พุทธศาสนานอกพระไตรปิฎก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเสวนาเรื่อง “พระพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎก : คืออะไร คิดอย่างไร” จัดโดยศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ศาสตราจารย์ ดร.สมภาร พรมทา ผู้นำเสนอบทความและประเด็นการเสวนานิยาม (สรุปความโดยผู้เขียน) ว่า “พุทธศาสนานอกพระไตรปิฎก” ได้แก่คำสอน ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม การปฏิบัติธรรม ที่เกิดจากการตีความ และการผสมสมผสานคำสอนพุทธศาสนากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งคำสอน ความเชื่อประเพณี พิธีกรรม การปฏิบัติเหล่านั้นไม่ได้ปรากฏในพระไตรปิฏก
 
ตัวอย่างเช่น ความเชื่อเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุของพระอริยบุคคลที่มีรูปร่างลักษณะต่างๆ ความเชื่อเรื่องพญานาคของชาวพุทธบริเวณชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราวการบรรลุ “วิมุตติธรรม” ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ในหนังสือชีวประวัติพระอาจารย์มั่น ที่เขียนโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ที่ว่าในคืนบรรลุธรรมได้มีพระพุทธเจ้าในอดีตและพระอรหันต์จำนวนมากมาอนุโมทนากับท่าน คำสอนเรื่อง “นิพพานเป็นอัตตา” และ “วิชชาธรรมกาย” ที่ถูกค้นพบโดยหลวงพ่อสดของวัดพระธรรมกาย หรือการที่สำนักสันติอโศกยืนยันในหลักการว่า พระภิกษุที่บรรลุธรรมแล้วสามารถบอกหรืออธิบายการบรรลุธรรมระดับต่างๆของตนเองต่อสาธารณชนได้โดยไม่ต้องอาบัติปาราชิก (มีความผิดพระวินัยที่ทำให้ขาดจากความเป็นพระ) เป็นต้น
 
ในบทความที่นำเสนอ ดร.สมภาร ได้สมมุติให้มีการโต้เถียงระหว่าง “นักคัมภีร์” กับ “นักสังคมวิทยาศาสนา” ซึ่งสาระสำคัญอาจสรุปได้ดังนี้
 
“นักคัมภีร์” คือตัวแทนฝ่ายที่มีความเห็นว่า พุทธศาสนาที่แท้คือพุทธศาสนาที่มีในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกคือหนังสือที่บันทึกประสบการณ์และคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด คำสอน ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม การปฏิบัติที่เกินเลยไปจากที่มีในพระไตรปิฎก และหรือที่ขัดแย้งกับพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะจะทำให้สังคมเข้าใจหรือมีความเชื่อต่อพุทธศาสนาอย่างบิดเบี้ยว ไม่ถูกต้องตรงตามสาระที่แท้ในพระไตรปิฎก ในระยะยาวพุทธศาสนาที่แท้อาจเลือนหายไป เหลือแต่พุทธศาสนาเทียมหรือพุทธศาสนาเพียงในนามแต่เนื้อหาผิดเพี้ยนไปจากคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ฉะนั้น การรักษาพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกให้ดำรงอยู่อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นแล้วชาวพุทธก็จะไม่มีหลักสำหรับวินิจฉัยว่าอะไรคือพุทธศาสนาแท้ และอะไรคือพุทธศาสนาที่งอกเงยขึ้นมาใหม่
 
ส่วน “นักสังคมวิทยาศาสนา” คือตัวแทนฝ่ายที่มีความเห็นว่า การที่มีพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎกนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นสิ่งที่สวยงาม เพราะสังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในยุคหนึ่งสังคมอาจเห็นว่าพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเพียงพอสำหรับตอบปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในเวลานั้น แต่ในอีกยุคหนึ่งสังคมอาจเห็นว่าศาสนาในพระไตรปิฎกอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยการตีความ การผสมผสานคำสอนของพุทธศาสนากับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆหรือกับองค์ความรู้ในศาสตร์อื่นๆเพื่อตอบปัญหาที่หลากหลายซับซ้อนขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ศาสนานอกพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆจึงเป็นสิ่งงอกเงยขึ้นมาใหม่ที่อาจถือได้ว่าเป็นความงดงาม และเป็นความหลากหลายที่จะทำให้พุทธศาสนาสามารถสามารถปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อการดำรงอยู่ได้อย่างเป็นประโยชน์ต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
 
ในวงเสวนามีการแสดงความเห็นกันหลากหลายแง่มุม ผมเองได้แสดงความเห็นเพียงเล็กน้อย แต่มีความรู้สึกในใจบางอย่างที่ไม่ได้พูดออกไปคือ ผมรู้สึกว่าการเถียงกันเรื่องพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกกับพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎก หรือ “พุทธศาสนาที่แท้” กับ “พุทธศาสนาแบบไทยๆ” มันเหมือนกับที่บ้านเรากำลังเถียงกันอยู่ในเวลานี้เกี่ยวกับเรื่อง “ประชาธิปไตยสากล” กับ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
 
วิวาทะเรื่องประชาธิปไตย ในอดีตที่ผ่านมาดูเหมือนว่าฝ่ายยืนยันประชาธิปไตยแบบไทยๆจะได้เปรียบจนกระทั่งสามารถสร้างความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยภายใต้กำกับของ “ศักดินา-อำมาตยาธิปไตย” ที่ให้อภิสิทธิ์แก่พวกศักดินา-อำมาตย์สามารถทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อ “ปฏิรูป” ประชาธิปไตยใหม่อยู่เรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันฝ่ายที่ยืนยันประชาธิปไตยสากลกำลังรุกหนักทั้งในเรื่องหลักการ เหตุผล การสร้าง/ขยายอุดมการณ์ และพลังมวลชน ซึ่งในที่สุดแล้วเราอาจทำนายได้ว่าสังคมเราจะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยสากลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะอันที่จริงเราไม่อาจยืนยันความเป็นประชาธิปไตยได้หากสิ่งที่เรายืนยันไม่ใช่หรือไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล
 
ในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่อาจยืนยันความเป็นพุทธศาสนาได้หากสิ่งที่เรายืนยันไม่ใช่หรือไม่สอดคล้องกับพุทธศาสนาที่แท้หรือพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก แต่ข้อเท็จจริงในสังคมไทยเวลานี้คือ ฝ่ายที่ยืนยันพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกดูเหมือนจะได้เปรียบในทางหลักการ แต่ในทางปรากฏการณ์ทางสังคมดูเหมือนฝ่ายที่ยืนยันพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎกจะได้เปรียบ เพราะวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมที่ถูกมองว่าสอนพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎกกำลังเป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้น ขณะที่วัดหรือ “คณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง” ที่ยืนยันพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกกลับถูกสังคมตั้งคำถามทั้งเรื่องการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ประสิทธิภาพการสอนธรรม และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ที่เป็นข่าวฉาวอยู่บ่อยๆ
 
จึงเป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรที่ในสังคมไทยเวลานี้ ฝ่ายที่ยืนยันประชาธิปไตยสากลกำลังแสดงให้สังคมเห็นคล้อยตามมากขึ้นถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนสังคมไทยสู่ความเป็นประชาธิปไตยสากล (เพื่อปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร) แต่ฝ่ายที่ยืนยันพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกกลับกำลังตกเป็นฝ่ายที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้น (เช่น เรื่องในอดีต การขับสันติอโศกออกจากคณะสงฆ์ไทย เรื่องในปัจจุบันการตัดคณะสงฆ์วัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลียออกจากคณะสงฆ์ไทยเนื่องจากทำการบวชภิกษุณี ฯลฯ)
 
คำถามคือ จริงหรือไม่ว่า ฝ่ายที่ยืนยันพุทธศาสนาในพระไตรปิฏกนั่นเองที่มีปัญหาในการแปรเนื้อหาของพุทธศาสนาที่แท้ในพระไตรปิฎกสู่การปฏิบัติที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน แต่ฝ่ายที่ยืนยันพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎกกลับสามารถแปรเนื้อหาของความเชื่อที่ตนเองสร้างขึ้นสู่การปฏิบัติที่จับต้องได้ในชีวิตประจำวัน และแปรออกมาได้อย่างกลมกลืนเสมือนว่าฝ่ายตนเชื่อและปฏิบัติถูกต้องตาม “แก่นแท้” ของพุทธศาสนามากกว่า เช่น แนวปฏิบัติในสายหลวงตามหาบัว สันติอโศก ธรรมกาย ที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามความหลากหลายของผู้คนในสังคมปัจจุบันได้มากกว่าคณะสงฆ์กระแสหลัก
 
โดยที่ภาพแนวปฏิบัติเช่นนั้น อาจเป็นภาพที่สังคมเห็นว่าเคร่งครัด สอดคล้องกับแก่นแท้ของพุทธศาสนามากกว่า ที่สำคัญคือเป็นแนวปฏิบัติที่อาจจะถูกยอมรับว่าเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันมากกว่า ซึ่งในที่สุดแล้วสะท้อนให้เห็นว่าพุทธศาสนาที่ดำรงอยู่ได้คือพุทธศาสนาที่สังคมเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำให้ชีวิตและสังคมดีขึ้นได้จริง
 
ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธการงอกเงยของพุทธศาสนานอกพระไตรปิฎกที่มีอยู่จริงและดูจะ “เวิร์ค” กว่า!  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท