Skip to main content
sharethis

การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 273

25 มกราคม 2553 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 41 ต่อ 37 เห็นควรให้ดำเนินการถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง กรณีการสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551

การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 273 ซึ่งบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2552

ที่ประชุมได้ถกเถียงถึงอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง เพราะบัดนี้นายสมชายได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่า  แม้ข้อเท็จจริงบุคคลผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่การถอดถอนก็ยังคงกระทำได้ โดยอ้างเหตุผลว่า 1.ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่บัญญัติให้วุฒิสภาต้องยุติกระบวนการการถอดถอนออกจากตำแหน่ง 2.รัฐธรรมนูญมาตรา 274 มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนอกเหนือจากโทษทางอาญาไว้ 2 กรณี คือ การถอดถอนจากตำแหน่ง และการตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

3.การตีความโดยยึดหลักการดำรงตำแหน่งเป็นหลัก จะมีผลทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 270-274 ไม่มีผลบังคับใช้ไปโดยปริยาย เนื่องจากหาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ ก็จะหาทางลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา  และ 4.ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ยังคงมีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการ นอกจากจะถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะดำเนินคดีอาญา ดำเนินการทางวินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีทุจริตคอรัปชั่น และเมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนเสร็จแล้ว จะต้องส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาถอดถอน และให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ดังนั้น แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว วุฒิสภาก็ยังคงมีอำนาจที่จะต้องพิจารณาลงโทษทางการเมืองหรือการถอดถอนบุคคลต่อไปได้

หลังการอภิปรายกว่า 3 ชั่วโมง นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานเพื่อทำการลงมติ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติ 41 ต่อ 37 งดออกเสียง 19 เสียง เห็นควรให้ดำเนินการถอดถอนต่อไป

จากนั้น นายประสพสุข แจ้งว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ คือนัดประชุมภายใน 20 วันหลังจาก ส.ว.ได้รับเอกสารสำนวนจาก ป.ป.ช. โดยกำหนดนัดประชุมครั้งแรกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และครั้งที่สอง 16 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหาแถลงโดยไม่มีการซักถาม ซึ่งหากที่ประชุมมีมติซักถามในประเด็นใดเพิ่มเติม จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งภายใน 7 วัน จากนั้น  ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิยื่นขอคำแถลงปิดสำนวนต่อที่ประชุมวุฒิสภาภายใน 7 วัน และประธานวุฒิสภาจะนัดประชุมเพื่อรับฟังคำแถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำ

ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาจะเรียกประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายใน 3 วันนับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวน โดยใช้วิธีกาบัตรลงคะแนนโดยลับ ซึ่งการจะถอดถอนต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net