นักวิจัย ‘บางมด’ ทำแผนที่พลังงานลมทุก 1 กิโลเมตรทั่วไทยสำเร็จ

นักวิจัยเจจีซี ได้พัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ศักยภาพพลังงานลมที่ความละเอียด 1 กม. ครอบคลุมทั่วประเทศและฐานข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศเพื่อคัดเลือกพื้นที่ติดตั้งกังหันลมสำเร็จ เสนอภาครัฐและเอกชนใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า

 

 
แผนที่ขนาดความเร็วลมและกำลังเฉลี่ยทั้งปีของประเทศไทยที่ความสูง 100 ม. เหนือพื้นดิน

 

 

 

ผศ.ดร. เกษมสันต์ มโนมัยพิบูลย์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า พลังงานลมเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจมากขึ้นและเทคโนโลยีทางพลังงานลมก็ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและจัดทำแผนที่การประเมินศักยภาพพลังงานลมสำหรับประเทศไทยที่สำคัญสองสามการศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่ผ่านมานานพอควร ผลการศึกษามีความไม่สอดคล้องกันในหลายพื้นที่ และไม่ได้มีการประเมินที่ระดับความสูงมากๆ เช่น 100 เมตร ด้วยเหตุนี้ตนจึงได้ทำงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินศักยภาพพลังงานลมด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และการวิเคราะห์ด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการศึกษา ซึ่งดำเนินการในประเทศไทยทั้งหมดด้วยบุคลากรหลักจากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมฯ มีเป้าหมายเพื่อให้ได้แผนที่พลังงานลมที่มีความละเอียดสูง ทันสมัย และมีความน่าเชื่อถือ สำหรับใช้เป็นข้อมูลการวางแผนการพัฒนาพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้าในเมืองไทย

ผศ.ดร.เกษมสันต์ กล่าวว่า ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อจำลองบรรยากาศถึง 2 แบบจำลองร่วมกัน คือ แบบจำลองระดับกลาง (Mesoscale) กับแบบจำลองระดับละเอียด (Microscale) ซึ่งทั้งสองเป็นแบบจำลองขั้นสูงและโอเพนซอร์ส (Opensource) พร้อมทั้งได้ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลตรวจวัดลมและอุตุนิยมวิทยาจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อตรวจสอบผลที่ได้การทำนายจากแบบจำลอง พบว่าผลการทำนายโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

“จากการใช้แบบจำลองและข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เราสามารถพัฒนาฐานข้อมูลแผนที่ศักยภาพพลังงานลมที่ความละเอียดถึง 1 กิโลเมตรครอบคลุมทั่วประเทศได้ โดยในแต่ละตารางกิโลเมตรของพื้นที่ ได้ให้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับพลังงานลมหลายตัวแปร ได้แก่ 1.ความเร็วลมเฉลี่ย (เมตรต่อวินาที) 2. กำลังลมเฉลี่ย (วัตต์/ตารางเมตร) และ 3.ความสม่ำเสมอของกำลังลม  ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนและรายปี ที่ระดับความสูง 20, 50, และ 100 เมตร

นอกจากการทำแผนที่พลังงานลมแล้ว ทีมวิจัยยังได้พัฒนาฐานข้อมูลด้านภูมิศาสตร์สารสนเทศ ควบคู่กันไป เพื่อใช้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานลมที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้หรือเหมาะสมต่อการติดตั้งกังหันลมหรือไม่ เช่น เป็นพื้นที่ป่าสงวน ลุ่มน้ำ พื้นที่ลาดชัน ภูเขา เขตเมืองและอุตสาหกรรม ฯลฯ ในการพัฒนาดังกล่าว ได้ทำการทบทวนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเลือกพื้นที่ด้วย”

ผศ.ดร.เกษมสันต์ กล่าวว่า จากการทำแผนที่ข้อมูลศักยภาพพลังงานลมประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพพลังงานลมในหลายพื้นที่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้แน่นอน โดยพื้นที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย เพชรบูรณ์ ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงต้นจังหวัดสงขลาตอนบนด้วย และบางส่วนของภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ดีด้วยตระหนักถึงปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้พลังงานสะอาดเป็นพลังงานทดแทนที่มีความต้องการมากยิ่งขึ้น การจัดทำฐานข้อมูลด้านพลังงานลมในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนในการกำหนดนโยบายและการวางแผนลงทุนด้านพลังงานลมเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศในอนาคต 

สำหรับบุคคลที่สนใจฐานข้อมูลทั้งสองที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นนี้ สามารถติดตามดาวน์โหลดฐานข้อมูลหรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.jgsee.kmutt.ac.th หรือhttp://complabbkt.jgsee.kmutt.ac.th/wind_proj

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท