ทับซ้อน = เลว (จริงหรือ?)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เป็นวาทะกรรมที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นหูในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา และจะถูกใช้มากเป็นพิเศษเมื่อผู้พูดต้องการพูดถึงพฤติกรรมการคอรัปชั่นในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งถูกมองว่ามีรูปแบบการคอรัปชั่นแตกต่างจากนักการเมืองในยุคสมัยอื่นๆ ที่มักจะกระทำกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีความซับซ้อน อาศัยเพียงอำนาจหรือเส้นสายที่มีตามตำแหน่ง ในการปิดป้องอำพรางขบวนการทุจริตเท่านั้น เช่น การรับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมาที่เข้าประมูลงานโครงการของรัฐ หรือการตั้งบริษัทอำพรางเพื่อเข้ามารับงานจากรัฐเสียเอง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ในยุคของรัฐบาลทักษิณ เรามักไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในรูปแบบเดิมๆนี้มากนัก แต่วาทะกรรมอื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เช่น การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ กลับถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง และวาทะกรรมเหล่านี้ก็ถูกตีความว่ามีความหมายเทียบเท่ากับคำว่า "ทุจริต" หรือ "โกง" โดยปริยายในเวลาต่อมา

คำถามคือ คำว่าผลประโยชน์ทับซ้อน นั้นหมายถึงหรือเทียบเท่าได้กับการโกงจริงหรือไม่?

แม้นิยามของคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อนจะยังไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างเป็นทางการ แต่หากลองสอบถามเอาตามความเข้าใจของผู้คนทั่วไป เราอาจได้คำตอบที่ไม่แตกต่างจากนี้มากนัก คือ หมายถึงการซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม กับผลประโยชน์ที่ได้รับส่วนตัว ของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งอันเป็นสาธารณะนั่นเอง นิยามดังกล่าวนี้ แม้เมื่อฟังผ่านๆ จะดูชัดเจนดี แต่ในความจริงแล้วได้ทิ้งคำถามข้อใหญ่ไว้ข้อหนึ่ง ที่หลายๆคนอาจจะมองข้าม หรือไม่ได้สนใจที่จะหาคำตอบมากนัก คือ เราจะกำหนดขอบเขตของคำว่า "ผลประโยชน์ส่วนตัว" ไว้ตรงไหน?

แน่นอนว่าหากผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผู้มีอำนาจหรือครอบครัวโดยตรง ย่อมหนีคำครหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่พ้น แต่หากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเครือญาติห่างๆของผู้มีอำนาจ เราจะยังถือว่าผลประโยชน์ดังกล่าว เป็นการทับซ้อนหรือไม่? หรือหากผลประโยชน์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับเพื่อนของผู้มีอำนาจผู้นั้น เราจะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่ หรือหากเราสามารถหานักการเมืองที่ไม่เคยทำธุรกิจส่วนตัวเลย ไม่มีภรรยาและลูก ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน แต่มีเพียงคนรู้จัก ที่เคยพบพูดคุยกันครั้งสองครั้ง แต่บังเอิญบุคคลดังกล่าว ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของนักการเมืองผู้นั้น เช่นนี้ จะถือว่าเป็นการทับซ้อนหรือไม่?

ในวงการธุรกิจ เส้นแบ่งขอบเขตความทับซ้อนของผลประโยชน์นั้นได้ถูกขีดไว้อย่างชัดเจนด้วยนิยามของคำว่าบริษัท (หรือหน่วยธุรกิจอื่นๆ) ผู้บริหารบริษัทแห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีสิทธิที่จะไปเป็นผู้บริหาร (หรือเจ้าของ) บริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่ง หรือมีธุรกิจใกล้เคียงกันได้ แต่ในทางการเมือง เราไม่สามารถที่จะกำหนดเส้นแบ่งที่ชัดเจนเช่นนั้น เพราะนักการเมืองไทย ย่อมมีหน้าที่ผูกพันในการทำประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทย อันหมายรวมถึงตัวนักการเมืองคนนั้นเอง ซึ่งก็เป็นคนไทยคนหนึ่งด้วย การที่เราจะหานักการเมืองในอุดมคติ ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยเลย สามารถทำได้โดยการจ้างนักการเมืองที่เป็นชาวต่างชาติ มาบริหารประเทศแทนคนไทยเท่านั้น

การทับซ้อนของผลประโยชน์ในทางการเมือง จึงมิใช่หลักฐาน หรือเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า นักการเมืองผู้ได้รับซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นผู้ทุจริต คดโกง หรือไม่ทำตามหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมายให้แต่อย่างใด หากแต่เป็น"สัญญานเตือน" ให้สื่อมวลชน องค์กรที่มีหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองคนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนที่เกิดขึ้น มีผลต่อการวางนโยบาย หรือการทำหน้าที่ของนักการเมืองผู้นั้นจริงหรือไม่ (เช่น หากไม่มีแรงจูงใจจากประโยชน์ทับซ้อนนั้นแล้ว นักการเมืองคนดังกล่าวอาจวางนโยบายเป็นอย่างอื่น ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า เป็นต้น)  ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการรวบรวมหลักฐาน และพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลต่อไป

การด่วนชิงสรุปอย่างคลุมเครือว่านักการเมืองคนใดมีผลประโยชน์ทับซ้อน แปลว่านักการเมืองคนนั้นไม่ซื่อสัตย์ ทุจริต หรือคดโกง จึงมิได้สร้างผลดีให้กับความเข้มแข็งของกระบวนการตรวจสอบ หรือช่วยลดปริมาณการทุจริตของนักการเมืองลงแต่อย่างใด หากแต่กลับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอำนาจเพียงบางกลุ่ม ที่สามารถชีนิ้วกำหนดนิยามของคำว่า "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ได้ตามใจชอบ ดังที่ทำมาแล้วกับนิยามของคำว่า "คนดี" "คนไทย" "รักชาติ" และวาทะกรรมอื่นๆ ที่เราได้ยินมาจนคุ้นเคย  เท่านั้น

 *เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://narut.wordpress.com/2010/01/19/conflictofinterest/ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท