Skip to main content
sharethis


 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 เวลาประมาณ 11.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนจาก 19 จังหวัดภาคอีสาน ที่ได้มาร่วมกันจัดงานมหกรรมประชาชนอีสานเพื่อการปกป้องทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น บริเวณสวนดอกคูณ ริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2553 ที่ผ่านมา และในวันที่ 27 ม.ค. นี้ ที่เป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ได้มีการแถลง “คำประกาศแก่นนคร 2553คนอีสานสิสู้เพื่อกอบเพื่อกู้มาตุภูมิ” ประกาศเจตนารมณ์และแสดงจุดยืนของประชาชนอีสาน พร้อมยื่นข้อเสนอต่อตัวแทนรัฐบาล และตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เนื้อหาในคำประกาศระบุว่า คนอีสานจะต้องลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตัวเอง สร้างจิตสำนึกใหม่ ทางเลือกใหม่ เพื่อสร้างสังคมอีสานในอนาคตที่อยู่ดีกินดี โดยที่ไม่ต้องรอคอยผู้ใด ด้วยการสร้างรูปธรรมทางเลือกให้เกิดขึ้นจริง ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต่อรองกับรัฐตามสิทธิของพลเมือง และสิทธิของชุมชนที่มีอยู่อย่างชอบธรรม รวมทั้งรัฐต้องหยุดแนวทางการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรไปจากมือคนอีสาน และต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เป็นสำนึกใหม่ ทางเลือกใหม่ เพื่อต่อสู้พลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้ซุ่มเย็น อยู่รอดในโลกยุคใหม่อย่างมีศักดิ์ศรี

0 0 0


คำประกาศแก่นนคร ๒๕๕๓
คนอีสานสิสู้เพื่อกอบเพื่อกู้มาตุภูมิ

แผ่นดินอีสานอันกว้างใหญ่ มีทรัพยากรมากหลาย เป็นที่เกิด ที่อยู่ของเฮาคนอีสานเป็นหลายพันปีมาแล้ว ปู่สังสาย่าสังกะสีได้บุกเบิก หักร้างถางพง สร้างบ้านแปงเมืองจนเฮืองฮุ่ง เกิดภูมิปัญญาในการเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน การเบิ่งแยงรักษาสุขภาพ การจัดการทรัพยากร เกิดวัฒนธรรมประเพณีในการอยู่ร่วมกัน คือการ “อยู่นำกัน เฮ็ดนำกัน กินนำกัน” แบ่งปันและเกื้อกูลตลอดมา

บ่เกินห้าสิบปีมานี้ คนอีสานถูกบีบบังคับให้เข้าสู่การพัฒนาแบบสมัยใหม่ภายใต้อำนาจรัฐเผด็จการหลายยุคหลายสมัย และภายใต้การแทรกแซงชี้นำของประเทศมหาอำนาจ แผ่นดินอีสานถูกกระทำย่ำยีอย่างหนักหน่วง พื้นที่ป่าดงอันอุดมสมบูรณ์ถูกถางทำลายลงอย่างราบคาบเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ชีวิตชาวอีสานยากลำบากมากขึ้น เป็นหนี้เป็นสิน อพยพแรงงาน บ้านแตกสาแหรกขาด สิ่งแวดล้อมเสื่อม ในน้ำในดินปนเปื้อนสารเคมี ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ผู้คนแก่งแย่งแข่งขัน เอาเปรียบเอารัดกัน ปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากมาย หาความสงบสุขบ่ได้

ถึงบัดเดี๋ยวนี้ เฮา ลูกหลานชาวอีสานได้ตระหนักแล้วว่า การพัฒนาดังกล่าวได้นำพาสังคมอีสานไปสู่ความหายนะโดยแท้จริง เป็นการพัฒนาที่รัฐกำหนดให้ และเอื้อให้นายทุนได้กอบโกยผลประโยชน์ไปจากแผ่นดินอีสานตลอดเวลา

บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่เฮาคนอีสานต้องลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของเฮาเอง

แม้ว่าเฮาสิประสบปัญหาอันหนักหน่วง แต่เฮายังมีคนดี มีของดีอยู่มากหลาย มีภูมิปัญญาอยู่เต็มแผ่นดิน
เฮาสิพากันสร้างจิตสำนึกใหม่ สร้างทางเลือกใหม่ๆเพื่อการอยู่รอดในโลกยุคใหม่

สังคมอีสานแห่งอนาคต ต้องเป็นสังคมแห่งการอยู่ดีกินดี ผู้คนมีความเสมอภาคเท่าเทียม อยู่ร่วมกันด้วยความมีศีลธรรม มีคุณธรรม มีการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสวัสดิการดูแลสมาชิกชุมชนของเฮาอย่างทั่วถึง มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของเราเอง มีการดูแลปกครองตนเองให้เกิดความสันติสุข

มื้อนี้ เราขอประกาศว่า เราสิบ่รอคอยสิ่งใดๆ เราได้ลุกขึ้นมาสร้างสาชุมชนและสังคมด้วยมือด้วยตีนด้วยภูมิปัญญาของเราแล้วให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เราได้สร้างเศรษฐกิจใหม่ด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การตลาดท้องถิ่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างกองทุนชุมชน เราได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพื่ออนุรักษ์ปกป้องฟื้นฟูทรัพยากร สร้างทางเลือกการจัดการพลังงานโดยชุมชน มีการฟื้นฟูระบบการดูแลรักษาสุขภาพพื้นบ้าน มีระบบการศึกษาทางเลือก ระบบสวัสดิการชุมชน สื่อชุมชน มีระบบการรวมตัวเพื่อคิดค้นสร้างสรรค์และสร้างสิทธิอำนาจต่อรองในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มสตรี เยาวชน ผู้บริโภค และมีข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่อนโยบายและกฎหมายของรัฐในการแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจน และข้อเสนอต่อการพัฒนาตามเจตนารมณ์ของชาวชุมชนท้องถิ่น

เฮาขอประกาศว่า

เฮาสิบ่หยุดยั้งในการสร้างสรรค์ทางเลือกเพื่อการอยู่รอดด้วยมือเฮาเองให้เกิดความเด่นชัด

เฮาสิรวมตัวกันทุกหมู่เหล่า ทุกพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือกันเอง และต่อรองกับรัฐตามสิทธิของพลเมือง และสิทธิของชุมชนที่เฮามีอยู่อย่างชอบธรรม

เฮาขอประกาศว่า

รัฐต้องหยุดแนวทางการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรไปจากมือคนอีสาน หยุดการพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำ บ่เท่าเทียม สร้างปัญหาสังคมอย่างที่ผ่านมา รัฐต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

นี่คือสำนึกใหม่ ทางเลือกใหม่ เพื่อต่อสู้พลิกฟื้นแผ่นดินอีสานให้ซุ่มเย็น อยู่รอดในโลกยุคใหม่อย่างมีศักดิ์ศรี

 

ประกาศ ณ บึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น
คณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอีสานเพื่อปกป้องทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น
27 มกราคม 2553

 

 
 
.........................
ที่มา : เสียงคนอีสาน
 
 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net