำการผลิตที่ก้าวหน้า แล้วกำหนดกติกาการแบ่งปัน การบริหารจัดการที่ไม่ให้กลุ่มคนต่างๆ เอาเปรียบกัน ที่สำคัญ ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเหมือนญี่ปุ่น ให้ท้องถิ่นมีทั้งอำนาจ มีเงิน และรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง” สรรเสริญกล่าว

ขณะที่รายละเอียดรูปธรรม การกำหนดจังหวะก้าวที่ชัดเจน จะเริ่มต้นในการประชุมที่จะเกิดขึ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งประชาระบุว่า เบื้องต้นจะเน้นการทำงานมวลชน หาสมาชิกให้ครบตามกำหนด 1 ปี แล้วร่วมกันยกร่างยุทธศาสตร์ใหญ่เป็นแผนออกมา อย่างไรก็ตาม เขาค่อนข้างมั่นใจกับสมาชิก เครือข่ายที่มีอยู่แล้วกระจายตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

“ส่วนหนึ่งก็เป็นพวกเสื้อแดง อีกส่วนก็พรรคพวกเก่าๆ” ประชากล่าว และว่า หากมองภาพใหญ่พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยคงไม่ใช่คู่แข่งของพรรคการเมืองกระแสหลักเช่น เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เพราะไม่มีเงินทุนจำนวนมาก แต่อาจพอถือว่าเป็นพรรคทางเลือกคู่แข่งกับพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามกันในแง่แนวคิด

“พรรคเพื่อไทยรับภารกิจได้ระดับหนึ่ง เขาไม่สะดวกจะทำบางอย่าง เช่น ภาษีก้าวหน้า คนที่จะทำเรื่องพวกนี้ คือพวกที่ไม่มีเนื้อจะเฉือน” สรรเสริญกล่าว

ขณะที่รองหัวหน้าพรรคที่นับเป็นรุ่นใหม่อย่าง ไม้หนึ่ง ก.กุนที กล่าวว่า พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวร่วมให้กับคนเสื้อแดงเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย และจะเป็นแนวร่วมให้พรรคเพื่อไทยด้วย หากพื้นที่ไหนพรรคเพื่อไทยรู้สึกว่าพรรคการเมืองอำมาตย์มีจุดแข็ง และไม่ควรเสียทรัพยากรขี่ช้างจับตั๊กแตน พรรคแนวร่วมฯ ยินดีลุยและบุกเบิกพื้นที่เหล่านั้น ด้วยเชื่อว่าพวกเขามีบุคลิกใหม่ คุณภาพใหม่ และมีปริมณฑลทางการเมืองที่เปิดกว้างมากกว่ามุมมองแบบเก่าๆ และอาจสั่งสมสู่ชัยชนะได้ โดยไม่แคร์ต่อคำกล่าวที่จะเกิดขึ้นว่า พรรคนี้เป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย เช่นเดียวกับสรรเสริญที่ตอบคำถามนี้อย่างติดตลกว่า “เอาเลย ถ้าเขารับนโยบายของเรา แต่เกรงว่าเขาจะไม่เอา ไม่งั้นก็ไม่ต้องมาตั้งเองไปอยู่กับเขาดีกว่า”

สำหรับไม้หนึ่ง เขามีวิธีมองชนชั้นแบ่งเป็น 2 ชนชั้นหลัก คือ ผู้กดขี่ กับ ผู้ถูกกดขี่ เท่านั้น และตีความสูตรแห่งชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมืองเสียใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้มี 1.องค์กรนำหรือพรรค 2.แนวร่วม 3.กองกำลังติดอาวุธ

“องค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำพามาซึ่งชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยประกอบด้วย 1.พรรค หรือองค์กรนำ องค์กรนำตอนนี้ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย แต่คือมหาประชาชนเสื้อแดง ยอมรับว่า เวที นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ถือเป็นองค์กรนำที่เป็นเอกภาพมากที่สุด แม้อาจมีวิวาทะทางความคิดกันบ้าง 2.แนวร่วมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งนี้คือ พรรคเพื่อไทย นักวิชาการ สื่อ ทหาร ข้าราชการชั้นผู้น้อยฝ่ายประชาธิปไตย หรือผู้สูญเสียผลประโยชน์จากระบบอำมาตย์ รวมถึงพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตยด้วย 3.กองกำลังติดอาวุธ ก็คือ กองกำลังติดอาวุธทางความคิด เผลอๆ คนเสื้อแดงอาจเปลี่ยนแปลงประเทศได้โดยไม่ต้องรบด้วยกองกำลังติดอาวุธทางความคิด ตอนนี้มันมีพลานุภาพมากกว่าการที่คุณจะถือไรเฟิล”

 
 

มุมมองจากอดีตซ้ายหัวขบวน

ในวันเปิดตัวพรรคได้รับการตอบรับอย่างค่อนข้างอบอุ่น เปิดตัวด้วยปาฐกถาของ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ซึ่งแม้อายุมากแล้วแต่ยังประกาศว่า “ยังสู้อยู่” รวมไปถึง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ที่วิเคราะห์สังคมอย่างเมามันพร้อมกับเรียกเสียงหัวเราะครืนเป็นระยะ ขณะที่แกนนำซ้ายสีแดงที่เป็นที่รู้จักส่วนใหญ่ ยังคงติดพันกับภารกิจคนเสื้อแดงโดยเฉพาะการเปิดโรงเรียนประชาธิปไตยต้านรัฐประหาร ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน กระนั้น เราก็พยายามสอบถามไปยังบางส่วนถึงการก่อตัวขึ้นของพรรคนี้

 

พ.อ.สมคิด ศรีสังคม
 


สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

 
 

หมอเหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) คนหนึ่งซึ่งรับรู้เรื่องราวของ ‘พรรคพวก’ ในการก่อตั้งพรรคแม้ไม่เห็นรายละเอียดมากนัก แต่ก็ให้ความเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการตั้งพรรคการเมืองก็ถือเป็นทางเลือกให้ประชาชน จึงรู้สึกดีใจและยินดีต้อนรับ อย่างไรก็ตาม ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนพิจารณา เป็นดุลยพินิจของประชาชน ถ้าประชาชนต้อนรับกับนโยบาย แนวทางนั้นก็จะเติบโตได้ แต่หากไม่ก็จะฝ่อไป นอกจากนี้หมอเหวงยังเห็นว่าพรรคนี้อยู่บนกระแสประชาธิปไตย ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตย ถึงถือเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดง เป็นพลังหนุนเสริมกันและกัน

“ตัวผมยังไม่พร้อมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด มีหลายคนแวะเวียนมาทาบทามอยู่เหมือนกัน แต่เขาก็รู้ว่าผมไม่พร้อมจะลงสู่เส้นทางการเมือง เพราะภารกิจในการโค่นอำมาตย์นั้นใหญ่กว่า หากสังกัดพรรคอาจถูกมัดมือมัดเท้าด้วยกฎกติกาเยอะแยะ และทั้ง กกต. ปปช. ก็เป็นกลไกสำคัญของอำมาตย์ในตอนนี้”

“เท่าที่ฟังมา ทิศทางของพรรคเน้นไปทางรัฐสวัสดิการ ซึ่งผมอยากให้ทะลุไปสู่แก่นแท้ของหลักประกันของประชาชน ถ้าใช้รัฐสวัสดิการถึงวันนี้มันก็ยังมีข้อจำกัดเยอะอย่างที่เห็นในสแกนดิเนเวีย ก็ยังคิดหาคำไม่ออกว่าใช้คำไหนมันถึงจะครอบคลุมไปถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา”

ขณะที่จรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำ นปช. อีกคนหนึ่ง ก็เห็นว่าการตั้งพรรคการเมืองเป็นสิทธิทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และนับเป็นความพยายามที่จะเสนอทางเลือกใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เหลืองแบบฟาสซิสม์ นาซี หรือไม่แดงแบบประชาธิปไตยนายทุน

เขากล่าวอีกว่า อุดมการณ์แบบพรรคสังคมประชาธิปไตย นับเป็นพรรคกลางๆ ระหว่างคอมนิวนิสต์กับฝ่ายขวา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20 ในเกือบทุกประเทศของยุโรป ประเทศไทยเองก็เคยก่อตั้งมา 2-3 ครั้ง แต่เป็นพรรคเล็กๆ และไม่ประสบความสำเร็จ การเกิดขึ้นครั้งนี้ก็หวังว่าจะเป็นที่สนใจของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคก็มีอยู่มาก เนื่องจากมันในบ้านเราพรรคแนวนี้เติบโตยาก ดำเนินการเมืองทางสภาก็ยาก เวลาเลือกตั้งก็ต้องหาเงินกันเอง

“มันยังยาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นพวกปฏิบัตินิยม ไม่ใช่คนที่มีอุดมการณ์ลงหลักปักฐานหนักแน่น พรรคแบบนี้เหมาะกับสังคมที่มีอุดมการณ์จริงๆ”

จรัลยังออกตัวด้วยว่า เขาไม่เชื่อในแนวทางพรรคการเมือง แต่เชื่อในขบวนการทางสังคม ขบวนการทางการเมือง มากกว่า เนื่องจากประสบการณ์ความผิดหวัง ความล้มเหลวที่ผ่านมา ประกอบกับในช่วง 30-40 ปีมานี้ที่มีข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองในโลกนี้ไม่ว่าแนวไหนเสื่อมลงเรื่อยๆ แต่ที่ยังอยู่ได้เพราะคนไม่รู้ว่า ถ้าไม่มีพรรคจะไปดำเนินการทางการเมืองได้ในทางไหน อย่างไรก็ตาม ในระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่มีพรรคการเมืองไม่ได้ ก็ต้องตั้งพรรคการเมือง

“เรื่องนี้พวกแกนนำเสื้อแดงก็อาจยังไม่รู้มากนัก แต่ผมเชื่อว่ามันจะช่วยหนุนเสริมกัน ต่างคนก็ต่างเคลื่อนไหว ถ้าอันไหนมีเป้าหมายร่วมก็มาร่วม อันไหนแตกต่างก็เป็นอิสระซึ่งกันและกัน ไม่มีปัญหา"

เหลือเวลาอีก 1 ปีเต็มสำหรับการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คน และที่ทำการพรรค 4 แห่งตามกฎหมายกำหนด รวมไปถึงร่างแผนยุทธศาสตร์ นโยบายที่น่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวันที่ 1 พฤษภาคมวันแรงงานที่คนในพรรคหวังไว้ว่า จะทำการเคลื่อนไหวและเปิดรับสมาชิกให้กว้างขวางขึ้น เป็นบทพิสูจน์ว่า แนวทางเช่นนี้จะเป็นทางเลือกที่ผู้คนใน พ.ศ.2553 ยอมรับเพียงไร ความใฝ่ฝันดั้งเดิมจะปรากฏตัวในรูปแบบไหนในสถานการณ์ปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net