Skip to main content
sharethis

วานนี้ (19 ม.ค.53) เมื่อเวลา 10.00 น. คนจนไร้ที่ดินเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จำนวนกว่า 700 คนนัดรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อเดินเท้าต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลการนำของโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในกรณีที่นายสมพร พัฒนภูมิ ชาวชุมชนคลองไทร อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือและความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ อยู่ในระหว่างการร่วมกันแก้ไขปัญหา ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครื่อข่ายปฎิรูปที่ดินฯ ที่มีนายกเป็นประธาน

ร่วมทำพิธีอาลัยผู้เสียชีวิต ประกาศย้ำทำตามเจตจำนงการต่อสู้

ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มสหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยงและพิชัยภูเบนทร์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ทำการทำพิธีไว้อาลัยต่อนายสมพร โดยนายสุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ทำหน้าที่กล่าวคำไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตซึ่งได้เข้าร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน และในฐานะเกษตรกรที่อาบเหงื่อต่างน้ำสร้างผลจากพื้นดินเพื่อการยังชีพตามวิถีเกษตรกรรม เพื่อสิทธิความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการกำหนดอนาคตของตนเอง

“เราขอประกาศยืนยันว่าเจตจำนงของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ และเจตจำนงของคุณสมพร พัฒนภูมิ คือเจตจำนงอันเป็นองค์เอกภาพเดียวกัน และเจตจำนงดังกล่าวเราจะต้งเชิดชูให้สูงเด่นยิ่งๆ ขึ้นไป... เพราะนี่คือ ความหวังที่ก้าวหน้า ความหวังในการผลิตอาหารสะอาดเพื่อเลียงดูสังคม ความหวังในการผลิตอาหารที่รับผิดชอบและมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความหวังในการสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ความหวังในการจัดระบบการอยู่ร่วมใหม่ในสังคมอารยะของมวลมนุษย์” นายสุรพลกล่าวตอนหนึ่ง ของคำไว้อาลัย

ขบวนเริ่มเดินเท้าออกเดินทางจากลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. โดยมีการทำโรงศพจำลอง และภาพถ่ายนายสมพรที่เสียชีวิตในลักษณะลำตัวคุดคู้ใบหน้าซบดินมาใช้นำขบวน และมีการถือป้ายผ้าระบุข้อเรียกร้องต่างๆ ของเครือข่ายฯ อาทิ “จะตายสักกี่ศพ ก่อนจะได้ที่ดินสักผืนไว้ทำกิน” “ป่าไม่สูญ น้ำไม่สิ้นที่ดินถึงลูกหลาน ถ้าจำดทำโฉนดชุมชน” “โฉนดชุมชนจะเกิด ต้องให้หลักความเป็นธรรมนำกฎหมาย”

ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ พร้อมย้ำปักหลักชุมชนต่อจนกว่าข้อเสนอจะเป็นผล

เมื่อเวลา 11.00 น. มีการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ที่ใช้ปักหลักเป็นที่ชุมนุม โดยนายบุณยฤทธิ์ ภิรมย์ ชาวบ้านชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ อ่านแถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย “หยุดฆ่า หยุดทำลาย หยุดขับไล่ เกษตรกรคนจนไร้ที่ดินทำกิน” มีใจความระบุว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ในดินทำกินระหว่างสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กับรัฐบาล ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2552 และมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา 6 ชุด โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2552 เป็นไปอย่างล่าช้า โดยตลอดระยะเวลา 10 เดือน 10 วันที่ผ่านมา แม้จะมีการเจรจาเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ

ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ยังคงถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับพื้นที่ของ จ.สุราษฏร์ธานี ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 สมาชิกชุมชนถูกคุมคามโดยมีชายฉกรรจ์นำรถแทรกเตอร์เข้าไถทำลายบ้านเรือนชาวบ้านเสียหายกว่า 60 หลัง ชาวบ้านได้มีการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่คุกคาม แต่กลับไม่มีการสั่งฟ้องดำเนินคดี จนล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2553 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. นายสมพร พัฒนภูมิ อายุ 53 ปี สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนา ได้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง สังเวยชีวิตให้กับความเชื่องช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหามีความด้อยประสิทธิภาพอย่างที่สุด

การนัดรวมตัวกันในวันนี้ของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1.กรณีการเสียชีวิตของนายสมพร พัฒนภูมิ ขอให้มีการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งค่าทำศพ และจุนเจือครอบครัวส่วนที่เหลือ อีกทั้งขอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนการเสียชีวิตของนายสมพร เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้ในพื้นที่สุราษฏร์ธานีอีกต่อไป

2.กรณีการถูกทำลายบ้านเรือน 60 หลัง เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ขอให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่ถูกทำลายบ้านเรือน 60 ครอบครัว และขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนผู้กระทำความผิด และส่งฟ้องร้องดำเนินคดี 3.กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรจังหวัดสุราษฏร์ธานี ขอให้มีการสั่งการในทางนโยบายนำพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีที่ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่าอยู่ใน ส.ป.ก. มาปฏิรูปให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ใน 3 ชุมชนคือ ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง, ชุมชนคลองไทร อ.ชัยบุรี, ชุมชนไทรงาม อ.ชัยบุรี

4.กรณีการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีการนัดหมายการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการสั่งการกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วจากอนุกรรมการฯ และรอการสั่งการในระดับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการอำนวยการฯ ไม่ได้มีการประชุมมากว่า 6 เดือนแล้ว

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายปฏิรูปทื่ดินฯ ขอยืนยันว่า จะปักหลักชุมชนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าข้อเสนอของเครือข่ายฯ จะเป็นผลในทางปฏิบัติ

 ที่ปรึกษา รมต.สำนักนายกฯ รับเรื่องคุยสาทิตย์-นายกต่อ

เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ตัวแทนชาวบ้านเครื่อข่ายปฎิรูปที่ดินฯ ได้เข้าร่วมพูดคุยกัย นายสาธร วงศ์หนองเตย ที่ปรึกษางานกำกับราชการส่วนภูมิภาค ของนายสาทิตย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ห้องประชุมศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยตัวแทนได้ชี้แจงยืนยันข้อเสนอทั้ง 4 ข้อของเครื่อข่ายปฎิรูปที่ดินฯ ซึ่งนายสาธรรับว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อนายสาทิตย์ และนายกอภิสิทธิ์ และจะทำการประสานงานกับทางเครือข่ายอีกครั้ง

ในการพูดคุย นายสาธรได้เสนอให้มีกระบวนการทำงานในระดับจังหวัดเพื่อดูแลให้ความเป็นธรรมในคดีการเสียชีวิตของนายสมพร ซึ่งนายสุรพล สงฆ์รักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ชี้แจงว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ไว้ใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัด เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีคดีคนในพื้นที่ถูกยิ่งเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน แต่ถึงปัจจุบันคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ยังมีกรณีของการถูกทำลายบ้านเรือน 60 หลังในชุมชนคลองไทร เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่มีพยายานรู้เห็นตัวผู้ดำเนินการ ดังนั้นจึงต้องการหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระเพื่อมาทำการสอบสวนข้อเท็จจริง

นายสุรพล กล่าวด้วยว่าในพื้นที่มีปัญหาที่ดินออกเอสารสิทธิทับซ้อน และมีความหลากหลายทั้งในส่วนที่ดิน สปก. ที่ดิน นส.3 และที่ดินในเขตป่า ซึ่งในการดำเนินการโฉนดชุมชนในพื้นที่คิดว่าพื้นที่ สปก.สามารถนำมาใช้ในการจัดสรรที่ดินได้ในอันดับแรก แต่ที่ผ่านมาก็ยังประสบปัญหา เนื่องจากซึ่งสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้รวมทั้งนายสมพร ได้เข้าไปบุกยึด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนำมากระจายการถือครองในรูปแบบโฉนดชุมชน เป็นพื้นที่ที่มีกรณีพิพาทอยู่ โดยก่อนหน้านนี้บริษัทธุรกิจการเกษตรจิวกังจุ้ย เข้าไปใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก.ปลูกสวนปาล์มตั้งแต่ปี 2524 จำนวน 1,081 ไร่ แต่ตรวจสอบภายหลังพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดนบางส่วนโดยมิชอบ สำนักงานเขตปฏิรูปที่ดินจึงได้ดำเนินการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายจำนวนราว 210 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2550 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ ส.ป.ก. ชนะคดี โดยวินิจฉัยว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. และสั่งให้บริษัทและบริวารออกจากที่ดินแปลงนี้ แต่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ขอทุเลาบังคับคดี โดยขออยู่เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ตรงนี้ทำให้การปฎิรูปที่ดินมีความล่าช้า

นายสุรพลกล่าวแสดงความเห็นว่า ในเรื่องความล่าช้าดังกล่าวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ต้องมีคำสั่งที่ชัดเจน ใช้อำนาจของฝ่ายบริหารนำที่ดินกลับคืนมาจัดสรรให้ประชาชน ถือเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ นอกจากนี้หากมีการออกคำสั่งจากรัฐบาลจะช่วยลดภาวะล่อแหลมที่จะมีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ได้

“สาธร” ประสาน นายกมาพบชาวบ้านได้วันนี้บ่ายโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากการที่มีการพูดคุยในห้องประชุม นายสาธรได้เข้ามาพบชาวบ้านในที่ชุมนุมอีกครั้งเพื่อเจรจาเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง โดยในการนัดหมายการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้ข้อสรุปว่าจะมีขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.เพื่อจะพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังคงค้างอยู่ ส่วนข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนการเสียชีวิตของนายสมพรทางนายยกรัฐมนตรีไม่ขัดข้อง นอกจากนี้ในการทำลายบานเรือน 60 หลังนั้น ได้มีการไปตรวจสอบข้อมูลพบว่าอับการได้ส่งฟ้องจำเลยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่ชาวบ้านกล่าวว่าไม่ได้รับความชัดเจน คือ การชดเชยแก่ครอบครัวผู้เสียหายที่ยังไม่ได้ระบุชัดในรายละเอียด ซึ่งนายสาธรกล่าวว่าอาจมีการนำเรื่องนี้ไปพูดคุยในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ในวันที่ 1ก.พ. ในส่วนข้อเสนอให้มีการสั่งการในทางนโยบายให้นำพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีที่ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่าอยู่ใน ส.ป.ก. มาปฏิรูปให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ นั้น ในตอนต้นยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจนเนื่องจากนายสาธรเสนอว่าให้ทำข้อมูลและนำไปพูดคุยกันในวันที่ 1 ก.พ.แต่ชาวบ้านมองว่าเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ

ทั้งนี้ จากการประสานงานต่อมาในเรื่องดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า นายกรับที่จะให้มีการประชุมร่วมกับเครือข่ายปฏิรูที่ดินฯ และได้มีการนัดประชุมคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ดิน สปก.ในวันนี้ (20 ม.ค.) เวลา 11.00 น. เพื่อพูดคุยหาข้อสรุปก่อนที่จะมีการพูดคุยกับนายกในเวลา 13.00 น. เนื่องจากได้มีการแจ้งว่านายกติดภาระกิจ สามารถร่วมการประชุมได้เพียง 20 นาที

สาทิตย์ ยืนยันนายกฯ รับข้อเสนอเครือข่ายปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ฯ

ในวันเดียวกัน สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า กลุ่มนี้เคยมาเรียกร้องและนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา แก้ไขปัญหาแล้ว อย่างไรก็ตามกรณีทีเกิดขึ้นเป็นที่ดิน สปก.ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีบริษัทเอกชนเข้าไปเช่าที่ดินดังกล่าว ต่อมา สปก.ต้องการนำที่ดินไปปฏิรูป แต่บริษัทดื้อแพ่งไม่ยอมออกจากพื้นที่ จนต้องฟ้องศาล โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้คืนที่ดินไปแล้ว และอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่ชาวบ้านที่เสียชีวิตได้เข้าไปอยู่ในที่ดินที่ปฏิรูป เพื่อจับจองที่ดินไว้ก่อน จึงเกิดข้อขัดแย้งกับเจ้าของสวนปาล์มเดิมที่มาเช่าที่ดิน

“ผมได้รับทราบข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่มาประท้วง และได้คุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นว่ารัฐบาลพร้อมรับข้อเรียกร้อง เช่น กรณีญาติของผู้ที่ถูกยิงเสียชีวิตต้องการให้เร่งรัดคดี กรณีที่มีการบุกรุกเข้าไปทำลายบ้าน 60 หลัง ซึ่งจะต้องสอบสวนใหม่ เพื่อให้สามารถเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดได้หลังจากก่อนหน้านี้มีคำสั่งไม่ฟ้อง และกลุ่มผู้ชุมนุมอยากให้ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีตกลงที่จะประชุมในเดือน ก.พ.นี้ นอกจากนี้เรื่องเงินชดเชยผู้เสียชีวิต ผมได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง ผมยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยวางมาตรการดูแล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ยิงกันรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นอีก” นายสาทิตย์ กล่าว

 

 

 

0000

 

ลำดับเหตุการณ์ชุมชนคลองไทร อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี
 
วัน เดือน ปี
เหตุการณ์
พฤศจิกายน 2551
มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านประมาณ 120 ครอบครัวขอเข้าไปใช้พื้นที่ตั้งเป็นชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามตรวจสอบผลักดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้เกิดผลในทางปฎิบัติ โดยต้องการให้นำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฎิรูปเพื่อชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยเร็ว
มีนาคม 2552
บริษัทจิวกังจุ้ย พัฒนาจำกัด ได้ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 3 คนได้แก่นายบัญญัติ จอง นายอดุลย์ รามจันทร์ และนายสมหมาย ลิกขชัย เป็นจำนวน 3,000,000 บาท โดยโจทก์ขอคุ้มครองชั่วคราวและให้มีหมายจับจำเลยทั้ง 3 ต่อมาศาลได้ถอนฟ้องนายบัญญัติฯจำเลยที่ 1 เนื่องจากมาทราบข้อเท็จจริงภายหลังว่า นายบัญญัติฯเป็นคนวิกลจริต ปัจจุบันรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โดยจำเลยที่ 2และ 3 ยินยอมออกจากพื้นที่
9 สิงหาคม 2552
06.30 น.
มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 40 คันรถปิ๊กอัพ นำโดยผู้บังคับการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกำลังตรวจจากสถานีตำรวจชัยบุรี เข้าไปตรวจค้นอาวุธและยาเสพติด ตรวจค้นอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทยอยกลับได้มีรถไถจำนวนหลายคัน และมีกลุ่มชายฉกรรจ์ถืออาวุธปืนยาวหลายคนเดินนำรถไถพังรั้วของชุมชนเข้ามาไถบ้านของชาวบ้านพังจำนวน 60 หลัง ซึ่งชาวได้แจ้งตำรวจแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกให้ไปแจ้งความที่โรงพัก ชาวบ้านได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้และในวันเดียวกันได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรชัยบุรี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดรับเรื่อง
10 สิงหาคม 2552
ได้มีชรบ.ประมาณ 40 นายเข้ามาตรึงกำลังที่แคมป์ของบริษัท ได้มีชาวบ้าน 5 คน เข้าไปแจ้งความอีกครั้ง มีการลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรชัยบุรี ปัจจุบันคดียังไม่มความคืบหน้าแต่อย่างใด
2-7 พฤศจิกายน 2552
คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการช่วยเหลือและแก้ปัญหาคดีความของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย กรมสอบสสวนคดีพิเศษ โดย พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิลและคณะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐโดย พ.ต.ท.สันต์ทรง ตังละแม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ชุมชนคลองไทรพัฒนา, ชุมชนน้ำแดง และชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเสนอต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความฯ และเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินต่อไป
29 ธันวาคม 2552
12.05 น.
พ.ต.ท.โกเมธ ชูชมชื่น จาก สภอ.เขาพนม จ.กระบี่ มาพร้อมกับนายทวี แดงอนันต์ ผู้จัดการบริษัทจิวกังจุ้ย พัฒนาจำกัด และพวกอีก 5 คน ใช้รถปิ๊กอัพ 2 คัน เข้ามาในชุมชนคลองไทรพัฒนา หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และสอบถามข้อมูลต่างๆ จากสมาชิกบางคนในชุมชน ไม่ทราบจึงเกิดความไม่พอใจ พ.ต.ท.โกเมธ ชูชมชื่น จึงตบหน้านายอภินนท์ สังข์ทอง สมาชิกชุมชนคลองไทรฯ นายอภินนท์ จึงเอากล้องมาขอถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน แต่ พ.ต.ท.โกเมธ ชูชมชื่น และกลุ่มบุคคลที่มาด้วยเอาปืนมาจี้ที่น่าอกนายอภินนท์ สังข์ทอง และนางมาลิดา เจียกรัมย์ (ภรรยานายอภินนท์) จึงไม่ได้ภาพไว้เป็นหลักฐาน และกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้เดินทางออกไปจากชุมชน
11 มกราคม 2553
19.00 น.
ได้มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองและปืนเอ็ม.16 ยิงเข้าใส่วงสนทนาและรับประทานอาหารค่ำที่นอกชานหน้ากระท่อมที่พักของนายฟอง ขุนฤทธิ์ ซึ่งมีนายสมพร พัฒนภูมิ เพื่อนบ้านมานั่งอยู่ด้วยและเป็นที่ถูกกระสุนปืนจนเสียชีวิตหลังจากวิ่งหนีมาได้ประมาณ 10 เมตรเศษ
 
ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำตรวจ สภ.อ.ชัยบุรี ได้ตรวจพบปลอกกระสุนปืนลูกซอง 1 ปลอกและปลอกกระสุนปืนเอ็ม 16 จำนวน 7 ปลอก
 
มีข้อสังเกตว่าก่อนเกิดเหตุยิงใส่กลุ่มสมาชิกชุมชนคลองไทรฯ ที่หน้ากระท่อมของนายฟอง ขุนฤทธิ์ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ฟังว่าพบเห็นนายทวี แดงอนันต์ ผู้จัดการบริษัทจิวกังจุ้ย เข้าตรวจเดินดูสภาพต่างๆ ในชุมชนโดยเฉพาะบริเวณด้านหลังที่เกิดเหตุ
 
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1
“หยุดฆ่า หยุดทำลาย หยุดขับไล่ เกษตรกรคนจนไร้ที่ดินทำกิน”
 
สืบเนื่องจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มสหกรณ์การเช่าที่นาคลองโยงและพิชัยภูเบนทร์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินระหว่างสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานราชการ จนกระทั่งมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 และมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ อีก 6 ชุด โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธานในการแก้ไขปัญหาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552
 
ตลอดระยะเวลา10 เดือน 10 วันที่ผ่านมา แม้จะมีการเจรจาเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับไม่เห็นผลในทางปฏิบัติ แทบทุกพื้นที่ไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านยังคงถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับพื้นที่ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สมาชิกชุมชน เคยถูกคุมคามจากกรณีที่มีชายฉกรรจ์นำรถแทรกเตอร์ เข้าไถดัน บ้านเรือนชาวบ้านเสียหาย เป็นจำนวนถึง 60 หลัง เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ชาวบ้านได้มีการเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่คุกคาม แต่กลับไม่ได้มีการสั่งฟ้องแต่อย่างใด จนล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.00 น. นายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนา ได้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง สังเวยชีวิตให้กับความเชื่องช้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหามีความด้อยประสิทธิภาพอย่างที่สุด
 
ณ วันนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จำนวน 700 คน ได้นัดรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าได้นิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ ตามข้อเสนอดังต่อไปนี้
 
กรณีการเสียชีวิตของนายสมพร พัฒนภูมิ
1. ขอให้มีการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต ทั้งค่าทำศพ และจุนเจือครอบครัวส่วนที่เหลือ
2. ขอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนการเสียชีวิตของนายสมพร เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้ในพื้นที่สุราษฏร์ธานีอีกต่อไป
 
กรณีการถูกทำลายบ้านเรือน 60 หลัง เมื่อเดือนสิงหาคม 2552
1. ขอให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่ถูกทำลายบ้านเรือน 60 ครอบครัว
2. ขอให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนผู้กระทำความผิด และส่งฟ้องร้องดำเนินคดี
 
กรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรจังหวัดสุราษฏร์ธานี
1. ขอให้มีการสั่งการในทางนโยบายนำพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีที่ตรวจสอบชัดเจนแล้วว่าอยู่ใน ส.ป.ก. มาปฏิรูปให้สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ (ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง, ชุมชนคลองไทร อ.ชัยบุรี, ชุมชนไทรงาม อ.ชัยบุรี)
 
กรณีการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
1. ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีการนัดหมายการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่ชัดเจน เพื่อดำเนินการสั่งการกรณีปัญหาที่ได้ข้อยุติแล้วจากอนุกรรมการฯ และรอการสั่งการในระดับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี (ทั้งนี้กรรมการอำนวยการฯไม่ได้มีการประชุมมาแล้วกว่า 6 เดือน)
 
เครือข่ายปฏิรูปทื่ดินฯ ขอยืนยันว่า จะปักหลักชุมชนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าข้อเสนอของเครือข่ายฯ จะเป็นผลในทางปฏิบัติ
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
หน้าทำเนียบรัฐบาล
19 มกราคม 2553
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net